ฝ่ายข่าว ช่อง 3 เอชดี (อังกฤษ: 3Plus News) เป็นหน่วยงานย่อยของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใต้การกำกับดูแลโดยกลุ่มบีอีซีเวิลด์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตข้อมูลข่าวสารทุกประเภท ในรูปของเนื้อหาข่าว และภาพเคลื่อนไหวแบบวิดีโอ หรือภาพนิ่งในบางกรณี เพื่อสนับสนุนกับรายการโทรทัศน์ ประเภทข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน ทั้งส่วนที่ผลิตเอง และส่วนที่ให้บริษัทเอกชนเช่าเวลาผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา รายการข่าวทั้งหมดอยู่ภายใต้ตราสินค้า ครอบครัวข่าว 3 ในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในผังรายการทางช่อง 3 และต่อมาขยายออกสู่การผลิตรายการข่าวให้กับช่อง 3 ทั้ง 3 ช่องในระบบดิจิทัล รวมถึงรายการของฝ่ายข่าวเดิมที่ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี มาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
ฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มดำเนินงานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2529 หลังจากที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) อนุมัติให้ช่อง 3 ดำเนินการผลิตรายการข่าวได้ด้วยตนเอง โดยก่อนหน้านั้น อ.ส.ม.ท. ผลิตรายการข่าวประจำวัน เพื่อออกอากาศทาง ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และไทยทีวีสีช่อง 3 ไปพร้อมกัน ในเวลา 20:00-20:45 น. ภายใต้ชื่อ ข่าวร่วม 3 - 9 อ.ส.ม.ท. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524
ทั้งนี้ ผู้บริหารช่อง 3 ได้เปิดรับสมัครบุคลากรจำนวนมาก เพื่อรองรับการเปิดแผนกใหม่ จนกระทั่งได้ทีมงานรุ่นใหม่มากกว่า 100 คน ภายในเวลาไม่กี่เดือน สำหรับผู้ประกาศข่าวซึ่งเป็นที่รู้จักในขณะนั้น ได้แก่ อาคม มกรานนท์, สิทธิชาติ บุญมานนท์, อภิญญา มาลีนนท์, ชุติมา รอดอยู่สุข, รัตติยากร ริมสินธุ, อภิชาติ หาลำเจียก, จักรพันธุ์ ยมจินดา, สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล, นัจนันท์ พฤกษ์ไพบูลย์, สาธิต ยุวนันทการุณ เป็นต้น โดยกำหนดคำขวัญว่า เที่ยงตรง กระชับ ฉับไว
อนึ่ง ก่อนหน้านั้น ช่อง 3 นำเสนอรายการข่าวมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ในข่าวภาคกลางวัน และข่าวโทรพิมพ์ ในเวลา 12.00 - 13.00 น. ส่วนปี พ.ศ. 2519 ช่อง 3 เลื่อนเวลานำเสนอรายการข่าวมาเป็น 19.00 น. พร้อมยกเลิกการออกอากาศข่าวในช่วงเที่ยงวัน และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ช่อง 3 นำเสนอรายการ ข่าวดาวเทียม ซึ่งถ่ายทอดข่าวต่างประเทศ จากสำนักข่าวระดับโลก ผ่านระบบดาวเทียมอย่างรวดเร็ว ในเวลา 20.20 น. นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดลักษณะนี้[1]
วิวัฒนาการ
ฝ่ายข่าว ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มนำเสนอข่าวประจำวัน ในปี พ.ศ. 2529 ระหว่างเวลา 19.30 - 20.30 น. ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2533 เพิ่มช่วงนำเสนอข่าวสั้น โดยในระยะแรกที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ช่อง 3 ได้เชิญสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ในขณะนั้น มาวิเคราะห์สถานการณ์ออกอากาศ นับเป็นสถานีแรกที่สุทธิชัยออกรายการ, พ.ศ. 2536 เพิ่มเวลาข่าวประจำวันอีกวันละ 30 นาทีและเพิ่มรายการข่าวสตรีคือรายการ ผู้หญิงอยากรู้ (ต่อมาเป็นรายการ ผู้หญิงอยากรู้ 100เปอร์เซ็นต์,ผู้หญิง ผู้หญิง,ผู้หญิงถึงผู้หญิงและผู้หญิงยกกำลังแจ๋ว) และในเดือนมกราคม ปีถัดมา (พ.ศ. 2537) เพิ่มรายการภาคเช้า ระหว่างเวลา 05.30 - 06.00 น.
จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 - 2542 ฝ่ายข่าวจึงปรับปรุงชื่อและรูปแบบการนำเสนอข่าวครั้งใหญ่ โดยเพิ่มรายการ เหตุบ้านการเมือง ที่มีสถานะเทียบเท่ารายการภาคเช้า, เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ซึ่งเทียบเท่าข่าวภาคเที่ยง, ข่าวเด่นประจำวัน ที่มีสถานะเป็นข่าวภาคเย็นและภาคค่ำ และช่วง สถานการณ์ประจำวัน (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ชีพจรข่าว 3 และ ระเบียงข่าว 3 โดยมีลักษณะคล้ายกับรายการเก็บตก และ ข่าวนอกลู่ ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ในช่วงข่าวสั้น ก็ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ 3 นาทีทั่วไทย มองโลก ทันเหตุการณ์ และ 180 วินาทีข่าว ซึ่งในระยะแรก มีการตั้งนาฬิกาจับเวลาถอยหลังบนหน้าจอ จาก 180 - 0 วินาทีด้วย (รูปแบบเช่นเดียวกับรายการ 60 Seconds ของช่อง BBC Three ประเทศอังกฤษ) แต่ต่อมาได้ยกเลิกการใช้นาฬิกาไป ซึ่งขณะนั้นเหลือเพียงข่าวสั้นและภายหลังเปลี่ยนเป็น 180 วินาทีข่าว อีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 เปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าวสั้นใหม่โดยนำเสนอในชื่อว่า แฟลชนิวส์ จำนวน 5 ช่วง ในวันจันทร์ - ศุกร์ และ 7 ช่วง ในวันเสาร์ - อาทิตย์
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บีอีซี-เทโร) ในนามบางกอกการละคอน ร่วมกับฝ่ายข่าวช่อง 3 เพื่อผลิตรายการข่าว ในฐานะสนับสนุนเนื้อหาข่าว โดยมีรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ และ โลกยามเช้า ในช่วงใกล้เคียงกัน ฝ่ายข่าวช่อง 3 ได้ผลิตรายการเองเพิ่มคือ เช้าวันใหม่
ครอบครัวข่าว 3
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ฝ่ายข่าวช่อง 3 ร่วมกับ วิบูลย์ ลีรัตนขจร ผู้บริหารบริษัท เซิร์ช เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ผู้ผลิตรายการ 168 ชั่วโมง และประธานกรรมการบริษัท เชิร์ช ไลฟ์ จำกัด ร่วมกันเผยแพร่ตราสินค้าใหม่ของฝ่ายข่าวช่อง 3 ครอบครัวข่าว 3 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการรวบรวมกลุ่มรายการข่าวของช่อง 3 ทั้งหมดไว้ ภายใต้ตราสินค้าเดียวกัน โดยมีสโลแกนว่า "เข้าใจทุกข่าว เข้าถึงทุกคน"[2] โดยในปีนี้มีรายการข่าวทางช่อง 3 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย เรื่องเด่นเย็นนี้ (ร่วมกับเซิร์ชไลฟ์), ข่าววันใหม่ (ร่วมกับ บางกอกการละคอน), ทันโลกกีฬา และ ผู้หญิงถึงผู้หญิง และปีถัดมามีรายการข่าวเพิ่มอีก ได้แก่ 30 Young แจ๋ว เริ่มออกอากาศ 17 เมษายน พ.ศ. 2549 (ต่อมาใช้ชื่อว่า แจ๋ว และ แจ๋วแฟมิลี่ ปัจจุบัน 2 รายการหลังได้ควบรวมกลายเป็นรายการ ผู้หญิงยกกำลังแจ๋ว), โต๊ะข่าวบันเทิง และ สีสันบันเทิง ปีถัดมา ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 มีรายการ ช่วยคิดช่วยทำ (ร่วมกับสาระศิลป์ไทยทัศน์) และ รอบทิศทั่วไทย ส่วนวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551 มีรายการร่วมกับ บริษัท ฮอทนิวส์ จำกัด ของกิตติ สิงหาปัด คือรายการ ข่าว 3 มิติ และ ตรงจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2550 มีการออกโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ตราสินค้าครอบครัวข่าว 3 ด้วย[3]
ช่อง 3 นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีกำแพงวีดิทัศน์ (Video Wall) ซึ่งเป็นแผงจอโทรทัศน์ ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้รายงานข่าวได้ เข้ามาใช้ในการรายงานข่าวภายใต้การดำเนินงานของครอบครัวข่าว 3 โดยเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการรายงานการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2008 ในช่วงเจาะกีฬากับบิ๊กจ๊ะ ของรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551[4] ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 จึงติดตั้งกำแพงวีดิทัศน์จอเล็กในสตูดิโอชั้น 10 ของรายการเรื่องเล่าเช้านี้เพิ่มเติมอีก 1 ชุด[5]
ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 มีการออกภาพยนตร์โฆษณา Image Campaign ชุด "ข่าว 3 ไม่ต้องรอ" เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของครอบครัวข่าว 3 ที่ได้แตกขยายเพิ่มเติมออกไปทำรายการข่าวออกอากาศทั้ง 4 ช่องในเครือเดียวกัน โดยภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้มีการนำเพลง "ยามรัก" ของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มาประกอบ โดยมีผู้ประกาศข่าวของสถานีร่วมแสดงและร้องเพลง ซึ่งผู้ที่ผลิตและควบคุมมิวสิควิดีโอ คือ ไตรภพ ลิมปพัทธ์[6]
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ภายหลังการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลของช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี กลุ่มบีอีซีเวิลด์ได้ปรับปรุงผังรายการของช่อง 3 แอนะล็อก ซึ่งขณะนั้นออกอากาศคู่ขนานกับทีวีดิจิทัลทางช่อง 3 เอชดี เพื่อให้เป็นช่องสาระและบันเทิงที่ดีที่สุดของผู้ชมต่อไป โดยในช่วงแรกเริ่มปรับปรุงจากรายการข่าวก่อน เนื่องจากช่อง 3 เล็งเห็นว่ามีผู้ประกาศข่าวจำนวนมาก และเป็นที่รู้จักของผู้ชมในวงกว้าง โดยมี 5 รายการที่ย้ายจากช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี มาออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงฉากในห้องส่งของรายการข่าวหลักทั้ง 3 รายการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 9 ของอาคารมาลีนนท์ และเปิดตัวสโลแกนใหม่ของครอบครัวข่าว 3 คือ "ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้" เพื่อให้เป็นรายการข่าวที่ได้รับความนิยมและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างแท้จริง[7]
วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564 มีการออกภาพยนตร์โฆษณาอีก 1 ชุด แสดงโดยผู้ประกาศข่าว 5 คน ที่มีเอกลักษณ์และได้รับความนิยมของช่อง 3 เอชดี ที่มีจุดเด่นและบุคลิกในการนำเสนอข่าวที่แตกต่างกัน เป็น "5 พิธีกรข่าว 5 คาแรคเตอร์ 5 การนำเสนอ"[8] โดยเน้นดึงผู้ชมให้กลับมารับชมข่าวของช่อง 3 เอชดี ด้วยวลี "ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ช่อง 3 อยู่กับคุณ" เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันรายการข่าวของช่อง 3 เอชดี ให้มีเรตติ้งอันดับที่ 1 ในทุกรายการและทุกช่องทาง และเพื่อเปิดตัวสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวคนสำคัญของช่อง 3 เอชดี ในการกลับมาทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวในช่อง 3 เอชดีอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม หลังจากได้รับการพักโทษ (ในขณะนั้น) จากการถูกจำคุกในคดีไร่ส้ม และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายข่าวให้แก่ผู้อำนวยการช่อง 3 เอชดี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมา[9] โดยสรยุทธได้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง[10][11] และตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ฝ่ายข่าวได้เรียกคืนเวลาของรายการข่าวหลักที่เคยผลิตร่วมกับบริษัทภายนอก มาผลิตเองทั้งหมดภายใต้ตราสินค้า "ครอบครัวข่าว 3" อย่างเต็มรูปแบบ[12] ยกเว้นรายการข่าวสามสี ที่ยังผลิตร่วมกับเซิร์ช ไลฟ์
ตราสัญลักษณ์ของรายการข่าวและฝ่ายข่าว
ในระหว่างออกอากาศ การรายงานข่าวของช่อง 3 จะแสดงกราฟิกที่มุมขวาล่างของจอโทรทัศน์ เป็นตราสัญลักษณ์ของช่อง 3 (ไม่มีอักษรชื่อย่อ อสมท) ถัดไปทางซ้าย มีตัวอักษรสีเหลืองทอง คำว่า ข่าว โดยเมื่อมีการเผยแพร่เว็บไซต์ข่าว www.becnews.com จึงเริ่มแสดงชื่อโดเมนดังกล่าว กำกับอยู่เบื้องล่างของกราฟิกดังกล่าวข้างต้นด้วย ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ยังคงมีการใช้รูปแบบของกราฟิกดังกล่าวเฉพาะในช่วงข่าวด่วนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการจัดทำและแสดงกราฟิก สำหรับช่วงข่าวด่วนขึ้นเฉพาะแล้ว จึงมิได้นำมาใช้อีก
ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ช่อง 3 มีนโยบายเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอข่าวออกเป็นหลายชื่อรายการในแต่ละช่วงเวลา เช่น เที่ยงวันทันเหตุการณ์, 180 วินาทีข่าว เป็นต้น จึงมีการออกแบบตราสัญลักษณ์เป็นของแต่ละรายการเอง ซึ่งนับเป็นช่องโทรทัศน์แห่งแรกที่สร้างเอกลักษณ์ของการนำเสนอกราฟิกบนหน้าจอในรูปแบบที่แตกต่างจากสถานีอื่น ๆ
ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าว
ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในปัจจุบัน
รายการข่าว
ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในอดีต
อัตลักษณ์ประกอบการนำเสนอ
เพลงประกอบรายการข่าวของช่อง
กราฟิก
กรอบล่ามภาษามือ
สืบเนื่องที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ซึ่งระบุให้จัดบริการต่าง ๆ เพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ฝ่ายข่าว ไทยทีวีสีช่อง 3 จึงได้นำเสนอการบรรยายภาษามือในรายการข่าวภาคต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยเริ่มจากรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์[13] ก่อนจะขยายไปยังรายการข่าวทั้ง 4 ช่องของกลุ่มช่อง 3 โดยปัจจุบัน ช่อง 3 เอชดี นำเสนอกรอบล่ามภาษามือในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ และเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557)[14] โดยเป็นกรอบพื้นหลังสีเทา ขอบสีขาว อยู่ที่บริเวณมุมล่างขวาของจอโทรทัศน์
นาฬิกา
โดยปกติแล้วนาฬิกาจะอยู่ทางด้านซ้ายบนของรายการข่าว แต่หากมีพระราชพิธีสำคัญอาจจะอยู่ด้านล่างตราสัญลักษณ์ของพระราชพิธี ยกเว้นรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์และเรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ จะอยู่ด้านล่างของโลโก้ของรายการ และข่าว 3 มิติ อยู่ด้านล่างของโลโก้ของสถานี
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น