แม่น้ำแควน้อย หรืออีกชื่อคือ แม่น้ำไทรโยค เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เกิดจากลำน้ำใหญ่สามสายจากเทือกเขาตะนาวศรี ได้แก่ แม่น้ำบีคี่ใหญ่ แม่น้ำซองกาเลีย และแม่น้ำรันตี ไหลไปรวมกันที่ด้านใต้ของด่านสามสบในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นไหลผ่านเขตอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองกาญจนบุรี แล้วจึงไหลไปรวมกับแม่น้ำแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง มีความยาวประมาณ 330 กิโลเมตร[1] สองฝั่งแม่น้ำเป็นภูเขาสูงชัน มีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) กั้นแม่น้ำแควน้อยที่อำเภอทองผาภูมิ มีเนื้อที่ผิวน้ำ 353 ตารางกิโลเมตร (220,625 ไร่) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ
ภูมิประเทศโดยทั่วไปในลุ่มน้ำแควน้อยเป็นภูเขาใหญ่น้อยเรียงสลับซับซ้อนและสูงชัน บางแห่งเป็นหน้าผาสูง บางแห่งเป็นที่ราบ ลำน้ำแควน้อยไหลผ่านภูมิประเทศที่สวยงาม มีน้ำตก มีห้วย และลำธารเล็ก ๆ ไหลลงลำน้ำเกือบตลอดสาย สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าดงดิบ มีป่าไผ่แซมอยู่ทั่วไป มีป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติเขาช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าสงวนแห่งชาติห้วยเขย่ง ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระฤๅษีและเขาบ่อแร่ และป่าสงวนแห่งชาติวังใหญ่–แม่น้ำน้อย
แม่น้ำสาขา
แม่น้ำบีคี่ใหญ่
แม่น้ำบีคี่ใหญ่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีใกล้ชายแดนไทย–พม่า ในเขตอำเภอทองผาภูมิ ลำน้ำไหลขึ้นไปทางทิศเหนือค่อนไปทางทิศตะวันออก ผ่านเขาปลายลำปิล๊อก เข้าเขตอำเภอสังขละบุรี ช่วงนี้มีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ ห้วยบีคี่ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีที่พรมแดนไทย–พม่าเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี ไหลมาทางทิศตะวันตกสมทบกับแม่น้ำบีคี่ใหญ่ที่บ้านมอญ น้ำยังคงไหลขึ้นสู่ทิศเหนือค่อนไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงสามสบ ลำน้ำหักเลี้ยวไปทางทิศตะวันออก เรียกว่าแม่น้ำแควน้อย ไหลลงตอนใต้ต่อไป
แม่น้ำซองกาเลีย
แม่น้ำซองกาเลียมีทิศทางการไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ มีลำห้วยหลายสายไหลมาสมทบแม่น้ำซองกาเลีย ไหลลงใต้ผ่านอำเภอสังขละบุรี และไหลลงแม่น้ำแควน้อยที่สามสบ
แม่น้ำรันตี
แม่น้ำรันตีไหลมาจากทิศตะวันออก มีต้นกำเนิดจากภูเขากั้นลุ่มน้ำแควน้อยกับแควใหญ่ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำซองกาเลียก่อน อีกประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงไหลบรรจบเป็นลำน้ำแควน้อย
อ้างอิง
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557, หน้า 133.