โลนจี

โลนจี
ชายชาวพม่าสวมโลนจี
ประเภทผ้านุ่ง
วัสดุไหม, ฝ้าย
ถิ่นกำเนิดประเทศพม่า

โลนจี (พม่า: လုံချည်; เอ็มแอลซีทีเอส: lum hkyany; ออกเสียง: [lòʊɰ̃dʑì]) เป็นผืนผ้าที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศพม่า มีความยาวราว 2 เมตร (6.6 ฟุต) และกว้าง 80 เซนติเมตร (2.6 ฟุต) มักเย็บเป็นรูปทรงกระบอก สวมรอบเอว ลากยาวไปถึงเท้า และยึดด้วยการพับผ้าแล้วเหน็บโดยไม่ผูกเป็นปม ในสมัยโบราณนักสู้ และเหว่ จะผูกผ้าไว้ในเวลาแข่ง[1] เทคนิคการพับนี้ยังคงใช้ในปัจจุบันเมื่อผู้คนเล่น ชี่นโล่น

ประวัติศาสตร์

ภาพสีน้ำพม่าจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่แสดงภาพการขาย โลนจี
ภาพสีน้ำพม่าจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงกำลังทอผ้า ปาโซ ขณะที่ผู้ชายซึ่งสวม ปาโซ กำลังมองดู
ชายคนหนึ่งสวมชุด ตองเช ปาโซ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1800
สตรีที่สวม ทะเมน แบบดั้งเดิมซึ่งแพร่หลายจนถึงช่วงปี ค.ศ. 1900

โลนจีสมัยใหม่ซึ่งเป็นผ้าชิ้นเดียวทรงกระบอก เป็นผ้าที่เพิ่งนำเข้ามาในพม่าไม่นานนี้ ผ้าชนิดนี้ได้รับความนิยมในช่วงอาณานิคมของอังกฤษ แทนที่ผ้า ปาโซ และ ทะเมน ในสมัยก่อนอาณานิคมได้สำเร็จ[2] คำว่า โลนจี เดิมหมายถึง โสร่ง ที่ผู้ชายชาวมลายูสวมใส่[3]

ยุคก่อนอาณานิคม ปาโซของผู้ชาย ผืนผ้ามีความยาว 9.1 เมตร (30 ฟุต) เรียกว่า ตองเช ปาโซ (တောင်ရှည်ပုဆိုး) และไม่ได้เย็บ เช่นเดียวกับทะเมนของสตรี ผืนผ้ามีความยาว 1.4 เมตร (4 ฟุต 7 นิ้ว) มีแถบผ้าฝ้ายหรือกำมะหยี่สีเข้มเย็บไว้ที่ขอบด้านบน ผืนผ้ามีลายอยู่ช่วงกลาง และมีผ้าแดงหรือผ้าขาวเย็บติดไว้ที่ชายผ้าลากยาวลงมาด้านล่าง[4][5] ปาโซเป็นที่นิยมสวมใส่โดยผู้ชายพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19[6][7] ปริมาณผ้าของปาโซเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม[7]

ผู้มาเยือนชาวตะวันตกที่มาเยือนย่างกุ้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 บันทึกว่า:

ผู้ชายเกือบทุกคนเปลือยถึงเอว หรือสวมเสื้อแจ็กเก็ตผ้าลินินสีขาวตัวเล็กแบบผ่า พร้อมด้วยปาโซขนาดหนาพันแน่นรอบเอว และมัดรวมกันเป็นมัดใหญ่หรือปมด้านหน้า[8]

เมื่อไปเยือนเมืองอมรปุระ เฮนรี ยูล ได้บรรยายถึงปาโซของผู้ชายและทะเมนของสตรี ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในท้องถิ่น มีการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ผ้าไหมนำเข้าจากจีน[6] เขาบันทึกว่า:

ผ้าปาโซมักจะมีความยาวประมาณ 9 ถึง 10 หลา การทำขึ้นเพื่อใช้งาน จะนำผ้าทอผืนยาวมาตัดแบ่งครึ่ง แล้วเย็บต่อกันให้กว้างขึ้นเป็นสองเท่า พันรอบเอวโดยไม่ต้องผูกเชือก[6]

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มการปกครองแบบอาณานิคม พม่าตอนล่างและเขตเมืองก็เริ่มมีการนำโลนจีแบบมาเลย์และอินเดียเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งสวมใส่ได้สะดวกกว่า[4][5]

รูปแบบและการออกแบบ

ในพม่าโลนจีที่ผู้ชายสวมใส่เรียกว่า ปาโซ (ပုဆိုး) ขณะที่ผู้หญิงสวมใส่เรียกว่า ทะเมน หรือ ทะบี (ထဘီ) หากว่ากันอย่างเคร่งครัดแล้ว ชุดเหล่านี้ไม่ถือเป็นชุดที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง เนื่องจากวิธีการสวมใส่ รวมถึงลวดลายและการแต่งชุดจะแตกต่างกันระหว่างเพศ

