พระครูธรรมธร[6] เทวประภาส วชิรญาณเมธี (นามเดิม: เทวประภาส มากคล้าย) น.ธ.เอก, ป.ธ.๔, น.บ., รป.ม., Ph.D. (20 มีนาคม พ.ศ. 2530 - ปัจจุบัน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา[2] และรองเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3[3][4] รูปปัจจุบัน
พระครูธรรมธรเทวประภาส เป็นพระสงฆ์นักพัฒนา เป็นรองประธานมูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา[7] ผู้ริเริ่มจัดตั้งพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ นักเผยแผ่ศาสนาพุทธและแกนนำในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดอุตรดิตถ์มีผลงานเป็นที่ปรากฏ[8] และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศในการนำพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยไปเผยแผ่ยังประเทศต่าง ๆ ในหลายทวีป เช่น สหรัฐอเมริกา[9] สหราชอาณาจักร[1] ญี่ปุ่น เยอรมัน นครรัฐวาติกัน อิตาลี และออสเตรีย ในนามของตัวแทนคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์[10]
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระสงฆ์นักพัฒนาที่มีผลงานเป็นที่ปรากฏ จึงทำให้ท่านได้รับถวายรางวัลจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มากมาย จนในปี พ.ศ. 2559 ท่านจึงได้รับพระกรุณาธิคุณ ทรงโปรดให้เข้ารับ "รางวัลเสาอโศก" โล่รางวัลประทานแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากพระหัตถ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ[11] ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติที่มอบถวายแด่ผู้นำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย[12]
พระครูธรรมธรเทวประภาส เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2530 เป็นบุตรของพ่อมานะ และแม่มนรัตน์ มากคล้าย ชาติภูมิคนคุ้งตะเภาโดยกำเนิด บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2542 ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีพระเทพประสิทธิคุณ (ผัน ติสสรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันอาสาฬหบูชา พ.ศ. 2553 ตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ พัทธสีมาวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพระสุธรรมญาณ (ทองคำ กมลมหาเถระ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดเจดีย์คีรีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ปัจจุบันพระครูธรรมธรเทวประภาสจำพรรษาอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา[13]
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ปี พ.ศ. 2544 และสำเร็จเปรียญธรรม 4 ประโยค ขณะเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสำนักเรียนวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จากนั้นท่านได้กลับมาฝึกปฏิบัติกรรมฐาน และติดตามออกธุดงค์กับพระเถระและครูบาอาจารย์ ในช่วงหลังออกพรรษาของทุกปีไปยังพื้นที่ป่าเขาชนบทจนอายุสมควรแก่การศึกษาอุปสมบท ท่านจึงได้กลับมาสนองงานคณะสงฆ์และชุมชน ทั้งในด้านการเผยแผ่ ด้านการศาสนศึกษา และการปฏิบัติธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2557[2] โดยท่านได้ศึกษาเล่าเรียนต่อจนจบการศึกษาในระดับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปี พ.ศ. 2560 ทำให้ท่านเป็นพระภิกษุชาวอุตรดิตถ์รูปแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกขณะที่ยังคงจำพรรษาอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์[1]
พระครูธรรมธรเทวประภาสฯ เป็นผู้รับสนองนโยบายคณะสงฆ์และริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น โครงการปฏิบัติธรรม การสอนศีลธรรมในสถานศึกษา และโครงการอบรมสร้างจิตสำนึกป้องกันยาเสพติดแก่เยาวชนก่อนวัยเสี่ยง ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ จนได้รับถวายโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อจังหวัดอุตรดิตถ์ จากผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์[14] ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและชุมชน ทั้งในด้านการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน[15] จนปรากฏผลงานหนังสือวิชาการด้านการอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณี และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ[16] จนได้รับถวายรางวัล "วัฒนคุณาธร" ในฐานะ 1 ใน 28 พระสงฆ์จาก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2563 จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[17]
ในด้านสาธารณูปการ ท่านได้สนองนโยบายของรัฐบาลและคณะสงฆ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งและดำเนินการโครงการพุทธสังเวชนียสถานมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 จนสำเร็จ และท่านได้รับพระกรุณาธิคุณทรงโปรดให้เข้ารับ "รางวัลเสาอโศก" โล่รางวัลประทานแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากพระหัตถ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่มอบถวายแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย[11]
ในด้านการเผยแผ่ศาสนาพุทธในต่างประเทศ ท่านได้รับสนองนโยบายมหาเถรสมาคม ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยได้ปรากฏผลงานการเผยแผ่และการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ[18] มีผลงานในการสนองงานย้ายพื้นที่ตั้งวัดระฆังญี่ปุ่นแห่งใหม่ในเมืองไอกาวะ จังหวัดคานางาวะ (วัดสาขาวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร) ในประเทศญี่ปุ่น[19] และเป็นพระธรรมทูตจำพรรษาชุดแรก และคณะกรรมการชุดบุกเบิกแรกก่อตั้งวัดไทยในต่างประเทศในเมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร โดยได้รับอนุมัติจดทะเบียนจาก Charity Commission for England and Wales หรือคณะกรรมการการกุศลประจำอังกฤษและเวลส์ (องค์กรส่งเสริมงานด้านการศาสนาของรัฐบาลอังกฤษ) ให้จัดตั้งขึ้นเป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ ในต้นปี พ.ศ. 2563[20] และได้รับการรับรองเป็นวัดในกำกับขององค์กรพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม[21] โดยในปี พ.ศ. 2564 ท่านได้เป็นพระธรรมทูตไทยที่ได้รับพระราชทานพระราชกระแสทรงขอบใจจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่ได้จัดกิจกรรมทางด้านศาสนาพุทธอย่างต่อเนื่องในสหราชอาณาจักร[22]