พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์) |
---|
|
เกิด | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2412[1] พลิมัท[2] ประเทศอังกฤษ |
---|
เสียชีวิต | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2494 (82 ปี)[2][3] |
---|
อาชีพ | ข้าราชการ |
---|
บุตร | ธิดาอย่างน้อย 1 คน[3] |
---|
พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (23 สิงหาคม พ.ศ. 2412[1] – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2494)[2][3] นามเดิม ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์[หมายเหตุ ก] (อังกฤษ: Francis Henry Giles) เป็นชาวอังกฤษซึ่งรับราชการในประเทศสยามจนได้เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนแรก[2] และวางระบบสรรพากรสมัยใหม่ในประเทศสยาม[4]
ต้นชีวิต
ฟรานซิสเป็นชาวอังกฤษ[2] เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412)[1] เกิดที่พลิมัท ในตระกูลทหารเรือ[2] ไม่ปรากฏประวัติการศึกษา[2] พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงระบุว่า ฟรานซิสเคยกล่าวว่า "ไม่เคยได้เข้าโรงเรียนหรูหราอันใด"[5]
ครั้นอายุได้ 18 ปี ฟรานซิสเข้ารับราชการกับรัฐบาลอังกฤษในพม่า ได้ทำงานในหน่วยงานปกครองท้องที่หลายแห่ง และพูดภาษาท้องถิ่นได้หลายภาษา[2] หลังรับราชการได้ 10 ปี ฟรานซิสได้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าปลัดจังหวัด[5] ในรัฐฉาน[1]
การทำงานในสยาม
ใน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงขอยืมตัวฟรานซิสจากรัฐบาลอินเดีย (ซึ่งปกครองพม่า) ให้เข้ามารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพราะรัฐบาลสยามกำลังริเริ่มทำงบประมาณแผ่นดิน[5] เมื่อเข้ามาแล้ว ฟรานซิสมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีรายจ่ายทุกกระทรวง[5] และยังได้เป็นข้าหลวงคลังพิเศษ มณฑลปราจิณบุรี[5] (ราชกิจจานุเบกษาเรียก ข้าหลวงสรรพากร มณฑลปาจิณบุรี)[6] ฟรานซิสไปตรวจการคลังในมณฑลดังกล่าวแล้ว รายงานกลับมายังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติถึงสภาพการเก็บภาษีที่สับสนวุ่นวายและการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นระเบียบ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงเรียกตัวฟรานซิสกลับเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากรมสรรพากรนอก มีหน้าที่จัดระบบการเก็บภาษีทั่วสยาม ยกเว้นในกรุงเทพฯ และบางเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ[5] โดยมีประกาศเรียกตัวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442)[6]
ภายหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงโอนกรมสรรพากรนอกไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากการเก็บภาษีในครั้งนั้นต้องอาศัยหน่วยงานปกครองท้องที่ ฟรานซิสจึงต้องย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วย[7] เมื่อฟรานซิสรับราชการในสยามครบ 5 ปีตามสัญญาแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นควรรั้งตัวไว้เพื่อประโยชน์ของกิจการสรรพากร รัฐบาลสยามจึงชวนให้ฟรานซิสลาออกจากราชการกับอังกฤษมารับราชการกับสยาม และฟรานซิสปฏิบัติตาม[4] บางแห่งว่า ฟรานซิสได้เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสยามด้วย[2] แต่บางแห่งว่า ภายหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ฟรานซิสก็ยังมีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษอยู่[8]
ฟรานซิสทำงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยจนถึง พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงให้ปรับปรุงหน่วยงานราชการเสียใหม่ในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยรัชกาลที่ 6 ทรงให้รวมกรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย และกรมสรรพากรใน กระทรวงพระนครบาล เข้าเป็นกรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และให้ฟรานซิสเป็นอธิบดีกรมใหม่นี้[9] ฟรานซิสจึงเป็นอธิบดีคนแรกของกรมสรรพากร[2] โดยเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458[10] และได้รับเงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท เท่าอัตราขั้นต่ำของเสนาบดี พร้อมเงินพิเศษเป็นการเฉพาะตัวอีกเดือนละ 500 บาท รวมเป็นเดือนละ 2,500 บาท[9]
ใน พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ฟรานซิสเป็นพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร[11] โดยทรงนำบรรดาศักดิ์ดังกล่าวมาจากทำเนียบบรรดาศักดิ์โบราณแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[9] นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานนามสกุล "จิลลานนท์" ให้แก่ฟรานซิส[2]
นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ใน พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 ยังทรงแต่งตั้งฟรานซิสเป็นกรรมการควบคุมการส่งข้าวออกนอกประเทศ[12] และเป็นกรรมการกำกับตรวจตราข้าวเมื่อ พ.ศ. 2462[13]
ฟรานซิสดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ฟรานซิสก็ล้มป่วยด้วย "นัยน์ตาพิการ"[9] บางแห่งว่า "จักษุถึงมืด"[14] แต่แม้จะป่วยดังกล่าว รัฐบาลสยามก็ประสงค์ให้ฟรานซิสทำงานต่อไป[14] โดยรัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งฟรานซิสเป็นกรรมการพิจารณาลดค่าเงินบาทเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ฟรานซิส และกรรมการอีกผู้หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เห็นควรที่สยามจะลดค่าเงินบาทเป็น 13 บาทต่อ 1 ปอนด์ แต่รัฐบาลสยามเห็นควรลดเป็น 11 บาทต่อ 1 ปอนด์ ที่สุดแล้ว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิบัติตามความเห็นของรัฐบาล[15]
อาการเกี่ยวกับนัยน์ตาของฟรานซิสนั้นเป็นแล้วหาย หายแล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง[9] ฟรานซิสได้ลาไปรักษาในยุโรปหลายคราว แต่การรักษาก็ไม่เป็นผล จนฟรานซิสไม่สามารถมองเห็นได้อีก[2] ฟรานซิสจึงลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2473[2][3] แต่บางแห่งว่า เป็นวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2472[10]
บั้นปลายชีวิต
หลังออกราชการแล้ว ฟรานซิสยังพำนักอยู่ในสยาม[2] โดยอาศัยอยู่กับครอบครัว ณ บ้านใกล้สถานีรถไฟมักกะสัน[12] และได้รับบำเหน็จพิเศษจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลสยาม[3]
ในยามว่างนั้น ฟรานซิสเขียนและอ่านหนังสือ โดยให้ธิดาหรือผู้อื่นเขียนตามคำบอกกล่าวของตน หรืออ่านให้ตนฟัง[3] และฟรานซิสยังออกท่องเที่ยว แม้นัยน์ตาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม ครั้งหนึ่ง ไปเที่ยวถึงปราสาทพระวิหาร และให้เจ้าหน้าที่คอยบรรยายสภาพโบราณสถานให้ตนฟัง[16]
นอกจากนี้ ก่อนออกราชการ ฟรานซิสได้เป็นสมาชิกของสยามสมาคมมาตั้งแต่แรกก่อตั้งใน พ.ศ. 2447 โดยดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคมตั้งแต่ปีนั้นมาจนถึง พ.ศ. 2473 จึงได้เป็นนายกของสมาคม[2] เมื่อออกราชการแล้ว ฟรานซิสเป็นนายกของสมาคมนี้ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2480 จึงลาออก แต่ยังคงเป็นสมาชิกของสมาคม และเขียนบทความหลายเรื่องลงพิมพ์ในวารสารของสมาคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับน้ำมันพราย ตำนานเกาะหลัก ประวัติเขาตาม่องล่าย และการล่าวัวแดงบนหลังม้าที่อุบลราชธานีและกาฬสินธุ์[2] หลังสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพา (ใน พ.ศ. 2488) ฟรานซิสมีสุขภาพทรุดโทรมลง ไม่อาจช่วยงานสมาคมได้อีก สมาคมจึงยกย่องฟรานซิสเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม[2]
การถึงแก่อนิจกรรม
ฟรานซิสถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2494[2][3] 7 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บหนักเพราะหกล้ม[17]
ฟรานซิสได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยมตามบรรดาศักดิ์พระยา[18] และศพของฟรานซิสได้รับพระราชทานเพลิงตามพิธีพุทธศาสนา[18]
ยศและบรรดาศักดิ์
- 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 – พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ถือศักดินา 2,400[11]
- 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 – มหาอำมาตย์ตรี[11]
- 12 มกราคม 2461 – มหาอำมาตย์โท[19]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
หมายเหตุ
หมายเหตุ ก ในเอกสารไทยมีการออกนามหลายแบบ เช่น "ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์"
[2] "มิสเตอร์ฟรานซิส ไจลส์"
[22] "มีสเตอรแฟรนซีสใยลส์"
[4] "เอ๊ฟ. เอช. ใยลส"
[11] "พระยาอินทรมนตรี (ฟรานซิน เฮนรี ไยลส์)"
[21] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แฟรงซิส เฮนรี ไยลส์)"
[20] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แฟรนซิส เฮนรี่ ไยลส์ จิลลานนท์)"
[23] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แอฟ. เอช. ไยลส์ จิลลานนท์)"
[3] และ "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (เอฟ.เอช.ไยล์)"
[24]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Seidenfaden (1952, p. 222)
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 โรม บุนนาค (2019)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 16)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 14)
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ก)
- ↑ 6.0 6.1 แจ้งความกระทรวงมหาดไทยฯ (1889, p. 462)
- ↑ พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ก–ข)
- ↑ Seidenfaden (1952, p. 226)
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ข)
- ↑ 10.0 10.1 ไพจิตร โพธิ์หอม (2015)
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ (1914, p. 465)
- ↑ 12.0 12.1 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ค)
- ↑ ประกาศตั้งเจ้าพนักงานฯ (1919, p. 105)
- ↑ 14.0 14.1 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 15)
- ↑ อนุสรณ์ ธรรมใจ (2022)
- ↑ พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ค–ง)
- ↑ พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. จ)
- ↑ 18.0 18.1 Seidenfaden (1952, p. 226)
- ↑ พระราชทานยศ (1919, p. 2871)
- ↑ 20.0 20.1 พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ (1919, p. 2849)
- ↑ 21.0 21.1 ส่งเหรียญรัตนาภรณ์ไปพระราชทานฯ (1932, p. 541)
- ↑ ส. ศิวรักษ์ (1983, p. 13)
- ↑ อนุมานราชธนฯ (1978, p. 12)
- ↑ กรมสรรพากร (2014)
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น