ผู้ชายจะสวมปาโซแบบสมัยใหม่โดยรวบผ้าทั้งสองข้างแล้วพับเหน็บที่เอวใต้สะดือเล็กน้อย ส่วนชุดสตรีมักจะมีความยาว 3 ศอก 1 นิ้ว (ราว 1.5 เมตร) แต่สมัยก่อนก็ยังไม่ได้เย็บเช่นเดียวกับชุดผู้ชาย มักสวมห่อรอบตัวโดยพับกว้างครั้งเดียวด้านหน้าแล้วเหน็บปลายผ้าเข้าด้านหนึ่ง หรือห่อจากด้านหลังช่วงสะโพกแล้วเหน็บฝั่งตรงข้ามเอว โดยปกติจะสวมทับด้วยเสื้อพอดีตัวยาวถึงช่วงเอว

ชายผ้าจะยาวขึ้นหรือสั้นลงตามแฟชั่นในสมัยนั้น แม้ว่าจะไม่ยาวเหนือเข่าก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโลนจีจะขายแบบไม่เย็บ แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายแบบพร้อมใส่ โดยอาจเย็บแบบเดียวกับกระโปรงสไตล์ตะวันตก การคลายและการเหน็บโลนจีมักจะพบเห็นได้ในที่สาธารณะทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้หญิงจะดูไม่สะดุดตาเมื่อเทียบกับผู้ชาย

ลวดลายและผ้า

ปาโซของผู้ชายโดยทั่วไปจะเป็นลายทางหรือลายตาราง อาจต่างกันไปตามสีพื้น และอาจสวมกลับหัวหรือกลับด้านได้โดยไม่มีความแตกต่าง ทะเมนของสตรีมีแถบผ้าดิบสีดำเรียกว่า อะเทะ ซี่น (အထက်ဆင့်, แปลว่า แถบบน) สำหรับเอว นอกจากนี้ยังมีหลากสีสันและลวดลายดอกไม้อีกด้วย

ผ้าฝ้ายเป็นวัสดุพื้นฐาน แต่ผ้าทุกประเภททั้งนำเข้าและในประเทศ สามารถทำเป็นโลนจีได้[9] ผ้าหลายชนิดสามารถทำเป็นผ้าทะเมนได้ ผ้าบาติกของประเทศอินโดนีเซียแม้จะมีราคาแพง แต่ก็ได้รับความนิยมมาหลายทศวรรษ ชุดผ้าบาติก (ပါတိတ်) ที่มีส่วนบนและส่วนล่างรูปแบบเดียวกัน ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง ค.ศ. 1980

สำหรับพิธีการและโอกาสพิเศษ ผู้สวมใส่จะใช้ผ้าไหมที่ดีที่สุด ผ้าไหมที่ประณีตที่สุดเรียกว่า อะเชะ (အချိတ်) เป็นลายลอนคลื่นที่สวยงามและสลับซับซ้อนหลากสีสันจากช่างทอเมืองอมรปุระ ผ้าไหมมักจะสวมใส่ในงานแต่งงาน โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมักจะสวมชุดที่สีเข้ากัน[10] ผู้ยากไร้อาจเก็บผ้าไหมแบบดั้งเดิมไว้ใช้สำหรับโอกาสพิเศษ

ในสมัยโบราณ ผ้าไหมเป็นเครื่องแต่งกายของราชวงศ์และข้าราชบริพาร โดยผ้าปาโซและผ้าทะเมนของราชวงศ์จะปักลวดลายอย่างวิจิตรด้วยทอง เงิน ไข่มุก และอัญมณีล้ำค่า ปัจจุบันสามารถพบเห็นการจำลองเหล่านี้ได้บนละครเวที ซะปเว (ဇာတ်ပွဲ)

ผ้าทอและลวดลายของชาติพันธุ์ระดับภูมิภาคนั้นมีมากมายและเป็นที่นิยม ได้แก่ ยะไข่โลนจี, มอญโลนจี, กะชีนโลนจี, อี้นเล่โลนจี, ยอโลนจี, ทวายโลนจี และอื่น ๆ[11][12][13]

ปาโซผ้าไหมแต่ไม่ใช่ อะเชะ ที่ผู้ชายสวมใส่ในโอกาสพิเศษเรียกว่า บางเกาะปาโซ (บางกอก), กะลาปาโซ (อินเดีย) ที่มักจะยาวและสวมใส่โดยคนที่ตัวสูง, กากา ซิน หมายถึงลายตารางกว้างสีดำ สีน้ำตาล และสีขาวที่เจ้าของร้านชาชาวอินเดียสวมใส่ โลนจีที่ผ่านกระบวกการ Mercerisationfrom จากอินเดียเป็นที่นิยมเนื่องจากเนื้อผ้ามีความทนทานมากกว่า

ประโยชน์และความสะดวก

ชายชาวพม่านุ่ง ปาโซ คาดองไจ กำลังเล่นชี่นโล่น ในย่านย่างกุ้ง

โลนจีเหมาะกับสภาพอากาศเพราะทำให้มีอากาศถ่ายเท และช่วยคลายร้อนจากแสงแดด ผ้าไหมมีคุณสมบัติพิเศษในการเก็บความอบอุ่นช่วงฤดูหนาว และเย็นสบายในฤดูร้อน

โลนจีเป็นชุดที่ใช้งานได้หลากหลาย ผู้ชายมักจะเหน็บส่วนล่างของปาโซไว้ด้านบน โดยรวบด้านหน้าแล้วสอดเข้าระหว่างขาทั้งสองไปด้านหลังตรงเอว เรียกว่า ปาโซ คาดองไจ (ပုဆိုးခါးတောင်းကျိုက်) เช่นเดียวกับโดติ มักจะใช้สวมใส่ขณะปีนป่ายหรือเล่นกีฬาแทนการเปลี่ยนเป็นกางเกงขาสั้น[14] ทหารในสมัยโบราณจะสวมปาโซในลักษณะนี้ไม่ว่าจะสวมเพียงตัวเดียวหรือสวมทับกางเกงขายาวก็ตาม

ในพื้นที่ชนบท มักพบเห็นผู้ชายพับผ้าปาโซไว้บนไหล่ข้างหนึ่งในขณะอาบน้ำ หรือสำหรับใช้เป็นเบาะรองสะพายข้างหรือรองของหนักด้านหลัง สตรีเมื่ออาบน้ำเพียงแค่สวมทะเมนให้สูงแล้วเหน็บไว้ใต้รักแร้เพื่อปกปิดหน้าอกก่อนจะถอดเสื้อออก อาจเห็นพวกเขาใช้ทะเมนเป็นทุ่นลอยน้ำในแม่น้ำโดยกักอากาศไว้แล้วใช้มือรวบแน่นด้านล้าง พวกเขาใช้ผ้าปาโซของผู้ชายหรือผ้าชิ้นยาวม้วนและขดเป็นเบาะบนศีรษะสำหรับเทินหม้อน้ำ ฟืน ตะกร้า และถาด ซึ่งเป็นวิถีปกติของการขายสินค้าหาบเร่ริมถนน

การเปลี่ยนชุดทำได้ง่ายเพียงแค่ก้าวเข้าไปในโลนจีตัวใหม่และดึงขึ้น ในขณะเดียวกันก็คลายและปล่อยตัวเก่าออก หรือจะสวมตัวใหม่จากหัวลงมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในที่ส่วนตัว ผู้หญิงก็เปลี่ยนเสื้อผ้าโดยไม่ถอดชุดออกทั้งหมด พวกเธอจะสวมผ้าทะเมนหนึ่งผืนในขณะเปลี่ยนชุดใหม่ อาจเห็นผู้หญิงบางคนดึงผ้าทะเมนขึ้นทีละนิดในขณะลุยน้ำลึกลงแม่น้ำเพื่อไม่ให้เปียก การซักและรีดผ้าเป็นเรื่องง่ายดาย เพราะผ้าเป็นทรงกระบอก แขวน รีด พับ และวางซ้อนกันได้ง่ายโดยใช้พื้นที่ในตู้เสื้อผ้าเพียงเล็กน้อย

และเหว่

ในสมัยโบราณ นักสู้และเหว่แบบดั้งเดิมจะสวมโลนจีในการแข่งขัน[1] นักสู้จะสวมชุดขาสั้นที่เรียกว่า ปาโซ คาดองไจ (ပုဆိုးခါးတောင်းကျိုက်) เพื่อให้สามารถใช้ขาและเตะได้ ปัจจุบันการแข่งขันและเหว่นักสู้จะสวมกางเกงขาสั้น

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Matthew Carter (December 23, 2018). "Lethwei Fighters Wear Skirts!". Lethwei World.
  2. Thant Myint-U (2008). The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma. Macmillan. pp. 182. ISBN 9780374531164.
  3. Judson, Adinoram (1893). Judson's Burmese-English dictionary. Government of Burma.
  4. 4.0 4.1 Ferrars, Max; Bertha Ferrars (1900). Burma. S. Low, Marston and Company.
  5. 5.0 5.1 Imperial gazetteer of India. Vol. 10. Superintendent of Government Printing. 1908. p. 46.
  6. 6.0 6.1 6.2 Sir Henry Yule (1858). A narrative of the mission sent by the governor-general of India to the court of Ava in 1855: with notices of the country, government, and people. Smith, Elder and co. pp. 154.
  7. 7.0 7.1 Bowie, Katherine A. (February 1993). "Assessing the Early Observers: Cloth and the Fabric of Society in 19th-Century Northern Thai Kingdoms". American Ethnologist. 20 (3): 138–158. doi:10.1525/ae.1993.20.1.02a00070. JSTOR 645416.
  8. Annie Brassey; Mary Anne Broome (23 December 2010). The Last Voyage, to India and Australia, in the Sunbeam. Cambridge University Press. p. 121. ISBN 978-1-108-02471-6.
  9. "Myanmar Longyi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-23.
  10. Bird, George W (1897). Wanderings in Burma. London: F J Bright & Son. p. 48.
  11. "Inle longyi inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06.
  12. "Yaw longyi from Gangaw inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-13.
  13. "Dawei longyi from Tanintharyi inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06.
  14. Marshall, Andrew (2002). The Trouser People. Washington DC: Counterpoint. jacket photo,30. ISBN 9781582431208.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!