เขตผู้แทนพระสันตะปาปา

ฟร็องซัว ปาลูว์ (François Pallu) มุขนายกเกียรตินามแห่งเฮลีโอโปลิส (Heliopolis) และประมุขมิสซังตังเกี๋ย

เขตผู้แทนพระสันตะปาปา (อังกฤษ: Apostolic vicariate) หรือมิสซัง เป็นเขตอำนาจทางอาณาเขตของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ตั้งขึ้นในประเทศหรือแว่นแคว้นที่มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับสถานะเป็น "มุขมณฑล"

ตามปกติแล้วทุกคริสตจักรท้องถิ่นจะต้องปกครองตนเองภายใต้การนำของผู้ปกครองคือมุขนายก แต่กรณีที่คริสตจักรเพิ่งตั้งใหม่ หรือยังมีจำนวนคริสตชนน้อย ยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง พระสันตะปาปาจะทรงถือสิทธิ์ปกครองคริสตจักรนั้น แล้วส่งผู้แทนหรือวิคาร์ (vicar) ไปทำหน้าที่ปกครองแทน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกผู้ปกครองนั้นว่าผู้แทนพระสันตะปาปา[1] (apostolic vicar) (เพราะพระสันตะปาปาทรงสืบตำแหน่งมาจากอัครทูต (apostle)) บางตำราก็เรียกว่าประมุขมิสซัง หรือผู้แทนสันตะสำนัก[2] และเรียกเขตปกครองนั้นว่าเขตผู้แทนพระสันตะปาปา (apostolic vicariate) นอกจากนี้ยังนิยมเรียกในชื่ออื่นอีก เช่น มิสซัง (mission) เทียบมุขมณฑล หรือเขตปกครองโดยผู้แทนสันตะสำนัก[2]ด้วย บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาโดยปกติจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นมุขนายกเกียรตินาม (titular bishop) ด้วยเพื่อเป็นเกียรติในการทำงานและมีศักดิ์ศรีอย่างมุขนายกเขตมิสซังอื่นๆ

มิสซังในประเทศไทย

ดูบทความหลักที่ โรมันคาทอลิกในประเทศไทย

ในยุคแรกๆที่มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย พระสันตะปาปาได้ให้ตั้งมิสซังสยามขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2212 จวบจนยุครัตนโกสินทร์จึงให้แยกมิสซังสยามออกเป็น 2 มิสซังในปี พ.ศ. 2384 โดยอาณาจักรสยามและลาวอยู่ในส่วนของมิสซังสยามตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 สันตะสำนักได้แยกลาวออกไปตั้งเป็นมิสซังลาว ต่อมาปี พ.ศ. 2484 พื้นที่ราชบุรีได้ถูกยกขึ้นเป็นมิสซัง ตามด้วยจันทบุรีก็ได้เป็นมิสซังในปี พ.ศ. 2487 ส่วนมิสซังลาวต่อมาเหลือพื้นที่เฉพาะภาคอีสานของไทยแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นมิสซังท่าแร่ ต่อมาพื้นที่อุดรธานี และอุบลราชธานีได้แยกออกเป็นมิสซังอีก ทำให้ในช่วงท้ายยุคมิสซังคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยประกอบด้วยมิสซังถึง 7 มิสซัง จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ทุกมิสซังที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ถูกยกสถานะเป็นมุขมณฑลทั้งหมด[3] ในปัจจุบันจึงไม่มีเขตผู้แทนพระสันตะปาปาอยู่ในประเทศไทย แต่ทางราชการไทยยังคงเรียกเขตเหล่านี้ว่าเขตมิสซัง เช่น เขตมิสซังกรุงเทพฯ เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง เป็นต้น

อ้างอิง

  1. บัญญัติศัพท์, สำนักมิสซังกรุงเทพ, หน้า 4
  2. 2.0 2.1 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ ๒ ประชากรของพระเจ้า, กรุงเทพฯ: แผนกคำสอน เขตมิสซังกรุงเทพฯ, 2543, หน้า 97-8
  3. Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, เรือง อาภรณ์รัตน์ และ อากาทา จิตอุทัศน์ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ, 2542, หน้า 50 – 1

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!