กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 2 (อังกฤษ: 2nd Thailand National Senior Games) หรือเป็นที่รู้จักในนาม รมย์บุรีเกมส์ เป็นมหกรรมกีฬาระดับชาติสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป ควบคุมโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562[1] โดยตอนแรกมีกำหนดการเดิมจะจัดขึ้นวันที่ 1 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 แต่เลื่อนกำหนดการเนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562[2][3]
ในครั้งนี้มีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันรวมทั้งสิ้น 3,370 คน จาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีกีฬาที่แข่งขันทั้งหมด 14 ชนิดกีฬา ซึ่งครั้งนี้ได้จัดการแข่งขันภายใน 12 สนาม ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีสนามแข่งขันจังหวัดนครราชสีมา 2 สนาม[4]
จังหวัดบุรีรัมย์ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาอาวุโส ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561 ในการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ
ในการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561 การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเจ้าภาพกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 35 และกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ตามธรรมเนียม ซึ่งในครั้งนี้มีการเสนอขอรับเป็นเจ้าภาพ จำนวน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดเพชรบูรณ์
มีการอัญเชิญไฟพระฤกษ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยอัญเชิญจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัดบุรีรัมย์ โดยการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นผู้พระราชทานเชิญไฟพระฤกษ์แทนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเชิญไปจุดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 35 และพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ตามลำดับขั้นตอน ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ก่อนจะเริ่มพิธีเปิดการแข่งขัน ได้มีการวิ่งคบเพลิงไฟพระฤกษ์ โดยเริ่มจากศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเดิม ถึงสนามช้างอารีน่า (นักกีฬา: ไอรดา ลิม, ธีรศักดิ์ เล็งไธสง) ระยะที่ 2 จากสนามช้างอารีน่า ถึงบริเวณหน้าแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ (นักกีฬา: บวรนันท์ ชันรัมย์, ธรรศกร โพธิ์ทอง) และระยะที่ 3 จากหน้าแขวงทางหลวง ถึงสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ (นักกีฬา: กรรชัย แถบทอง, ปรีชาพร ปลื้มพันธ์)[6]
พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หรือ รมย์บุรีเกมส์ เริ่มชึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 18.00 นาฬิกา โดยเริ่มการแสดงชุดแรกที่มีชื่อว่า ร้อยล้านความสุข สู่ความสนุกที่รมย์บุรีเกมส์[7] ซึ่งเป็นการรังสรรค์ของชาวบุรีรัมย์ ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงแล้ว ได้มีการเชิญธงชาติ, ธงกีฬาอาวุโสแห่งชาติ, ธงการกีฬาแห่งประเทศไทย และธงประจำจังหวัดบุรีรัมย์ โดยวงโยธวาทิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พร้อมกับเชิญคณะนักกีฬาผู้สูงอายุ โดยแบ่งตามภาคเข้าสู่สนาม มีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยกล่าวยรายงานต่อประธาน ประธานกดปุ่มไฟฟ้าเปิดงาน มีการขักธงกีฬาอาวุโสแห่งชาติ และธงประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นสู่ยอดเสา สุดท้ายได้เริ่มการแสดงชุดที่สอง แสงจรัสรัศมี รมย์บุรีเกริกฟ้า เกรียงไกร เป็นการแสดงที่นำไปสู่การจุดไฟในกระถางคบเพลิง[8][9]
พิธีปิดการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หรือ รมย์บุรีเกมส์ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.30 นาฬิกา โดยเริ่มการฉายภาพวิดีทัศน์ประมวลผลภาพตั้งแต่ระยะเริ่มการแข่งขันจวบจนสุดท้ายของการปิดการแข่งขัน เสร็จแล้ว ได้เริ่มการแสดงชุดแรกที่มีชื่อว่า นกกระเรียนไทย สะท้านฟ้า ปักษาบุรีรัมย์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของนกกระเรียนไทย ซึ่งส่วนมากมักตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดบุรีรัมย์ และความพร้อมที่จะรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมา วงโยธวาทิตโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ได้นำขบวนธงชาติไทย, ธงกีฬาอาวุโสแห่งชาติ, ธงการกีฬาแห่งประเทศไทย และธงประจำจังหวัดบุรีรัมย์เข้าสู่สนาม พร้อมกับคณะนักกีฬาแต่ละชนิดกีฬา และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ประธานกล่าวปิดงาน มีการชักธงชาติไทยลงจากยอดเสา ต่อด้วยธงกีฬาอาวุโสแห่งชาติ และธงประจำจังหวัดบุรีรัมย์ลงจากยอดเสา จังหวัดบุรีรัมย์มอบธงกีฬาอาวุโสแห่งชาติให้กับจังหวัดตราด จังหวัดเจ้าภาพครั้งถัดไปได้จัดชุดการแสดงที่มีชื่อว่า ระบำงอก ศรีเมืองตราด เสร็จแล้วได้เริ่มการแสดงชุดที่สองที่มีชื่อว่า นาคะภิรมย์ ซึ่งเป็นการแสดงดับเพลิงในกระถางคบเพลิงอีกด้วย โดยได้ใช้พญานาคเป็นผู้ดับเพลิงในกระถางคบเพลิง เพื่อความสวัสดีมีชัยตามความเชื่อ[10]
สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เป็นรูปปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเป็นปราสาทที่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ โดยในส่วนของปราสาทประธานแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการแข่งขันที่จัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ สัญลักษณ์ตัวแทนคนมีความหมายว่าผู้คนจากทั่วประเทศที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับความประทับใจ มิตรภาพที่เกิดใหม่ ได้เยี่ยมชมโบราณสถานและวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตชาวบุรีรัมย์ มีตราสัญลักษณ์กีฬาแห่งชาติประดับอยู่กลางประสาทประธานเปรียมเสมือนดวงอาทิตย์ที่ขึ้นตรงกับประตูของปราสาท[11]
ในการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีมาสคอต