ลัทธิทำลายรูปเคารพ

รูปปั้นที่ถูกทำลายระหว่างการปฏิรูปศาสนาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่มหาวิหารนักบุญมาร์ติน เมืองยูเทรกต์ (Cathedral of Saint Martin, Utrecht)[1]

ลัทธิทำลายรูปเคารพ (อังกฤษ: Iconoclasm) เป็นแนวคิดและการปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีการใช้รูปเคารพ การทำลายศิลปะหรือรูปสัญลักษณ์ทางศาสนา การทำลายสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สัญลักษณ์ทางศาสนา หรือ การทำลายอนุสาวรีย์โดยจงใจภายในสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผลจากการกระทำเพื่อศาสนาหรือการเมือง การกระทำเช่นนี้มักจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาหรือทางการเมืองภายในสังคมเดียวกัน ลัทธิทำลายรูปเคารพตรงกันข้ามกับ "ลัทธิบูชารูปเคารพ" (Iconodule)

ที่มา

ลัทธิทำลายรูปเคารพ แตกต่างจากการทำลายโดยวัฒนธรรมจากภายนอกหรือจากการสงคราม เช่น การรุกรานของประเทศสเปนที่มีผลต่อการทำลายศิลปะและสิ่งก่อสร้างท้องถิ่นในอเมริกาใต้ และมิได้หมายถึงการทำลายสัญลักษณ์ทางวัตถุของประมุขที่เพิ่งเสียชีวิตไปหรือถูกโค่นอำนาจไป เช่น ประเพณีที่ทำกันเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตในสมัยอียิปต์โบราณ หรือในจักรวรรดิโรมัน

ผู้ที่มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพเรียกว่า “นักทำลายรูปเคารพ” (Iconoclasts) ซึ่งความหมายแปลงมาเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อหรือการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

การทำลายรูปเคารพอาจจะทำโดยผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันแต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความแตกต่างกันทางปรัชญาทางศาสนาระหว่างลัทธิย่อยภายในศาสนาเดียวกัน ยกเว้นการแตกแยกระหว่างจักรวรรดิไบแซนไทน์สองจักรวรรดิระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในความเชื่อเรื่องการบูชารูปเคารพ อันเป็นสาเหตุหลักแทนที่จะเป็นสาเหตุที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งอื่น[ต้องการอ้างอิง] ในศาสนาคริสต์การทำลายรูปเคารพมักจะมีผลมาจากการตีความหมายของบัญญัติ 10 ประการซึ่งห้ามการบูชา “รูปเคารพ”

ความหมายตรงกันข้ามของผู้ทำลายรูปเคารพ คือ ผู้ที่มีความเชื่อในการนับถือบูชาและสักการะรูปเคารพที่เรียกว่า “นักบูชารูปเคารพ” Idolators ในสมัยไบเซนไทน์เมื่อกล่าวถึง ลัทธิบูชารูปเคารพ ก็จะใช้คำว่า Iconodules หรือ Iconophiles

ผลที่เราเห็นจากลัทธิทำลายรูปเคารพก็จะมักจะเป็นรูปปั้นเพราะศิลปะรูปแบบอื่นคงถูกทำลายไปหมด รูปปั้นเหล่านี้ส่วนหัวจะหักไปหมด เช่น ตามอนุสาวรีย์ของโรมัน หรืออนุสาวรีย์หน้าโบสถ์และรูปปั้นหรืออนุสรณ์ผู้ตายภายในโบสถ์โดยเฉพาะที่เป็นรูปปั้นเล็ก ๆ ถ้าเป็นหัวรูปปั้นใหญ่ที่ค่อนข้างทำลายยาก นักทำลายรูปเคารพก็มักจะทุบจนหักบิ่น

พระพุทธรูปแห่งบามิยันหลังการถูกทำลาย

การทำลายรูปเคารพครั้งสำคัญ ๆ

สมัยไบแซนไทน์

ความขัดแย้งกันในเรื่องความเชื่อในการทำลายรูปเคารพไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มนักบวช หรือเป็นความแตกแยกทางปรัชญาทางเทววิทยาเท่านั้น บางครั้งความขัดแย้งก็อาจจะเป็นผลมาจากความกลัวการรุกรานทางทหารโดยผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่เชื่อกันว่าการทำลายรูปเคารพได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ตะวันออกและผู้ลี้ภัยที่มาจากบริเวณที่ถูกยึดครองโดยผู้นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นก็ยังได้รับอิทธิพลบางส่วนจากกองกำลังบัลคานซึ่งไม่นิยมในการบูชา “รูปเคารพ” เท่าใดนัก อิทธิพลที่ว่านี้อาจจะมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันการปกครองในการเริ่มและการลงเอยของลัทธิการทำลายรูปเคารพ

การใช้ “รูปเคารพ” แพร่หลายขี้นเป็นเวลานานก่อนที่เกิดการต่อต้าน การทำลายครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 695 เมื่อพระเจ้าจัสติเนียนที่ 2 โปรดให้ประทับพระพักตร์พระเยซูบนหลังเหรียญกษาปณ์ทองของพระองค์ ผลจากการเปลี่ยนในทางลัทธิการทำลายไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่ที่ทราบแน่ก็คือเคาะลีฟะฮ์Abd al-Malik ทรงแยกตัวอย่างถาวรจากการใช้เหรียญกษาปณ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาผลิตเหรียญกษาปณ์แบบอิสลามเองโดยมีแต่ตัวอักษรไม่มีภาพ[2] จดหมายจากบิชอปเจอร์มานุส (Germanus) ซึ่งเขียนก่อนปี ค.ศ. 726 ถึงบาทหลวง 2 องค์ที่มีความเชื่อในลัทธิกล่าวว่า “ขณะนี้ทั้งเมืองและคนจำนวนมากมีความไม่พึงพอใจในกรณีนี้” แต่เราไม่ทราบว่าหัวข้อนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเท่าใด[3]

การทำลายรูปเคารพระหว่างปี ค.ศ. 730 ถึงปี ค.ศ. 787

ระหว่างปี ค.ศ. 726 ถึงปี ค.ศ. 730 จักรพรรดิไบแซนไทน์ลีโอที่ 3 ทรงสั่งให้เอารูปของพระเยซูซึ่งตั้งอยู่อย่างเด่นชัดที่หน้าประตูชอล์ค (Chalke gate) ซึ่งเป็นประตูเมืองเอกที่ใช้เป็นทางเข้าพระราชวังคอนแสตนติโนเปิลออกและติดแทนด้วยกางเขน ผู้ที่ถูกสั่งให้เอารูปพระเยซูออกก็โดนถูกฆ่าตายโดยกลุ่มผู้ต่อต้าน[4]

ปัญหาการทำลายรูปเคารพสมัยไบแซนไทน์

เหตุผลของการทำลายรูปเคารพมักจะมาจากหลักฐานข้อเขียนของ “นักบูชารูปเคารพ” เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นการที่จะเข้าใจในเหตุผลของลัทธิทำลายรูปเคารพเราต้องเข้าใจว่า:

