กาโด-กาโด |
ชื่ออื่น | โลเต็ก (ภาษาซุนดาและภาษาชวา) |
---|
มื้อ | สลัด |
---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศอินโดนีเซีย |
---|
ภูมิภาค | จาการ์ตา, ชวาตะวันตก, ชวากลาง |
---|
ส่วนผสมหลัก | ผักและธัญพืชหลายชนิด เช่น แคร์รอต มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วเขียว เต้าหู้ และไข่ต้มสุก |
---|
|
กาโด-กาโด (อินโดนีเซีย: gado-gado) หรือ โลเต็ก (ชวา: lotèk) เป็นอาหารยอดนิยมของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วยผัก ทั้งผักสด ผักต้ม และผักลวก และธัญพืชหลายชนิด ราดด้วยซอสที่ทำจากถั่ว[1] ทั้งแคร์รอต มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว ขนุนอ่อน ผักกาดหอม นอกจากนี้ยังมีเต้าหู้ และไข่ต้มสุก และกินกับข้าวเกรียบทอดหลายชนิด เช่น กรูปุก ซึ่งเป็นข้าวเกรียบกุ้งหรือปลา เอิมปิง เป็นข้าวเกรียบใส่เมล็ดของผักเหมียง หรือจะกินกับเต็มเปทอด หรือข้าวต้มแบบลนตงก็ได้ รับประทานกับซอสถั่วที่คล้ายกับซอสสะเต๊ะ ซึ่งประกอบด้วย กะปิ ถั่วลิสงบด กะทิ น้ำตาลโตนด พริกแดง กระเทียม กะทิ มะขามเปียก คำว่ากาโดในภาษาอินโดนีเซียแปลว่ายำ
กาโด-กาโดมีความหลากหลายในแต่ละท้องที่ ในซูราบายาเรียกว่า "กาโด-กาโดซีรัม" ซึ่งจะราดน้ำซอสลงไปบนเครื่องปรุงอื่น ในบันดุงและโบโกร์จะเคล้าน้ำซอสให้เข้ากับเครื่องปรุงก่อนเสิร์ฟ ในจาการ์ตาเรียกว่า "กาโด-กาโดโบโปล" ใช้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์แทนถั่วลิสง โดยมากน้ำราดจะเป็นน้ำกะทิใส่พริกสดโขลกละเอียดและถั่วลิสงบด ราดลงบนผักต้ม มีรสชาติหวานเปรี้ยวและเผ็ดเล็กน้อย[2]
ในประเทศไทยมีอาหารที่ใกล้เคียงกับกาโด-กาโดคือขนมจีนน้ำพริก อาจเป็นไปได้ว่าอาจได้รับอิทธิพลจากกาโด-กาโดมา โดยช่างแกงชาววังได้ปรุงแต่งให้กลิ่นรสตามอย่างอาหารไทยคือเติมกลิ่นมะกรูด ใช้การใส่ถั่วทองคั่วบดหยาบเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัส และพริกป่นเพื่อเพิ่มสีสันของอาหารให้น่ารับประทาน[2]
อ้างอิง
- นันทนา ปรมานุศิษฏ์. โอชาอาเซียน. กทม. มติชน. 2556 หน้า 269 - 271
- ↑ No Money, No Honey: A study of street traders and prostitutes in Jakarta by Alison Murray. Oxford University Press, 1992. Glossary page xii
- ↑ 2.0 2.1 ญดา ศรีเงินยวง และชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2560, หน้า 249