วัดพระแท่นศิลาอาสน์ |
---|
|
|
ชื่อสามัญ | วัดพระแท่นศิลาอาสน์ |
---|
ที่ตั้ง | ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53210 |
---|
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
---|
นิกาย | เถรวาท (ธรรมยุตินิกาย) |
---|
เจ้าอาวาส | พระวินัยสาทร (ถวิล ถาวโร) |
---|
ความพิเศษ | พระอารามหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ |
---|
จุดสนใจ | สักการะพระแท่นศิลาอาสน์, ชม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา ภายในวัด |
---|
กิจกรรม | งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน สาม |
---|
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่บนเนินเขาเต่า หรือเขาทอง บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด
วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏข้อความกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ แต่เพิ่งมีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2283 ได้แสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง และทางราชการได้นำพระแท่นศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสและความสำคัญขององค์พระแท่นศิลาอาสน์ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดธรรมยุตินิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2549[1]
พระแท่นศิลาอาสน์
พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑป ศิลปะเชียงแสนครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
ประวัติ
ในคัมภีร์ปัญจพุทธพยากร ซึ่งเป็นเรื่องแทรกอยู่ท้ายปัญญาสชาดก และตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองทุ่งยั้ง ได้กล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ 5 พระองค์ คือ กุกกุสันธโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นไก่เถื่อน โกนาคมนโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นนาคราช กัสสปโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นเต่า โคดมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นโคอศุภราช เมตเตยยโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ทั้ง 5 พระองค์ ได้มาบำเพ็ญบารมี ณ ระหว่างซอกเขากันทรบรรพต ต่างสัญญากันว่า ผู้ใดได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะต้องมาประกาศความเป็นพระพุทธเจ้าให้ปรากฏไว้ในที่นี้
เมื่อกุกกุสันธโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จมาประทับบนแผ่นศิลา ณ กันทรบรรพต ทรงลูบพระเศียรประทานเส้นพระเกศาแด่หมู่พระอรหันต์ หมู่พระอรหันต์จึงมอบไว้กับพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงประดิษฐานพระเกศธาตุนั้นไว้ ณ บริเวณนั้น พระกุกกุสันธพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพาน จะมีกษัตริย์นำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองนี้ แม้พระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ก็จะมาอยู่ที่นี้เช่นเดียวกัน
สมัยโคดมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า พระองค์พร้อมกับพระอรหันต์ 500 องค์ ได้เสด็จมาประทับยับยั้งกันทรบรรพตนอกเมือง ภายหลังเรียกเมืองนั้นว่า ทุงยันตินคร (เมืองทุ่งยั้ง) เจ้าอาย (เอยยะ/อัยยะ) ลูกนายไทยซึ่งเป็นใหญ่แก่คนทั้งหลายบริเวณนั้น จึงได้ประกาศให้ชาวเมืองนำเต้าแตงถั่วงาปลาอาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าจึงได้เทสนาสั่งสอน พระอานนท์ได้นำบาตรพระพุทธเจ้าไปแขวนห้อยไว้บนต้นพุทรา ภายหลังเรียกว่า ต้นพุทราแขวนบาตร พระเรวตะเตือนพระอานนท์ว่าได้เวลาภัตตกิจแล้ว พระอานนท์จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าให้กระทำภัตตกิจ แล้วพับผ้าสังฆาฏิ 4 ชั้น ปูผ้าเหนือแท่นศิลา พระพุทธเจ้าจึงทรงกระทำภัตตกิจบนแท่นศิลาที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เคยนั่งบำเพ็ญบารมี ภายหลังเรียกว่า พระแท่นศิลาอาสน์
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วพระพุทธเจ้าทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์กับพระเรวตะจึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า อีกเดียวจะมีมหายักษ์ผู้หนึ่งได้นำเอาน้ำใส่คนโทแก้วมาถวาย ต่อมามีมหายักษ์นำคนโทแก้วใส่น้ำมาถวายจริง ๆ มหายักษ์ได้เหยียบมดง่ามใหญ่ 3 กำ ยาว 3 ศอก 4 ตัว ที่กำลังสูบดมกลิ่นภัตตาหารที่พระพุทธเจ้าเสวย แล้วไล่มดไป (ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ว่ามหายักษ์ให้มดง่ามนำคนโทแก้วไถวายพระพุทธเจ้า) พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ศีล 5 แก่มหายักษ์ มหายักษ์เลื่อมใสได้ถอดเขี้ยวแก้วถวายและลากลับไป และมีพุทธฎีกากับพระอานนท์ว่า ภายหลังพระองค์ปรินิพพานไปได้ 2,000 ปี มดง่ามทั้ง 4 จะได้กลับมาเกิดเป็นกษัตริย์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ใส่กระโถนศิลาแลงข้างพระแท่น ภายหลังเรียกว่า บ้วนพระโอษฐ์ (จากการค้นคว้าของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ พบว่าเดิมวิหารพระแท่นศิลาอาสน์มีมุขยื่นออกมาจากตัววิหารด้านทิศเหนือเรียกว่า "มุขบ้วนพระโอษฐ์" ประดิษฐานบ้วนพระโอษฐ์ไว้ที่นั้น ภายหลังวิหารไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2451 ช่างบูรณะได้ตัดส่วนมุขบ้วนพระโอษฐ์นี้ไปเสีย ปัจจุบันบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าถูกทิ้งไว้ข้าง ๆ ซุ้มประตูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระแท่นศิลาอาสน์)[2]
ครั้นเสร็จแล้วพระองค์จึงลุกจากแท่นศิลา มาประทับยืนเหนือแท่นศิลาบนภูเขาอีกยอด หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ภายหลังเรียก หนองพระแล พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทบนก้อนศิลานั้น ภายหลังคือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีพญากวางทองตัวพร้อมด้วยสัตว์บริวารทั้งหลาย คือ ช้าง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือดาว นกแก้ว นกสาลิกา กระรอก พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กระทำการน้อมตัวอภิวันทนาการ พระพุทธเจ้าทรงแย้มพระสรวล พระเรวตะจึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะมีการนำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองแห่งนี้ เมื่อผ่านไปได้ 2,000 ปี พญากวางทองจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ สละสมบัติออกบวช มีนามว่า ปูริชาชิอุรุภิกษุ จะมาบูรณะให้รุ่งเรือง พร้อมกับบริวารสัตว์ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เช่นกันแต่คนละแห่ง ทั้งหมดจะพาครอบครัวมาอยู่บริเวณนี้จนเจริญรุ่งเรือง พระมหากษัตริย์และเทพดามนุษย์ทั้งหลายจะพากันมาสักการะ และเมื่อผ่านไป 2,000 ปี จะมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ครองทุงยันตินคร และจังโกธิบดี ครองลโวตินคร (ละโว้) จะยกพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่านขึ้นด้วยพระราชศรัทธา แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในบริเวณแท่นศิลาที่พระพุทธเจ้าเคยประทับยืน แล้วพระองค์เสด็จลงจากเนินเขาไปทางทิศเหนือเพื่อเดินจงกรม จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาบรรทมเหนือแท่นศิลาบริเวณเนินเขาอีกยอด ภายหลังคือวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเมืองอื่นต่อไป
เมื่อผ่านไป 2,000 ปี มีพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระญาสรีธัมมาโสกราช เสด็จมายังทุงยันตินคร ให้ขุดหลุมลึก 18 วา กว้าง 18 ศอก หล่ออ่างทองเอาน้ำใส่ในอ่างนั้นจนเต็มแล้ว หล่อรูปราชสีห์ทองคำตั้งไว้ในอ่างทอง หล่อรูปผอบทองคำตั้งไว้บนหลังรูปราชสีห์ทองคำ แล้วหล่อรูปพระนารายณ์ทองคำ พระหัตถ์ถือผอบแก้วบรรจุพระธาตุ ตั้งไว้บนผอบทองคำหลังรูปราชสีห์ทองคำ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หล่อรูปปราสาททองคำ หล่อรูปพระอินทร์ถือจักรทางทิศตะวันตก หล่อรูปท้าววิรุฬหกถือพระขรรค์ทางทิศใต้ ทำรูปภาพยนตร์เคลื่อนไหวไปมาหมุนอยู่รอบ ๆ ที่นั้น พระญาสรีธัมมาโสกราชสั่งรูปเหล่านั้นรักษาพระธาตุไว้ให้ดี แล้วปิดหลุมด้วยทองเงินอิฐหินกรวดทราย แเกลี่ยพื้นดินเสียให้เรียบ ปลูกต้นรังบริเวณนั้น แล้วเสด็จไปมาเลยยาราม (สวรรคโลก)
เมื่อผ่านไป 2,000 ปี พญากวางทองได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นภิกษุ มีนามว่า มหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ เวลานั้นมีคนเข็ญใจเทียมวัวออกไปทำไร่ถั่วบริเวณใกล้กับต้นรัง พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แผ่ฉัพพรรณรังสี วัว 2 ตัวเห็นก็ตกใจหนีไป ฝ่ายคนเข็ญใจจึงนำความไปบอกนายคามกูต นายคามกูตจึงพาคนเข็ญใจไปเล่าเรื่องให้พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุจึงออกไปดูบริเวณต้นรัง และอธิษฐานขอให้พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ ทั้งสามเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงชักชวนคนทั้งหลายมาตัดต้นรังออก แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา 2 ศอก ภายหลังคือวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง นายคามกูตขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาเงินหมื่นหนึ่งฝังไว้ อธิษฐานว่าถ้าใครจะมาบูรณะพระเจดีย์ให้พบเงินในหลุมนี้ มารดาของนายคามกูตได้ขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาทองฝังไว้ แล้วเอารูปปลาตะเพียนศิลาปิดหลุมไว้ อธิษฐานเช่นเดียวกับนายคามกูต
ยังมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ครองทุงยันตินคร และจังโกธิบดี ครองลโวตินคร (ละโว้) ได้ไปยกพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณตำบลพระจมขึ้นมาด้วยพระราชศรัทธา แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ ประโคมด้วยสุวรรณบัณเฑาะว์ นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในบริเวณแท่นศิลาที่พระพุทธเจ้าเคยประทับยืน[3] [4]
สันนิษฐานว่าตำนานพระแท่นศิลาอาสน์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งอยู่ติดกับเขตล้านนา แม้ตำนานจะอ้างถึงยุพุทธกาล แต่พระแท่นศิลาอาสน์ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงช่วงยุคกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
พ.ศ. 2283 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์อยุธยา เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ณ เมืองพิษณุโลก แล้วเสด็จไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ พระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี สมโภชที่ละ 3 วัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ครั้นลุศักราช ๑๑๐๒ ปีวอก โทศก ถึง ณะ เดือนสิบสอง สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนีรเปนขบวนพยุหบาตราใหญ่ทั้งทางบกทางเรือพร้อมจัตุรงคโยธาหาร สารสินทพอเนกนา ๆ แลนาวาเปนอันมาก เสดจ์ขึ้นไป ณะ เมืองพิณณุโลก นมัศการพระพุทธชินราช ชินศรี แล้วเสดจ์พระราชดำเนีรขึ้นไป ณะ เมืองพนมมาศ ทุ่งยั้ง นมัศการพระแท่นสินลาอาษณ์ แลพระมหาธาตุ์ ณะ เมืองสวางคบูรี ให้มีงานมหรรศภสมโพธแห่งละสามวัน แล้วเสดจ์กลับพระนคร
— พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน
[5]
พ.ศ. 2297 ออกพระศรีราชไชยมหัยสูรินทบูรินทพิริยะพาหะพระท้ายน้ำ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาสวรรคโลก ขึ้นมาตรวจพบวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ที่เมืองทุ่งยั้งชำรุดทรุดโทรมมาก จึงขอพระบรมราชานุญาต รื้อทำใหม่ โดยเกณฑ์พลเมืองลับแล เมืองทุ่งยั้ง รื้อวิหารร่มและกำแพงลงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสาม ปีจอ พ.ศ. 2297 ได้ก่อรากวิหารร่มขึ้นใหม่เมื่อวันเสาร์ แรม 10 เดือน 3 พ.ศ. 2298 ทำการฉลองวิหารร่มหลังใหม่เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2301 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี[6]
พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ชำระพระสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ เสร็จแล้วเสด็จไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี 3 วัน บูรณะพระอารามให้บริบูรณ์ เสด็จไปนมัสการสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง 3 วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก 3 วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ 3 วัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี
พ.ศ. 2426 พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) ขณะเดินทางกลับจากเมืองหลวงพระบาง ได้แวะชมพระแท่นศิลาอาสน์ บันทึกไว้ว่า
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอุตรดิตถ์ มีสถาปัตยกรรมเหมือนวัดสยามทั่วไปที่ปิดทองเหลืองอร่าม บานประตูขนาดใหญ่แกะลวดลายวิจิตรงดงาม กล่าวกันว่าเก่าแก่มาก ในพระวิหารมีพระมณฑปสร้างคร่อมแท่นหินปิดทอง ยาว ๑๒ ฟุต กว้าง ๖ ฟุต สูง ๒ ฟุต ตรงกลางเป็นรอยพระพุทธบาท ลึก ๖ นิ้ว ชาวบ้านนิยมมาปิดทองคำเปลวมากมาย รอบพระแท่นมีพระพุทธรูปหลายองค์ ผู้แสวงบุญที่มีศรัทธาจุดธูปเทียนบูชาพระและก็จุดบุหรี่จากเทียนดังกล่าวต่อ เป็นเรื่องแปลกและน่าขบขันไม่น้อยขณะที่คนหนึ่งกำลังจุดเทียนไหว้พระ อีกคนก็จ้องจะจุดบุหรี่ แต่ทุกคนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครว่ากล่าวอะไร ในวัดมีพระสงฆ์มากมายหลายรูป บางรูปก็หารายได้จากการรักษาผู้ป่วยหรือให้เช่าวัตถุมงคลป้องกันผีร้าย
— surveying and exploring in siam
[7]
พ.ศ. 2428 นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต) นำกองทัพขึ้นมาประชุมพลที่เมืองพิชัย เพื่อจะยกไปทำสงครามปราบฮ่อในแขวงหัวพันและสิบสองจุไท ได้แวะมานมัสการพระแท่นศิลอาสน์ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) เขียนถึงสภาพวัดไว้ว่า
พลางดูแท่นแผ่นผาศิลาลับ
|
|
เข้าลูบจับจิตพะวงคิดสงสัย
|
เห็นพื้นแผ่นแล่นตะกั่วบุทั่วไป
|
|
แลข้างในปูนสอก่อขึ้นมา
|
สูงหนึ่งศอกเสริมวางกลางมณฑป
|
|
วัดตลบเหลี่ยมแท่นที่แผ่นผา
|
ได้หกศอกหกนิ้วยาวดังกล่าวมา
|
|
กว้างได้ห้าศอกชัดสกัดกัน
|
ที่กลางแท่นทำเป็นช่องมองแล้วล้วง
|
|
เป็นรุ่งร่วงรอยกลมช่างคมสัน
|
สำหรับใส่เงินทองของสำคัญ
|
|
เป็นเครื่องกัณฑ์เก็บใส่ไว้บูชา
|
ชื่อพระแท่นแผ่นผาศิลาอาสน์
|
|
ไยมาดาดดีบุกไว้ไฉนหนา
|
นั่งพินิจพิศวงนึกสงกา
|
|
สุดปัญญาที่จะแยกออกแจกแจง
|
ทัศนาอุโบสถงามหมดเหมาะ
|
|
ช่างจงเจาะจัดไว้มิได้แหนง
|
พื้นศิลาลาดเลี่ยนเขาเปลี่ยนแปลง
|
|
ค่อยตกแต่งสะอาดตาไม่ราคิน
|
โบสถ์ด้านขวางกว้างยี่สิบสี่ศอก
|
|
ยาววัดออกสิบวาน่าถวิล
|
เสาทาชาดพิลาสล้วนก็ควรยิน
|
|
ทรงกระบินทองระบายเป็นลายลอย
|
ผนังเขียนรูปภาพสอดสาบสี
|
|
เรื่องบาลีละกิเลสเหตุละห้อย
|
รูปพระสงฆ์ปลงอสุภด้ายบุบดอย
|
|
ตราสังร้อยรัดทิ้งดูนิ่งนอน
|
แลดูบานทวารวุ้งเป็นรุ้งร่วง
|
|
สลักดวงดอกผการุกขาขอน
|
มีรูปเทพนมรายขจายจร
|
|
นาคกินนรนรสิงห์งามจริงเจียว
|
สิงโตตั้งตากลมอมลูกหิน
|
|
ไม่มีลิ้นแลแปลกยังแยกเขี้ยว
|
คอหอยตันฟันมีอยู่ซี่เดียว
|
|
ทำองค์เอี้ยวโอษฐ์อ้านัยน์ตาพอง
|
กำแพงแก้วก่อกั้นเป็นคันคอก
|
|
ที่มุมศอกมีพุทราสาขาสอง
|
ยอดเอนสู่บูรพทิศดังจิตปอง
|
|
เอาอิฐกองก่อกันไว้มั่นคง
|
ซึ่งเรียกว่าพุทราที่แขวนบาตร
|
|
พึ่งผุดผาดผ่องพ้นต้นระหง
|
พื้นอาวาสกวาดกว้างในกลางดง
|
|
มีคนคงคอยรักษาพระอาราม
|
— นิราศเมืองหลวงพระบาง
|
[8]
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จมานมัสการและทอดพระเนตรโบราณสถานวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่า
ลงจากเนินวัดพระยืนก็ขึ้นเนินพระแท่น มีวิหารหลังหนึ่ง ชอบกลมาก รูปร่างนั้นเก่า ฝาอิฐหลังคาแปเหลี่ยมแต่วางตะแคง แต่เมื่อดูข้างในเห็นเป็นเครื่องประดุ จึงเข้าใจได้ว่าไขราเห็นจะผุแล้วซ่อมต่อใหม่ แต่ช่างลักขู ต่อตะแคงเสียอย่างเดี๋ยวนี้ วิธีลดมุขก็ชอบกล มุขหน้าลดลงมากจนทำลายหน้าบรรพ์ชั้นบนได้อย่างมุขเด็จ แต่จะเรียกมุขเด็จไม่ได้ ด้วยมีพาไลเท่าใน ลวดลายนั้นก็ป่นปี้ เห็นได้ว่าทำเปนการซ่อมติดต่อกันหลายหน คือหน้าบรรพ์นอกเป็นลายจีน ในประธานเปนพระจีนมีสาวกสองข้าง พาไลยเป็นปลากินสาหร่ายแลอื่น ๆ อีก ขี้เกียจจดจำ แต่ล้วนเปนลายข้างจีนทั้งนั้น คงจะมีช่างจีนอะไรมาซ่อมสักคราวหนึ่ง หน้าบรรพ์ในเป็นลายไทยก้านขด ปลายออกเป็นภาพดอกใบเปนกนกแกมช่อไม้พระเจ้าห้าพระองค์ ฝีมือไม่เก่งแลไม่สู้เก่า ช่อฟ้าใบรกาก็ไม่ใช่ปั้นปูนอย่างเก่า ทำด้วยไม้อย่างไม่ดีในกรุงเทพ แต่ทวยเก่า รูปอย่างใช้ทุกวันนี้ แต่ไม่มีกนกหลังเพราะทวยตั้งชันมาก ด้วยเชิงชายสั้นกนกหลังเข้าไม่ได้
ซุ้มประตูเปนซุ้มจรณำตามธรรมเนียม แต่ทรงเปนอย่างเก่า ลายบรรพเปนเทพประนมมีกนกแทรกนิดหน่อย บานประตูเปนบานสลักอย่างสวรรค์เช่นบานพระวิหารวัดสุทัศน์กรุงเทพ ข้างลาวเขาเรียกว่าแกะ เพราะเขาทำด้วยพร้าเล่มเดียวเท่านั้น บานประตูนี้ ได้ตั้งใจมาแต่กรุงเทพว่าจะดูเพราะมีคนบอกว่าสลักงามนัก แต่เมื่อได้ดูแล้วออกเสียใจ ที่มันไม่งามเหมือนคาดหมาย คือลายก็ไม่สู้ดี ฝีมือแกะก็โปนเกินเหตุแลหยาบ ไม่ใช่แกะในตัวแท้ ต่อบ้าง ความโปนนั้นหนาเต็มเช็ดหน้า ตัวลายนั่น ล่างสุดเปนยักษ์สามตัวแบกฐานปัทม์ บนฐานปัทม์มีก้านขดงอกขึ้น ๖ ขดวงเดียว เรียงกันขึ้นไป ปลายขดล่างออกเปนรูปครุฑจับนาด ขดที่ ๒ เป็นกินนรรำ ขดที่ ๓ เป็นคชสีห์ ขดที่ ๔ เป็นกินนรรำ ขดที่ ๕ เป็นหัวราชสีห์ ขดที่ ๖ เปนกินนรรำ รูปกินนรแลครุฑเปนอย่างเก่าชั้นสรวมเทริด ที่ก้านลาย มีกาบเปนหน้าคาบบ้าง เป็นตัวผักบุ้งบ้าง ใบเปนใบไม้รูปเซ่อ ๆ อย่างใบมม่วงเรานี่เอง ไม่เปนลายที่คิดอยากน่าชมเลย อกเลาเปนรูปเทพประนมมีสินเทา ต่อซ้อนกันเปนรักร้อย เทพประนมสรวมเทริดประจำยามอกเลาไม่ยกเปนหน้าตรง หลบเหลี่ยมตามรูปอกเลาทั้งท้ายแลหัวกลางด้วย
ผนังโบสถ์เขียนเรื่องปฐมสมโพธิ์ เปนฝีมือบ้านนอก ดูไม่สู้เก่า แต่จะราวคราวไหนประมาณไม่ถูก เพราะยังไม่คุ้นเคยกับมือบ้านนอก ตัวพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางวิหารภายในบุษบก พระแท่นนั้นมีขนาดวัดได้กว้าง ๒ เมตร ๑๔ เซนต์ ยาว ๓ เมตร ๔๙ เซนต์ มีความเสียใจที่ไม่ใช่ศิลา เปนก่ออิฐถือปูนเปนฐานบัลลังก์ทำลายอย่างปั้นไม่เปน ปิดทองล่องชาดพื้น ข้างบนปิดด้วยแผ่นโลหะปิดทอง กลางเจาะรูเปนที่ทิ้งเงินเรี่ยรายลงในพระแท่น พระอุตรดิฐว่าศิลาอยู่ข้างใน เขาก่อปูนเสริมไว้ข้างนอก อาจจะเห็นได้ในรูที่ทิ้งเงิน จึงได้เอาไม้ติดเทียนส่องลงไปดูก็เห็นแต่อิฐ เปนรอยขุดเป็นบ่อไว้พอที่จะขังเงินไว้ได้ เมื่อสิ้นฤดูนมัศการแล้ว ว่าเอาไม้ติดขี้ผึ้งจิ้มเอาเงินขึ้นมา กรมการรวบรวมไว้จัดการปฏิสังขรณ์ บุษบกที่ทรงพระแท่นนั้นทรงดูได้ คนเปนทำ เปนของรุ่นเก่าด้วย เสาไม้สิบสองนั้นเปนมุมละ ๓ เสา ตั้งห่างกัน เหมือนธรรมาศน์เทศน์ที่วัดมหาธาตุพิษณุโลกดังนี้ เดี่ยวเสาสั้น ยอดทรงแจ้สมกันดี แต่ลายซ่อมใหม่เสียมากแล้ว แลถึงลายเก่าก็ไม่สู้จะเก่งอะไรนัก
ข้างหัวพระแท่นมาข้างหน้าวิหารมีโต๊ะหมู่ตั้งเครื่องบูชาอย่างจีน ๆ มาก มีโกฐกดูกตั้งอยู่ด้วยใบหนึ่ง เห็นจะเปนท่านผู้ปฏิสังขรณ์ ที่ตอกหน้าบรรพ์ไว้เปนเจียกนั้น หลังพระวิหารยกเปนแท่นมีพนัก แลผนังเจาะเปนคูหา บรรจุพระเต็มไปหมดทั้งบนแท่นแลในคูหา งามก็มีไม่งามก็มี พระบ้านหล่อกรุงเทพก็มี ภายนอกวิหารด้านซ้าย ทำเปนมุขเล็กยื่นออกไปอย่างปอติโค (portico) ของเรือนฝรั่ง ในนั้นมีกะโถนหินตั้งไว้ใบหนึ่ง ปากกว้างประมาณศอกหนึ่ง ว่าเปนบ้วนพระโอฐพระพุทธเจ้า แลมีกุฎอีกหลังหนึ่งอยู่ริมนั้นแต่ห่างออกมาติดกับกำแพงแก้ว ในนั้นมีพระหัก ๆ เล็ก ๆ มาก ข้างขวาวิหารมีต้นพุทราต้นหนึ่ง เรียกว่าพุทราห้อยบาตร
— จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก
[9]
24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ตามพระราชหัตถเลขากล่าวว่า
ที่บริเวณพระแท่นนั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เปนกำแพงหนาอย่างวัดโบราณ มีวิหารใหญ่หลังหนึ่งโตกว่าพระแท่นดงรัง ข้างในตรงกลางวิหารมีมณฑป ในมณฑปนั้นมีแท่นก่ออิฐถือปูนอย่างแท่นตั้งพระประธาน ยาว ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว ที่กลางเปนช่องสำหรับผู้มานมัสการบรรจุเงินแลเข็มตามปรกติ ปีหนึ่งได้เงินอยู่ใน ๑๐๐๐ บาท แต่เข็มได้ถึง ๒ ขัน ด้านริมผนังหลังวิหารมีพระพุทธรูปกองโต ต้นพุดซาอยู่ในกำแพงข้างขวาวิหาร ข้างซ้ายวิหารมีมุขยื่นออกไปเปนที่บ้วนพระโอษฐ แลประตูยักษ์อยู่ตรงนั้น แต่เยื้องกันหน่อยหนึ่ง มีวิหารอยู่ที่มุมกำแพงอิกวิหารหนึ่ง เปนที่พระเสี่ยงทาย หมดเท่านั้น เขาตั้งพลับพลาไว้พ้นลานน่าพระแท่นออกมาหยุดกินน้ำชา ที่นี่มีต้นสักเก่าบ้าง ปลูกขึ้นใหม่บ้าง
— พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ 5
[10]
15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปมณฑลพายัพ ได้เสด็จแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ดังในพระนิพนธ์ลิลิตพายัพกล่าวว่า
๏ ที่สิบห้าพฤศจิกา
|
|
ทรงอาชาแช่มช้อย
|
ราชญาติอมาตย์ต้อย
|
|
ไต่เต้าตามเสด็จ ประพาสนา ฯ
|
๏ ยอกรก้มเกศเกล้า
|
|
วันทา
|
แทบพระแท่นศิลา
|
|
อาสน์น้อม
|
ผิวะโฉมวรนุชมา
|
|
กับพี่
|
พี่จักพานุชค้อม
|
|
เข่าคู้ถวายกร ฯ
|
— ลิลิตพายัพ
|
[11]
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์อีกครั้ง
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เกิดไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัดจนไฟไหม้ทั้งวัด ไฟไหม้ครั้งนั้นเหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงสนันท์) เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหารร่ม ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้[12]
ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์
ลำดับที่ |
รายนาม |
เริ่มวาระ |
สิ้นสุดวาระ
|
1 |
พระวินัยสาทร (ถวิล ถาวโร) |
พ.ศ. 2549 |
ปัจจุบัน
|
งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ประเพณีทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้มาสักการบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปี พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การได้มาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด และเช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรี พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร การมานมัสการจะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือนสาม
งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญ เดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น. พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหารแล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาล บรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
เนื่องจากวัดพระนอนพุทธไสยาสน์และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วย เป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน
พระแท่นศิลาอาสน์
ใน พ.ศ. 2483 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำริให้มีการออกแบบตราประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด และนำเสนอสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น คณะกรมการจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้เสนอให้กรมศิลปากร นำรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มาประดิษฐ์เป็นตราประจำจังหวัด ตรานี้จึงได้รับการออกแบบครั้งแรกโดยพระพรหมพิจิตร เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ลักษณะเป็นรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มีลายช่อกนกขนาบอยู่สองข้างในวงกลม ต่อมาทางราชการจึงเพิ่มรูปครุฑ และอักษรบอกนามจังหวัดว่า "จังหวัดอุตรดิตถ์" เข้าไว้ที่ส่วนใต้ภาพพระแท่นด้วย ซึ่งตราดังกล่าวก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน[13]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง, เล่ม ๑๒๓, ตอนที่ ๙๖ ง , ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑๖
- ↑ https://www.silpa-mag.com/history/article_39063
- ↑ https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/ปัญจพุทธพยากรณ์
- ↑ ตำนานพระพุทธบาท ตำนานพระแท่นสิลาอาสน์ และ ตำนานพระฉาย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภนพิพัธนากร, 2486.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)].
- ↑ https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมจดหมายเหตุ_สมัยอยุธยา_ภาค_1/หมวด_2/เรื่อง_12
- ↑ วิภาคภูวดล, พระ. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ แปล. บุกเบิกสยาม การสำรวจของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๓๖. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์, 2561
- ↑ https://vajirayana.org/นิราศเมืองหลวงพระบาง-และ-รายงานปราบเงี้ยว
- ↑ นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยา. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506.
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ, 2520
- ↑ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ลิลิตพายัพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร)) 2472.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การปฏิสังขรณ์วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นอันตรายด้วยลูกไฟเผาป่าปลิวมาตกไหม้, เล่ม ๒๖, ตอนที่ ๐ ง, ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒, หน้า ๒๔๗
- ↑ สัญลักษณ์และเพลงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เว็บไซต์ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์)
แหล่งข้อมูลอื่น