พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก (อาหรับ: الملك فيصل الثان, Al-Malik Fayṣal Ath-thānī) พระนามเต็ม อัลมะลิก ฟัยศ็อล อัษษานี (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์อิรัก ระหว่างปีพ.ศ. 2482 ถึงพ.ศ. 2501 เมื่อพระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์อิรักในปฏิวัติ 14 กรกฎาคม การปลงพระชนม์หมู่พระเจ้าฟัยศ็อลและพระราชวงศ์ถือเป็นจุดสิ้นสุด 37 ปีแห่งระบอบกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮัชไมต์ในอิรัก ที่ซึ่งได้กลายมาเป็นสาธารณรัฐในปัจจุบัน
พระราชวงศ์และช่วงต้นพระชนม์ชีพ
พระราชสมภพและช่วงต้นพระชนม์ชีพ
เจ้าชายฟัยศ็อลเสด็จพระบรมราชสมภพวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ณ แบกแดด ประเทศอิรัก เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระเจ้าฆอซีแห่งอิรัก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์อิรักพระองค์ที่สองกับ สมเด็จพระราชินีอะลียะฮ์แห่งอิรัก ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าอะลีแห่งเฮแจซ แกรนด์ชะรีฟแห่งมักกะฮ์ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2482 พระราชบิดาของเจ้าชายเสด็จสวรรคตหลังจากรถยนต์ปริศนาพุ่งชนรถพระที่นั่งขณะที่เจ้าชายมีพระชนมายุเพียง 3 ชันษา เจ้าชายฟัยศ็อลจึงครองราชสมบัติสืบต่อเป็น พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก บางคนเชื่อว่าพระเจ้าฆอซีทรงถูกลอบปลงพระชนม์ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี นูรี อัสซะอีด ในพระราชพิธีฝังพระบรมศพ ฝูงชนได้ตะโกนร้องว่า
นูรี แกจะต้องชดใช้ด้วยพระโลหิตขององค์กษัตริย์ฆอซี
นูรีถูกสงสัยว่าเขาได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระราชินีอะลียะฮ์ พระมเหสีของพระเจ้าฆอซีเองและเขาได้วางแผนกับเจ้าชายอับดัลอิละฮ์ พระอนุชาในพระราชินีเพื่อดำเนินการถอดถอนองค์กษัตริย์[1] เจ้าชายอับดัลอิละฮ์ ซึ่งเป็นพระราชมาตุลาของพระองค์ได้ดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกระทั่งพระเจ้าพระเจ้าฟัยศ็อลทรงบรรลุนิติภาวะในปีพ.ศ. 2496
พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 ทรงกลายเป็นต้นแบบของตัวละครการ์ตูนของแอร์เชนักวาดการ์ตูนชาวเบลเยียม สำหรับตัวละครเจ้าชายอับดุลละฮ์แห่งคีเหม็ดในเรื่องการผจญภัยของตินติน[2] พระเจ้าฟัยศ็อลประชวรด้วยพระโรคหอบหืดมาตั้งแต่ประสูติ[3]
รัฐประหารพ.ศ. 2484
พระมหากษัตริย์มีพระชนม์ชีพช่วงวัยเยาว์เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอิรักได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับจักรวรรดิอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 พระมาตุลาของพระองค์ทรงถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงเวลาสั้นๆจากการที่กองทัพได้ก่อรัฐประหารที่ซึ่งต้องการให้อิรักเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ
การรัฐประหารนำโดยราชิด อะลี อัล-เกละนิโดยวางแผนจะลอบปลงพระชนม์ผู้สำเร็จราชการเพื่อยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน แต่ในวันที่ 31 มีนาคม เจ้าชายอับดัลอิละฮ์ทรงทราบแผนการพระองค์จึงเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ราชิด อะลี อัล-เกละนิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและดำเนินการกำจัดอิทธิพลของอังกฤษในอิรัก จากการรัฐประหารอิรัก พ.ศ. 2484ส่งผลให้เกิดสงครามอังกฤษ-อิรัก การสนับสนุนจากนาซีเยอรมนีที่ตกลงกันไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามเจ้าชายอับดัลอิละฮ์ได้กลับคืนสู่อำนาจโดยการรวมกลุ่มของกองทัพสัมพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยกองทหารอาหรับจอร์แดน, กองทัพอากาศจอร์แดนและทหารอังกฤษหน่วยอื่นๆ อิรักได้ดำเนินสัมพันธไมตรีกับอังกฤษอีกครั้งและเข้าร่วมองค์การสหประชาชาติหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนราชิด อะลี อัล-เกละนิหลังจากแพ้สงครามต้องลี้ภัยไปยังเปอร์เซีย ก่อนที่เขาจะหนีออกจากแบกแดด เขาได้ติดต่อกับมุลละ แอฟเฟนติ และแจ้งต่อเขาว่า เขาได้มอบบ้านของเขาเองให้เป็นที่พำนักที่ปลอดภัยสำหรับพระราชวงศ์โดยให้ทรงประทับจนกว่าความขัดแย้งจะสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าราชิด อะลี อัล-เกละนิเป็นผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์อย่างยิ่ง
ในระหว่างช่วงต้นพระชนม์ชีพ พระเจ้าฟัยศ็อลทรงได้รับการศึกษาที่พระราชวังร่วมกับเด็กชายชาวอิรักอื่นๆ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ทรงประทับร่วมกับพระมารดาในกรูฟ ล็อดที่หมู่บ้านวิงค์ฟิลด์ในบาร์กเชอร์ สหราชอาณาจักร เมื่อทรงเจริญพระชันษา พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนฮาร์โรลด์ร่วมกับพระญาติของพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน ทั้งสองพระองค์เป็นพระสหายสนิทกันและมีการบันทึกว่าทรงวางแผนที่จะรวมทั้งสองราชอาณาจักรเข้าด้วยกัน เพื่อต่อต้านสิ่งที่ทั้งสองพระองค์เชื่อว่ากระทำการคุกคามลัทธิชาตินิยมแพน-อาหรับ
ในปีพ.ศ. 2495 พระเจ้าฟัยศ็อลเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา โดยทรงพบปะกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดีน อเคอสัน, นักแสดงเจมส์ เมสัน, นักเบสบอลแจ็คกี้ โรบินสัน และอีกหลายคน
การเร่งให้พระเจ้าฟัยศ็อลเสด็จสวรรคตเป็นการตัดสินพระทัยของพระมาตุลาซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าฟัยศ็อล(ภายหลังได้รับคำยืนยันโดยพระองค์) ที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรสามารถรักษาบทบาทของตนอย่างต่อเนื่องในอิรัก โดยผ่านทางสนธิสัญญาอังกฤษ-อิรัก พ.ศ. 2491และหลังจากนั้นแผนแบกแดด ที่ลงนามในปีพ.ศ. 2498 ผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงอิทธิพลสัมพันธมิตรนี้ เป็นผลให้มีการปราบปรามและผู้เดินขบวนประท้วงหลายร้อยคนเสียชีวิตและนำไปสู่ความตกต่ำของกระแสความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์อิรัก
สิ้นสุดการสำเร็จราชการแทนพระองค์
พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรักทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 พระองค์ทรงเริ่มปกครองด้วยประสบการณ์ที่ทรงมีเล็กน้อยและในระหว่างการเปลี่ยนสภาวะทรงการเมืองและสังคมของอิรัก ซึ่งถูกทำให้แย่ลงจากการพัฒนาลัทธิชาตินิยมแพน-อาหรับอย่างรวดเร็ว
