จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก (สเปน : Emperador Maximiliano I de México ; เยอรมัน : Maximilian I, Kaiser von Mexiko ) ทรงเป็นอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย และทรงเป็นจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก โดยทรงจัดตั้งคณะรัฐบาลของพระองค์เอง แต่หลายประเทศได้ปฏิเสธที่จะยอมรับการจัดตั้งคณะรัฐบาลของพระองค์ โดยเฉพาะสหรัฐ อันนำไปสู่การก่อรัฐประหาร และปฏิวัติการปกครอง นำโดยเบนิโต ฆัวเรซ ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเม็กซิโก การก่อรัฐประหารครั้งนี้ เป็นเหตุทำให้พระองค์ทรงต้องถูกประหารชีวิตโดยคณะรัฐประหารในเมืองเกเรตาโร ในปี พ.ศ. 2410
พระราชประวัติ
จักรพรรดิมัคซีมีลีอาน เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2375 ณ พระราชวังเชินบรุนน์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พระองค์เป็นพระโอรส และพระบุตรองค์ที่ 2 ในอาร์ชดยุกฟรันซ์ คาร์ลแห่งออสเตรีย และพระชายา เจ้าหญิงโซฟีแห่งบาวาเรีย พระนามและพระราชอิสริยยศเดิมของพระองค์คือ แฟร์ดีนันท์ มัคซีมีลีอาน โยเซ็ฟ พระราชกุมารและอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย เจ้าชายแห่งฮังการีและโบฮีเมีย ( Ferdinand Maximilian Joseph, Prince Imperial and Archduke of Austria, Prince Royal of Hungary and Bohemia)
เมื่อพระองค์ทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ทรงเข้ารับการเตรียมทหาร โดยมีพลเรือเอก วิลเฮล์ม วอน เทเก็ตต์ฮอฟฟ์ เป็นผู้ควบคุมและผู้ให้คำปรึกษาแก่พระองค์ โดยพระองค์ทรงเข้าร่วมรบในสมรภูมิอิตาลี ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ด้วย และนอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีความคิดริเริ่มในการปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชแห่งราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวเนเทีย (Viceroy of the Kingdom of Lombardy-Venetia)
พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม ซึ่งเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม และเจ้าหญิงหลุยส์ มารีแห่งออร์เลอ็อง ทั้ง 2 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2400 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยเมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก เจ้าหญิงชาร์ลอตก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดินีการ์โลตาแห่งเม็กซิโก (Empress Carlota of Mexico) ทั้ง 2 พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย
ในตอนแรกนั้น อาร์ชดยุกมัคซีมีลีอานทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี จนถึงปีพ.ศ. 2402 ซึ่งถูกจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ พระเชษฐาทรงปลดพระองค์ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากทรงกริ้วที่พระองค์ทรงใช้นโยบายเสรีนิยม ในการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ทรงเป็นเพียงอุปราช หลังจากที่ทรงถูกปลดจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็เกิดอุปสรรคใหญ่ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ, จักรวรรดิออสเตรีย และ ราชอาณาจักรอิตาลี โดยออสเตรียเสียสิทธิ์การครอบครองดินแดนของอิตาลี ส่วนพระองค์และพระชายาก็ทรงย้ายไปประทับไปอยู่ในพระตำหนักส่วนตัว ปราสามมิราแมร์ ในเมืองทรีเอสต์
จักรพรรดิแห่งเม็กซิโก
เมื่อปีพ.ศ. 2402 มีคณะรัฐมนตรีและผู้สนับสนุนระบอบจักรวรรดิชาวเม็กซิกันได้ทาบทามให้พระองค์ไปทรงเป็นองค์พระประมุของค์ใหม่แห่งเม็กซิโก พระองค์ทรงปฏิเสธในตอนแรก แต่พระองค์ก็ทรงยอมรับราชบัลลังก์อิมพีเรียลเม็กซิกันใน 1 ปีต่อมา เพราะทรงคิดในเรื่องความก้าวหน้าทางพฤกศาสตร์ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งในเรื่องของคุณภาพของประชากรในประเทศนั้น ซึ่งพระองค์ทรงคิดว่า พระองค์น่าจะสามารถปกครองและพัฒนาคุณภาพของประชากรได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งเม็กซิโกแล้ว พระองค์จะทรงเสียสิทธิ์ในการดำรงพระยศต่างๆของออสเตรีย
อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันด์ มัคซีมีลีอานและพระชายา อาร์คดัชเชสชาร์ล็อทเทอเสด็จมาถึงเมืองเวราครูซ ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2407 โดยเมื่อทั้ง 2 พระองค์ได้มาถึงเม็กซิโกแล้ว มีทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ โดยฝ่ายเห็นชอบคือ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นชอบได้แก่ เบนิโต ฆัวเรซ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก แต่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดยเบนิโตได้ปฏิเสธระบอบการปกครองของพระองค์ตั้งแต่แรกที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเม็กซิโกแล้ว และนอกจากเบนิโตที่ไม่เห็นชอบแล้ว ยังมีพวกสาธารณรัฐนิยมอีกด้วย
อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันด์ และอาร์คดัชเชสชาร์ล็อทเทอ พระชายา ได้เลือกเม็กซิโกซิตี้ เป็นเมืองหลวง โดยทรงเลือกปราสาทชาพัลเทเพ็ค ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา ชานเมืองเม็กซิโก ซิตี้เป็นพระราชฐานหลัก ซึ่งปราสาทนี้เคยเป็นพระราชฐานหลักของหัวหนเชนเผ่าแอซแท็ก มาก่อน ทั้ง 2 พระองค์ทรงทำพระราชพิธีเถลิงวัลย์ราชสมบัติที่มหาวิหาร เมโทรโปลิตานา แต่เป็นพระราชพิธีที่ไม่เป็นทางการ เพราะเนื่องจากระบอบการปกครองที่ไม่มั่นคง อีกทั้งไม่มั่นใจในการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่
ด้วยความที่จักรพรรดิ และจักรพรรดินีไม่มีพระราชโอรส หรือพระราชธิดาเลย พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเจ้าชายอากุสติน เด อิตูร์บิเด ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ของพระราชวงศ์เม็กซิโกที่เคยปกครองจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 1 มาก่อน เป็นองค์รัชทายาท โดยเจ้าชายอากุสติน เป็นพระราชนัดดาในจักรพรรดิอากุสตินที่ 1 จักรพรรดิมัคซีมีลีอานมีพระบรมราชโองการ สถาปนาเจ้าชายอากัสตินเป็น เจ้าชายแห่งอิตูร์บิเด (His Imperial Highness The Prince of Iturbide)
ในระหว่างที่พระองค์ทรงปกครองเม็กซิโก ในนามของจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 2 พระองค์ทรงได้รับคำแนะนำจากแนวทางการบริหารประเทศของฆัวเรซ ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูประเทศ การให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งตอนแรก พระองค์ได้ทรงประทานอภัยโทษแก่ฆัวเรซ ที่คิดต่อต้านพระองค์ เพราะเนื่องจาก พระองค์ทรงอยากให้ฆัวเรซมาช่วยในการบริหารประเทศ แต่ฆัวเรซปฏิเสธและคิดอยากจะโค่นล้มอำนาจพระองค์ พระองค์จึงทรงส่งทหารไปสังหารฆัวเรซอย่างลับๆ แต่ฆัวเรซได้รับความช่วยเหลือจากนักสาธารณรัฐนิยม และฆ่าทหารของพระองค์จนหมด และนอกจากนี้นักสาธารณรัฐนิยมคิดจะฆ่าผู้ที่สนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยมให้หมด แต่ความคิดนี้ได้ถูกล้มเลิก เพราะมันขัดแย้งกับนโยบายระบอบการปกครองของฆัวเรซ ผู้ซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีมาก่อน
จักรพรรดิมัคซีมีลีอานเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์
การล้มล้างราชบัลลังก์
การประหารชีวิตจักรพรรดิและราชเลขานุการที่มืองคัวเราทาโร่
หลังจากเสร็จสิ้นสงครามกลางเมืองอเมริกัน กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้หันมาสนับสนุนกองทัพให้กับนักสาธารณรัฐนิยมที่คิดจะก่อรัฐประหาร ก่อกบฏล้มล้างราชบัลลังก์ ส่วนตัวจักรพรรดิเองก็ได้รับการช่วยเหลือ และสนับสนุนจากจักรวรรดิฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งกองทัพส่วนหนึ่งไปรับพระองค์และพระมเหสีเพื่ออพยพไปที่อื่น แต่พระองค์ก็ทรงถูกพวกทหารก่อรัฐประหารและกองทัพจากสหรัฐอเมริกาจับไป ส่วนจักรพรรดินีการ์โลตาทรงอพยพไปยุโรปอย่างปลอดภัย โดยพระองค์เสด็จนิวัติเบลเยียม ที่ซึ่งพระเจ้าเลออปอลที่ 1 และสมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี ทรงรอรับเสด็จ โดยพระองค์ไม่เสด็จนิวัติกลับไปเม็กซิโกอีกเลยและประทับอยู่ที่เบลเยียมจวบจนสิ้นพระชนม์
ส่วนจักรพรรดินั้น ได้ทรงถูกนำพระองค์เข้าศาลโดยมีเบนิโต ฆัวเรซเป็นแกนนำ ศาลสั่งให้ประหารชีวิตพระองค์ทันที ทางด้านผู้นำยุโรปหลายประเทศนั้น เช่นอิตาลี และ จักรวรรดิเยอรมัน รวมทั้งจักรวรรดิออสเตรีย ได้ส่งโทรเลขไปที่เม็กซิโกเพื่อเจรจาในการปล่อยตัวพระองค์กลับสู่มาตุภูมิ เพื่อสงครามภายในจะได้สงบ แต่เม็กซิโก ซึ่งมีฆัวเรซเป็นแกนนำ ได้ปฏิเสธ โดยหาว่าต่างชาติได้เข้ามาก้าวก่ายปัญหาส่วนตัวของประเทศ
พระบรมศพของจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่วิหารฮาพส์บวร์ค กรุงเวียนนา
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2410 มีการประหารชีวิตจักรพรรดิ รวมทั้งพลเอก มิเกล มิรามอน และ พลเอกโทมัส เม็จยา ซึ่งเป็นราชเลขานุการ และองคมนตรีของพระองค์ ที่เมืองเกเรตาโร เม็กซิโกได้ส่งพระบรมศพของพระองค์กลับสู่มาตุภูมิที่กรุงเวียนนา โดยพระบรมศพของพระองค์ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ โดยจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ พระเชษฐามีพระบัญชาให้ฝังพระบรมศพไว้ที่วิหารฮาพส์บวร์ค
พระราชอิสริยยศและราชอิสริยาภรณ์
ธรรมเนียมพระยศของ จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก พระราชลัญจกร
ตราประจำพระองค์
การทูล ฮิส อิมพีเรียล มาเจสตี การขานรับ เซอร์
พระราชอิสริยยศ
6 กรกฎาคม ค.ศ. 1832 – 10 เมษายน ค.ศ. 1864: ฮิสอิมพีเรียลและรอยัลไฮเนส เจ้าชายและอาร์ชดยุกมัคซิมิลิอานแห่งออสเตรีย พระราชกุมารแห่งฮังการีและโบฮีเมีย (His Imperial and Royal Highness Imperial Prince & Archduke Maximilian of Austria, Prince Royal of Hungary and Bohemia)
10 เมษายน ค.ศ. 1864 - 19 มิถุนายน ค.ศ. 1867): ฮิสอิมพีเรียลมาเจสตี สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก (His Imperial Majesty The Emperor of Mexico)
พระราชอิสริยยศจักรพรรดิ
ฮิสอิมพีเรียลมาเจสตี ดอน มักซิมิลิอาโนที่ 1 ด้วยพระหรรษทานแห่งพระผู้เป็นเจ้า และความปรารถนาของปวงชน สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก
His Imperial Majesty Don Maximiliano I (Maximilian I), By the Grace of God and will of the people, Emperor of Mexico.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
จักรวรรดิเม็กซิโก
จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 ในฐานะประธานแห่งราชอิสริยาภรณ์ ของเม็กซิโก :
ต่างประเทศ
:
พระราชตระกูล
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น