เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ (เยอรมัน: Erich Honecker) เป็นอดีตประมุขแห่งรัฐของประเทศเยอรมนีตะวันออก ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1976 จนถึง 1989 ก่อนจะเกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินเพียงเดือนเดียว เขาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี ก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานสภาแห่งรัฐแทนวิลลี ชโตฟในปี 1976 และดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประมุขแห่งเยอรมนีตะวันออก เขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตซึ่งสนับสนุนกองทัพในประเทศและการมีอำนาจของเขา
เขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 โดยการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี ทำให้เขาถูกพรรคนาซีจับกุมและถูกจำคุก[1] เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจึงได้รับอิสรภาพและเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง และเขาได้ก่อตั้งองค์กรเยาวชนของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี มีชื่อว่า "ยุวชนเสรีเยอรมัน" ในปี 1946 และเป็นประธานองค์กรนี้จนถึงปี 1955 และเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขานุการฝ่ายความมั่นคงของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี เขามีส่วนสำคัญในการสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1961 [2] และยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งยิงผู้ที่พยายามหลบหนีออกจากประเทศหรือข้ามฝั่งไปตามแนวกำแพงและชายแดน[3]
ในปี 1970 เขาแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับวิลลี ชโตฟ[2] โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากเลโอนิด เบรจเนฟ[2] ซึ่งทำให้เขาได้รับตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐและเป็นประมุขแห่งเยอรมนีตะวันออกในเวลาต่อมา ภายใต้การปกครองของเขา เขาได้นำหลักการสังคมนิยมตลาดมาใช้และผลักดันเยอรมนีตะวันออกสู่ประชาคมโลกได้สำเร็จ[4] และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในฐานะนักการเมืองและประมุขแห่งรัฐของเขา[5]
เมื่อความตึงเครียดในสงครามเย็นเริ่มคลี่คลายลงในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และมิฮาอิล กอร์บาชอฟได้ใช้นโยบายเปเรสตรอยคา-กลัสนอสต์ ฮ็อนเน็คเคอร์ได้คัดค้านนโยบายนี้ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปบางอย่างในระบบการเมืองภายในประเทศ[6] ต่อมาประชาชนในประเทศเยอรมนีตะวันออกได้ประท้วงรัฐบาลของเขา[7][8] เขาได้เรียกร้องให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนการปราบปรามผู้เห็นต่างและผู้ที่ออกมาชุมนุมดังกล่าว[8] แต่กอร์บาชอฟปฏิเสธ[8][9] ต่อมาเขาถูกบังคับให้ลาออกจากประธานสภาแห่งรัฐโดยพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาล[10] แต่ได้ประสบความล้มเหลวและนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออก และทั้งสองประเทศรวมกันเป็นประเทศเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน
หลังการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 เขาพยายามหลบหนีออกนอกประเทศโดยทำเรื่องขอลี้ภัยที่สถานเอกอัครราชทูตชิลีในกรุงมอสโก แต่เขาได้ถูกส่งตัวกลับประเทศเยอรมนี ในปี 1992 เพื่อรับการพิจารณาคดีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัยที่เขายังเป็นประมุขแห่งรัฐ[11] แต่การดำเนินคดีดังกล่าวได้ยกเลิกเนื่องจากเขาป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และเขาได้รับการปล่อยตัวไป เขาจึงลี้ภัยอยู่ในประเทศชิลีพร้อมครอบครัวของเขา และถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 29 พฤษภาคม 1994 ในวัย 81 ปี[12][13]
อ้างอิง