การพิชิตจักรวรรดิแอซเท็กของสเปน

การพิชิตจักรวรรดิแอซเท็กของสเปน
ส่วนหนึ่งของ การล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกาของสเปนและสงครามเม็กซิโกอินเดียน

การเอาชนะเม็กซิโกโดยเอร์นัน กอร์เตส[1]
สเปน: Conquista de México por Cortés
วันที่กุมภาพันธ์ ค.ศ.1519 – 13 สิงหาคม ค.ศ.1521 ในช่วงการต่อสู้ของจักรวรรดิแอซเท็ก,
หลังค.ศ.1522 – 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1530 ในรัฐทารัสคัน
สถานที่
จักรวรรดิแอซเท็ก และรัฐชนพื้นเมืองอื่น ๆ (ปัจจุบันคือประเทศเม็กซิโก)
ผล ฝ่ายสเปนและชนพื้นเมืองที่เป็นพันธมิตรกับสเปนชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ผนวกจักรวรรดิแอซเท็ก, ทารัสคัน และรัฐอื่น ๆ ให้เป็นของจักรวรรดิสเปน
คู่สงคราม

กองกิสตาดอร์ของจักรวรรดิสเปน
สมาพันธรัฐทลัซคาลา
เซมโปอาลา

พันธมิตรที่สนับสนุน
(ในการล้อมเทโนคทิทลัน):

สามพันธมิตรแอซเท็ก (1519–1521)

เมืองพันธมิตร:


อาณาจักรอิสระ:

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เอร์นัน กอร์เตส
Pedro de Alvarado
Gonzalo de Sandoval
Cristóbal de Olid
Nuño de Guzmán
ซิโคเทนคาเทิลผู้เยาว์ 
ซิโคเทนคาเทิลผู้พี่
มาซิซคาเทิล
ซิโคเมโคอาเทิล

มอกเตซูมาที่ 2 
Cuitláhuac 
Cuauhtémoc โทษประหารชีวิต
คาคามัตซิน 
โคอานาโคคต์ซิน โทษประหารชีวิต
  เท็ทเลปานเควตซัล โทษประหารชีวิต
อิตซ์ควาอุฮ์ตซิน 


ทังกาซวนที่ 2 โทษประหารชีวิต
กำลัง

จักรวรรดิสเปน (รวม):

  • ทหารราบ ~2,500–3,000 นาย[2]
  • ทหารม้า 90–100 นาย
  • ปืน 32
  • 13 brigantines
ทลัซคาลาและพันธมิตร: ~80,000–200,000
เซมโปอาลา: 400

จักรวรรดิแอซเท็ก: 300,000


ทารัสคัน: 100,000
ความสูญเสีย

ทหารตาย 1,800 นาย[2]

  • ถูกฆ่าในสงคราม 1,000 คน[3]
  • ปืนใหญ่สูญหาย 15+ อัน[4][5]
พันธมิตรพื้นเมืองและชาวตลัซกาลากว่าพันคนตาย[ต้องการอ้างอิง]
ตาย 200,000 คน (รวมประชาชน) [3]
เรือแคนู 300 ลำจมน้ำ[3]

การพิชิตจักรวรรดิแอซเท็กโดยสเปน เป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในการล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกาโดยสเปน แผนการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1519 และได้รับชัยชนะเหนือจักรวรรดิแอซเท็กในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1521 เมื่อกองกำลังผสมระหว่างสเปนและตลัซกาลา นำโดยเอร์นัน กอร์เตส (Hernán Cortés) และชีโกะเตนกัตล์ผู้ลูก (Xicotencatl the Younger) ยึดกรุงเตโนชตีตลันซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็กได้สำเร็จ พระเจ้ามอกเตซูมาที่สองทรงเชื่อว่ากอร์เตสเป็นพระเจ้า จากการที่ชาวสเปนได้นำปืนและม้า ซึ่งชาวแอซเท็กไม่เคยเห็นก่อนหน้านี้มาด้วย

ในแผนการนี้ กอร์เตสได้ขอการสนับสนุนจากเมืองขึ้นและศัตรูของจักรวรรดิแอซเท็กเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยชาวโตโตนัก และชาวตลัซกาลา ในขณะที่แผนการดำเนินไป พันธมิตรของพวกเขาได้ถูกซุ่มโจมตีหลายครั้งจากกองกำลังที่พวกเขาเข้าปะทะ หลังจากแปดเดือนของการเจรจาและการสู้รบ มีผลทำให้กอร์เตสสามารถเอาชนะการต่อต้านทางการทูตของมอกเตซูมาที่ 2 กอร์เตสไปถึงเตโนชตีตลันในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1519 เมื่อกอร์เตสได้ข่าวว่าทหารของเขาและชาวโตโตนักในเวราครูซตายไปเป็นจำนวนมาจากการโจมตีของแอซเท็ก เขาได้คุมขังมอกเตซูมาไว้ในพระราชวังของพระองค์และปกครองเมืองเตโนชตีตลันด้วยตนเองเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากการสังหารหมู่ที่วิหารใหญ่ (Templo Mayor) พร้อมกับการลุกฮือของประชาชนในเมือง กอร์เตสและทหารของเขาถูกผลักดันให้รบในถนนนอกเมืองในเหตุการณ์ลา โนเช ตริสเต อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ชาวสเปนและตลัซกาลาก็ได้กลับมาอีกครั้งด้วยกำลังเสริมจำนวนมาก และทำการปิดล้อมจนนำไปสู่การล่มสลายของเตโนชตีตลันในปีต่อมา

การล่มสลายของจักรวรรดิแอซเท็กเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนาเขตอุปราชแห่งนิวสเปน ซึ่งยังมิได้รับรองอย่างเป็นทางการโดยราชวงศ์สเปนจนกระทั่งปีค.ศ. 1535 (หลังจากการพิชิต 14 ปี)

