แปซิฟิกใต้ในอาณัติ

7°20.5167′N 134°28.75′E / 7.3419450°N 134.47917°E / 7.3419450; 134.47917

แปซิฟิกใต้ในอาณัติ

南洋群島
นันโยโชะโท
ค.ศ. 1919–ค.ศ. 1947
ธงชาติแปซิฟิกใต้ในอาณัติ
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ
ตราแผ่นดิน
แผนที่แสดงดินแดนควบคุมทางการเมืองในแปซิฟิก
แผนที่แสดงดินแดนควบคุมทางการเมืองในแปซิฟิก
สถานะดินแดนในอาณัติของจักรวรรดิญี่ปุ่น
เมืองหลวงคอรอร์
ภาษาทั่วไปญี่ปุ่น (ทางการ)
ออสโตรนีเซียน
จักรพรรดิ 
• 1919-1926
จักรพรรดิไทโช (โยะชิฮิโตะ)
• 1926-1947
จักรพรรดิโชวะ (ฮิโระฮิโตะ)
ข้าหลวง 
• 1919-1923 (คนแรก)
โทชิโระ เทซุกะ
• 1943-1946 (คนสุดท้าย)
โบชิโร โฮโซงายะ
ยุคประวัติศาสตร์จักรวรรดิญี่ปุ่น
28 มิถุนายน ค.ศ. 1919
18 กรกฎาคม ค.ศ. 1947
สกุลเงินเยน, ปอนด์โอเชียเนีย
ก่อนหน้า
ถัดไป
เยอรมันนิวกินี
ดินแดนในภาวะทรัสตีหมู่เกาะแปซิฟิก
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ปาเลา
 หมู่เกาะมาร์แชลล์
 ไมโครนีเชีย
 หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา

แปซิฟิกใต้ในอาณัติ (อังกฤษ: South Pacific Mandate) เป็นดินแดนภายใต้การดูแลของสันนิบาตชาติ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุม 3 ประเทศ 1 ดินแดน คือ สาธารณรัฐปาเลา สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สหพันธรัฐไมโครนีเซียและดินแดนหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน แปซิฟิกใต้ในอาณัติเป็นชื่อทางการของอาณานิคมหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางเหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งสันนิบาตชาติมอบหมู่เกาะในภูมิภาคไมโครนีเซียอันเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมเยอรมันนิวกินีให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุด[1]

ญี่ปุ่นเข้าปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 – 1947 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ หมู่เกาะทะเลใต้ในการอาณัติของญี่ปุ่น (อังกฤษ: Japanese mandate for the South Seas Islands) (日本委任統治領南洋群島, อักษรโรมัน: Nihon Inin Tōchi-ryō Nan'yō Guntō) โดยการเข้าปกครองของญี่ปุ่นนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแปซิฟิกใต้ในอาณัติหลายประการทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังพบกับการเข้าใช้ประโยชน์จากดินแดนแห่งนี้ในรูปแบบต่าง ๆ การเข้าปกครองดินแดนแห่งนี้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นสิ้นสุดลงหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหประชาชาติได้มอบหมายดินแดนบริเวณดังกล่าวให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดูแลแทนในชื่อดินแดนแปซิฟิกใต้ในภาวะทรัสตี จนกระทั่งบางประเทศในภูมิภาคไมโครนีเซียได้รับเอกราช

ประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาของญี่ปุ่น

ประวัติศาสตร์ภูมิภาคไมโครนีเซียก่อนการเข้ามาปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วงหลัก คือ ระยะแรก เป็นระยะทีชาวไมโครนีเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชน และระยะที่สอง เป็นระยะที่จักรวรรดิอาณานิคมเยอรมนีเริ่มเข้าครอบครองหมู่เกาะในบริเวณนี้

จากการสำรวจและวิเคราะห์ทางด้านโบราณคดี นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่าบริเวณภูมิภาคไมโครนีเซียเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ 4,000 – 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวชามอร์โร (Chamorro) ชาวไมโครนีเซีย (Micronesia) และชาวปาเลา (Palau) ในปัจจุบัน[2] การอาศัยอยู่ของผู้คนในบริเวณนี้มักอาศัยอยู่กันแบบสังคมชนเผ่า แต่ก็พบการตั้งศูนย์กลางทางการเมืองในรูปแบบการปกครองอาณาจักรทางทะเลขึ้นที่เกาะเทมเวน (Temwen Island) ในเขตโบราณสถาน นาน มาโดล (Nan Madol) ในรัฐโปนเปย์ (Pohnpei) ประเทศไมโครนีเซีย ซึ่งโบราณสถานสร้างด้วยหินมีการเชื่อมคลองและได้รับการยกย่องว่าเป็นเวนิสแห่งแปซิฟิก [3]  ดินแดนบริเวณนี้ได้รับการสำรวจโดยนักสำรวจชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสเปนและโปรตุเกสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวพื้นเมืองมากนัก ในช่วงเวลาต่อมาสเปนได้เข้าครอบครองหมู่เกาะบริเวณนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 19

ในปี ค.ศ. 1898 สเปนทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา ผลของสงครามในครั้งนั้นสเปนพ่ายแพ้ จึงจำเป็นต้องยกเกาะกวม (Guam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาเรียนาให้แก่สหรัฐอเมริกา และสเปนดำเนินการขายหมู่เกาะมาเรียนาที่เหลือและหมู่เกาะแคโรไลน์ให้กับจักรวรรดิอาณานิคมเยอรมนี ส่งผลให้เยอรมนีเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคไมโครนีเซีย บริหารภายใต้การปกครองของอาณานิคมเยอรมันนิวกินี โดยใช้ประโยชน์อาณานิคมแห่งนี้ในฐานะท่าเรือรบ [4] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสในการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเริ่มการประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 โดยจุดเน้นของญี่ปุ่นในการทำสงครามกับเยอรมนีคือการยึดท่าเรือและแหล่งธุรกิจในฉางตง ในเวลาต่อมาชาติพันธมิตรต้องการให้ญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกันขบวนสินค้าให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรอินเดียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับการยกส่วนหนึ่งของฉางตงและหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นอาณานิคมของเยอรมนีให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น [5] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ค่อนข้างน้อย แต่ก็ได้รับการยอมรับในฐานะชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งของโลก มีสถานะเป็นสมาชิกถาวรของสภาสันนิบาตชาติ นอกจากนี้ญี่ปุ่นได้ดินแดนฉางตง และหมู่เกาะตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกตามสัญญา หมู่เกาะตอนเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ สันนิบาตชาติจัดให้เป็นดินแดนในอาณัติระดับซี (Class – C Mandate) ซึ่งเป็นดินแดนที่สันนิบาตชาติมองว่าชาติเจ้าของดินแดนในอาณัติควรบริหารจัดการตามกฎหมายในฐานะดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศแม่ [5]

การที่ญี่ปุ่นได้ดินแดนแปซิฟิกใต้ในอาณัติ เนื่องจากเป็นข้อแลกเปลี่ยนสำคัญในการเข้าร่วมช่วยเหลือชาติสัมพันธมิตรของญี่ปุ่น ซึ่งการเข้าช่วยเหลือของญี่ปุ่นแม้มีเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญมาก เนื่องจากชาติสัมพันธมิตรชาติอื่นติดพันการรบในยุโรป ส่งผลให้ไม่สามารถคุ้มกันกองเรือของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในระยะแรก คณะที่ประชุมของสันนิบาติชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องการมอบดินแดนอดีตอาณานิคมเยอรมันนิวกินีส่วนหนึ่งให้กับญึ่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกามองว่าหากมอบดินแดนส่วนนี้ให้กับญี่ปุ่น เกาะกวม สถานีวิทยุสื่อสารบนเกาะแยป (Yap) และความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอันตราย[4] แต่ที่ประชุมสันนิบาติชาติเกรงว่าหากไม่มอบดินแดนส่วนนี้ให้กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะไม่เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาติชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้สันนิบาติชาติได้ปฏิเสธข้อเสนอของญี่ปุ่นในข้อตกลงการยกเลิกการเหยียดชาติพันธุ์ โดยสันนิบาติชาติมองว่าหากญี่ปุ่นไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา [6]

การได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้สร้างความพึงพอใจให้กับสื่อมวลชนและนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้เอะโนะโมะโตะ ทะเคอะกิ (Enomoto Takeaki) ต้องการสำรวจดินแดนในบริเวณนี้เพื่อหาอาณานิคมแห่งใหม่ให้กับญี่ปุ่น แต่พบว่าเกาะเหล่านี้ตกเป็นของเยอรมนีและสเปนแล้วในขณะนั้น[7] ซึ่งญี่ปุ่นต้องการหมู่เกาะในบริเวณนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นสะพานเชื่อมต่อดินแดนทางใต้ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเมลานีเซีย) รวมไปถึงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างฮาวายและฟิลิปปินส์ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นฐานทัพของทัพเรือในการปกป้องประเทศจากวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้[8]

การปกครอง

หลังจากญี่ปุ่นได้รับมอบหมายการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติจากสันนิบาติ ในปี ค.ศ. 1914 รัฐบาลกลางญี่ปุ่นได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการของกองกำลังป้องกันชั่วคราวทะเลใต้ (South Seas Islands Temporary Garrison) เป็นผู้นำรัฐบาลเของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ โดยผู้บัญชาการจะมีอำนาจในการบังคับบัญชาทหารและพลเรือนในดินแดนแห่งนี้ โดยได้ตั้งศูนย์กลางการบริหารขึ้นที่เกาะซัมเมอร์ (Summer) เกาะแยป (Yap) เกาะยาลูอิต (Jaluit) และเกาะอางาอูร์ (Angaur) (Purcell, 1967: 147)  ในปี ค.ศ. 1915 ได้มีการนำที่ปรึกษาและข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้ามาทำงานในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุดในปี ค.ศ. 1918 กองกำลังทหารได้ถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือนในการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติ และย้ายศูนย์กลางการบริหารจากเกาะซัมเมอร์มาสู่คอร์รอในเกาะปาเลาในปี ค.ศ. 1922 [9]

ในระยะแรกของการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 – 1922 ญี่ปุ่นปกครองดินแดนแห่งนี้โดยใช้ระบอบที่จักรวรรดิอาณานิคมเยอรมนีได้วางรากฐานไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบมากนัก [9] การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 เป็นต้นมา แต่ในช่วงปีที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดต่อการการเมืองการปกครองของแปซิฟิกใต้ในอาณัติคือในปี ค.ศ. 1929 เมื่อย้ายหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการเมืองการปกครองจากการดูแลโดยตรงโดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสู่กระทรวงกิจการโพ้นทะเล (Ministry of Oversea Affairs) ส่วนกิจการด้านอื่นได้ย้ายเข้าสู่กระทรวงที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม เป็นต้น [9] นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตแบบเดิม ออกเป็นการแบ่งเขตแบบใหม่ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 เขต (ไซปัน, ปาเลา, แยป, ตรุก, โปนเปห์ และยาลูอิต)[10] ซึ่งในแต่ละเขตจะมีข้าหลวงจากส่วนกลางเข้าไปปกครอง ในส่วนท้องถิ่นของแต่ละเขตประกอบไปด้วยหมู่บ้านชาวพื้นเมืองหลายหมู่บ้าน มีหัวหน้าหมู่บ้านและเป็นหัวหน้าชนเผ่าในยุคดั้งเดิมซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากข้าหลวงใหญ่ประจำอาณานิคมทะเลใต้เป็นผู้ปกครอง [11]  ในกรณีของหัวหน้าหมู่บ้านเหล่านี้มักมีหน้าที่ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นในการจัดทำรายงานต่าง ๆ ภายในดินแดนของตน จัดเก็บภาษีชาวพื้นเมืองผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่พิการและแก่ชรา รวมถึงส่งข้อเสนอของชุมชนของตนต่อเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ในทางกฎหมาย ญี่ปุ่นจะมอบอำนาจและหน้าที่ให้หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละแห่งเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติพบว่าอำนาจหน้าที่ในอดีตเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดสถานะที่มีความแตกต่างกันของหัวหน้าหมู่บ้านแต่ละคน [9] ซึ่งญี่ปุ่นใช้การปกครองรูปแบบนี้เรื่อยมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 [12]

เมื่อพิจารณาจากสถานะของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พบว่าสันนิบาติชาติต้องการมอบดินแดนแปซิฟิกใต้ในอาณัติให้กับญี่ปุ่นในสถานะดินแดนในภาวะทรัสตี (ดินแดนในอาณัติ) แม้ว่าสภาวะของแปซิฟิกใต้ในอาณัติในขณะนั้นจะเป็นดินแดนที่ไม่สามารถปกครองตนเองได้และยังมีโครงสร้างทางการเมืองไม่แน่ชัด จึงต้องใช้หลักกฎหมายและการบริหารจัดการเสมือนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศแม่ แต่พฤตการณ์ของญี่ปุ่นที่ใช้ในการปกครองพบว่ามักไม่เปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองเข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองการปกครองมากนัก รวมไปถึงการพยายามทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นญี่ปุ่น ซึ่งพฤตการณ์ของญี่ปุ่นเป็นไปในลักษณะของการยึดครอง มากกว่าจะปกครองในฐานะดินแดนในอานัติ[13]

กรณีการขอลาออกจากสันนิบาติชาติ ส่งผลให้สถานะของแปซิฟิกใต้ในอาณัติเริ่มไม่แน่ชัด เนื่องจากดินแดนแมนเดตเป็นดินแดนของสันนิบาติชาติที่มอบให้ประเทศสมาชิกดูแล การลาออดจากสมาชิกภาพย่อมเป็นผลให้การดูแลแมนเดตสิ้นสุดลง ในช่วงเวลานี้พบว่าเยอรมนีได้พยายามเรียกร้องดินแดนส่วนนี้คืนจากญี่ปุ่นหรือให้สันนิบาติชาติหาประเทศสมาชิกอื่นเข้ามาดูแลดินแดนแห่งนี้ อย่างไรก็ตามสันนิบาติชาติไม่ได้ดำเนินการเรียกร้องดินแดนส่วนนี้คืนจากญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่าสันนิบาติชาติไม่อยากดำเนินมาตรการรุนแรงกับญี่ปุ่นและคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของสันนิบาติชาติอีกครั้ง[8]

เมื่อศึกษาระบบการศาลและกระบวนการยุติธรรมในแปซิฟิกใต้ในอาณัติพบว่า รัฐบาลอาณานิคมทะเลใต้ มีการจัดตั้ง หน่วยงานด้านศาลครอบคลุมทุกหมู่เกาะสำคัญของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ข้าหลวงใหญ่ประจำอาณานิคมมีอำนาจในการพิจารณีคดีความ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอำนาจบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ การพิจารณาคดีของชาวญี่ปุ่นและชาวพื้นเมืองดำเนินในลักษณะเดียวกัน ซึ่งผู้พิพากษาของศาลมักได้รับการแต่งตั้งโดยข้าหลวงใหญ่ของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ [8] ในส่วนของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ในระยะแรกเป็นหน่วยงานทหารในพื้นที่ เมื่อหน่วยงานทหารโอนอำนาจให้ฝ่ายพลเรือนแล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่คือตำรวจ โดยนายตำรวจระดับสูงมักเป็นชาวญี่ปุ่น และตำรวจระดับปฏิบัติการเป็นชาวพื้นเมืองผสมผสานกับชาวญี่ปุ่น [14]

การทหาร

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับดินแดนนี้เป็นอย่างมาก จากที่กล่าวในตอนต้นนั้นพบว่าญี่ปุ่นมองดินแดนแห่งนี้ในฐานะเป็นดินแดนที่มีผลประโยชน์ทางด้านการทหารเป็นหลัก เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เป็นหมู่เกาะที่ทอดตัวยาวเหนือเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเสบียงอาหารและเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่ตั้งแล้ว พบว่าแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮาวายและฟิลิปปินส์อันเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา สามารถใช้เป็นฐานทัพป้องกันการรุกรานจากสหรัฐอเมริกาสู่แผ่นดินญี่ปุ่นได้ ความสำคัญและความเป็นพื้นที่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของพื้นที่แปซิฟิกใต้ในอาณัติได้แสดงให้เห็นในการนำเครื่องบินโจมตีเรือรบของสหรัฐอเมริกาในอ่าวเพิร์ล ฮาเบอร์ ในสมัยสงครามโลกคร้ังที่ 2 และดินแดนแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญของสงครามแปซิฟิกตลอดระยะเวลาสงคราม[13]

เศรษฐกิจ

พื้นที่ของแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีความจำกัดมาก โดยพบว่าเมื่อนำพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมกันแล้วมีพื้นที่เพียง 2,158 ตารางกิโลเมตร โดยเกาะที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเพียง 377 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น [15] แม้ว่าพื้นที่ของแปซิฟิกใต้ในอาณัติจะมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอาณานิคมอื่นของญี่ปุ่น แต่ดินแดนแห่งนี้ก็สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับญี่ปุ่นได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกิจการด้านเกษตรกรรม การประมงและกิจการเหมืองแร่ สามารถสร้างเงินได้ให้กับรัฐบาลและภาคเอกชนอย่างมหาศาล [16] ซึ่งญี่ปุ่นได้สนับสนุนภาคเอกชนเข้าไปลงทุน โดยการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลด้านสารสนเทศต่าง ๆ นำไปสู่การดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมากขึ้น และมีประชากรรวมมากกว่าประชากรชาวพื้นเมืองในที่สุด เมื่อถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทุกรูปแบบของแปซิฟิกใต้ในอาณัติซบเซาลงเป็นอย่างมาก โดยรายได้ของรัฐบาลเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากต้องนำสินค้า ปัจจัยการผลิตและกำลังคนไปใช้สนับสนุนการรบในช่วงสงครามโลก

เกษตรกรรม

ก่อนญี่ปุ่นได้สิทธิ์เข้าปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติในปี ค.ศ. 1919 ประชากรชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามา เข้าไปทำงานในกิจการเหมืองแร่ของชาติตะวันตกและใช้เป็นทางผ่านในการเข้าไปทำงานในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนอื่น เช่น เหมืองแร่นิกเกิลในนิวแคลิโดเนีย เป็นต้น [9] ในส่วนของบริษัทของญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนสินค้าญี่ปุ่นกับสินค้าพื้นเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1914 มีความพยายามจากภาคส่วนของเอกชนในญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในบริเวณภูมิภาคไมโครนีเซีย (อาณานิคมเยอรมันนิวกินี) โดยนิชิมูระ อิชิมะสิ (Nishimura Ichimatsu) เกษตรกรชาวญี่ปุ่น รวมไปถึงบริษัทการพัฒนาอุตสาหกรรมทะเลใต้ (South Sea Industrial Development) ที่มองเห็นโอกาสจากราคาน้ำตาลที่สูงมาก ได้เดินทางเข้ามาทำการเพาะปลูกอ้อยในเกาะไซปัน (Saipan) แต่ประสบภาวะล้มเหลวจากโรคระบาดและการขาดความรู้ที่เพียงพอ เป็นผลให้บริษัทจากญี่ปุ่นนิยมเพาะปลูกอ้อยในเกาะฟอร์โมซามากกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่า [9] 

การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมของดินแดนแห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ในการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติ เทะสุกะ โทชิโระ (Tezuka Toshiro) ข้าหลวงใหญ่ประจำแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ปรึกษากับมัตสุเอะ ฮารุจิ (Matsue Haruji) ถึงความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกอ้อย ซึ่งเป็นพืชเกษตรกรรมที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แปซิฟิกใต้ในอาณัติมากที่สุด [8] การเจรจาพูดคุยกันของรัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติและมัตสุเอะ ฮารุจิ นำไปสู่การจัดตั้งบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development Company หรือ Nanyo Kohatsu Kabushiki Kaisha) แม้ว่าในอดีตนักธุรกิจและภาคเอกชนของญี่ปุ่นมักประสบความล้มเหลวในการเพาะปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล แต่การที่รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติและภาคเอกชนร่วมมือกัน เป็นเพราะการสำรวจและจัดทำแผนที่ของกองทัพเรือญี่ปุ่นในบริเวณแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พร้อมทั้งระบุสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประชากรและวัฒนธรรม เป็นผลทำให้การตัดสินใจเป็นไปได้โดยง่ายขึ้น [7]