พระเจ้าฟัยศ็อลทรงเริ่มต้นด้วยการอาศัยคำแนะนำทางการเมืองจากพระมาตุลา มกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์และพลเอกนูรี อัสซะอีด ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์และเป็นนักชาตินิยมที่ดำรงเป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 พระองค์และคณะที่ปรึกษาทรงใช้ทรัพย์ของตนเองลงทุนในโครงการพัฒนาที่ซึ่งสร้างความบาดหมางกับกลุ่มชนชั้นกลางและชาวไร่อย่างรวดเร็ว พรรคคอมมิวนิสต์อิรักได้เพิ่มอิทธิพลขึ้น อย่างไรก็ตามการปกครองของพระองค์ดูเหมือนว่าจะปลอดภัย ความไม่พอใจที่เข้มข้นมากขึ้นต่อสถานะของอิรักยังเป็นแต่ใต้ผิวหน้า การที่สามารถขยายช่องว่างระหว่างคนรวยโดยกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ทางการเมือง, ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผู้สนับสนุนอำนาจในมือบุคคลเดียวอื่นๆและความยากจนของกรรมกรและชาวนาอื่นๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลของพระเจ้าฟัยศ็อลอย่างรุนแรง ตั้งแต่ชนชั้นสูงควบคุมรัฐสภา นักปฏิรูปได้เล็งเห็นกระแสการปฏิวัติที่มีเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวัง การปฏิวัติอียิปต์ พ.ศ. 2495เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์อียิปต์ภายใต้ราชวงศ์มูฮัมหมัดอาลีโดยญะมาล อับดุนนาศิร เป็นการรับรองสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอิรัก
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ซีเรียประเทศเพื่อนบ้านของอิรักได้ร่วมมือกับนาศิรแห่งอียิปต์ในการก่อตั้งสหรัฐอาหรับรีพับบลิค ส่งผลให้ราชอาณาจักรฮัชไมต์อิรักและจอร์แดนสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้นเช่นเดียวกัน สองสัปดาห์ถัดมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สันนิบาตนี้ได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในชื่อ สหพันธรัฐอาหรับแห่งอิรักและจอร์แดน พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรักเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่อาวุโสที่สุดในราชวงศ์ จึงทรงได้รับเกียรติให้ดำรงเป็นพระประมุขของสหพันธรัฐ
หายนะและการสังหารหมู่พระราชวงศ์
รูปแบบของฝ่ายต่อต้าน
สถานการณ์ทางการเมืองของพระเจ้าฟัยศ็อลเริ่มเลวร้ายลงในปีพ.ศ. 2499 ด้วยการลุกฮือของประชาชนในเมืองนะจัฟและฮะวี ขณะที่กองทัพอิสราเอลโจมตีอียิปต์ในกรณีวิกฤติการณ์สุเอซ โดยการร่วมมือกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสซึ่งตอบโต้นโยบายชาตินิยมของญะมาล อับดุนนาศิรแห่งอียิปต์ ความนิยมที่ย่ำแย่ลงในแผนแบกแดดก็ดีหรือการปกครองของพระเจ้าฟัยศ็อลก็ดี ฝ่ายต่อต้านได้เริ่มการเคลื่อนไหว ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2500 ก่อตั้ง "ด่านหน้าสหภาพแห่งชาติ" (Front of National Union) ดำเนินการร่วมกันกับกลุมประชาธิปไตยแห่งชาติ, กลุ่มอิสรภาพ, คอมมิวนิสต์และพรรคบาธ กลุ่มดำเนินการที่เหมือนกันได้ดำเนินการแทรกแซงอย่างใกล้ชิดภายในเจ้าหน้าที่อิรัก ด้วยการก่อตั้ง "คณะเสนาธิการทหารอิสระสูงสุด" (Supreme Committee of Free Officers) คณะรัฐบาลของพระเจ้าฟัยศ็อลได้พยายามรักษาความจงรักภักดีในกองทัพโดยผ่านทางสวัสดิการต่างๆ แต่วิธีนี้ให้ผลที่ไม่ยั่งยืนมากเมื่อกองทัพเห็นด้วยกับพวกต่อต้านระบอบกษัตริย์
ปฏิวัติ 14 กรกฎาคมและการปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์อิรัก
