ยอดเขาเคทู (อังกฤษ: K2; บัลตี: Kechu, Ketu; อูรดู: کے ٹو) เป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ มีความสูง 8,611 เมตร (28,251 ฟุต) เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาการาโกรัมซึ่งเชื่อมต่อกับแนวเทือกเขาหิมาลัยทางด้านตะวันตก และตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างเขตกิลกิต-บัลติสถานของประเทศปากีสถาน กับเทศมณฑลปกครองตนเองตัชคูร์กันทาจิกในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีน
รัฐบาลจีนใช้ชื่อของเคทูว่า Qogir ซึ่งเป็นคำที่มาจากนักสำรวจตะวันตก ใช้เรียกภูเขาแห่งนี้โดยตั้งชื่อตามภาษาท้องถิ่น ว่า Chogori (ภาษาบัลตี โดย Chhogo แปลว่า ใหญ่ ri แปลว่า ภูเขา)
สภาพแวดล้อมและภูมิประเทศ
ยอดเขาเคทูมีความโดดเด่นในเรื่องของความสูงและความชัน โดยตัวภูเขาเป็นทรงพีระมิดที่มีด้านทั้งสี่ที่ชันมาก โดยด้านเหนือของภูเขาจะมีความชันมากที่สุด โดยมีความสูงถึง 3,200 เมตรจากธารน้ำแข็งเคทูในระยะทางในแนวราบเพียง 3 กิโลเมตร หรือมีความชันเกือบ 47 องศา โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละด้านจะมีความสูง 2,800 เมตรในระยะทางแนวราบประมาณ 4 กิโลเมตรหรือความชันกว่า 35 องศา ซึ่งเป็นองศาความชันที่ไม่มีภูเขาใดในโลกจะเทียบได้ จึงทำให้เคทูเป็นภูเขาที่ชันที่สุดและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เคทูปีนได้ยากมาก
เส้นทางการปีนและความยากของแต่ละเส้นทาง
เส้นทางการปีนสู่ยอดเขาเคทูมีหลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ทุกเส้นทางจะมีความยากที่เหมือน ๆ กัน คือ
- สภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากความสูง โดยที่ระดับความสูงมากกว่า 8,000 เมตรจะมีระดับออกซิเจนเพียงหนึ่งในสามของระดับออกซิเจนที่พื้นราบ
- สภาพอากาศที่แปรปรวนได้ง่ายและรุนแรง
- เส้นทางที่ชัน โล่ง ซึ่งทำให้การหันหลังกลับทำได้ยาก โดยเฉพาะในระหว่างพายุ
เส้นทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีดังนี้
- อาบรุซซีสเปอร์ เป็นเส้นทางที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งถูกสำรวจโดยเจ้าชายลุยจี อามาเดโอ ดุ๊กแห่งอาบรุซซี ในปี พ.ศ. 2452 โดยเส้นทางนี้เป็นสันเขาทางด้านใต้ของภูเขา โดยการปีนจะเริ่มที่ระดับความสูง 5,400 เมตร
- นอร์ทริดจ์ เป็นเส้นทางที่ปีนจากฝั่งจีน เป็นเส้นทางที่ไม่นิยมนัก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ยากมาก ที่ต้องข้ามแม่น้ำและธารน้ำแข็งที่เป็นอันตรายมาก
- นอร์ทเวสต์ริดจ์
- เซาท์เฟซ เป็นเส้นทางที่อันตรายที่สุดและยากที่สุด
- เซาท์-เซาท์อีสต์สเปอร์
- นอร์ทอีสต์ริดจ์ เป็นเส้นทางที่ยาวและขรุขระมาก
- นอร์ทเวสต์เฟซ
ประวัติการปีน
ภูเขาเคทูถูกสำรวจครั้งแรกโดยคณะนักสำรวจชาวยุโรปในปี พ.ศ. 2399 ที่มีเฮนรี เฮฟเวอร์แชม กอดวิน-ออสเตนเป็นผู้นำ โดยทอมัส มอนต์กอเมอรี หนึ่งในคณะสำรวจเป็นผู้ตั้งชื่อเคทู เนื่องจากเป็นยอดที่สองของเทือกเขาการาโกรัม ยอดเขาอื่น ๆ ก็ถูกตั้งชื่อตามวิธีนี้เช่นกัน ได้แก่ เควัน เคทรี เคโฟร์ และเคไฟว์ แต่ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นแมเชอร์บรูม, บรอดพีก, แกเชอร์บรูม 2 และแกเชอร์บรูม 1 ตามลำดับ คงเหลือแต่เคทูเท่านั้นที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนชื่อ
ความพยายามในการพิชิตยอดเขาเคทูเริ่มในปี พ.ศ. 2445 โดยออสการ์ เอกเคนสไตน์ และอะเลสเตอร์ โครลีย์ แต่ภายหลังจากที่ได้พยายามถึง 5 รอบและใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก คณะสำรวจก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขาแต่อย่างใด สาเหตุของความล้มเหลวน่ามาจากการเตรียมพร้อมร่างกายที่ยังไม่ดีพอ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยคณะสำรวจใช้เวลามากถึง 68 วันบนยอดเขาเคทู (ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดในการอยู่บนที่ที่มีระดับความสูงมาก) แต่มีแค่ 8 วันเท่านั้นที่สภาพอากาศแจ่มใส
ความพยายามต่าง ๆ ที่ตามมาภายหลังทั้งในปี พ.ศ. 2452, พ.ศ. 2477, พ.ศ. 2481, พ.ศ. 2482 และ พ.ศ. 2496 ต่างก็ประสบกับความล้มเหลวทั้งหมด โดยคณะสำรวจในปี พ.ศ. 2452 ที่นำโดยเจ้าชายลุยจี อะมาเดโอ ดยุกแห่งอาบรุซซี สามารถไปถึงระดับความสูงที่ 6,666 เมตร ซึ่งปัจจุบันนี้ สถานที่นี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่าอาบรุซซีสเปอร์ (Abruzzi Spur) หรือสันเขาอาบรุซซี (Abruzzi Ridge) โดยปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานทางหนึ่ง
ในที่สุดในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 ยอดเขาเคทูก็ถูกพิชิตลงได้โดยคณะนักสำรวจชาวอิตาลีที่นำโดยอาร์ดีโต เดซีโอ อย่างไรก็ตามสมาชิกของกลุ่มเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่สามารถไปถึงยอดเขาได้ที่สุด คือ ลีโน ลาเชเดลลี และอาร์กิลเล กอมปัญญอนีสมาชิกในคณะคนอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้แก่ ผู้พันโมฮัมมัด อะตา-อุลละห์ ชาวปากีสถาน โดยผู้พันเคยเข้าร่วมกับคณะสำรวจชาวอเมริกันในปีก่อนหน้า ที่ต้องล้มเหลวเนื่องจากอาร์ต จิลคีย์ สมาชิกคนสำคัญของคณะสำรวจเสียชีวิตจากพายุ
ยอดเขาเคทูไม่ถูกพิชิตอีกเลยอีกกว่า 23 ปี จนกระทั่งในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2520 คณะสำรวจชาวญี่ปุ่นที่นำโดยอิจิโระ โยะชิซะวะ ก็สามารถพิชิตยอดเขาได้อีกครั้งหนึ่ง โดยสมาชิกในทีมยังรวมไปถึงอัชรัฟ อามาน นักปีนเขาคนแรกของปากีสถาน โดยคณะนี้ได้ใช้เส้นทางอาบรุซซีสเปอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้โดยคณะสำรวจชาวอิตาลีที่พิชิตยอดเขามาก่อนหน้านี้
ในปี พ.ศ. 2521 คณะสำรวจชาวอเมริกันก็สามารถพิชิตยอกเขาได้เป็นครั้งที่สาม โดยใช้เส้นทางที่ยาวกว่าและขรุขระกว่าเส้นทางเดิม ที่เรียกว่าอีสต์ริดจ์ โดยคณะสำรวจชาวอเมริกันคณะนี้นำโดยนักปีนเขาผู้มีชื่อเสียงนามว่า เจมส์ วิตเทกเกอร์ โดยคณะที่สามารถขึ้นถึงยอด ได้แก่ หลุยส์ ไรชาดต์, เจมส์ วิกไวร์, จอห์น รอสเกลลีย์ และริก ริดจ์เวย์ โดยวิกไวร์ต้องเผชิญกับการค้างแรมกลางแจ้งที่ความสูงต่ำกว่ายอดเพียง 150 เมตร โดยการค้างแรมครั้งนี้เป็นการค้างแรมกลางแจ้งที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยการพิชิตยอดเขาครั้งนี้มีความหมายทางจิตใจต่อคณะสำรวจชาวอเมริกันชุดนี้มาก โดยเห็นว่าเป็นการสานต่อภารกิจให้สำเร็จต่อจากคณะสำรวจอเมริกาก่อนหน้าที่เริ่มไว้ตั้งแต่เมื่อ 40 ก่อนในปี พ.ศ. 2481 ให้สำเร็จลุล่วงในที่สุด
