รองศาสตราจารย์ ประทุมพร วัชรเสถียร (สกุลเดิม เหล่าวานิช ; ชื่อเล่น: ตุ้ง; 27 กันยายน พ.ศ. 2486 ที่ย่านบางรัก ถนนสีลม จังหวัดพระนคร — 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (67 ปี 84 วัน)) นามปากกา ดวงใจ เป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและนโยบายต่างประเทศแถบยุโรป, นักเขียน, นักจัดรายการวิทยุ และพิธีกรรายการโทรทัศน์ ตลอดจนเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร.ศ.ประทุมพร เป็นรัฐศาสตรบัณฑิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 14 จากนั้น ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐ ได้ป็นมหาบัณฑิตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนด้านครอบครัว ประทุมพรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ และได้สมรสกับนายธีระ วัชรเสถียร[1] สามีนับถือนิกายโรมันคาทอลิก มีบุตรชายด้วยกันคือนายพลธร วัชรเสถียร[2]
ร.ศ.ประทุมพร เป็นที่รู้จักมากในบทบาทนักเขียน และสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ด้วยเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วย[3]
ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 04.10 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังต่อสู้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาระยะหนึ่ง[4] ก่อนเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมมอบร่างของตนให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย[5] มีพิธีไว้อาลัย ณ คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร การนี้ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ได้อัญเชิญพวงหรีดของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตั้งเพื่อไว้อาลัย[2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง