พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 (สเปน: Fernando III) หรือ นักบุญ (สเปน: el Santo; ค.ศ. 1199/1201 – 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1252) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัสติยาตั้งแต่ ค.ศ. 1217, พระมหากษัตริย์แห่งเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1230 และพระมหากษัตริย์แห่งกาลิเซียตั้งแต่ ค.ศ. 1231[1] เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนกับเบเรงเกลาแห่งกัสติยา การอภิเษกสมรสครั้งที่สองทำให้พระองค์กลายเป็นเคานต์แห่งโอมาล พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 คือหนึ่งในกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของกัสติยา ไม่เพียงแค่รักษาความเป็นหนึ่งเดียวของราชบัลลังก์กัสติยาและเลออนไว้ได้ แต่ยังเป็นผู้วางแผนการในการสู้รบเรกองกิสตาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย
พระเจ้าเฟร์นันโดพระราชสมภพที่อารามบัลปาราอิโซ (เปเลอัสเดอาร์ริบา ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดซาโมรา) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนกับสมเด็จพระราชินีเบเรงเกลาแห่งกัสติยา พระมเหสีพระองค์ที่สอง จึงทำให้เฟร์นันโดสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7จากทั้งสองทาง โดยมีพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2เป็นพระอัยกาทางฝั่งพระบิดา และพระเจ้าซันโซที่ 3เป็นพระปัยกาจากทางฝั่งพระมารดา ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นพระโอรสและผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 บรรพบุรุษคนอื่น ๆ ของเฟร์นันโดที่เป็นเชื้อพระวงศ์คืออูร์รากาแห่งโปรตุเกส ซึ่งเป็นพระอัยกีทางฝั่งพระบิดา และเอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระปัยกีทางฝั่งพระมารดาซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2กับพระราชินีเอเลนอร์แห่งอากีแตน[2]
นับตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจนถึงปี ค.ศ. 1204 เจ้าชายเฟร์นันโดได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทในราชอาณาจักรเลออนของพระราชบิดา โดยมีพระราชมารดาและราชอาณาจักรกัสติยาคอยให้การสนับสนุน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพระราชโอรสคนที่สองของพระเจ้าอัลฟอนโซซึ่งมีพระราชโอรสหนึ่งพระองค์กับพระธิดาสองคนมาก่อนแล้วจากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเตเรซาแห่งโปรตุเกส แต่ในตอนนั้นพระองค์ไม่ยอมรับพระราชโอรสพระองค์โต (ซึ่งชื่อเฟร์นันโดเช่นกัน) เป็นทายาท ทว่าชาวกัสติยามองว่าเจ้าชายเฟร์นันโดพระองค์พี่เป็นคู่แข่งคนสำคัญที่เป็นภัยต่อพระโอรสของพระราชินีเบเรงเกลา
การอภิเษกสมรสของพระราชบิดามารดาของเจ้าชายเฟร์นันโดถูกประกาศให้เป็นโมฆะตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ในปี ค.ศ. 1204 เนื่องจากเป็นการร่วมประเวณีกันระหว่างญาติใกล้ชิด สมเด็จพระราชินีเบเรงเกลาจึงพาพระราชโอรสธิดา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าชายเฟร์นันโด กลับไปที่ราชสำนักของพระราชบิดา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8[3] ในปี ค.ศ. 1217 พระเจ้าเอนริเกที่ 1 พระอนุชาของพระนางสิ้นพระชนม์ พระนางได้สืบทอดบัลลังก์กัสติยาต่อโดมีเจ้าชายเฟร์นันโดเป็นรัชทายาท แต่ทรงยกบัลลังก์ให้พระราชโอรสอย่างรวดเร็ว
เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระบิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซสวรรคตในปี ค.ศ. 1230 ตามพินัยกรรมทรงยกราชอาณาจักรให้ซันชาและดุลเซ สองพระธิดาคนโตจากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเตเรซาแห่งโปรตุเกส แต่เจ้าชายเฟร์นันโดไม่เชื่อฟังพินัยกรรมดังกล่าวและอ้างสิทธิ์ในการสืบทอดเป็นของตนเอง ท้ายที่สุดก็มีการทำข้อตกลงกัน การเจรจาเริ่มต้นขึ้นระหว่างพระมารดาของทั้งสาม คือ เบเรงเกลากับเตเรซา และได้รับการลงนามที่เบนาเบนเตในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1230 ระบุว่าพระเจ้าเฟร์นันโดจะได้รับราชอาณาจักรเลออน แลกกับการจ่ายค่าชดเชยก้อนโตเป็นเงินสดและที่ดินให้กับซันชาและดุลเซ พระเชษฐภคินีต่างมารดา เฟร์นันโดจึงกลายเป็นคนแรกที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักร ต่อจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ในปี ค.ศ. 1157[4]
ช่วงแรกของการครองราชย์ พระเจ้าเฟร์นันโดต้องรับมือกับการก่อกบฏของตระกูลลารา
นับตั้งแต่สมรภูมิลัสนาบัสเดโตโลซาในปี ค.ศ. 1212 ได้ทำให้การรุกคืบในสเปนของกลุ่มอัลโมฮัดหยุดชะงัก การทำสนธิสัญญาพักรบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กัสติยากับกลุ่มอัลโมฮัดที่ครองความเป็นใหญ่ในอัลอันดะลุสอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทว่าวิกฤตการสืบทอดตำแหน่งในรัฐกาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดหลังการเสียชีวิตของยูซุฟที่ 2 ในปี ค.ศ. 1224 เปิดช่องให้พระเจ้าเฟร์นันโดได้เข้าไปแทรกแซง อับดัลเลาะห์ อัลอะดิล ผู้อ้างสิทธิ์ฝั่งอัลอันดะลุส ส่งเรือบรรทุกกำลังพลและอาวุธของกลุ่มอัลโมฮัดล่องเรือข้ามช่องแคบไปโมร็อกโกเพื่อท้าชิงการสืบทอดตำแหน่งกับคู่แข่งซึ่งอยู่ที่นั่น ทำให้อัลอันดะลุสไร้การป้องกัน อัลดัลเลาะห์ อัลบัยยะซี ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นกบฏของอัลอะดิล (กลุ่มแบซัน) ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารต่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เพื่อมาต่อกรกับผู้แย่งชิงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1225 กองทัพกัสติยาร่วมทำสงครามกับอัลบัยยะซี ปล้นทำลายแคว้นแฆน, เบกาเดกรานาดา และก่อนถึงสิ้นปีอัลบัยยะซีก็ได้รับการแต่งตั้งให้ครองตำแหน่งในกอร์โดบา เพื่อเป็นการตอบแทน อัลบัยยะซีมอบฐานที่มั่นชายแดนซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ บัญโญสเดลาเอ็นซินา, ซัลบาเตียร์รา และกาปียาให้พระเจ้าอัลฟอนโซ เมื่ออัลบัยยะซีถูกต่อต้านและสังหารโดยประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาก่อจราจลในกอร์โดบาหลังจากนั้นไม่นาน ชาวกัสติยาก็ยังคงครองดินแดนของอัลบัยยะซีในอัลดูฆาร์, บาเอซา และมาร์โตส
ทว่าวิกฤตในรัฐการหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ในปี ค.ศ. 1228 อับดัลลา อิดิสที่ 1 อัลมะมุน ผู้แสดงตนชาวอัลโมฮัดคนใหม่ตัดสินใจทิ้งสเปนไปหาเศษเสี้ยวสุดท้ายของกองกำลังอัลโมฮัดในโมรอกโก อัลอันดะลุสที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ถูกทิ้งให้อยู่ในมือของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น มูฮัมมัด อิบน์ ยูซุฟ อิบน์ ฮัด อัลยูดามี เมื่อเห็นโอกาส เหล่ากษัตริย์ชาวคริสต์จากทางเหนือ ได้แก่ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา, พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน, พระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งอารากอน และพระเจ้าซังชูที่ 2 แห่งโปรตุเกส จึงรีบลงมือทำการรุกรานอัลดาลุสอย่างต่อเนื่องตลอดแทบทั้งปี กองกำลังอัลอันอาลุสชั่วคราวของอิบน์ ฮัดถูกทำลายอย่างรวดเร็วระหว่างกำลังพยายามหยุดยั้งชาวเลออนที่อาลังเกในปี ค.ศ. 1230 กองทัพคริสเตียนโลดแล่นลงใต้โดยปราศจากการต่อต้าน แต่ละเมืองของอัลอันดะลุสถูกทิ้งให้ต้านทานหรือเจรจาขอยกธงขาวด้วยตัวเอง
ตลอดยี่สิบปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1228 ถึง ค.ศ. 1248 มีการรุกคืบครั้งใหญ่ในการทำเรกองกิสตา ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1248 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 พิชิตเซบิยา นครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอัลอันดะลุส รัฐอะมีรกรานาดายังคงรอดพ้นจากการถูกพิชิต
พระเจ้าเฟร์นันโดผนวกดินแดนที่พิชิตมาได้ส่วนหนึ่งเข้ากับราชบัลลังก์กัสติยาโดยตรง อีกส่วนหนึ่งทรงวางโครงสร้างให้เป็นรัฐบริวารภายใต้การปกครองดูแลของข้าหลวงชาวมุสลิม แม้ว่าสุดท้ายจะถูดยึดครองอย่างถาวรและถูกผนวกเข้ากับกัสติยาก่อนสิ้นศตวรรษ
พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เริ่มต้นการครองราชย์ด้วยตำแหน่งกษัตริย์แห่งกัสติยา ในตอนที่ทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1252 พระองค์ได้ยกราชอาณาจักรซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลอย่างมากให้กับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรสและทายาท อาณาเขตใหม่ของรัฐกัสตาที่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้สร้างขึ้นมาจะคงอยู่ไปจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยแทบไม่เปลี่ยนแปลง
ร่างของพระเจ้าเฟร์นันโดถูกฝังในอาสนวิหารเซบิยาโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรส สุสานของพระองค์จารึกด้วยสี่ภาษา คือ ภาษาอาหรับ, ภาษาฮีบรู, ภาษาละติน และภาษากัสติยายุคแรก[5] ทรงได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญในชื่อนักบุญเฟร์นันโดโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ในปี ค.ศ. 1671[6]
ในปี ค.ศ. 1219 พระเจ้าเฟร์นันโดอภิเษกสมรสกับเอลีซาเบ็ทแห่งโฮเอินชเตาเฟิน พระธิดาของกษัตริย์เยอรมัน พระเจ้าฟิลิปป์ที่ 3 แห่งสวาเบีย กับอีรีเนอ แองเจลินา ในสเปนเอลีซาเบ็ทถูกเรียกว่าเบียทริซ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันคือ
หลังเป็นม่าย ทรงอภิเษกสมรสใหม่กับฌาน เคาน์เตสแห่งปงตีเยอ ก่อนเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1237 ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันสี่คนกับพระธิดาหนึ่งคน คือ