ในฤดูร้อน พ.ศ. 2501 สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดนส่งขอความช่วยเหลือทางการทหารกับอิรักในช่วงวิกฤตการณ์เลบานอน พ.ศ. 2501 ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กองทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกอิบด์ อัล-คะริม กอซิมได้กำหนดเดินทัพไปที่จอร์แดนแต่ได้หันกลับมาที่กรุงแบกแดด ซึ่งได้กระทำการรัฐประหารปฏิวัติในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ในระหว่างการปฏิวัติ 14 กรกฎาคม กองทัพนำโดยพันเอกอับดุล ซะลาม อะริฟและพลเอกอิบด์ อัล-คะริม กอซิมได้เข้ายึดกรุงแบกแดดภายใต้การช่วยเหลือของพันเอกอิบด์ อัล-ละทิฟ อัล-ดะร์ระจี ในช่วงเช้าตรู่กองกำลังของอะริฟได้เข้ายึดสถานีโทรทัศน์ต่างๆ และได้แถลงการณ์คณะปฏิวัติครั้งแรกความว่า "....ล้มล้างจักรวรรดินิยมและกลุ่มพรรคพวกในคณะเจ้าหน้าที่ ประกาศสาธารณรัฐใหม่และจุดจบยุคสมัยเก่า.... ประกาศสภาชั่วคราวแห่งสามสมัชชาเพื่อรับรองอำนาจประธานาธิบดีและสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ต่อไป"[4]
จากนั้นอะรีฟได้ส่งกองทหารสองกอง กองแรกมุ่งหน้าไปยังพระราชวังอัล-ราฮับเพื่อกราบทูลพระเจ้าฟัยศ็อลและมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ให้ทรงทราบถึงการปฏิวัติ อีกกองหนึ่งมุ่งหน้าไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีนูรี อัสซะอีด เมื่อกองทัพมาถึงพระราชวัง พระเจ้าฟัยศ็อลมีพระบัญชาให้ทหารกรมวังวางอาวุธเพื่อไม่ให้ชาวอิรักต้องหลั่งเลือด และพระองค์ทรงยอมจำนนต่อฝ่ายต่อต้านด้วยพระองค์เอง แม้ว่าไม่มีรายงานใดๆถึงจำนวนกองกำลังที่บุกเข้าไปในพระราชวัง
ในเวลา 8.00 น. หัวหน้ากองทหาร อับดุล ซัททาร์ ซะบาอะ อัล-อิโบซี ได้นำกองทัพปฏิวัติเข้าทำร้ายข้าราชสำนักในพระราชวัง มีคำสั่งกราบทูลพระบรมวงศานุวงศ์ได้แก่ พระเจ้าฟัยศ็อล, มกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์, เจ้าหญิงฮิยาม (พระชายาในมกุฎราชกุมารและเป็นพระมาตุจฉาในกษัตริย์), สมเด็จพระราชินีนาฟิสซา บินต์ อัลอิละฮ์ (พระมารดาในสมเด็จพระราชชนนีอะลียะฮ์และมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ และเป็นพระอัยยิกาในกษัตริย์), เจ้าหญิงคะดิยะห์ อับดิยะห์ (พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชชนนีอะลียะฮ์และมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ และเป็นพระมาตุจฉาในกษัตริย์) และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งให้เสด็จลงมายังลานสนามในพระราชวังพร้อมๆกัน จากนั้นมีคำสั่งให้ทุกพระองค์หันพระองค์เข้ากับกำแพง ที่ซึ่งทุกพระองค์ถูกกราดยิงด้วยปืนกลในทันที ร่างของทั้งห้าพระองค์ร่วงลงพื้นสนามพร้อมกับร่างของข้าราชบริพาร พระเจ้าฟัยศ็อลยังไม่สวรรคตในทันทีหลังการระดมยิงครั้งแรก ทรงถูกนำพระองค์ส่งโรงพยาบาลโดยผู้จงรักภักดีแต่ก็เสด็จสวรรคตระหว่างทาง สิริพระชนมายุ 23 พรรษา เจ้าหญิงฮิยามทรงรอดพระชนม์ชีพจากการปลงพระชนม์หมู่มาได้แต่ก็ทรงพระประชวรอย่างสาหัสจากการระดมยิงและทรงถูกผู้จงรักภักดีพาพระองค์เสด็จออกนอกประเทศ พระศพของมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ถูกลากไปตามถนนและถูกตัดเป็นชิ้นๆ ข่าวการปลงพระชนม์หมู่เกี่ยวกับมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ได้มีการรายงานว่า "ประชาชนนักปฏิวัติโยนพระศพของมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ลงบนถนนดั่งเช่นสุนัขและฉีกพระศพออกเป็นชิ้นๆ จากนั้นพวกเขาก็ทำการเผาพระศพ"[5] ถือเป็นจุดสิ้นสุดระบอบกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์อิรักและเป็นโศกนาฏกรรมของระบอบกษัตริย์ 37 ปีในอิรัก
