หม่อมยิ่ง

หม่อมยิ่ง
เกิดพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
21 มกราคม พ.ศ. 2395
พระบรมมหาราชวัง อาณาจักรสยาม
เสียชีวิตพ.ศ. 2429 (ราว 36 ปี)
พระบรมมหาราชวัง อาณาจักรสยาม
คู่สมรสโต
บุตรหนึ่งคน
บิดามารดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมมารดาแพ
พิพากษาลงโทษฐานมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสามัญชนในพระบรมมหาราชวัง (2429)[1]
บทลงโทษริบราชบาต, จำคุก, ถอดพระอิสริยยศ
รายละเอียด
ประเทศสยาม
จำคุกที่พระบรมมหาราชวัง

หม่อมยิ่ง พระนามเดิม พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา (21 มกราคม พ.ศ. 2395 — พ.ศ. 2429) เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ

พ.ศ. 2429 พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และออกพระนามว่า หม่อมยิ่ง แทน หลังมีเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากทรงตั้งครรภ์กับอดีตพระภิกษุที่เคยเข้ามาบิณฑบาตในวัดพระศรีรัตนศาสดารามหลังที่ทุกคนในวังเข้าใจว่าทรงประชวรเป็นโรคท้องมาน ภายหลังพระองค์ถูกจำสนม (คุกฝ่ายใน) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ภายในปีเดียวกัน

พระประวัติ

พระชนม์ชีพช่วงต้น

หม่อมยิ่ง หรือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ (สกุลเดิม ธรรมสโรช) พระชนกนาถทรงเรียกว่า แม่หนูใหญ่[2] พระนาม ยิ่งเยาวลักษณ์ มีความหมายว่า หญิงผู้มีลักษณะงาม[3] ส่วนชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่[4] หรือ เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง[4] มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมมารดา ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา ด้วยความที่เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์แรกที่ประสูติในเศวตฉัตร จึงปรากฏในโคลงสี่สุภาพพระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 4 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า[5]

ที่สามศุภลักษณล้ำ ธิดา ท่านนา
นามยิ่งเยาวลักษณา เรศแฮ
อีกทักษิณาวัฏกุมา- ราที่ สี่แฮ
สุดสิ้นพระชนม์สั้น แต่เบื้องยังเยาว์
พระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 4

พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า "อรรคราชสุดา" แปลว่า บุตรสาวคนแรกของพระราชา[3] ซึ่งมีพระราชธิดาเพียง 3 พระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระองค์ โดยอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรีในเจ้าจอมมารดาจันทร์ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดาในเจ้าจอมมารดาเที่ยง[6] นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี[7] ซึ่งถือเป็นกลุ่มพระราชธิดาที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระราชบิดามากกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น[8]

เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้องอีกสามพระองค์คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง[9] แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง[9] จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้[9]

“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...”

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์เมื่อวันที่ 16-18 มีนาคม ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการจัดกระบวนแห่สมโภชและเครื่องเล่นมากมายดุจพระราชพิธีโสกันต์ใหญ่[10]

พระราชธิดารุ่นใหญ่

หม่อมยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ ทรงเปิดโอกาสให้พระราชบุตรทั้งหลายคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงชาย[11] แอนนา ลีโอโนเวนส์ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง ประทับใจกับพระสิริโฉม พระฉวีอันงาม พระวรกายสมส่วนแบบบาง และแววพระเนตรนิ่งสงบของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระชันษา 10 ปี[12]

และเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้เข้าเฝ้าถวายการรับใช้พระชนกนาถที่พระที่นั่งภานุมาศจำรูญโดยตลอด ทั้งพยุงพระองค์ไปถ่ายพระบังคน คอยประคองพระชนกนาถเมื่อประชวรพระวาโย และคอยรับพระบรมราชโองการต่าง ๆ เช่น ไปเบิกเงินพระคลังข้างที่ ถวายพระราชโอรสที่บวชเณรในเวลานั้นจำนวน 7 พระองค์ คนละสิบชั่ง หรือเสด็จออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทูลพระอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สำหรับแต่งพระโอสถถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น[13] ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระธำมรงค์เพชร ที่ถอดเป็นเข็มกลัด และกลัดคอได้ แก่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์และพระองค์เจ้าโสมาวดีคนละวง และพระราชทานพระราชมรดกที่ตกทอดมาแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ได้แก่ อ่างทองแดงใหญ่ ตู้กระจกทาสีเขียวใบใหญ่สมัยกรุงเก่า และโถลายตุ๊กตาจีนสมัยกรุงเก่า โดยพระราชธิดาทั้งสามพระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี ใช้วิธีจับสลากเพื่อแบ่งพระราชมรดก โดยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จับสลากได้อ่างทองแดงใหญ่[13]

หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็คอยถวายงานพัดจนกระทั่งพระชนกนาถเสด็จสวรรคตในคืนนั้น[13] สอดคล้องเอกสารของแอนนา ลีโอโนเวนส์ที่บันทึกไว้ว่า "...นอกจากโปรดให้ตามเสด็จแล้ว ในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ยังเป็นลูกสาวที่ปรนนิบัติพัดวีตราบจนพระบิดาสวรรคต"[12]

กรณีอื้อฉาว

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์เมื่อพระชันษา 35-36 ปี ได้ประสบเรื่องอื้อฉาว เนื่องจากทรงพบรักพระภิกษุชื่อโต (วัย 28 ปี) บุตรนายสินกับอำแดงพึ่ง ซึ่งพบกันครั้งแรกเมื่อพระโตเข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง[14] ต่อมาพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงบวชนายเปล่งเป็นพระที่วัดราชประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวัดที่พระโตจำพรรษาอยู่ พระองค์สั่งให้เผือก (วัย 43 ปี) บ่าวในพระองค์ (ซึ่งต่อมาได้เสียกับโตด้วยอีกคน) จัดสำรับส่งพระโต พระเปล่ง และพระฉัดที่วัดดังกล่าว เมื่อพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทำบุญเรือน พระโตก็เข้ามาสวดมนต์ และฉันอาหารสองครั้ง หลังจากนั้นพระโตจึงส่งรูปของตนให้เผือกส่งต่อไปยังพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็ส่งรูปของพระองค์แก่พระโตรูปหนึ่งด้วย[15] แต่ต่อมาพระโตถูกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขับออกจากวัดราชประดิษฐ์เพราะมีสันดานประจบสอพลอเจ้านายพระองค์หนึ่ง พระโตจึงไปจำวัดที่วัดบุรณศิริมาตยารามแทน แต่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็ยังทรงอุปถัมภ์พระรูปนี้ไม่ขาด[14] ต่อมาพระโตจะลาสิกขา จึงส่งจดหมายแก่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ เนื้อหาคือขอให้เจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้อุปถัมภ์เขาต่อไป จึงทรงเช่าตึกแถวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ แถบถนนเจริญกรุงให้ทิดโตพำนัก พร้อมประทานทรัพย์สินให้อีกจำนวนหนึ่ง[16] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนี ทรงส่งหนังสือเตือนพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ว่าทรงเลี้ยงดูนายโตจนเกินงามจะถูกคนครหา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จึงส่งหนังสือตอบกลับไปว่า จะไม่เลี้ยงดูนายโตแล้ว เช่นเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระขนิษฐภคินีทีทรงเตือนเรื่องไม่ให้เลี้ยงดูนายโต เพราะชื่อเสียงจะมัวหมอง โดยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงปฏิเสธว่าไม่ชอบนายโต เพราะเป็นแค่ข้าพระ และรูปพรรณหน้าตาไม่ดีเอาเสียเลย[17] หลังงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร นายโตแต่งกายเป็นหญิงลักลอบขึ้นเรือนพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ คืนนั้นทั้งสองได้เสียกัน และประทานทรัพย์สินบางอย่างแก่โตติดตัวออกไปด้วย[14]