การพิชิตยอดเขาเคทูที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ การพิชิตยอดเขาโดยคณะสำรวจชาวญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2525 ซึ่งใช้เส้นทางนอร์ทริดจ์ที่มีความยากมาก โดยคณะสำรวจนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการปีนเขาแห่งญี่ปุ่น โดยคณะสำรวจแบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกซึ่งนำโดยอิซะโอะ ชิงไก และมะซะสึโงะ โคะนิชิ สามารถพาสมาชิกอีก 3 คน คือ นะโอะเอะ ซะกะชิตะ, ฮิโระชิ โยะชิโนะ และยุกิฮิโระ ยะนะงิซะวะ พิชิตยอดเขาในวันที่ 14 สิงหาคม แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าในระหว่างการปีนลงจากยอดเขา ยะนะงิซะวะพลัดตกจากเขาและเสียชีวิต ส่วนทีมชุดที่สองซึ่งประกอบไปด้วย 4 คนก็สามารถพิชิตยอดเขาได้ในวันต่อมา
แม้ว่ายอดเขาเอเวอเรสต์จะมีความสูงมากกว่ายอดเขาเคทู แต่เคทูถูกพิจารณาว่าปีนยากกว่า สาเหตุเป็นเพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนง่าย และระยะทางระหว่างตีนเขาถึงยอดเขาที่ยาวกว่า โดยนักปีนเขาหลายคนถือว่าเคทูเป็นยอดเขาที่ปีนยากที่สุดและอันตรายที่สุดในโลก โดยเคทูมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่พยายามพิชิตยอดเขากว่าร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับเอเวอเรสต์ที่มีอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 9 (อย่างไรก็ตามยอดเขาที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด คือ ยอดเขาอันนะปุรณะ (ความสูง 8,091 เมตร) ในเทือกเขาหิมาลัย ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40) ทำให้เคทูมีชื่อเล่นว่า "ยอดเขาดุร้าย" (Savage Mountain) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 มีคนที่สามารถพิชิตยอดเขาได้เพียง 246 คน เทียบกับ 2,238 คนที่สามารถพิชิตเอเวอเรสต์ได้ (เหตุผลหนึ่งก็อาจะเป็นเพราะมีคนนิยมไปปีนยอดเขาเอเวอเรสต์มากกว่าเช่นกัน) โดยจำนวนผู้เสียชีวิตที่เคทูมีสูงถึง 56 คน โดยใน พ.ศ. 2529 มีผู้คนเสียชีวิตสูงถึง 13 คนจากการปีนครั้งเดียว ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่าโศกนาฏกรรมเคทู
ตำนานอีกอย่างหนึ่งของเคทูคือ การเป็นยอดเขาต้องสาปสำหรับสตรี โดยวันดา รุตคีเอวิช ชาวโปแลนด์ผู้ที่เป็นสตรีคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเคทูและผู้หญิงอีก 5 คนที่สามารถพิชิตยอดเขาได้ต่างก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดย 3 คนในจำนวนนั้นเสียชีวิตระหว่างการปีนลง และรุตคีเอวิชเสียชีวิตในระหว่างการปีนยอดเขากันเจนชุงคา ใน พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตามคำสาปนี้ถูกทำลายได้ใน พ.ศ. 2547 เมื่อเอดูร์เน ปาซาบัน ชาวสเปนสามารถพิชิตยอดเขาและสามารถกลับมาได้อย่างปลอดภัย และนีเวส เมโรอี ชาวอิตาลี และยุกะ คะมะสึ ชาวญี่ปุ่นต่างก็ประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขาใน พ.ศ. 2549
โดยตลอดประวัติศาสตร์ การปีนยอดเขาเคทูมักจะเป็นการปีนโดยไม่ใช้ออกซิเจนช่วย และใช้อุปกรณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา การใช้ออกซิเจนได้เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง
- ↑ "K2". Peakbagger.com.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ peaklist
35°52′57″N 76°30′48″E / 35.88250°N 76.51333°E / 35.88250; 76.51333{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้
|
---|
เอเชีย |
- เคทู (8,611 m หรือ 28,251 ft)
|
---|
อเมริกาใต้ | |
---|
อเมริกาเหนือ |
- โลแกน (5,959 m หรือ 19,551 ft)
|
---|
ยุโรป |
- ดิคเตา (5,205 m หรือ 17,077 ft)
|
---|
แอฟริกา |
- เคนยา (5,199 m หรือ 17,057 ft)
|
---|
แอนตาร์กติกา |
- ไทรี (4,852 m หรือ 15,919 ft)
|
---|
โอเชียเนีย | |
---|