นายกรัฐมนตรีนูรี อัสซะอีดก็ถูกสังหารด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากที่นูรีทราบข่าวการปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์ เขาได้พยายามหลบหนี พลเอกอิบด์ อัล-คะริม กอซิมได้ประกาศมอบรางวัลจำนวน 10,000 ดินาร์แก่ทหารที่สามารถจับตัวนูรีได้[6]และได้มีการค้นหาตัวครั้งใหญ่ ในวันที่ 15 กรกฎาคม นูรีได้ถูกจับตัวได้ที่เขตอัล-บัทตาวินในแบกแดดซึ่งพยายามหนีโดยปลอมตัวเป็นผู้หญิงสวมใส่อาบายา (ชุดคลุมยาวของสตรีอิสลาม) นูรีและผู้ติดตามได้ถูกยิงถึงแก่อสัญกรรมทันที ม็อบหัวรุนแรงได้ทำการไล่ล่าสังหารชาวต่างชาติทุกคนทั่งแบกแดด จนพลเอก กอซิมต้องประกาศเคอร์ฟิว
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างอย่างเป็นทางการ และประเทศถูกเข้าควบคุมแบบไตรภาคีภายใต้ "สภาปกครอง" ประกอบด้วยผู้แทนอิรักจากสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ความไม่เสถียรภาพทางการเมืองระยะยาวได้ทวีความรุนแรงขึ้นและถึงจุดสูงสุดเนื่องจากชัยชนะของพรรคบาธในปีพ.ศ. 2511 ที่ซึ่งเป็นการก้าวขึ้นสู่อำนาจของซัดดัม ฮุสเซน
พระคู่หมั้น
พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรักทรงหมั้นครั้งแรกกับเจ้าหญิงคียะเม็ท ฮะนิม เชื้อสายของราชวงศ์มัมลูกในอิรัก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 การหมั้นถูกยกเลิกในอีกสามเดือนต่อมา
พระเจ้าฟัยศ็อลทรงสู่ขอเจ้าหญิงชาห์นาซ ปาห์ลาวี พระราชธิดาในพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีแห่งอิหร่านกับเจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ แต่เจ้าหญิงชาห์นาซทรงปฏิเสธพระเจ้าฟัยศ็อล ในช่วงก่อนที่จะพระองค์สวรรคต ทรงหมั้นหมายและจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงซาบิฮา ฟาซิละ ฮานิม สุลต่าน พระธิดาเพียงพระองค์เดียวในเจ้าชายมุฮัมหมัด อะลี อิบราฮิม เบเยเฟนดิแห่งอียิปต์กับเจ้าหญิงซะห์ระ ฮันซะดี สุลต่าน
พระอิศริยยศทางทหาร
พระองค์มีพระอิศริยยศทางทหารดังนี้[7]
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
อ้างอิง
- Khadduri, Majid. Independent Iraq, 1932–1958. 2nd ed. Oxford University Press, 1960.
- Lawrence, T. E. Seven Pillars of Wisdom. Retrieved 14 July 2008
- Longrigg, Stephen H. Iraq, 1900 to 1950. Oxford University Press, 1953.
- Morris, James. The Hashemite Kings. London, 1959.
อ่านเพิ่มเติม
- Khadduri, Majid. Independent Iraq, 1932–1958. 2nd ed. Oxford University Press, 1960.
- Lawrence, T. E. Seven Pillars of Wisdom. Retrieved 14 July 2008
- Longrigg, Stephen H. Iraq, 1900 to 1950. Oxford University Press, 1953.
- Morris, James. The Hashemite Kings. London, 1959.
- De Gaury, Gerald. Three kings in Baghdad, 1921-1958 (Hutchinson, 1961).
แหล่งข้อมูลอื่น