ลางสังหรณ์ของแอซเท็กในการล่มสลายของจักรวรรดิ

ข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับการพิชิตครั้งนี้ถูกบันทึกโดยชาวสเปน เช่น จดหมายของเอร์นัน กอร์เตสไปถึงจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเรื่องเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างเบร์นัล ไดอัซ เดล กัซตีโย(Bernal Díaz del Castillo) Historia verdadera de la conquista de la Nueva España (ประวัติศาสตร์แท้จริงของการพิชิตนิวสเปน) แหล่งข้อมูลหลักที่มาจากชนพื้นเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากการพิชิตในครั้งนี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนักเนื่องจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มชน ดังเช่นที่ชนพื้นเมืองได้บันทึกเป็นอักษรภาพไว้ในช่วงต้น ๆ หลังจากการพิชิตในปี 1528 ข้อมูลในสมัยต่อมาได้ถูกบันทึกโดยชาวแอซเท็คและกลุ่มชนอื่น ๆ ที่อาศัยบริเวณตอนกลางของเม็กซิโก ชนพื้นเมืองดังกล่าวได้อธิบายว่า 9 ปีก่อนที่ชาวสเปนจะมาถึงได้มีลางบอกเหตุเกิดขึ้น 8 ประการ ต่อไปนี้

จักรวรรดิแอซเท็กก่อนที่จะถูกพิชิตโดยสเปน
  1. เพลิงตกมาจากท้องฟ้า
  2. วิหารของเทพเจ้าวีตซีโลโปชตลี (Huitzilopochtli) ถูกเพลิงไหม้
  3. ฟ้าผ่าทำลายวิหารเล็ก ๆ ของเทพชิวเตกตลี (Xiuhtecuhtli)
  4. ไฟพุ่งข้ามมหาสมุทร
  5. น้ำเดือดในที่ลึก ๆ และน้ำท่วมบริเวณทะเลสาบใกล้ ๆ เตโนชตีตลัน
  6. มีเสียงผู้หญิงร้องบอกในเวลาเที่ยงคืน ให้ชาวแอซเท็กหนีออกจากเมือง
  7. "คนสองหัว" วิ่งไปตามถนน
  8. มอกเตซูมาที่ 2 ทรงเห็นคนกำลังต่อสู้กันในกระจกที่อยู่บนหัวนกของพระองค์
  9. การประทุของภูเขาไฟโปโปกาเตเปตล์

ลางบอกเหตุเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชาวแอซเท็กซึ่งเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง ว่ากันว่าพระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 (ซึ่งทรงเป็นนักบวชใหญ่ด้วย) ได้ทรงปรึกษานักบวชและนักพยากรณ์ส่วนพระองค์เกี่ยวกับคำอธิบายเกี่ยวกับลางบอกเหตุดังกล่าว แต่ว่าก็ไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างกระจ่างชัด อาจจะจนกระทั่งการมาถึงของชาวสเปนก็ได้

สังเกตว่า แหล่งที่มาทั้งหมดมักจะบรรยายถึงลางบอกเหตุดังกล่าวและการกลับมาของเทพเจ้าของชาวแอซเท็ก ในจำนวนนี้ยังมีแหล่งที่มาซึ่งริเริ่มโดยพระชาวสเปน และเขียนขึ้นหลังจากการล่มสลายของเตโนชตีตลันในปี 1521 นักชาติพันธุ์ประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในเวลาที่ชาวสเปนเดินทางมาถึงนั้น ชนพื้นเมืองและผู้นำของเขาไม่ได้เห็นว่าชาวสเปนเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด หากแต่เห็นว่าเป็นเพียงกลุ่มชนภายนอกที่แลดูมีอำนาจสูงเท่านั้น[6] ตามคำบรรยายของชาวสเปนจำนวนมาก ได้ใช้ลางสังหรณ์เป็นหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่า การพิชิตของชาวสเปนนั้นถูกกำหนดมาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นโชคชะตาของชาวสเปน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าการที่ชนพื้นเมืองผู้บอกเล่าเหตุการณ์ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับลางสังหรณ์ดังกล่าว และความสับสนไม่ทันได้เตรียมตัวต่อการพิชิตที่เกิดขึ้นนั้น "เป็นเพราะการตีความของผู้บอกเล่าเหตุการณ์ที่หวังจะเอาอกเอาใจชาวสเปน หรือไม่ก็เป็นเพราะไม่พอใจในความล้มเหลวของมอกเตซูมาที่ 2 และนักรบแอซเท็กซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำ"[7] ฮิวจ์ โทมัส (Hugh Thomas) ได้สรุปว่า มอกเตซูมาที่ 2 ทรงลังเลว่าเอร์นัน กอร์เตส เป็นเทพเจ้าจริง ๆ หรือเป็นทูตของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่อยู่ต่างแดนกันแน่ อย่างไรก็ตาม เขาไม่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า มอกเตซูมาที่ 2 ทรงเชื่ออย่างเต็มที่ว่าเอร์นัน กอร์เตส เป็นการกลับชาติมาเกิดของเทพเจ้าเกตซัลโกอัตล์ (Quetzalcoatl) ดังที่เชื่อกันในวงกว้าง

ชาวสเปนเดินทางมาถึงคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán)

ในปีค.ศ.1517 ข้าหลวงแห่งคิวบา ดิเอโก เวลาซเกซ เด เกวยาร์ (Diego Velázquez de Cuéllar) ได้มอบหมายให้เอร์นันเดซ เด กอร์โดบา (Hernández de Córdoba) นำกองเรือที่ประกอบด้วยเรือสามลำ ไปทางตะวันตกและสำรวจคาบสมุทรยูกาตัน เมื่อกอร์โดบาไปถึงชายฝั่งยูกาตัน ชาวมายา ณ แหลมกาโตเช (Cape Catoche) ได้เชิญให้ชาวสเปนเข้ามาในแผ่นดิน พร้อมกันนั้นชาวสเปนได้ประกาศข้อเรียกร้องปี 1513 ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ชนพื้นเมืองปกป้องกษัตริย์ของสเปน และกอร์โดบาได้ให้นักโทษสองคนทำหน้าที่เป็นล่าม ในขณะเดียวกันที่ด้านตะวันตกของคาบสมุทรยูกาตัน ชาวสเปนถูกโจมตีโดยชาวมายาซึ่งนำผู้นำชาวมายา มอชเกวา (Mochcouoh) ชาวสเปน 20 คนถูกฆ่า กอร์โดบาบาดเจ็บสาหัสและกลับไปยังคิวบาพร้อมกับลูกน้องที่เหลือของเขา

สเปนพิชิตยูกาตัน

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแอซเท็ก การพิชิตและปราบปรามนครรัฐของอารยธรรมมายาในยุคหลังยุคคลาสสิกตอนปลายเกิดขึ้นในหลายปีหลังจากการพิชิตจักรวรรดิแอซเท็ก ด้วยความช่วยเหลือของนักรบซิวมายา (Xiu Maya) หลายหมื่นคน สเปนใช้เวลามากกว่า 170 ปีในการสร้างอำนาจควบคุมในดินแดนของชาวมายาอย่างเบ็ดเสร็จ มันขยายพื้นที่ตั้งแต่ยูกาตันตอนเหนือไปจนถึงบริเวณที่ราบลุ่มของเอล เปเตน (El Petén) และที่ราบสูงกัวเตมาลาทางเหนือ แผนการนี้ได้จบลงโดยการล่มสลายของนครรัฐของชาวมายาที่ตั้งอยู่ในตายาซัล (Tayasal) บริเวณเปเตน (Petén) ในปีค.ศ. 1697

คณะเดินทางของกอร์เตส

คำสั่งคณะเดินทาง

เส้นทางการเดินทางของกอร์เตส

ก่อนที่กรีจัลวา (Grivalva) จะเดินทางกลับสู่สเปน เวลาสเกซ ตัดสินใจส่งคณะเดินทางไปสำรวจชายฝั่งเม็กซิโกเป็นครั้งที่สาม และใหญ่กว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา[8] เอร์นัน กอร์เตส ซึ่งเป็นน้องเขยคนสนิทของเวลาสเกซ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการคณะเดินทางครั้งนี้ (ซึ่งเขาอาจเป็นผู้ก่อให้เกิดความริษยาและโกรธเคืองท่ามกลางผู้ล่าอาณานิคมคนอื่น ๆ) [8] ในข้อตกลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1518 เวลาสเกสได้มอบหมายกอร์เตสว่า การเดินทางครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำการค้าขายกับชนเผ่าพื้นเมือง

มีผู้อธิบายว่า เวลาสเกซ หวังจำกัดสิทธิให้กอร์เตสค้าขายอย่างเดียวเท่านั้น การบุกรุกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่เป็นสิทธิของเขา (เวลาสเกซ) แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม จากความรู้ด้านกฎหมายของคาสตีล (Castile) ที่เขาได้รับขณะศึกษาที่ซาลามานกา (Salamanca) กอร์เตสสามารถใช้เล่ห์เหลี่ยมในการให้เวลาสเกซเพิ่มคำสั่งที่ยินยอมให้กอร์เตสสามารถใช้มาตรการฉุกเฉินโดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ในกรณีที่มีความสนใจในดินแดนอย่างแท้จริง เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำทัพทหารและหัวหน้าผู้พิพากษาอีกด้วย

การเพิกถอนคำสั่ง

ข้าหลวงเวลาสเกซตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ใครก็ตามที่สามารถพิชิตแผ่นดินใหญ่ได้จะได้รับโชคลาภและชื่อเสียงจนกระทั่งบดบังความสำคัญของความสำเร็จในคิวบาไป ดังนั้น ในขณะที่การเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางกำลังจะเสร็จสิ้น เวลาสเกซ ได้เกิดความคลางแคลงใจว่า กอร์เตซ อาจไม่เชื่อฟังตนและเกณฑ์คนเข้าร่วมคณะเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ของตนเอง[9] กล่าวคือตั้งตนเป็นข้าหลวงปกครองอาณานิคมเสียเอง และเป็นอิสระจากการควบคุมของ เวลาสเกซ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เวลาสเกซ ได้ส่งลูอิส เด เมดินา (Luis de Medina) เพื่อที่จะไปแทนที่กอร์เตส แต่ว่าน้องเขยของกอร์เตสได้ขัดขวางและฆ่าเขา เอกสารคำสั่งที่ เมดินา เคยได้รับไว้ถูกส่งมายัง กอร์เตสแทน เพื่อเป็นการระวังตัว กอร์เตส ได้รีบเร่งเตรียมพร้อมเพื่อการออกเดินทางครั้งนี้[10]

กอร์เตส พร้อมออกเดินทางเมื่อเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1519 เมื่อ เวลาสเกซ มาถึงท่าเรือและตัดสินใจที่จะเรียกตัว กอร์เตส กลับ แต่ กอร์เตส อ้างว่าเวลาได้กระชั้นชิดเข้ามาแล้ว และรีบเร่งที่จะออกเรือเพื่อพิชิตดินแดนของชนพื้นเมืองอเมริกา ในสถานะ "กบฏ" และ เวลาสเกซ ก็ยินยอมให้เขาไป

คณะเดินทางของ กอร์เตส ประกอบด้วยเรือ 11 ลำ กะลาสีประมาณ 100 คน ทหาร 530 นาย (มีพลหน้าไม้ 30 คน และพลปืน 12 คนอยู่ด้วย) แพทย์ ช่างไม้จำนวนมาก ผู้หญิงอย่างน้อย 8 คน ชนพื้นเมืองคิวบาและแอฟริกาไม่กี่ร้อยคน (มีทั้งผู้ที่เป็นทาสและไม่ใช่ทาส) ทหารหลายคนในที่นี้ไม่เคยได้สู้รบมาก่อน และอันที่จริงแล้ว กอร์เตส ไม่เคยได้บัญชาการรบมาก่อนหน้านี้เลย

กอร์เตสเทียบท่าที่เกาะโกซูเมล (Cozumel)

กอร์เตสใช้เวลาบางส่วนในเกาะโกซูเมล เพื่อพยายามที่จะเปลี่ยนใจให้คนพื้นเมืองหันมานับถือศาสนาคริสต์รวมถึงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลายอย่าง ในขณะที่อาศัยอยู่ ณ เกาะโกซูเมล กอร์เตสได้รับรายงานว่ามีชาวสเปนที่ติดอยู่ ณ คาบสมุทรยูกาตัน กอร์เตสจึงส่งพลนำสารไปยังพวกเขาเหล่านั้น (พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือสเปนล่มในปี 1511 ได้แก่เจโรนีโม เด อากีลาร์ (Gerónimo de Aguilar) และกอนซาโล เกวเรโร (Gonzalo Guerrero))

อากีลาร์ได้ขอให้ผู้นำเผ่ามายาปล่อยตัวเขาไป และเขาก็ได้รับการปล่อยตัวไปหากอร์เตส จากข้อมูลของเบร์นัล ดีอัซ อากีลาร์เล่าว่าเขาไม่สามารถชักชวนให้เกวเรโรหนีออกมาด้วย เกวเรโรปฏิเสธบนพื้นฐานที่ว่าเขาได้รับการหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมมายาเป็นอย่างดี มีภรรยาเป็นชาวมายาและมีลูก 3 คน ชะตากรรมของเกวเรโรหลังจากนี้ไม่ทราบแน่ชัด เป็นไปได้ว่าเขาได้ช่วยชาวมายาต่อสู้กับชาวสเปนที่บุกรุกเข้ามา เป็นที่ปรึกษาทางทหารและสนับสนุนการต่อต้านสเปน คาดว่าเขาอาจเสียชีวิตในระหว่างการรบหลังจากนี้

อากีลาร์ซึ่งสามารถอ่านเขียนภาษาของชาวมายาและชนพื้นเมืองอื่น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ได้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่กอร์เตส อันเป็นทักษะที่สำคัญในการพิชิตจักรวรรดิแอซเท็กอันเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางของกอร์เตส

กอร์เตสเทียบท่าที่คาบสมุทรยูกาตัน

หลังจากที่ออกจากเกาะโกซูเมล กอร์เตสได้สำรวจบริเวณปลายคาบสมุทรยูกาตันและลงจอดที่โปโตนชัน (Potonchán) ซึ่งมีทองอยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กอร์เตสได้เอาชนะชนเผ่าพื้นเมืองในการรบสองครั้ง และได้ผู้หญิงมาหนึ่งคนซึ่งต่อมาได้ทำพิธีล้างบาปและตั้งชื่อใหม่ว่า "มารีนา" (Marina) เธอเป็นที่รู้จักในนามว่า "ลามาลินเช" หรือ "มาลินตซิน" (Malintzin) หรือ "มาลีนัลลี" (Malinalli) ซึ่งเป็นชื่อเกิดของเธอ

เบร์นัล ดีอัส เดล กัสตีโย (Bernal Díaz del Castillo) เขียนลงในหนังสือของเขา Historia verdadera de la conquista de la Nueva España ว่า มารีนาเป็น "เจ้าหญิงแอซเท็คซึ่งถูกขายไปเป็นทาสให้ชาวมายา" เธอไม่ได้เป็นเจ้าหญิงแอซเท็กจริง ๆ หากแต่เกิดในตระกูลผู้สูงศักดิ์ อาจจะเป็นชาวโทลเท็ก (Toltec) หรือทาบาสโก (Tabasco) ในเวลาต่อมาคำนำหน้าชื่อภาษาสเปน "doña" ได้เพิ่มไว้หน้าชื่อของเธอเพื่อเป็นเกียรติ

ไม่ว่าชาติกำเนิดของเธอจะเป็นเช่นไร กอร์เตสก็ได้พบกุญแจสำคัญที่จะทำให้ความทะเยอทะยานของเขาเป็นจริง เมื่อเขาต้องการติดต่อสื่อสารกับชาวแอซเท็ก เขาจะต้องพูดภาษาสเปนกับเจโรนีโม เด อากีลาร์ จากนั้นอากีลาร์จะแปลเป็นภาษามายาและพูดกับลามาลินเช จากนั้นลามาลินเชจะแปลเป็นภาษานาวาตล์ (Nahuatl) (อันเป็นภาษาของชาวแอซเท็ก) ด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้ กอร์เตสจึงสามารถสื่อสารกับชาวแอซเท็กได้

ในเวลาต่อมาไม่นาน ลามาลินเชได้เรียนรู้ภาษาสเปน และเป็นล่ามคนสำคัญอันดับแรกของกอร์เตส เป็นทั้งคนที่กอร์เตสไว้ใจ เป็นแม่บ้าน ร่วมถึงเป็นภรรยาของเขาด้วย

กอร์เตสสถาปนาเบรากรุซ

กอร์เตสและคณะเดินทางของเขาไปถึงชายฝั่งที่ปัจจุบันเป็นรัฐเบรากรุซในเดือนเมษายน ค.ศ.1519 เขาได้ยกทัพไปยังที่ตั้งของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีชื่อว่า เซมโปอาลา (Cempoala) ในการมาของพวกเขา ชนชั้นสูงในเมืองจำนวน 20 คน และชาวเมืองได้เข้ามาต้อนรับพวกเขา

กอร์เตสได้ชักชวนให้หัวหน้าเผ่าโตโตนัก (Totonac) นามว่า ชิโกเมโกอัตล์ (Chicomecoatl) ให้กบฏต่อจักรวรรดิแอซเท็ก อย่างรวดเร็ว

การกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของข้าหลวงเวลาสเกซ อาจทำให้เขาถูกคุมขังหรือถูกประหาร ทางเลือกของเขาคือต้องดำเนินการต่อเพื่อที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของเขาและราชบัลลังก์สเปน ในการกระทำการเช่นนั้น เขาได้สั่งให้ลูกน้องของเขาสร้างถิ่นฐานนามว่า ลาบียารีกาเดลาเบรากรูซ (La Villa Rica de la Vera Cruz) ชาวโตโตนักก็ได้ช่วยเหลือชาวสเปนก่อสร้างถิ่นฐานนี้ด้วยเช่นกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะพิชิตจักรวรรดิแอซเท็ก ถิ่นฐานเล็ก ๆ ดังกล่าวนี้ได้เจริญขึ้นมาตามลำดับจนกลายเป็นเมืองใหญ่นามเบรากรุซ

ในเวลาใกล้เคียงกัน กอร์เตสได้รับการต้อนรับโดยตัวแทนจากจักรพรรดิแห่งแอซเท็ก มอกเตซูมาที่ 2 และมีการแลกเปลี่ยนของกำนัล แต่กอร์เตสพยายามจะเขย่าขวัญคณะผู้แทนจากแอซเท็กโดยการแสดงอำนาจการยิง และท้าทายให้เกิดการสู้รบกันขึ้น แต่ว่าคณะผู้แทนดังกล่าวได้ออกไปจากพื้นที่อย่างรวดเร็วและอาจรายงานต่อมอกเตซูมาก็เป็นได้ หลังจากการพบกันครั้งแรกระหว่างแอซเท็กกับสเปน คณะทูตจากจักรวรรดิแอซเท็กได้ถูกส่งมาพร้อมกับของกำนัลที่มากกว่าเดิม รวมถึงทองคำ (ซึ่งชาวแอซเท็กเห็นว่ามีค่าไม่มากนัก) ถึงแม้ว่าพวกแอซเท็กจะพยายามขัดขวางมิให้คณะของกอร์เตสเดินทางไปยังเตโนชตีตลัน แต่ด้วยของกำนัลอันฟุ่มเฟือย ความอ่อนโยน และการต้อนรับเป็นอย่างดีของคณะทูตแอซเท็ก ได้ผลักดันให้กอร์เตสเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงของแอซเท็ก ตลอดการเดินทางส่วนใหญ่ของพวกเขา คณะทูตจากแอซเท็กได้เข้าร่วมกับทัพสเปน และรายงานต่อมอกเตซูมาอย่างไม่ปิดบัง

การทำลายกองเรือ

กอร์เตสจมกองเรือของเขานอกชายฝั่งเบรากรุซ

ลูกน้องของกอร์เตสที่ยังภักดีต่อข้าหลวงเวลาสเกสแห่งคิวบาได้ร่วมกันวางแผนที่จะยึดกองเรือและหลบหนีไปยังคิวบา แต่กอร์เตสไหวตัวทันและทำลายแผนของพวกเขา หัวหน้าผู้ก่อการสองคนถูกเฆี่ยนและหนึ่งในนั้นถูกทำให้ขาพิการ เพื่อป้องกันมิให้การทรยศในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก กอร์เตสตัดสินใจที่จะจมกองเรือของเขา โดยอ้างว่ามันไม่ปลอดภัยสำหรับออกทะเล เป็นที่เข้าใจผิดอย่างกว้างขวางว่าเขาเผาเรือของเขาแทนที่จะจมเรือ ความเข้าใจผิดดังกล่าวปรากฏในข้อเขียนของเซร์วันเตส เด ซาลาซาร์ (Cervantes de Salazar) เขียนในปี 1546 ว่ากอร์เตสเผาเรือของเขา[11] ซึ่งน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการแปลต้นฉบับภาษาละติน[12]

เรือทั้งหมดของเขาถูกจม ยกเว้นเรือลำเล็ก ๆ ลำหนึ่งซึ่งใช้สำหรับส่งตัวแทนและของที่ได้มาจากชนพื้นเมืองไปเข้าเฝ้ากษัตริย์สเปน กอร์เตสตัดขาดความช่วยเหลือภายนอกอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามนั่นก็ยังไม่ทำให้ลูกน้องของเขาที่ยังภักดีต่อข้าหลวงเวลาสเกซหมดความพยายาม จากนั้นกอร์เตสพาคณะของเขามุ่งหน้าไปยังเตโนชตีตลันซึ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์มามาก

ขณะนี้คณะของกอร์เตสมีหัวหน้านักรบชาวเซมโปอาลา (Cempoala) จำนวน 40 คน และชาวพื้นเมืองอื่น ๆ อีก 200 คนซึ่งมีหน้าที่ลากปืนใหญ่และแบกสัมภาระ ชาวเซมโปอาลาคุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อนเป็นอย่างดี แต่พวกเขาต้องประสบกับอากาศหนาว ฝนตก และการโห่ร้องเป็นอย่างมากในขณะที่มุ่งหน้าสู่เตโนชตีตลัน

เข้าเป็นพันธมิตรกับตลัซกาลา

จิตรกรรมฝาผนังที่ Palacio de Gobierno, Tlaxcala city - การเจรจาระหว่างชาวตลัซกาลากับเอร์นัน กอร์เตส

คณะเดินทางของกอร์เตสได้เดินทางมาถึงอาณาจักรตลัซกาลา อันเป็นสหพันธ์ที่ประกอบด้วยเมืองจำนวน 200 เมืองซึ่งต่างเผ่ากัน และไม่มีรัฐบาลกลาง

ชาวตลัซกาลาเริ่มต้นเผชิญหน้ากับชาวสเปนอย่างไม่เป็นมิตร ชาวสเปนถูกผลักดันให้ขึ้นไปบนภูเขาและถูกปิดล้อม เบร์นัล ดิอัส เดล กัสตีโยเล่าว่า การต่อสู้ในครั้งนี้ยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ ชาวสเปนอาจไม่มีชีวิตรอดถ้าชีโกเตนกัตล์ผู้พ่อ (Xicotencatl the Elder) ไม่ยุยงให้ ชีโกเตนกัตล์ผู้ลูก (Xicotencatl the Younger) ลูกของเขาซึ่งเป็นผู้นำด้านการทหารของตลัซกาลาให้เป็นพันธมิตรกับชาวสเปน ในขณะนั้นตลัซกาลาและเมืองรอบข้างเช่นเตโนชตีตลัน กำลังอยู่ในสงครามดอกไม้ (Flower Wars) ซึ่งดำเนินมาเกือบศตวรรษ ก่อให้เกิดความเกลียดชังและความขมขื่นระหว่างตลัซกาลาและแอซเท็กมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวตลัซกาลาเชื่อว่าชาวแอซเท็กอาจเข้าพิชิตอาณาจักรของตนเป็นลำดับถัดไป ขณะนั้นแอซเท็กได้เข้ายึดเมืองรอบ ๆ ตลัซกาลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นไปได้ว่าที่แอซเท็กปล่อยให้ตลัซกาลาเป็นอิสระนั้นเพราะว่าแอซเท็กต้องการเชลยจากตลัซกาลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปบูชายัญแก่เทพเจ้า[13] ตามความเชื่อของชาวแอซเท็ก การบูชายัญนักรบที่กล้าหาญเป็นของขวัญที่ดียิ่งกว่าการบูชายัญอื่น ๆ

ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1519 กอร์เตสเดินทางมาถึงตลัซกาลาและทักทายอย่างเป็นมิตรกับบรรดาผู้นำทั้งหลายของตลัซกาลา ชาวตลัซกาลามองว่าชาวสเปนเป็นพันธมิตรที่จะช่วยต่อต้านแอซเท็ก เนื่องจากการถูกปิดล้อมไม่ให้ทำการค้า ตลัซกาลากำลังอยู่ในสภาพยากจน ขาดแคลนเกลือ, ผ้าไหม, รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ดังนั้นจึงช่วยสนับสนุนกอร์เตสได้เพียงคนรับใช้และอาหาร กอร์เตสอาศัยในตลัซกาลาเป็นเวลา 12 วัน ให้เวลาลูกน้องของเขาในการพักฟื้นจากบาดเจ็บ ดูเหมือนว่ากอร์เตสจะได้มิตรภาพที่แท้จริงและความภักดีจากผู้นำใหญ่ของตลัซกาลา ได้แก่มาชิชกัตซิน (Maxixcatzin) และ ชีโกเตนกัตล์ผู้พ่อ (Xicotencatl the Elder) อย่างไรก็ตามเขาไม่สามารถชนะใจชีโกเตนกัตล์ผู้ลูก (Xicotencatl the Younger) ได้ ชาวสเปนตกลงที่จะเคารพสิ่งก่อสร้างในเมืองนี้ โดยเฉพาะศาสนสถาน และใช้งานสิ่งที่ได้รับมอบอย่างอิสระ

กอร์เตสได้กล่าวชี้นำแก่ผู้นำของตลัซกาลา ให้เห็นถึงประโยชน์ของศาสนาคริสต์ ตามตำนานเล่าว่าเขาได้โน้มน้าวผู้นำตลัซกาลาสี่คนได้แก่ มาชิชกัตซิน (Maxixcatzin), ชีโกะเตนกัตล์ผู้พ่อ (Xicotencatl the Elder), ซิตัลโปโปกัตซัน (Citalpopocatzin) และ เตมิโลลเตกุตล์ (Temiloltecutl) ให้เข้าพิธีล้างบาป และรับชื่อใหม่ว่า ดอนลอเรนโซ (Don Lorenzo), ดอนวินเซนเต (Don Vicente), ดอนบาร์โตโลเม (Don Bartolomé), ดอนกองซาโล (Don Gonzalo)

ไม่มีทางที่จะรู้ว่าผู้นำตลัซกาลาเหล่านั้นเข้าถึงศรัทธาของคาทอลิกหรือไม่ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามพวกเขาดูจะไม่มีปัญหาที่จะรับพระเจ้าของศาสนาคริสต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของทำเนียบเทพเจ้าของพวกเขา

การแลกเปลี่ยนของกำนัลได้เกิดขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นการเป็นพันธมิตรระหว่างกอร์เตซกับชาวตลัซกาลาอย่างมีนัยสำคัญและมีประสิทธิผล[14]

เดินทางไปยังโชลูลา (Cholula)

ในขณะเดียวกัน คณะทูตจากมอกเตซูมาที่สอง ได้กดดันให้กอร์เตสออกจากตลัซกาลา "อันเป็นเมืองทื่ยากจนและมีแต่โจร" ไปยังเมืองโชลูลา (Cholula) เมืองใกล้เคียงซึ่งอยู่ใต้อาณัติของแอซเท็ก มากกว่าที่จะอยู่ใต้อาณัติของเวโชตซิงโก (Huexotzingo)

โชลูลาเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งในเมโสอเมริกา มีขนาดใหญ่อันดับสอง และน่าจะเป็นเมืองที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ในเมืองนี้ยังมีพีระมิดที่ใหญ่โตโอ่อ่า (ใหญ่กว่ามหาพีระมิดแห่งกีซา) ซึ่งทำให้เป็นเมืองที่น่าเคารพสักการะอย่างยิ่งในศาสนาแอซเท็ก แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ากอร์เตซรู้จักเมืองนี้ในแง่การทหาร เมื่อทหารกองหลังของเขาถูกคุกคามในขณะที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเตโนชตีตลัน มากกว่าที่จะเป็นในแง่ของศูนย์กลางศาสนาเสียอีก เขาพยายามที่จะใช้วิธีการทางการทูตในการเข้าไปยังเมืองนี้

ในขณะนี้กอร์เตซยังมิได้คิดริเริ่มจะทำสงครามกับจักรวรรดิแอซเท็ก กอร์เตซตัดสินใจว่าจะประนีประนอม เขารับของกำนัลจากคณะทูตแอซเท็ก และยังรับข้อเสนอจากตลัซกาลา ที่จะเสนอทหาร 1,000 นายคอยคุ้มกันในการเดินทางสู่โชลูลา นอกจากนี้เขายังได้ส่ง เปโดร เด อัลเวราโด และ เบร์นาร์ดิโน วาสเกซ เด ตาเปีย มุ่งตรงไปยังเตโนชตีตลัน ในฐานะทูต เพื่อสำรวจเส้นทางไปยังเตโนชตีตลันอีกด้วย[15]: 193, 199 

การสังหารหมู่ที่โชลูลา

มีข้อบันทึกที่ขัดแย้งกันว่าอะไรเกิดขึ้นในเมืองนี้ มอกเตซูมาทรงตัดสินพระทัยอย่างชัดเจนว่าจะต้านกองกำลังของกอร์เตซที่กำลังรุกคืบเข้ามา และดูเหมือนว่าพระองค์จะสั่งให้เจ้าเมืองโชลูลาให้หยุดยั้งการเข้ามาของชาวสเปน เมืองโชลูลานี้มีกำลังทหารไม่มากนัก เนื่องจากในฐานะที่เป็นเมืองซึ่งเป็นที่สักการะบูชา ชาวเมืองจึงไว้วางใจในอำนาจของเทพเจ้าของตน ตามพงศาวดารของชาวตลัซกาลา กล่าวว่านักบวชในเมืองโชลูลาหวังจะใช้พลังอำนาจของเทพเจ้าเกตซัลโกอัตล์อันเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในการต่อสู้กับผู้รุกราน: 193, 199 

กอร์เตซและทหารของเขายกพลเข้าสู่โชลูลาโดยไม่มีการต่อต้านอย่างจริงจัง ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังไม่มีเจ้าเมืองเข้ามาพบ และยังไม่ได้รับอาหารและน้ำดื่มแม้ล่วงเลยเข้าสู่วันที่สาม ชาวเซมโปอาลาได้รายงานว่ามีการสร้างป้อมขึ้นรอบเมืองนี้[15]: 193  ชาวตลัซกาลาเริ่มระวังตัวต่อชาวสเปนมากขึ้น และในที่สุด ลามาลินเชได้บอกให้กอร์เตซทราบหลังจากที่ได้พูดคุยกับภรรยาของเจ้าเมืองคนหนึ่ง ว่าคนในเมืองวางแผนที่จะฆ่าชาวสเปนในขณะที่ชาวสเปนกำลังนอนหลับอยู่ แม้ว่าเขาจะไม่ทราบว่าข่าวลือนี้เป็นจริงแค่ไหน แต่เขาก็ได้ชิงสั่งให้ทหารชาวตลัซกาลาทำการโจมตีเมืองนี้ก่อน เขาได้กล่าวหาพวกเจ้าเมืองว่าเจ้าเมืองวางแผนที่จะสังหารทหารของเขา พวกเจ้าเมืองยอมรับว่าได้รับคำสั่งจากมอกเตซูมาให้ต่อต้านชาวสเปนจริง แต่ยังมิได้ทำตามคำสั่งนั้นแต่อย่างไร แต่ทว่าไร้ผล ชาวสเปนจับตัวและสังหารพวกขุนนางในเมืองนี้เพื่อให้เป็นบทเรียน[15]: 199 

พวกเขาได้จับตัวผู้นำชาวโชลูลาสองคน และสั่งให้มีการเผาเมืองนี้ทิ้งเสีย ในจดหมายที่กอร์เตสส่งไปถึงกษัตริย์แห่งสเปน กล่าวอ้างว่าในเวลาเพียงสามชั่วโมง กองกำลังของเขาได้สังหารพลเมืองไปถึง 3,000 คน และเผาเมืองนี้[16] พยานอีกคนชื่อว่า วาสเกซ เด ตาเปีย (Vázquez de Tapia) ได้กล่าวอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่ารายงานของชาวสเปนมักจะกล่าวอ้างเกินจริง เนื่องจากการที่มีผู้หญิง เด็ก และผู้ชายจำนวนมากได้หนีออกไปจากเมืองนี้ก่อนหน้านี้แล้ว[15]: 200–201  ยอดผู้เสียชีวิตไม่น่าจะมากมายขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สังหารหมู่ในโชลูลาครั้งนี้ก็เป็นเหตุการณ์อันฉาวโฉ่ในการพิชิตเม็กซิโกของสเปนเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งนี้ ในมุมมองของแอซเท็กและตลัซกาลา นั้นแตกต่างออกไป ฝั่งตลัซกาลาอ้างว่าได้ส่งทูตคนหนึ่งชื่อว่าปาตลาวัตซิน(Patlahuatzin)ไปยังโชลูลา แต่กลับถูกลงโทษ กอร์เตซจึงสั่งให้มีการโจมตีโชลูลาเพื่อเป็นการแก้แค้น[17]: 46–47 (Historia de Tlaxcala, por Diego Muñoz Camargo, lib. II cap. V. 1550).