ทิดโตได้ปลอมตัวเป็นหญิงและลอบปีนเข้าหาพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จนเกิดเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงมีครรภ์ แรกเริ่มชาววังโจษกันว่าพระองค์หญิงประชวรด้วยโรคท้องมาน[4] ภายในคงมีแต่โลหิตและ "ตะพาบน้ำ" สามตัวในท้อง ตามคำกล่าวอ้างของพระองค์[18] เล่ากันว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ขอให้พระองค์หญิงเปิดพระภูษาเพื่อดูพระนาภี เมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยมเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า "ขอประทานโทษเถอะนะเพคะ มองดูแล้วเหมือนกับคนท้องไม่มีผิด" พระองค์หญิงก็ทรงตอบว่า "ก็ดูเถอะค่ะ โรคเวรโรคกรรมอะไรก็ไม่รู้"[4] พระองค์พยายามทำแท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ นายโตเองก็จัดหาหยูกยามาให้แท้งแต่ก็ไม่สำเร็จ และพยายามออกไปคลอดลูกนอกพระบรมมหาราชวังแต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน[19]

ไม่นานหลังจากนั้นพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงพระประชวร มีโลหิตไหลออกมา จึงตามหมอมาขย่มท้องเพื่อเอาก้อนในพระนาภีออก เมื่อก้อนนั้นหลุดออกมาก็มีเสียงดัง "อ๊อบ" ทุกคนเข้าใจว่าเป็นตะพาบจริง ๆ แต่เมื่อทารกจะตายจึงร้องไห้เสียงดังขึ้น พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็เอามือปิดปากอุดปากเด็ก เรื่องลับจึงแดงขึ้นมา[18] แม้พระองค์หญิงจะอ้างว่าสุบินเห็นคนขี่ม้าขาวเหาะมาที่หน้าต่างบอกว่าจะมาอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นจึงทรงครรภ์ก็ตาม[18] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า[20][21]

เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

เวลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทวะวงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา

ส่วนการภายใน กรมหมื่นอดิศรได้สืบสาวชำระ ได้ตัวอีเผือกบ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโตผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมา แลยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุง แล้วลอบปีนเข้าไปในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ๔ คราว คราวละ ๒ คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิสดาร

ขณะที่บันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 บันทึกเนื้อหาไว้ว่า[22]

บ่ายสี่โมงเศษไปเฝ้าที่พระที่นั่ง แล้วเข้าไปเขียนหนังสือข้างในที่พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์กลับออกมาทุ่มหนึ่งอ่านหนังสือเรื่องหม่อมยิ่งที่องค์พระสวัสดิโสภณถือมา พิจารณาได้ความตลอดว่า อ้ายโตได้ปีนเข้าไปหาได้เสียกันที่ในวัง เข้าทางพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเข้าไปถึงสามครั้ง ครั้งแรกเข้าไปวันอาทิตย์ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีจอ ไม่ได้ค้าง 10 ทุ่มเศษกลับออกมา ครั้งที่สองเข้าไปเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา ไปถึงค้างอยู่สองวันจึงหายกลับออกมา ครั้งที่สามเข้าไปเมื่อกฐินค้างคืนหนึ่ง รวมเข้าไปในวังสามครั้ง (เขาถามไปว่าได้หลับนอนกันกี่ครั้ง ได้ความว่า คืนแรก 4 ที่สอง 2 ที่สาม 7 ที่สี่ 3 รวมด้วยกัน 16 ครั้ง)

ไม่กี่วันต่อมาเมื่อความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้เสด็จออกสั่งเรื่องความผิดในวังคราวนี้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 ความว่า[23]

“๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาตรเป็นหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ประหารชีวิต ให้ออกจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือเยาวลักษณ์อรรควรสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว...”

