ไสว มาลยเวช หรือนามปากกา ไพศาล มาลาพันธ์ (14 มกราคม พ.ศ. 2457 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551) นักเขียนผู้ได้รับ รางวัลนราธิป ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ประวัติ
ไพศาล มาลาพันธ์ หรือ ไสว มาลยเวช เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2457 ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ เกื้อ เป็นนายช่างโรงสีไฟ มารดาชื่อ ทองแย้ม เป็นชาวปากพนังทั้งคู่
ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 และเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชย์วิทยาลัย ซึ่งมี พระสารสาสพลขันธ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ จนจบวิชาบริหารธุรกิจชั้นสูง เมื่อ พ.ศ. 2492 และได้ประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีใจรักการอ่าน รวมทั้งได้เขียนเรื่องต่าง ๆ ตลอดมา ใน พ.ศ. 2485 ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพ ร่วมกับนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนอื่น ๆ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) , อุทธรณ์ พลกุล, ฉัตร บุณยะศิริชัย (อ้อย อัจฉริยากร) , เปลื้อง วรรณศรี, สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น โดยได้ทำงานใกล้ชิดกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนได้รับฉายาว่า "อารักษ์ประจำตัว" ช่วงปี พ.ศ. 2486-2499
ผลงานเรื่องสั้นลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เช่น ปิยะมิตร, เดลิเมล์วันจันทร์, ปิติภูมิ, สยามสมัย เป็นประจำ เมื่อพ้นโทษได้ตั้งสำนักพิมพ์บุษบาบรรณ ของตนเอง ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อพิมพ์หนังสือศิลปวรรณคดีตลอดจนวิทยาการใหม่ ๆ รวมทั้งผลงานของ ศรีบูรพา เรื่อง แม่ และ การเดินทางระหว่างดาวพระเคราะห์ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกจับกุม และต้องลี้ภัยการเมืองเข้าป่าเป็นเวลานานถึง 25 ปี ซึ่งขณะอยู่ในป่าก็ยังทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ ไฟล่ามทุ่ง
ไพศาล มาลาพันธ์ กลับคืนสู่เมือง ตามนโยบาย 66/23 และมีผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ทั้งเรื่องสั้น บันทึก สารคดี และวิชาการ หลายเรื่อง เช่น บันทึกนักโทษการเมือง, จากนาครสู่วนา, วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์, ตำราแทงเข็ม-รมยา และสรุปบทเรียนจากประสบการณ์
ผลงานรวมเล่ม
- บันทึกนักโทษการเมือง
- จากนาครสู่วนา
- วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์
- ตำราแทงเข็ม-รมยา
งานเขียนอื่น ๆ
- เขียนอัตชีวประวัติตอนไปเรียนวิชาแทงเข็ม และแพทย์แผนจีน ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
งานอื่น นอกเหนือจากงานเขียน
- รักษาคนไข้ด้วยวิธีแทงเข็ม โดยเฉพาะอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
- เป็นอาจารย์พิเศษศูนย์การร่วมมือทางการแพทย์ไทย-จีน
- ที่ปรึกษาชมรมฝั่งเข็มแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข
คำนิยม
คุณสุพจน์ ด่านตระกูลเคยเขียนถึงว่า...
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจัดให้อยู่ห้อง (ขัง) ใหญ่ จึงต้องอยู่รวมด้วยหลายคน มีขุนเจริญสืบแสง หรือนายแพทย์เจริญ สืบแสง ประธานกรรมการองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย สมัคร บุราวาศ สมาชิกแห่งราชบัณฑิตสภา เปลื้อง วรรณศรี พ.ท. สาลี่ ธนวิบูลย์ นาวาอากาศตรี พร่างเพชร บุญรัตพันธ์ อุทธรณ์ พลกุล ครอง จินดาวงศ์ มงคล ณ นคร ไสว มาลยเวช เป็นต้น
ผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดคุณกุหลาบภายในคุกคือคุณไสว มาลยเวช เพราะนอกจากจะช่วยจัดหาอาหารและชง "โอยัวะ" ให้วันละสี่เวลาแล้ว คุณไสว มาลยเวช ยังทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์คัดลอกต้นฉบับข้อเขียนต่างๆ ของคุณกุหลาบสำหรับส่งไปให้หนังสือพิมพ์ด้วย จันทา โนนดินแดง ตัวเอกของเรื่องแลไปข้างหน้า ก็เกิดขึ้นในคุกบางขวางนั้นเอง
กิจวัตรประจำวันภายในคุกของคุณกุหลาบก็คือการเขียนหนังสือ และแม้ว้าท่านจะเขียนหนังสือช้า แต่ท่านก็ขยันนั่งอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือของท่านครั้งละหลายๆ ชั่วโมง .................[1]
อ้างอิง
หนังสือเนื่องใน วันนักเขียน 5 พฤษภาคม 2548 ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (อรุณ เวชสุวรรณ บันทึก)
แหล่งข้อมูลอื่น