กีฬาคนพิการในประเทศไทย

กีฬาคนพิการในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในการกำกับดูแลของ คณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นในรูปของมูลนิธิ โดยแบ่งความรับผิดชอบตามประเภทของความพิการ 5 รูปแบบคือ กีฬาคนตาบอด, กีฬาคนหูหนวก, กีฬาผู้พิการทางปัญญา, กีฬาผู้พิการทางสมอง, กีฬาความพิการแขนขา อัมพาต และโปลิโอ แต่ทั้งหมดยังคงอยู่กับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพียงองค์กรเดียว เพื่อรอการจัดตั้งสมาคมกีฬาขึ้นใหม่ สำหรับรองรับงานในอนาคต

ประวัติ

การแข่งขันกีฬาคนพิการในประเทศไทย เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่กรมพลศึกษา เพื่อจัดการแข่งขันระดับชาติขึ้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติ ใน 4 ชนิดกีฬาคือ ว่ายน้ำ กรีฑา เทเบิลเทนนิส และยิงธนู โดยมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 191 คน ทว่าหลังจากนั้นก็งดไป 3 ปี แล้วจึงกลับมาจัดใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับภาคเอกชนและผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคทุนสำหรับจัดแข่งขันใน 5 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, ยิงธนู, เทเบิลเทนนิส และแบดมินตัน ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 277 คน[1]

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2524 ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีคนพิการสากล ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่คนพิการ รวมถึงการแข่งขันกีฬา เพื่อให้ได้ออกกำลังกาย ซึ่งประเทศไทยก็สนองนโยบายด้วยการขยายการแข่งขัน ออกไปในส่วนภูมิภาค คือภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร โดยจัดแข่งขันใน 5 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน และเตะบอลเข้าเป้า มีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันรวมทั้งหมด 933 คน[1]

การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ

ยุคต่อมา กรมพลศึกษาส่งเสริมให้มีการจัดแข่งขันกีฬาคนพิการระดับชาติอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้จังหวัดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็มีมติให้จังหวัดที่เป็นเจ้าภาพ จัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินงานจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปด้วยกัน โดยเริ่มทดลองใช้เป็นครั้งแรก ในการแข่งขันครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 24 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ใน 11 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, วอลเลย์บอล, ฟุตบอล, แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส ยิงปืน โกลบอล เซปักตะกร้อ เปตอง และเทนนิสบนเก้าอี้ล้อเลื่อน มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 1,125 คน[1]

โดยจังหวัดระยองเป็นแห่งแรก ที่เป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติควบคู่ไปกับ การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานไฟพระฤกษ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล (พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์) เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ที่สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง และมีการแข่งขันใน 17 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ฟุตบอล 7 คน, วอลเลย์บอลยืนและนั่ง, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน, บ็อกเซีย, ยกน้ำหนัก, โกลบอล, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, เทนนิสบนเก้าอี้ล้อเลื่อน, บาสเกตบอลบนเก้าอี้ล้อเลื่อน, ยูโด, ยิงธนู, ฟันดาบบนเก้าอี้ล้อเลื่อน, เซปักตะกร้อ และเปตอง มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 2,536 คน จากสถานศึกษา สมาคม องค์กร และหน่วยงานคนพิการต่างๆ รวม 74 แห่ง[1]

จากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็น การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดตรัง ดังนั้น การแข่งขันครั้งที่ 27 ประจำปี พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดพิษณุโลก จึงเป็นครั้งสุดท้ายที่ใช้ชื่อว่า การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย สำหรับการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 36 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 22 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่จังหวัดเชียงราย ใน 17 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, โกลบอล, เซปักตะกร้อ, เทเบิลเทนนิส, บ็อกเซีย, แบดมินตัน, เปตอง, ฟุตบอล, ยกน้ำหนัก, ยิงปืน, ยิงธนู, วอลเลย์บอลนั่งและยืน, ว่ายน้ำ, เทนนิสบนเก้าอี้ล้อเลื่อน, บาสเกตบอลบนเก้าอี้ล้อเลื่อน, ฟันดาบบนเก้าอี้ล้อเลื่อน และฟุตซอล มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 2,548 คน สำหรับคำขวัญประจำการแข่งขันมีว่า “มิตรภาพ และความภาคภูมิใจ” และตุ๊กตาสัญลักษณ์ (Mascot) เป็นภาพการ์ตูนแอนิเมชันรูปแมงทัน ชื่อว่า “น้องแมงมันคำ”

สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมกีฬาคนพิการไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน, ธีระ รมยาคม และ สันต์ชัย พูลสวัสดิ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มีศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม เป็นนายกสมาคมคนแรก และปรีดา รอดโพธิ์ทอง รองอธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น เป็นเลขาธิการสมาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติรับรองการก่อตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ และในปี พ.ศ. 2531 กกท.กำหนดให้สมาคมกีฬาต่างๆ ซึ่งทาง กกท.ให้การรับรอง ใช้คำลงท้ายว่า “แห่งประเทศไทย” เช่นเดียวกันทั้งหมด[2]

