แม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และไหลสู่อ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประวัติ
ชื่อแม่น้ำตาปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2458 โดยมี มหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงนามสนองฯ ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2458
เดิมมีชื่อว่า "แม่น้ำหลวง" เพราะมีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาหลวงซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขานครศรีธรรมราช อยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ไหลผ่านอำเภอฉวาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่าน อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน และไหลออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของภาคใต้
ด้วยแม่น้ำสายนี้ มีความยาวครอบคลุมพื้นที่มาก ชาวพื้นเมือง จึงเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามสถานที่ เช่น เมื่อผ่านอำเภอพุนพิน เรียกแม่น้ำท่าข้าม ด้วยความที่เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในมณฑลปักษ์ใต้ ตลอดสายแห่งลุ่มแม่น้ำสายนี้จึงอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก การค้าขาย จัดเป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น
เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักสวนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม ได้พระราชทานชื่อเมืองไชยาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 และมีพระราชดำรัสว่าสมควรที่เปลี่ยนชื่อแม่น้ำในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ตลอดทั้งลำน้ำตั้งปากน้ำที่ออกสู่ทะเล ถึงเกาะปราบ ปากแม่น้ำพุมดวง คลองสินปุน คลองกะเบียด จนถึงสันเขาหลวง ว่า แม่น้ำตาปี
การตั้งชื่อแม่น้ำนี้ คล้ายกับชื่อแม่น้ำ ตาปติ และ เมืองสุรัฎฐ (สุราษฎร์) ในประเทศอินเดีย ซึ่งแม่น้ำตาปติมีต้นกำเนิดจากภูเขาสัตตปุระ ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวแคมเบย์ ปากแม่น้ำนี้มีเมืองชื่อว่า สุรัฎฐ์ ตั้งอยู่ ซึ่งสภาพของเมืองทั้งสองอาจคล้ายคลึงกัน ประกอบกับทรงทราบว่า ชาวเมืองไชยาเป็นผู้มีคุณธรรม ตั้งมั่นในพระธรรมศาสนาสอดคล้องกับ ความหมายของคำว่า สุราษฎร์ธานี และได้พระราชทานนามพระตำหนักที่ชาวเมืองสร้างถวายเป็นที่ประทับบนเนินท่าข้ามว่า สวนสราญรมย์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์[1]
คลองสาขา
แม่น้ำตาปี เกิดจากเทือกเขาหลวงในอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราชไหลผ่าน อำเภอฉวาง อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอพระแสง อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวบ้านดอน แม่น้ำตาปี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 232 กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญ 6 สาย ได้แก่
- ห้วยฉวาง ต้นน้ำอยู่ในอำเภอบ้านนาสาร ไหลผ่านอำเภอบ้านนาสารหลายตำบล บรรจบแม่น้ำตาปีที่ตำบลท่าชี เรียกว่าปากหวางหรือว่าปากจน
- ห้วยคลองสินปุน ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปี ทางฝั่งซ้ายในตำบลสินปุน อำเภอพระแสง
- ลำอิปัน ต้นน้ำมาจากอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปีทางฝั่งซ้ายในตำบลสินปุน อำเภอพระแสง
- คลองพุนพิน แยกจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำตาปี ใกล้สะพานรถไฟพระจุลจอมเกล้า ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน ไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน
- คลองท่ากูบ ต้นน้ำมาจากบ้านขุนทะเล ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปีทางฝั่งขวา
- คลองมะขามเตี้ย ต้นน้ำมากจากบึงขุนทะเล ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปี ทางฝั่งขวาใกล้ตลาดบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
- คลองขวาง แยกจากฝั่งซ้ายตรงกันข้ามกับหน้าตลาดบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไปบรรจบกับคลองพุนพิน ที่ตำบลลิเล็ด อำเภอพุนพิน
- ห้วยน้ำศก ซึ่งมีต้นน้ำมาจากอุทยานแห่งชาติเขาสก คลองยัน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
- แม่น้ำพุมดวง ซึ่งมีต้นน้ำที่อำเภอบ้านตาขุน
มีเขื่อนกั้นคลองแสงลำน้ำสาขาของแม่น้ำพุมดวงคือ เขื่อนรัชชประภา จากนั้นจึงไหลมาบรรจบ แม่น้ำตาปี ที่บริเวณ สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีอำเภอพุนพิน ก่อนแยกไปเป็นลำน้ำสาขาคือ คลองพุนพิน บริเวณ สะพานพระจุลจอมเกล้า หรือ ป้ายหยุดรถไฟสะพานพระจุลจอมเกล้า เป็นป้ายหยุดรถไฟชั่วคราว [2]
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
จากคลองสาขาที่มาจากจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา เป็นเส้นทางสำคัญในยุคอาณาจักรศรีวิชัย ที่ชาวต่างชาติใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงสินค้าจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ขึ้นฝั่งยังบริเวณอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มาสู่อ่าวไทยที่บริเวณปากแม่น้ำพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเส้นทางที่สำคัญอย่างน้อย 4 เส้นทาง คือ
- จากทุ่งตึกผ่านทางคลองเหล ผ่านมาทางเขาสก เข้าคลองพุมดวง เข้าแม่น้ำตาปี และมาออกที่อ่าวบ้านดอน
- จากคณะมะรุ่ยผ่านทางคลองชะอุ่น คลองสก คลองพุมดวง แม่น้ำตาปี แล้วออกทางอ่าวบ้านดอน
- จากคลองปกาสัย ผ่านคลองโตรม คลองอิปัน ออกแม่น้ำตาปี แล้วต่อมาออกอ่าวบ้านดอน
- จากคลองท่อมผ่านคลองสินปุน ออกแม่น้ำตาปี และอ่าวบ้านดอน
การใช้ประโยชน์
ปัจจุบัน แม่น้ำตาปี ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการอุปโภค บริโภค และการนันทนาการท่องเที่ยว
เป็นเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้า กั้นแม่น้ำตาปีบริเวณต้นน้ำคลองศก ระดับน้ำในเขื่อนสูงสุดที่ 100 เมตร นำน้ำที่เก็บไว้สำหรับการผลิตไฟฟ้า และการชลประทานสำหรับพื้นที่อำเภอพนม และอำเภอคีรีรัฐนิคม
ในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ได้จัดกิจกรรมล่องแก่งชมธรรมชาติสองข้างทางของคลองยันที่ไหลผ่านบริเวณพื้นที่อุทยาน และในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสก มีเอกชนจ้ดกิจกรรมล่องห่วงยางไปตามลำน้ำคลองสก เป็นกิจกรรมนันทนาการท่องเที่ยวในพื้นที่
โดยนำน้ำจากแม่น้ำตาปี เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ตั้งขึ้นสองฝั่งแม่น้ำที่ใช้น้ำจากแม่น้ำตาปี ในการอุปโภคและบริโภคจำนวนมาก
อ้างอิง
9°11′50″N 99°22′57″E / 9.19722°N 99.38250°E / 9.19722; 99.38250