สะพานทศมราชัน (อังกฤษ: Thotsamarachan Bridge; ชื่อเดิม: สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9) เป็นสะพานถนนประเภทสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นสะพานขึงเสาคู่แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่คู่ขนานทางด้านท้ายน้ำของสะพานพระราม 9 มีขนาด 8 ช่องจราจร ความกว้างประมาณ 42 เมตร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทดแทนสะพานพระราม 9 ที่จะมีการปิดปรับปรุงภายหลังเปิดการจราจรบนทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ และกระทรวงคมนาคมยังกำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้อย่างมากวันละ 150,000 คัน
ลักษณะของสะพาน
ลักษณะโดยรวม
สะพานแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัท เอพซิลอน จำกัด เป็นสะพานประเภทสะพานขึงเสาคู่ (Double-Pylon Cable-Stayed Bridge) แห่งแรกของประเทศไทย ตามแนวคู่ขนานทางด้านท้ายน้ำของสะพานพระราม 9 มีขนาด 8 ช่องจราจร (แบ่งเป็นขาเข้าเมืองและขาออกเมืองฝั่งละ 4 ช่องจราจร) และมีความกว้างวัดจากขอบสะพานทั้ง 2 ฝั่งได้ประมาณ 42 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตัวสะพานจะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับสะพานพระราม 9 โดยท้องสะพานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ 41 เมตร และเสาขึงมีความสูง 87 เมตร เท่ากับสะพานพระราม 9 เดิม[1]
ส่วนความยาวของสะพาน ช่วงกลางสะพานมีความยาว 450 เมตร และตัวสะพานมีความยาว 781.20 เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการจำนวน 2 กิโลเมตร โดยมีการออกแบบตัวสะพานให้สอดคล้องและไม่โดดเด่นกว่าสะพานพระราม 9 เดิม[2]
นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังจำลองสะพานเต็มรูปแบบเพื่อทดสอบความแข็งแรงของสะพานเมื่อถูกกระทำโดยแรงลม ซึ่งผลพบว่า สามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมากในการรองรับแผ่นดินไหวหรือพายุ[3]
การเฉลิมพระเกียรติ
กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาแล้วกำหนดให้สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทั้งหมด 2 โอกาส คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ผู้ออกแบบจึงมีการออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระองค์ในหลายส่วน ดังนี้
- ส่วนยอดของเสาสะพาน เปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ โดยภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ประทานให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566[4] และมีพิธีประดิษฐานบนยอดเสาฝั่งพระนครเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[5]
- ตราพระปรมาภิไธยย่อ วปร. บนคานสะพานจำนวน 4 ตำแหน่ง ซึ่งต่อมาได้ปรับเล็กน้อย โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบมาประดับสะพานแทน แบ่งเป็นประดับบนคานสะพาน 4 ตำแหน่ง และบนป้ายชื่อสะพานอีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 7–24 ตุลาคม พ.ศ. 2567[6]
- สายเคเบิลสีเหลือง สีประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพของพระองค์
- ประติมากรรมพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมะโรง นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระองค์ คือ พ.ศ. 2495
- เสาขึงรั้วกันกระโดด สื่อถึงต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์ เป็นต้น[7]
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า "ทศมราชัน" หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานด้วยพระองค์เอง ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ให้ตรงกับพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ[8] แต่ต่อมาได้เลื่อนออกไปตามสถานการณ์การก่อสร้างสะพาน ก่อนจะมีหมายกำหนดการออกมาในเวลาต่อมาว่าจะเสด็จมาทรงเปิดสะพานในวันที่ 14 ธันวาคม[9]
สีไฟประดับสะพาน
ภายหลังการก่อสร้างสะพานในด้านโครงสร้างและสถาปัตยกรรมได้เสร็จสิ้นลงตามสัญญาจ้างก่อสร้างหลักแล้ว ยังได้มีการประดับไฟเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่สะพานอีกด้วย โดยสามารถเปลี่ยนสีไฟไปตามเทศกาลต่าง ๆ ได้ โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้
ไฟประดับสะพานนี้เปิดให้ประชาชนได้ชมในเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ เริ่มจากวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการเปิดไฟสีฟ้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[11]
ประวัติ
การก่อสร้าง
สะพานทศมราชัน รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)[12] โดยมีการลงนามในสัญญารับเหมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562[13] และเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 ใช้เวลาการก่อสร้าง 1,170 วัน (ประมาณ 39 เดือน) ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 6,636,192,131.80 บาท[14] โดยเริ่มลงเสาเข็มเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปีเดียวกัน[12] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้ทำพิธีเทคอนกรีตจุดสุดท้ายเชื่อมต่อสะพานอย่างเป็นทางการ (Final Casting Ceremony) โดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี ทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% จากนั้นได้ทำการลาดยาง ตีเส้นผิวการจราจร เก็บรายละเอียดโครงสร้างเล็กน้อย รวมถึงการตกแต่งสถาปัตยกรรมเบื้องต้น เช่น การติดตั้งประติมากรรมพญานาค[15] จนแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม[16] จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบระบบสะพานส่วนต่าง ๆ[17] รวมถึงระบบไฟประดับสะพาน[18]
อย่างไรก็ตาม สะพานแห่งนี้ยังขาดทางขึ้น-ลงทางฝั่งธนบุรี ซึ่งการก่อสร้างอยู่นอกเหนือจากสัญญาการก่อสร้างสะพาน และติดปัญหาการรื้อย้ายแนวท่อประปา และระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นจุดจ่ายไฟฟ้าหล่อเลี้ยงให้กับพื้นที่ย่านใจกลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร คือช่วงถนนสาทรถึงถนนสีลม ประกอบกับมีพื้นที่ทำงานที่จำกัด ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงาน ทำให้การก่อสร้างทางขึ้น-ลงสะพานล่าช้า[19] จึงยังไม่สามารถเปิดการจราจรบนสะพานได้ในทันที โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเปิดการจราจรบนสะพานในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567[17] ก่อนที่ต่อมาจะเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคม[20] เดือนกรกฎาคม เดือนตุลาคม[21] และเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ตามลำดับ[6]
พิธีเปิด
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17:25 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานทศมราชัน และทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของสะพาน[22] โดยหลังจากนี้จะมีกิจกรรมให้ประชาชนร่วมเฉลิมฉลองบนสะพาน ก่อนเปิดให้รถสัญจรเป็นส่วนแรกของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ผ่านตัวสะพาน ไปจนถึงด่านสุขสวัสดิ์ ภายในไม่เกินต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 ขึ้นอยู่กับผลการหารือระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม[9] หลังจากนั้นเมื่อการก่อสร้างทางพิเศษตลอดสายเสร็จสิ้น จะเปิดทางพิเศษตลอดสายอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ก่อนปิดปรับปรุงสะพานพระราม 9 ครั้งใหญ่ต่อไป[23]
กิจกรรม
Luck Lock Love รักล้นสะพาน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดสะพานทศมราชัน เพื่อจัดกิจกรรม "Luck Lock Love รักล้นสะพาน" ขึ้น ในระหว่างวันที่ 14-18 และ 23-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เพื่อฉลองเทศกาลวันวาเลนไทน์ และเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปีของกระทรวงคมนาคม โดยมีกิจกรรมหลักคือการจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รักที่ลงทะเบียนล่วงหน้าจำนวน 111 คู่ ตามจำนวนปีครบรอบของกระทรวงคมนาคม[24] ซึ่งในวันแรกที่มีการจัดกิจกรรม มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสบนสะพานจำนวน 45 คู่[25]
วิ่งข้ามเวลา สู่อนาคต
นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังเตรียมจัดกิจกรรมอีก 1 กิจกรรม คือ มหกรรมการเดินวิ่ง "วิ่งข้ามเวลา สู่อนาคต" ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกิจกรรม "วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ" บนสะพานพระราม 9 ที่จัดขึ้นพร้อมกับพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567 แต่ต่อมาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เลื่อนออกไปจัดในช่วงพิธีเปิดสะพานแทน[26]
ข้อมูลทั่วไป
- วันที่เริ่มการก่อสร้าง : วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
- วันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ : วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023)
- วันเปิดการจราจร : วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024)
- บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
- ราคาค่าก่อสร้าง : 6,636,192,131.80 บาท
- แบบของสะพาน : สะพานขึงเสาคู่
- ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 41 เมตร (135 ฟุต)
- ความยาวของสะพาน : 781.20 เมตร (2,563.0 ฟุต)
- รวมความยาวทั้งหมด : 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์)
- จำนวนช่องทางจราจร : 8 ช่องทางจราจร
- ความกว้างสะพาน : 42 เมตร (138 ฟุต)
ระเบียงภาพ
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานทศมราชัน
13°40′55″N 100°31′05″E / 13.68201°N 100.51798°E / 13.68201; 100.51798
|
---|
แขวง | | |
---|
ประวัติศาสตร์ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | |
---|
|
|
---|
แขวง | | |
---|
ประวัติศาสตร์ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | การศึกษา | |
---|
สาธารณสุข | |
---|
วัฒนธรรม | |
---|
|
---|
|