ปัจจุบัน สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ยังคงเป็นองค์กรเดียวของชาติ ที่เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาในหมู่คนพิการ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ ของคนพิการ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้พิการ รวมถึงการเผยแพร่เกียรติคุณของประเทศชาติ ก่อให้เกิดการประสานสามัคคี ทั้งในระหว่างผู้พิการด้วยกัน และระหว่างผู้พิการกับบุคคลปกติด้วย โดยสมาคมเป็นผู้กำกับดูแลการจัดแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ รวมทั้งกีฬาคนพิการทั้ง 17 ชนิด และเป็นผู้ประสานงานให้นักกีฬา เข้าร่วมแข่งขันในรายการระดับนานาชาติต่างๆ คือกีฬาคนพิการแห่งอาเซียน (อาเซียนพาราเกมส์), กีฬาคนพิการแห่งเอเชียและโอเชียเนีย (เฟสปิกเกมส์) และกีฬาคนพิการโลก (การแข่งขันกีฬาเก้าอี้ล้อเลื่อนและผู้พิการนานาชาติแห่งโลก)[2]

รายนามนายกสมาคม[2]

  • ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน (อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา) พ.ศ. 2526 - 2528
  • ปรีดา รอดโพธิ์ทอง (อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา) พ.ศ. 2528 - 2536
  • สัมพันธ์ ทองสมัคร (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) พ.ศ. 2536 - 2537
  • สมวงศ์ ศรีสมวงศ์ (อดีตรองอธิบดีกรมพลศึกษา) พ.ศ. 2537 - 2539
  • พลเอก ไพบูลย์ เอมพันธ์ (อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม) พ.ศ. 2539 - 2544
  • พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี (อดีตกรรมการที่ปรึกษากองทัพบก และอดีตประธานสหพันธ์กีฬาคนพิการแห่งอาเซียน) พ.ศ. 2544 - 2546
  • พลตรี โอสถ ภาวิไล (รองผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประเมินผล สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กระทรวงกลาโหม) พ.ศ. 2546 - 2552 และ พ.ศ. 2553 - 2559
  • ชูเกียรติ สิงห์สูง (อดีตอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย นายกสมาคมคนพิการจังหวัดลพบุรี และประธานชมรมกีฬาคนพิการลพบุรี) พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน[3]

มูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย

มูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552[4] เพื่อเป็นองค์กรหลักของการกีฬาคนพิการ และการพลศึกษาเพื่อคนพิการ ตลอดจนเป็นผู้จัดเตรียมและส่งนักกีฬาคนพิการ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการระดับนานาชาติ รวมถึงดำเนินการจัดและควบคุม การแข่งขันกีฬาคนพิการที่จัดขึ้นในประเทศไทย และยังเป็นผู้ประสานงานหรือเสนอความเห็น ต่อคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล สหพันธ์กีฬาคนพิการระหว่างประเทศ หรือองค์กรอื่น เพื่อพัฒนาการของมูลนิธิ ทั้งนี้ยังมีหน้าที่ควบคุม การใช้อัตลักษณ์พาราลิมปิก ซึ่งประกอบด้วยสัญลักษณ์, ตราเครื่องหมาย, ธง และคติพจน์ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 154 กรีฑาสถานแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[5]

คณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย[6]

  • จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สิงห์คอร์เปอเรชัน จำกัด) ประธานกรรมการ
  • พลเอก วิภาส ตันสุหัช - รองประธานกรรมการ
  • วันชัย สุระกุล (อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) รองประธานกรรมการ
  • กรรมการ
    • พิทักษ์ พลขันธ์
    • อำนวย กลิ่นอยู่
    • ชาญวิทย์ มุนิกานนท์
    • นพดล จิรบุญดิลก
    • สุรสิทธิ์ ทองจันทร์
    • อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์
    • รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์
    • ดร.ปรางทิพย์ ยุวานนท์
    • สมบัติ พิพัฒน์พงษ์
    • สุชาติ แจสุรภาพ (ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย อดีตนักกรีฑาทีมชาติไทย)
  • มาโนชญ์ มัชฌิมาวรรณ - เหรัญญิก
  • พลตรี โอสถ ภาวิไล (นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ) เลขาธิการ
  • วิธสิทธิ์ ยังประดิษฐ - รองเลขาธิการ
  • กิตติพงษ์ โพธิมู - รองเลขาธิการ

การปรับโครงสร้าง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2554 มีมติที่สำคัญให้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกีฬาคนพิการเสียใหม่ โดยกีฬาความพิการแขนขา อัมพาต และโปลิโอ ยังคงอยู่กับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ต่อไปตามเดิม ส่วนกีฬาคนตาบอด, กีฬาคนหูหนวก, กีฬาผู้พิการทางปัญญา และกีฬาผู้พิการทางสมอง จะมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นใหม่อีก 4 แห่งเพื่อรับผิดชอบตามประเภทของความพิการ และให้ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย เช่นเดียวกับรูปแบบในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล อีกทั้งเพื่อลดภาระของสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณ ในการปฏิบัติงานกีฬาคนพิการแต่ละชนิด ให้เท่าเทียมกันอีกด้วย[7]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!