การเพาะปลูกอ้อยของญี่ปุ่นในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีการใช้พื้นที่มากถึง 28,373 เอเคอร์ ซึ่งเป็นรองเพียงแค่มะพร้าว และพืชท้องถิ่นของแปซิฟิกใต้ในอาณัติเท่านั้น [16] สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอาณานิคมกว่า 20 ล้านเยน ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดมาจากการเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาล และปริมาณน้ำตาลในตลาดญี่ปุ่นมีถึงร้อยละ 5 ที่มาจากแปซิฟิกใต้ในอาณัติ [9] ความสำเร็จในการเพาะปลูกอ้อย รวมไปถึงแรงจูงใจที่ดีพอ ส่งผลให้ประชากรชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโอกินาวานิยมเข้ามาแสวงหาโอกาสในการรับจ้างปลูกอ้อยหรือเป็นลูกจ้างของบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development) ประชากรชาวญี่ปุ่นจึงเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี ค.ศ. 1920 มีประชากร 3,671 คน เพิ่มขึ้นเป็น 90,072 คน ในปี ค.ศ. 1941  ในขณะที่ชาวพื้นเมืองมีประชากรรวมกันเพียงแค่ 51,089 คนเท่านั้น[7] ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลให้อัตราส่วนของประชากรในแปซิฟิกใต้ในอาณัติระหว่างชาวพื้นเมืองกับประชากรชาวญี่ปุ่นเท่ากับ 1 : 2 แรงจูงใจสำคัญที่ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามา คือ ความสำเร็จจากการเพาะปลูกน้ำตาล การการันตีการได้รับที่ดินบางส่วนเพาะปลูก รวมไปถึงการไม่คู่แข่งเมื่อเทียบกับอาณานิคมอื่น กล่าวคือ ในบันทึกของรัฐบาลญี่ปุ่นมักกล่าวถึงประชากรชาวไมโครนีเซียที่อาศัยอยู่ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติว่าเป็นผู้ที่ “ขี้เกียจ ไม่มีอารยธรรม ป่าเถื่อน ใช่ชีวิตประจำวันไปวันๆ และอยู่ในวิถีดั้งเดิม” [8] ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวจีนในไต้หวันและชาวญี่ปุ่นในเกาหลีแล้ว ชาวไมโครนีเซียเป็นผู้ที่มีลักษณะด้อยวัฒนธรรมและความรู้มากที่สุด และรัฐอาณานิคมเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวไมโครนีเซียในเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก

ในการเกษตรกรรมด้านอื่นๆ พบว่าแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ให้ความสำคัญรองลงมาคือการเพาะปลูกมะพร้าวและสาเก ซึ่งสาเกกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development) โดยทำการผลิตในเกาะไซปันและทีเนียน ส่วนมะพร้าวมักแปรรูปเป็นมะพร้าวตากแห้งเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังพบการริเริ่มทดลองปลูกข้าว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกอ้อย รวมไปถึงได้ตั้งสถานีเกษตรกรรมเพื่อทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[17]

กิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น

กิจการที่มีความสำคัญอีกรูปแบบหนึ่งต่อเศรษฐกิจของแปซิฟิกใต้ในอาณัติคือการปศุสัตว์และการประมง ในส่วนของการปศุสัตว์นั้นพบว่ายังดำเนินการอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม หมูเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากชาวพื้นเมืองนิยมรับประทานหมูมาก่อนหน้านั้นแล้ว รองลงมาคือวัวและไก่ ในส่วนของการประมงนั้นพบว่าในช่วงระยะแรก ก่อนปี ค.ศ. 1923 กิจการประมงอยู่ในความดูแลของชาวประมงและบริษัทขนาดเล็ก แต่หลังจากปี ค.ศ. 1923 เป็นต้นมา บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาควบคุมกิจการการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทพัฒนาทะเลตะวันออก (South Seas Development) ที่นิยมหาหอยและหมึกเพื่อกลับไปจำหน่ายในญี่ปุ่น [9]

ส่วนกิจการทำเหมืองแร่ในช่วงแรกของแปซิฟิกใต้ในอาณัติเป็นของเยอรมนีเจ้าอาณานิคมเดิม โดยในปี ค.ศ. 1922 ญี่ปุ่นดำเนินการซื้อกิจการเหมืองแร่ทั้งหมดของเยอรมนีเป็นเงิน 1,739,660 เยน โดยรัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติเข้าไปดำเนินการกิจการเหมืองแร่ในเกาะเฟยส์ (Feys) พีลีลู (Pililu) โตโกไบ (Togobai) และอางาอูร์ (Angaur) โดยแร่ที่สำคัญของเกาะเหล่านี้ คือ ฟอสเฟต กิจการเหมืองแร่ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุน ขาดเครื่องมือที่ดีพอ การขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1934 ที่รัฐบาลอาณานิคมอนุญาตให้บริษัทพัฒนาทะเลตะวันออก (South Seas Development) เข้าไปลงทุนและพัฒนากิจการเหมืองแร่แต่เพียงผู้เดียว ด้วยภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานจึงเริ่มมีการดำเนินการจ้างชาวพื้นเมืองเป็นแรงงานไร้ฝีมือและชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลีและชาวจีนเป็นแรงงานมีฝีมือ โดยอัตราเงินได้ชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.54 เยนต่อวัน โดยชาวพื้นเมืองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ต่ำสุด โดยอยู่ระหว่าง 0.79 – 1.40 เยนต่อวัน ขึ้นอยู่กับทักษะการทำงานของบุคคลนั้น ๆ [9]  

สังคม

ญี่ปุ่นได้นำระบบแนวคิดหลายอย่างเข้ามาใช้ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ การสร้างสาธารณูปโภคสำคัญเพื่อบริการสังคมให้กับชาวญี่ปุ่นและกระบวนการทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นญี่ปุ่น (Japanization) ซึ่งในมุมมองของญี่ปุ่นมองว่าการจะทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้มีอารยธรรมนั้นจะต้องได้รับการศึกษาและได้รับความคิดความเชื่อในแบบญี่ปุ่น [18] ซึ่งญี่ปุ่นได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำให้ประชากรชาวพื้นเมืองมีความเป็นชาวญี่ปุ่นมากขึ้น ผ่านกระบวนการทางด้านการศึกษา การทำงาน ศาสนาและการท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดผลดีกับญี่ปุ่น และเป็นผลให้ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้มักเป็นผู้ให้ความสนับสนุนแก่ญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือญี่ปุ่นในการสืบสวนหาขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

เมืองคอรอร์ในการปกครองของญี่ปุ่น

สภาพสังคมโดยทั่วไปของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พบว่าประชากรชาวพื้นเมืองและประชากรชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในพื้นที่ที่มีประชากรชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เช่น ปาเลาและไซปัน เป็นต้น บริเวณดังกล่าวนี้พบอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เข้มแข็ง อัตราการเกิดอาชญากรรมในแปซิฟิกใต้ในอาณัติค่อนข้างต่ำ โดยอาชญากรรมส่วนใหญ่เกิดจากการลักขโมยและปล้นทรัพย์ [14] จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่มีชีวิตในช่วงเวลาขณะนั้น ได้กล่าวถึงสภาพของเมืองปาเลาไว้ว่า “เมืองคอร์รอมีความเจริญรุ่งเรือง เป็น Little Tokyo ถนนหนทางสะอาดและมีการวางระบบผังเมืองที่ดี มีร้านค้าและย่านที่พักอาศัยเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ เมืองมีความสงบเรียบร้อย” [19] ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีการห้ามการค้าทาส ห้ามชาวพื้นเมืองดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ยกเว้นเพื่อการรักษา พิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง รวมไปถึงการห้ามใช้สารเสพติด[14] ในส่วนของโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมของชนพื้นเมืองได้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก กลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มสูญเสียอำนาจ บางกลุ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารปกครองอาณานิคม โดยชนพื้นเมืองกลายเป็นพลเมืองชั้น 3 ของอาณานิคมแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[20]

รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติลงทุนกับการศึกษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก โดยเป็นรองเพียงแค่การลงทุนด้านสาธารณูปโภคเท่านั้น [14] รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ได้รายงานต่อสันนิบาติชาติว่า “โรงเรียนในแปซิฟิกใต้ในอาณัติประกอบไปด้วยโรงเรียนที่สร้างโดยภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นและโรงเรียนของมิชชันนารีที่สร้างในสมัยเป็นอาณานิคมของเยอรมนี” โรงเรียนเหล่านี้จัดการศึกษาให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในแปซิฟิกใต้ในอาณัติและประชาชนชาวพื้นเมือง การศึกษาของญี่ปุ่นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประชากรชาวพื้นเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตการจัดการศึกษาในแปซิฟิกใต้ในอาณัติขึ้นอยู่กับการสั่งสอนของผู้อาวุโสในแต่ละหมู่บ้าน แต่หลักสูตรที่ญี่ปุ่นใช้ ประกอบด้วยวิชาหลัก 3 วิชา คือ ภาษาญี่ปุ่น เลขคณิตและจริยธรรมแบบญี่ปุ่น รวมไปถึงสนับสนุนให้เคารพสมเด็จพระจักรพรรดิ[2] การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ส่งผลให้ประชากรในรุ่นหลังเริ่มใช้ภาษาญี่ปุ่นและภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาพูด ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากประชากรรุ่นก่อนหน้าที่มีการใช้ภาษาสเปนและภาษาเยอรมันด้วย การจัดการศึกษาของแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีลักษะการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาณานิคมไต้หวันและเกาหลีของญี่ปุ่น ประชากรวัยเด็กชาวพื้นเมืองเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 57 และมีผู้จบการศึกษาในรูปแบบญี่ปุ่นกว่า 20,000 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวเลขของนักเรียนในระบบการศึกษาแบบญี่ปุ่นในอาณานิคมอื่น ๆ พบว่า ชาวพื้นเมืองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีอัตราการเข้าเรียนมากกว่าชาวเกาหลีและชาวจีนในไต้หวันในปี ค.ศ. 1930 แสดงให้เห็นถึงการยอมรับและความรู้สึกที่เป็นญี่ปุ่นมากกว่าในอาณานิคมอื่น ส่วนในกรณีของผู้ใหญ่วัยทำงาน ญี่ปุ่นได้จัดตั้งสถาบันฝึกภาษา (Kokugo Renshusho) เพื่อสอนภาษาและจริยธรรมแบบญี่ปุ่น [21]

เพื่อความคงทนในการซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและการใช้กระบวนการทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้สนับสนุนให้ประชากรชาวพื้นเมืองได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยระยะแรกดำเนินการโดยกองทัพเรือและในระยะเวลาต่อมารัฐบาลอาณานิคมเป็นผู้สนับสนุน ผู้ที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมักเป็นชนชั้นนำของชาวพื้นเมือง ผู้ที่จบการศึกษาในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ในรายงานของกองทัพเรือส่วนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวไมโครนีเซียเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่น ผู้ร่วมเดินทางมักกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ให้สาธารณชนฟัง” ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้นเกิดผลดีต่อญี่ปุ่นและการปกครองโดยแท้จริง เห็นได้ชัดจากการที่หัวหน้าหมู่บ้านในเขตบาเบลดาออบ (Babeldaob) ได้พยายามตัดถนนแบบญี่ปุ่น โดยมีต้นมะพร้าวและแสงไฟจากโคมไฟตามแนวจนกระทั่งถึงทะเล ซึ่งจุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งให้การต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนพื้นเมืองมีไม่มากนัก[18]

ในส่วนของศาสนาของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พบว่าก่อนการเข้ามาของญี่ปุ่นประชากรพื้นเมืองนับถือความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาคริสต์ ซึ่งมิชชันนารีชาติต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่ [14] อย่างไรก็ตามเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ รัฐบาลอาณานิคมได้งดการสนับสนุนมิชชันารีในศาสนาคริสต์ และสนับสนุนการเข้ามาเผยแพร่ของพุทธศาสนา โดยเริ่มครั้งแรกที่ไซปัน ในปี ค.ศ. 1919 [19] ในรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อสันนิบาติได้รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชนในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[14] อย่างไรก็ตามศาสนาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนมากที่สุดคือศาสนาชินโต แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่รายงานการนับถือศาสนาชินโตต่อสันนิบาติชาติ แต่ในทางปฏิบัติพบว่ารัฐบาลอาณานิคมได้สร้างศาลเจ้าในศาสนาชินโต 17 แห่งทั่วแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ศาลเจ้าชินโตมีหน้าที่สำคัญคือการสร้างพื้นที่ทางความเชื่อให้กับชาวญี่ปุ่นในแปซิฟิกใต้ในอาณัติและการกลืนชาวพื้นเมือง ด้วยคำสอนที่เน้นชาตินิยมรุนแรงและความเป็นรัฐทหาร ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดหลังจากที่ญี่ปุ่นออกจากสันนิบาติชาติ ศาสนาชินโตประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเผยแพร่ความเชื่อและการกลืนชาวพื้นเมืองให้เป็นญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น การที่ประชาชนในยาลูอิต อะทอลล์ (Jaluit Atoll) ศูนย์กลางการบริหารของญี่ปุ่นในเขตหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางมากที่สุด มีการเต้นรำเนื่องในวันชาติญี่ปุ่น หรือ ชาวแยป (Yap) แต่งตัวโดยโดยใส่ “ฟุนโดชิ” (Fundoshi) ถือตะกร้าไปซื้อของในตลาดและเคารพศาลเจ้าชินโต [19] ในเมืองคอร์รอ ศูนย์กลางการบริหารแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าคัมเป ไทชา นันโย (Kampei Taisha Nanyo Jinja) ซึ่งเป็นศาลเจ้าหลวงชั้นหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเป็นศาลเจ้าของอามาเทระสึ โอคามิ (Amaterasu Okami) อันเป็นเทพีแห่งดวงอาทิตย์ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับทำการสักการะของประชากรชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังพบการนำความเชื่อชินโตเข้ามาบูรณาการกับระบบความเชื่อเทพท้องถิ่นอีกด้วย[19]

ความพยายามในการทำให้ชาวพื้นเมืองกลายเป็นญี่ปุ่น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวพื้นเมืองบางส่วน โดยพบว่าการต่อต้านแนวความคิดทางด้านวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติ และประทุขึ้นอย่างรุนแรง 2 ปีหลังจากการจัดตั้งศาลเจ้าคัมเป ไทชา นันโย โดยเกิดจากความไม่พอใจของการเข้าแทนที่เทพพื้นเมืองของศาสนาชินโต ขบวนการนี้เป็นขบวนการด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยผู้นำของขบวนการมีทัศนคติมองว่า “ชาวพื้นเมืองมีผิวดำ ซึ่งแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นมีผิวสีเหลือง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้” [19] อย่างไรก็ตามการต่อต้านของขบวนการนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากประชากรและหัวหน้าหมู่บ้านชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถในกระบวนการสืบสวน ซึ่งนำไปสู่การจำคุกของผู้นำขบวนการหลายคน [19]

อ้างอิง

  1. Fifield, Russell. 1946. Disposal of the Carolines, Marshalls, and Marianas at the Paris Peace Conference. The American Historical Review 51(3): 472 – 479.
  2. 2.0 2.1 Felix M. Keesing. 1932. Education and Native Peoples: A Study in Objectives. Pacific Affairs 5(8): 675-688.
  3. Nan Madol:Celemonial Center of Eastern Micronesia (pdf), UNESCO, 2015, สืบค้นเมื่อ 1 January 2017
  4. 4.0 4.1 Earl S. Pomeroy. 1948. American Policy Respecting the Marshalls, Carolines, and Marianas, 1898-1941. Pacific Historical Review 17(1): 43 – 53.
  5. 5.0 5.1 Burkman, Thomas. 2008. Japan and the League of Nation. Honolulu: University of Hawaii press.
  6. E. T. Williams. 1933. Japan's Mandate in the Pacific. The American Journal of International Law 27(3): 428 – 439.
  7. 7.0 7.1 7.2 Ti Ngo. 2012. Mapping Economic Development: The South Seas Government and Sugar Production in Japan’s South Pacific Mandate, 1919–1941. East Asian History and Culture Review.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Peattie, Mark. 1988. Nan'yo : The Rise and Fall of the Japanese in Micronesia, 1885-1945 Pacific Islands Monograph Series ; No. 4. Honolulu: University of Hawaii Press.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Purcell, David. 1967. Japanese Expansion in the South Pacific. Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Arts and Sciences, University of Pennsylvania.
  10. Oliver 1989, pp. 237–238.
  11. Keichi Yamasaki. 1931. The Japanese Mandate in the South Pacific. Pacific Affairs 4(2): 95 – 112.
  12. Useem, John. 1945. The Changing Structure of Micronesian Society. American Anthropologist n.s. (47): 567 – 588.
  13. 13.0 13.1 Gilchrist, Huntington. 1944. The Japanese Islands: Annexation or Trusteeship?. Foreign Affairs 22(4): 635 – 642.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 South Seas Governemnt. 1925. Annual Report to the League of Nations on the Administration of the South Seas Islands Under Japanese Mandate for the Year 1925. N.p.
  15. Keichi Yamasaki. 1931. The Japanese Mandate in the South Pacific. Pacific Affairs 4(2): 95 – 112.
  16. 16.0 16.1 E. C. Weitzell. 1946. Resource Development in the Pacific Mandated Islands. The Journal of Land & Public Utility Economics 22(3): 199 – 212.
  17. Diane Ragone, David Lorence and Timothy Flynn. 2001. History of Plant Introduction in Pohnpei and the Role of Ponhpei Agricultural Station. Economic Botany 55(2): 290 – 324.
  18. 18.0 18.1 Shingo Iitaka. 2011. Conflicting Discourses on Colonial Assimilation: A Palauan Cultural Tour to Japan, 1915. Pacific Asia Inquiry 2(1): 85 – 102.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 Donald Shuster. 1982. State Shinto in Micronesia During Japanese Rule, 1914 – 1945. Pacific Studies 5(2): 20 – 43.
  20. Useem, John. 1945. The Changing Structure of Micronesian Society. American Anthropologist n.s. (47): 567 – 588.
  21. Matsumi Kai. 2011. The Japanese language Spoken by Elderly Yap. N.p.

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

  • Arnold, Bruce Makoto. "Conflicted Childhoods in the South Seas: The Failure of Racial Assimilation in the Nan'yo". The Tufts Historical Review Vol 4, No. 11 (Spring 2011) [1]
  • Childress, David Hatcher, The Lost City of Lemuria & The Pacific, 1988. Chapter 10 "The Pohnpei Island, in finding of sunken city"(p. 204-229)
  • Cressey George B. Asia's Lands and Peoples, X Chapter: "Natural Basis of Japan" (pp. 196–285), section "South Seas" (p. 276-277).,1946
  • Annual report to the League of Nations on the administration of the South Sea islands under Japanese Mandate. [Tokyo]: Japanese Government. (Years 1921 to 1938)
  • Tze M. Loo, "Islands for an Anxious Empire: Japan's Pacific Island Mandate", The American Historical Review, Volume 124, Issue 5, December 2019, pp. 1699–1703. doi:10.1093/ahr/rhz1013.
  • Herbert Rittlinger, Der Masslose Ozean, Stuttgart, Germany, 1939
  • Sion, Jules. Asie des Moussons, Paris Librarie Armand Colin, (1928) I, 189–266, Chapter X "The Nature of Japan", section XIII "Japanese Colonial Empire" (pp. 294–324), and section IV "Formosa and Southern Islands" (pp. 314–320)
  • Book Asia, Chapter X "Japanese Empire" (pp. 633–716), section "The Japanese Islands in South Seas".[ต้องการอ้างอิงเต็มรูปแบบ]

แหล่งข้อมูลอื่น

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ South Pacific Mandate

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!