เรือรบแนวเส้นประจัญบาน หรือ เรือรบเข้ากระบวน (อังกฤษ: ship of the line; ฝรั่งเศส: le bâtiment de ligne) เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่นิยมต่อขึ้นใช้ ระหว่างศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้ในยุทธวิธีทางน้ำที่เรียกว่า แนวเส้นประจัญบาน (line of battle) โดยกองเรือของแต่ละฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันจะแปรขบวนเรือให้เป็นแถวยาว เพื่อใช้อานุภาพการยิงวอลเลย์จากทางกราบเรืออย่างพร้อมเพรียงกันให้เกิดผลสูงสุด[1] ซึ่งต่างไปจากการประจัญบานทางทะเลในยุคก่อน ๆ ซึ่งจะใช้ยุทธวิธีโจมตีโดยนำเรือเข้าประชิดเรือข้าศึก หรือไม่ก็ใช้เรือพุ่งเข้ากระแทก (ramming). เนื่องจากผลแพ้ชนะในยุทธวิธีนี้ มักจะขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดมีเรือระวางขับน้ำมากกว่า และบรรทุกปืนใหญ่อานุภาพสูงได้มากกว่า ความเป็นมหาอำนาจทางทะเลในสมัยนั้นจึงวัดกันว่าใครมีเรือแนวเส้นประจัญบานมากลำกว่า และใหญ่กว่า.
แบบดีไซน์ของเรือแนวเส้นประจัญบาน ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตลอดศตวรรษที่ 17 โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ การใช้เสากระโดงเรือ 3 เสา และมีท้ายเรือที่ลดต่ำลง โดยโครงสร้างยกระดับที่ท้ายเรือ (อย่างเรือในยุคบุกเบิกการเดินทะเล) ได้หายไป. ความยาวมาตรฐานของเรือประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 200 ฟุต มีระวางขับน้ำระหว่าง 1,200 ถึง 2,000 ตัน ใช้ลูกเรือประมาณ 600 ถึง 800 คน. อาวุธประจำเรือถูกเรียงเป็นสามชั้น ปืนใหญ่ของหน่วยยิง (battery) แถวล่างมีอำนาจการยิงมากที่สุด โดยอาจมีปืนใหญ่ที่ยิงลูกปืนใหญ่ขนาด 32-48 ปอนด์ มากถึงสามสิบกระบอก; หน่วยยิงแถวกลางมีปืนจำนวนเท่ากันแต่ยิงกระสุนขนาดเล็กกว่า (ประมาณ 24 ปอนด์); แถวบนสุดมีปืนยิงกระสุนขนาด 12 ปอนด์ 30 กระบอก หรือมากกว่านั้น.[2]
ราชนาวีอังกฤษจัดเรือแนวเส้นประจัญบานออกเป็น 3 ระดับตามจำนวนปืนที่สามาถบรรทุกได้. เรือ "ชั้นเอก" (first-rate) กับชั้นโท จะมีแถวยิงสามแถวเหมือนกัน แต่เรือชั้นเอกจะมีจำนวนปืนมากกว่า คือ ประมาณ 100 ถึง 140 กระบอก. ส่วนเรือชั้นตรีจะมีแถวยิงเพียงสองแถว ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เรือปืนสองแถว (Two-deckers) เรือธงชั้นเอกของกองเรือ อย่างเช่น เรือหลวงวิกตอรี (HMS Victory) เรือธงของราชนาวีที่ได้รับชัยชนะในยุทธนาวีที่ตราฟัลการ์ มีปืนประมาณหนึ่งร้อยกระบอก และอาจใช้ลูกเรือมากถึง 850 นาย. ส่วนเรือรบเข้ากระบวนที่ทรงพลานุภาพที่สุดในโลกอย่าง ซานทิสซิมาร์ ไทร์นดาร์ส (Nuestra Señora de la Santísima Trinidad) แห่งราชนาวีสเปน มีชั้นปืนมากกว่า 4 ชั้น ปืนมากกว่า 140 กระบอก.
นับแต่เครื่องจักรไอน้ำ เข้ามามีบทบาทในการเดินเรือ ยุทธนาวีทางน้ำก็พึ่งพาแรงลมและใบเรือน้อยลง หันมาใช้การขับเคลื่อนด้วยกังหันหรือใบพัดแทน. แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยีคือการเกิดขึ้นของ เรือรบหุ้มเกราะ ไอรอนแคลด ในราวปี 1859 และมีบทบาทสำคัญในการยุทธนาวีในสงครามกลางเมืองอเมริกา และในสงครามโบะชิงของญี่ปุ่น หลังจากนั้นมาเรือแนวเส้นประจัญบานก็เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว. เรือรบหุ้มเกราะวิวัฒนาการต่อจนกลายเป็น เรือประจัญบาน ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นชื่อเรียกเรือรบขนาดใหญ่ที่ลดรูปมาจากคำว่า เรือแนวเส้นประจัญบานนั่นเอง.
อ้างอิง