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระกรุณาด้วยทรงเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน ประกอบกับก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชกระแสเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ความว่า "...ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสองพระองค์ด้วย..."[4] ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานอภัยโทษเฆี่ยน 90 ที (3 ยก) กับโทษประหารเสียด้วย แต่โปรดเกล้าให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์, อวิญญาณกทรัพย์ เข้าเป็นของหลวงสำหรับซ่อมแซมพระอารามและสิ่งก่อสร้างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ทั้งถอดยศพระองค์เจ้าให้เป็นหม่อมเรียกอย่างสามัญชน และให้จำสนม (คุกฝ่ายใน)[24] นอกจากนั้นให้ทำตามลูกขุนผู้พิจารณาปรับโทษ[25] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 มีข้อความตอนหนึ่งว่า[26]

"เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกรับสั่งเรื่องหม่อมยิ่ง ซึ่งลูกขุนปรึกษาวางบทลงโทษ หม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก ผู้ล่วงพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง ให้ลงพระอาญา ๓ ยก ๙๐ ที เอาตัวไปประหารชีวิตอย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างนั้น หม่อมยิ่งแลอีเผือกผู้ชักสื่อ ให้งดโทษประหารชีวิต นอกนั้นให้ทำตามลูกขุนปรับแล้วเสด็จขึ้น"

ส่วนทิดโต กล่าวกันว่าทิดโตพูดจาโอหังมาก จึงถูกตบด้วยกะลาทั้งขนซึ่งถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก และสุดท้ายก็ต้องรับโทษตามกฎมณเฑียรบาลทุกประการ[25] โดยการตัดศีรษะที่วัดพลับพลาไชย (ปัจจุบันคือบริเวณข้างธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย)[27]

หม่อมยิ่งถูกจำสนมและติดขื่อคาตามบทพระอัยการจนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2429[27][28] (บ้างว่าสิ้นชีพในโทษปีกุน พ.ศ. 2430)[29] หลังจากนั้นจึงมีการฝังพระศพไว้ เจ้านายและชาววังออกพระนามหม่อมยิ่งว่า M.Y.[30] ก่อนการเสียชีวิตของหม่อมยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีความหม่นหมองในพระราชหฤทัยแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วก็ตาม มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่ทรงระบายความทุกข์เกี่ยวความบาดหมางกับวังหน้า และมีข้อความส่วนหนึ่งกล่าวถึงหม่อมยิ่ง ความว่า "...เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซม [โทรม] มากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่าก็ไม่ทราบ..."[25] อันแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ร้อนตรอมพระทัยของหม่อมยิ่ง รวมทั้งความไม่สบายพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินจากเหตุการณ์ครั้งนั้น[25]

ผลสืบเนื่อง

หลังจากกรณีอันอื้อฉาวของหม่อมยิ่งเป็นต้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกกฎมณเฑียรบาลใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีก คือ พระที่จะมาเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ต้องเป็นพระธรรมกถึก ที่มีอายุเกิน 45 ปี และเจ้านายฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกมาฟังเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ ต้องเป็นสตรีสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ดังปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า[25]

"ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ [หมายถึงบวชไม่ถึง 20 ปี] ห้ามมิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงไรก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า ๔๐ ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ อันเป็นวันที่ ๖๖๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน"

ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดชทรงแสดงความรับผิดชอบขอรับโทษกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงหละหลวมในหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวัง เพราะโตสามารถลักลอบปีนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เข้าไปสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทได้ถึงสี่ครั้ง[31]

มาเรีย ลอฟตัส หญิงต่างด้าวในสยาม เขียนหนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาระบุว่าไม่อยากให้พระเจ้าแผ่นดินประหารเจ้าหญิงพระองค์นี้ และขอรับบุตรของหม่อมยิ่งไปเลี้ยงเป็นบุตรของตนเอง รวมทั้งแสดงความเห็นว่าการลงโทษผู้หญิงตามธรรมเนียมไทยนั้นเป็นการกดขี่ผู้หญิงให้อยู่ตัวคนเดียว ทำเหมือนว่าผู้หญิงไม่มีชีวิตจิตใจ เจ้านายสยามตอบกลับความเห็นของนางว่าพระเจ้าแผ่นดินตัดสินโทษประหารโดยผ่านที่ปรึกษาในพระองค์ หาใช่ใช้เพียงอารมณ์ ส่วนเรื่องการกดขี่สตรีนั้นก็ตอบกลับว่า อยากให้เห็นใจว่าเจ้าหญิงไม่ควรได้ชายต่ำศักดิ์เป็นสามีเพราะไม่เหมาะสมและไม่ควรสนับสนุน และชายผู้นั้นเคยลักลอบเข้าพระบรมมหาราชวังจึงรับโทษประหารเพราะผิดกฎหมายสยาม ส่วนหม่อมยิ่งและบุตรไม่ได้รับโทษประหารแต่อย่างใด[31]

