พระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) หรือ พันเอกพระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) เป็นบุตรชายของพระยาพระกฤษณรักษ์ (บุญยัง โรหิตเสถียร) ข้าหลวงใหญ่ ณ หลวงพระบาง , ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ และ เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5
เรียบเรียงจาก ประชุมพงษาวดารภาคที่ 11 เรื่อง พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้มีการพิมพ์แจกในงานศพของพระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) ซึ่งมีการจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร กล่าวว่า นายพันเอก พระยาดัษกรปลาส (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) ท ม.ต ช. ดุษฎีมาลา. เข็มราชการแผ่นดิน. ฯลฯ เป็นบุตรชายของ พระยาพระกฤษณรักษ์ (บุญยัง โรหิตเสถียร) เกิดในรัชสมัย รัชกาลที่ 3 เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 10 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1211 พ.ศ. 2392 แรกเริ่มได้เข้ารับราชการเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2414 ซึ่งมีอายุ 22 ปี เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 2 ปี จึงได้เป็นนายสิบโท 3 ปี แล้วจึงได้เป็นนายสิบเอกในกองร้อยที่ 6 อีก 4 ปี
เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2424 ในสมัยเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้กราบบังคมทูลขอพระยาดัษกรปลาศไปเป็นนายร้อยโทในกรมทหารสมัครกองร้อยที่ 3 และเลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอกในปีนั้น ก่อนจะรับราชการต่อมาจนได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงดัษกรปลาศ ในปีระกา พ.ศ. 2428 โปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีแต่ยังเปนนายพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนารถในสมัยนั้นเป็นแม่ทัพคุมกองทหารไปปราบปรามพวกฮ่อ ซึ่งเข้ามาบุกรุกในอาณาเขตเมืองหลวงพระบาง เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีจึงให้พระยาดัษกรปลาศคุมทหาร 1 ยก ล่วงหน้านำไปทางเมืองงอย ในเขตรหัวพันทั้งหก ซึ่งฮ่อเข้ามาตั้งค่ายอยู่หลายแห่ง ซึ่งพระยาดัษกรปลาศยกขึ้นไปถึงค่ายฮ่อและเข้าตีค่ายก่อนทหารกองอื่น พวกฮ่อล้มตายแตกหนี พระยาดัษกรปลาศจึงตั้งมั่นอยู่ที่นั่น แต่งกองทหารตีค่ายฮ่อซึ่งเป็นค่ายน้อย ตั้งอยู่ที่อื่นๆในจังหวัดนั้นจนฮ่อแตกหนีไปหมด
ในเรื่องครอบครัวนั้นพระยาดัษกรปลาศมีพี่น้องรวม 9 คน คือ เจ้าจอมศิลา และ เจ้าจอมแปลก (ในรัชกาลที่ 4), นายไผ่, นายพันเอก พระยาดัษกรปลาศ, นายทองคำ , นายร้อยโท นาค , รองอำมาตย์โท ขุนพิทักษ์สาลี, ปุก (ภริยาหลวงสารยุทธสรสิทธิ์), นายสวน ซึ่งภายหลังพระยาดัษกรปลาศได้รับพระราชทานนามสกุล โรหิตเสถียร จากรัชกาลที่ 6 ทำให้ทุกคนในครอบครัวเริ่มต้นใช้นามสกุล
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙ ตอนที่ ๓๘ หน้า ๓๑๖, ๑๘ ธันวาคม ๑๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญปราบฮ่อ, เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๒๘๒, ๒๕ กันยายน ๑๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๔๖ หน้า ๕๕๒, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๑๑๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการโรงเรียนทหาร พระราชทานเหรียญจักรมาลาแก่นายทหารที่ได้รับราชการครบ ๑๕ ปี แลพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยที่สอบไล่ได้, เล่ม ๑๒ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๓๑๘, ๑ ธันวาคม ๑๑๔