ทางด้านแอซเท็กนั้นไม่พอใจที่ชาวสเปนไปยังเมืองโชลูลาแทนที่จะเป็นเวโชตซิงโก(Huexotzingo) และกล่าวโทษต่อตลัซกาลาในกรณีนี้[18]

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ทำให้เมืองอื่นๆ และกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์กับแอซเท็ก รวมทั้งตัวจักรวรรดิแอซเท็กก็ดี รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาบ้าง กิตติศัพท์ของเหตุการณ์ครั้งนี้ชักนำเมืองอื่นๆ ใต้อาณัติของแอซเท็กตอบรับข้อเสนอของกอร์เตซอย่างแข็งขัน แทนที่จะไปเสี่ยงกับชะตากรรมเช่นโชลูลา[15]: 203 

กอร์เตสส่งทูตไปหามอกเตซูมา กราบทูลว่าชนชาวโชลูลาเองที่คิดไม่ซื่อต่อเขา และผลสุดท้ายก็คือถูกลงโทษ[15]: 204 

มอกเตซูมาทรงกล่าวโทษต่อผู้บัญชาการกองทหารรักษาการณ์เกี่ยวกับการต้านทานชาวสเปน และตระหนักว่าการพยายามอย่างยาวนานในการขัดขวางไม่ให้กอร์เตสเดินทางเข้าสู่เตโนชตีตลัน ด้วยการมอบของกำนัลเป็นเงินและทองได้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ท้ายที่สุด มอกเตซูมาจึงทรงเชื้อเชิญให้ชาวสเปนเดินทางเข้ามาที่เมืองหลวงของพระองค์ คือเมืองเตโนชตีตลัน ตามที่ได้มีการกล่าวอ้างในบันทึกของสเปน[15]: 205–206 

เตโนชตีตลัน

ในวันที่ 8 พฤษจิกายน ค.ศ. 1519 หลังจากการล่มสลายของเมืองโชลูลา กอร์เตสและกองทัพของเขาได้เดินทางเข้าสู่กรุงเตโนชตีตลัน อันเป็นเมืองหลวงบนเกาะของชนชาวแอซเท็ก(ซึ่งเรียกตัวเองว่า เม็กซิกา(Mexica)) ว่ากันว่าในเวลานั้น เตโนชตีตลันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ใหญ่กว่าทุกเมืองในยุโรป เป็นรองก็แต่เพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น ประมาณการว่าเมืองนี้มีประชาชนประมาณ 60,000 ถึง 300,000 คนเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปนคือเมืองเซบิยา ก็มีประชากรเพียงแค่ 30,000 คนเท่านั้น

กอร์เตสได้รับการต้อนรับโดยมอกเตซูมา

ตามจดหมายเหตุของแอซเท็กซึ่งบันทึกโดยเบร์นาดิโน เด ซาอากูน กษัตริย์แอซเท็กนามว่ามอกเตซูมาที่สองทรงต้อนรับเอร์นัน กอร์เตส อย่างใหญ่โตโออ่า ซาอากูนบันทึกว่ามอกเตซูมาทรงต้อนรับกอร์เตสบนทางยกระดับใหญ่(The Great Causeway) และมีผู้นำอีกสีคนอยู่เคียงข้างมอกเตซูมาอันได้แก่ กษัตริย์แห่งเตซโกโกพระนามว่ากากามา, กษัตริย์แห่งตลาโกปานพระนามว่าเตตเลปานเกตซัล, อิซกวาวซิน(Itzcuauhtzin) ขุนนางแห่งตลาเตลอลโก และสุดท้าย โตปานเตมอก(Topantemoc) ผู้รักษาทรัพย์สมบัติของมอกเตซูมาในตลาเตลอลโก


อ้างอิง

  1. "Indigeniso e hispanismo". Arqueología mexicana. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 2015-10-20. (Spanish)
  2. 2.0 2.1 Thomas, Hugh.Conquest: Montezuma, Cortes, and the Fall of Old Mexico, (New York: Simon and Schuster, 1993), 528–529.
  3. 3.0 3.1 3.2 Clodfelter 2017, p. 32.
  4. Diaz, B., 1963, The Conquest of New Spain, London: Penguin Books, ISBN 0140441239: states that Cortes's men lost all the artillery they had initially arrived with during La Noche Triste.
  5. Bernard Grunberg, "La folle aventure d'Hernan Cortés", in L'Histoire n°322, July–August 2007: states that Cortes arrived in Mexico with 15 cannons, before acquiring the forces of Pánfilo de Narváez.
  6. Restall, Matthew. Seven Myths of the Spanish Conquest. Oxford University Press (2003), ISBN 0-19-516077-0
  7. Schwartz, Stuart B., ed. Victors and Vanquished: Spanish and Nahua Views of the Conquest of Mexico. Boston: Bedforf, 2000.
  8. 8.0 8.1 Hassig, Ross, Mexico and the Spanish Conquest. Longman: London and New York, 1994. p. 45.
  9. Hassig, Ross, Mexico and the Spanish Conquest. Longman: London and New York, 1994. p. 46.
  10. Thomas, Hugh. Conquest: Montezuma, Cortés, and the fall of Old Mexico p. 141
  11. Matthew Restall, "Seven Myths of the Spanish Conquest", 2003
  12. Cortés Burns His Boats pbs.org
  13. "Conquistadors - Cortés". PBS. สืบค้นเมื่อ 2010-10-31.
  14. Hugh Tomas, The conquest of Mexico, 1994.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 Diaz, B., 1963, The Conquest of New Spain, London: Penguin Books, ISBN 0140441239
  16. "Empires Past: Aztecs: Conquest". Library.thinkquest.org. สืบค้นเมื่อ 2010-10-31.
  17. León-Portilla, M. 1992, 'The Broken Spears: The Aztec Accounts of the Conquest of Mexico. Boston: Beacon Press, ISBN 978-0807055014
  18. Informantes de Sahagún: Códice Florentino, lib. XII, cap. X.; Spanish version by Angel Ma. Garibay K.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!