พระกรณียกิจ

หม่อมยิ่ง

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดารุ่นใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคมเช่นการต้อนรับแขกเมือง ดังที่เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 โดยเขาได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของราชธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้[11]

“...พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ ที่มีพระชนมายุสูงกว่า [สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ [ให้ดำ] ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมือง [เซอร์แฮรี ออด] เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชาย ได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์...”

และกล่าวถึงพระจริยวัตรของพระองค์ ความว่า[8]

“...พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม...”

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์
(พ.ศ. 2395–2429)
การทูลใต้ฝ่าพระบาท[32]
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า[32]
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • 21 มกราคม พ.ศ. 2395 — 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
  • 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 — พ.ศ. 2429 : หม่อมยิ่ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 141
  2. โรม บุนนาค (16 พฤศจิกายน 2558). "รักข้ามกำแพงวัง-วัด!..พระองค์หญิงผู้ว้าเหว่ ออกนอกวังไปได้แค่วัด พูดกับชายต้องครองเพศบรรพชิต..เลยเป็นโรคท้องมาน!!". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-18. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 ไพกิจ คงเสรีภาพ (2553). พระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี : การวิเคราะห์โครงสร้างและความหมาย (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 133.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 123
  5. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 144
  6. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕, กรุงเทพฯ:มติชน, 2546, หน้า 31 (ISBN 974-322-964-7)
  7. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, "พระราชพิธีถวายโถข้าวยาคู[ลิงก์เสีย]", สกุลไทย, ฉบับที่ 2652, ปีที่ 51, 16 สิงหาคม 2548
  8. 8.0 8.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 121
  9. 9.0 9.1 9.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 112-113
  10. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 115
  12. 12.0 12.1 "แหม่มแอนนา ปลื้ม "พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์" พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวงอย่างไรบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 5 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. 13.0 13.1 13.2 "เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4". กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. 14.0 14.1 14.2 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 146
  15. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 145
  16. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, หน้า 410
  17. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 148
  18. 18.0 18.1 18.2 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 149
  19. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 150
  20. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 123-124
  21. เอนก นาวิกมูล, หน้า 113-114
  22. ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 147
  23. เอนก นาวิกมูล, หน้า 115
  24. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 124
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 125
  26. เอนก นาวิกมูล, หน้า 118
  27. 27.0 27.1 เอนก นาวิกมูล, หน้า 127
  28. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 126
  29. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 51. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-14.
  30. เล็ก พงษ์สมัครไทย (30 ตุลาคม 2562). "รวมพระราชวงศ์ที่ทรงกระทำผิดต้องโทษประหาร และถูกถอดพระยศลงเป็น "หม่อม"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 150-151
  32. 32.0 32.1 คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 22-23.[ลิงก์เสีย]
  33. "ประวัติเจ้าจอมมารดาแพ". ราชสกุลเกษมสันต์. 26 มกราคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-14. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

บรรณานุกรม

  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ : โชคชัยเทเวศร์, พ.ศ. 2535, 441 หน้า
  • ญาณินี ไพทยวัฒน์ (8 มิถุนายน 2562). สอบคำให้การคดีหม่อมยิ่ง. วารสารประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, 360 หน้า
  • เอนก นาวิกมูล. หญิงชาวสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2547, 264 หน้า

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!