นารี ตัณฑเสถียร ชื่อเล่น เปี้ยก เป็นอัยการสูงสุดของไทยคนที่ 17 นับเป็นหญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ตลอดชีวิตการทำงาน เธอมีบทบาทและความเชี่ยวชาญโดดเด่นทางกฎหมายในด้านสัญญาจ้างและสัญญาร่วมลงทุน พลังงาน และการค้าระหว่างประเทศ[1]
ประวัติ
นารีสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 19 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2] และเนติบัณฑิตไทย พร้อมปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ Howard University, Washington DC, USA ปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ American University, Washington DC, USA และปริญญาโทด้านกฎหมายการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ Vrije Unversity of Brussel, Belgium (ทุนรัฐบาลเบลเยียม)[3]
การทำงาน
เธอเริ่มทำงานปี พ.ศ. 2528 ในสำนักงานคดีอาญาธนบุรี สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่หน่วยงานภาครัฐ และเจรจา ตรวจร่างสัญญาภาครัฐ นอกจากนี้ นางสาวนารียังเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการอัยการสูงสุด ในช่วงการดำรงตำแหน่งของตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด และได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการข้าราชการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิติดกันถึง 2 สมัย[4]
เธอยังได้รับผิดชอบคดีสำคัญและมีผลงานโดดเด่นเรื่อยมา เช่น คดีเพชรซาอุฯ คดีฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯ สัญญาเกี่ยวกับพลังงาน สัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สัญญาร่วมลงทุน และ สัญญาการจัดหาวัคซีนและยารักษาโรคระบาดโควิด-19[3] ซึ่งนางสาวนารีและคณะทำงานได้ใช้เวลาสองวันเท่านั้นในการตรวจสอบร่างสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นา[5]
เธอยังเป็นหนึ่งในคณาจารย์พิเศษให้กับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรับผิดชอบในการบรรยายวิชาสัญญาของรัฐ พร้อมกันกับ ศาสตราจารย์พิเศษ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2553[6] พร้อมวิชาการเจรจาต่อรองและการร่างสัญญา ใน พ.ศ. 2563[7]
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เธอสั่งฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช โดยกล่าวหาว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา83 และมาตรา 116
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง