สุสีริมรัตศวารัตนาเทวี (พม่า: သုသီရိမြတ်စွာရတနာဒေဝီ, บาลี: Susīrimratsvāratanādevi) หรือที่ขนานนามกันทั่วไปว่า เจ้าหญิงซะลี่น (พม่า: စလင်းမင်းသမီး) หรือ ซะลี่น ซุพะย่า (พม่า: စလင်းစုဖုရား, ออกเสียง: [səlɪ́ɰ̃ sṵpʰəjá]), ดำรงอิสริยยศ ตะบีนไดง์ (ว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป) ในช่วงปลายของราชวงศ์โก้นบอง[2] ชาวยุโรปออกพระนามว่า "เซลินา โซเฟีย"[3] เป็นพระราชธิดาองค์โปรดของพระเจ้ามินดง ผู้ชำนาญวิชาคณิตศาสตร์ และทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมธนารักษ์ (เทียบเท่ากระทรวงการคลังของอังกฤษ) ในรัชกาลของพระเจ้ามินดง
พระประวัติ
เจ้าหญิงซะลี่นประสูติในปี ค.ศ. 1847 เป็นราชบุตรีของพระเจ้ามินดง และเจ้าจอมริมบึง ณ พระราชวังอมรปุระ ในราชธานีเดิม นครอมรปุระของพม่าในขณะนั้น[4] นามแรกประสูติที่ได้รับพระราชทานคือ แม-มโย่มูน (မယ်မျိုးမွန်) [5] เชื่อกันว่าพระนางเป็นพระราชมารดาของพระเจ้ามินดงกลับชาติมาประสูติอีกครั้ง พระนางได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากพระมเหสีตำหนักเหนือ คือ พระนางมยอกนันดอ ขนิษฐาต่างชนนีของเจ้าจอมริมบึง[6] เมื่อพระเจ้ามินดงทรงปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ เจ้าหญิงซะลี่นทรงได้รับกัลปนาเมืองชเวกู และต่อมาคือเมืองซะลี่นพร้อมด้วยราชทินนามราชทาน คือ สิริรัตนาเทวี และราชอิสริยยศ ซุพะย่า
พระนางได้รับการสถาปนาและวางองค์เป็น ตะบีนไดง์ (พระชายาเอกแห่งมกุฎราชกุมาร, အိမ်ရှေ့ထိပ်ထား မိဖုရား), ภายหลังการลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารเจ้าชายกะนอง ในปี ค.ศ. 1866 โดยทรงได้รับเลือกให้ทรงพระยศว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป[2]
ถึงแม้ทรงได้รับการสถาปนาและกำหนดวางองค์เป็นว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป แต่พระนางโปรดปรานชีวิตทางธรรมมากกว่า ดังจะเห็นได้จากอารามซะลี่น ณ มัณฑะเลย์ อันได้ทรงศรัทธาปสาทะอุทิศไว้ในพระบวรศาสนา[7] อย่างไรก็ตามสุดท้าย เจ้าหญิงซะลี่นมิได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป เนื่องจากพระเจ้าสีป่อทรงราชาภิเษกสมรสและสถาปนาพระนางศุภยาลัตเป็นพระอัครมเหสี และขนิษฐาของนางคือ พระนางศุภยาจีเป็นพระมเหสี
ว่ากันว่าพระนางทรงออกบวชเป็นชีทันทีหลังการพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้ามินดงเสร็จสิ้นและได้รับการฝังพระบรมศพแล้ว[2] พระนางสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1879 สิริพระชนม์มายุ 33 ชันษา ว่ากันว่าทรงถูกสำเร็จโทษด้วยอุบายพระนางศุภยาลัต[8]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
เรื่องราวของพระนางได้รับการดัดแปลงเป็นตัวละครนามว่า เจ้านางทองพญา ในละครโทรทัศน์เรื่อง เพลิงพระนาง รับบทโดยศิริพิชญ์ วิมลโนช ในละครโทรทัศน์ เพลิงพระนาง (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2539) และ เพลิงพระนาง (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2560) รับบทโดยปาณิชดา แสงสุวรรณ[9]
อ้างอิง
- ↑ Taṅʻ (Takkasuilʻ.), Cinʻ (2005). Sī po bhu raṅʻ nhaṅʻʹ Cu Phu Rā ̋latʻ (ภาษาพม่า). Ññoṇʻ ramʻ ̋Cā ʾupʻ tuikʻ.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Cocks, Samuel William (1919). A Short History of Burma (ภาษาอังกฤษ). Macmillan and Company, limited.
- ↑ Foucar, Emile Charles Victor (1946). They Reigned in Mandalay (ภาษาอังกฤษ). D. Dobson.
- ↑ White, Herbert Thirkell (2011). Burma (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-60067-6.
- ↑ Foucar, Emile Charles Vicor (1963). Mandalay the Golden (ภาษาอังกฤษ). D. Dobson.
- ↑ Geary, Grattan (1886). Burma, After the Conquest: Viewed in Its Political, Social, and Commercial Aspects, from Mandalay (ภาษาอังกฤษ). S. Low, Marston, Searle, & Rivington.
- ↑ Amended List of Ancient Monuments in Burma (ภาษาอังกฤษ). Superintendent, Government Print. and Staty., Union of Burma. 1960.
- ↑ https://www.silpa-mag.com/history/article_42546
- ↑ https://www.dek-d.com/board/view/3730589
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซะลี่น ซุพะย่า