  • ผู้สนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพประณามการสร้างรูปเคารพ เช่น ภาพเขียน รูปปั้น ที่มิได้ใช้แทนพระเยซูหรือนักบุญของคริสต์ศาสนา เมื่อ ค.ศ. 754 ผู้สนับสนุนในการไม่ใช้รูปเคารพ อ้างว่า [ต้องการอ้างอิง]
“ตามคัมภีร์ไบเบิล และบิดาแห่งศาสนาขอประกาศพร้อมกันในนามของพระตรีเอกภาพว่าให้มีการนำรูปเคารพหรือสิ่งที่ทำเพื่อเป็นรูปเคารพที่ทำด้วยวัสดุและทาสีโดยจิตรกรที่มีความเชื่อทางร้ายออกจากโบสถ์.... ถ้าผู้ใดพยายามสร้างรูปที่ไม่ถูกต้องขอให้ผู้นั้นจงถูกสาปแช่ง.... ถ้าผู้ใดสร้างรูปเคารพแทนนักบุญโดยใช้วัสดุหรือสีที่ไม่ควร (เพราะเป็นสิ่งที่บันดาลใจโดยผีร้าย) และไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แทนคุณความดีของผู้ที่สัญลักษณ์ตั้งใจจะให้เป็น ขอให้ผู้นั้นจงถูกสาปแช่ง”
  • ผู้สนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพ มีความเชื่อว่ารูปเคารพทางศาสนาที่แท้จริงต้องเป็นรูปที่เหมือนตัวแบบโดยแท้จริง และเป็นเนื้อและสาระเดียวกับแม่แบบ ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทั้งไม้และสีเป็นสิ่งไร้ชีวิตที่ไม่สามารถใช้แทนผู้มีเลือดเนื้อได้ ฉะนั้นรูปเคารพเดียวที่ผู้เชื่อในลัทธิยอมรับว่าเป็นรูปเคารพของพระเยซูได้ คือ ศีลมหาสนิท ซึ่งประกอบด้วยเหล้าไวน์และขนมปังศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือกันว่าเป็นพระมังสะและพระโลหิตของพระเยซูที่แท้จริง
  • ผู้สนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพ เชื่อว่ารูปเคารพที่แท้จริงของพระเยซูต้องแสดงถึงทั้งความเป็นพระเจ้าของพระองค์ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นหรืออธิบายได้) และความเป็นมนุษย์พร้อมกันในรูปเดียว ซึ่งการสร้างรูปเคารพของพระเยซูที่ทำกันเป็นแยกความเป็นมนุษย์และความเป็นพระเจ้าของพระองค์ เพราะรูปเคารพเป็นสิ่งที่ใช้แทนมนุษย์ได้เท่านั้น
  • ผู้สนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพกล่าวว่ารูปเคารพที่ใช้เพื่อศาสนาเป็นการแสดงถึงความแตกแยกจากศาสนา รูปเคารพเป็นอิทธิพลจากซาตานซึ่งจะนำผู้นับถือคริสต์ศาสนากลับไปสู่ความเป็นคนนอกศาสนา
“ซาตานนำทางมนุษย์ในทางที่ผิด ทำให้นับถือในสิ่งชั่วร้ายที่มิใช่พระผู้สร้าง กฎของโมเสสและผู้เผยพระวจนะต่าง ๆ ก็บ่งให้ละทิ้งสิ่งเหล่านี้...แต่สิ่งที่ออกชื่อมาก่อนคือผู้ซึ่งเจ้าแห่งความชั่วร้าย...ก็ค่อย ๆ นำรูปเคารพกลับเข้ามาในพระวิหารในนามของคริสต์ศาสนา”[5]

ผู้ที่คัดค้านกับลัทธิทำลายรูปเคารพทางเทววิทยาคือนักบุญจอห์นแห่งดามัสกัส (John of Damascus) ผู้อาศัยในบริเวณที่ปกครองโดยมุสลิมและผู้เป็นที่ปรึกษาของเคาะลีฟะฮ์แห่งดามัสกัส นักบุญจอห์นแห่งดามัสกัสอยู่ใกลจากไบแซนไทน์พอที่จะพ้นจากการถูกลงโทษของผู้สนับสนุนลัทธิทำลายรูปเคารพ อีกผู้หนึ่งคือนักบุญทีโอดอร์สตูไดท์ (Theodore the Studite) ผู้เป็นนักพรตอยู่ที่อารามสตูดิโอสที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล นักบุญจอห์นประกาศว่าท่านไม่ได้บูชารูปเคารพแต่บูชาผู้สร้างรูปเคารพ ขณะเดียวกันท่านก็กล่าวว่าท่านบูชาสิ่งที่ราวกับได้มาจากอำนาจของพระเจ้า ซึ่งก็รวมถึงหมึกที่พระวรสารใช้เขียนและภาพเขียน ไม้ของกางเขน และพระมังสะและพระโลหิตของพระเยซู

การตอบโต้ของลัทธิบูชารูปเคารพต่อลัทธิทำลายรูปเคารพคือ:

  • การห้ามการสร้างรูปของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิลหมดอายุเมื่อพระเยซูมาเกิดเพราะพระเยซูเป็นองค์ประกอบที่สองของพระตรีเอกภาพซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ฉะนั้นจึงมิได้เป็นการสร้างรูปของพระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เป็นการสร้างรูปของพระเจ้าที่ปรากฏเป็นเลือดเนี้อ การมาเกิดของพระเยซูจึงเป็นการใช้เหตุผลสนับสนุนทฤษฏีการสร้างรูปเคารพ ซึ่งลัทธิทำลายรูปเคารพก็ใช้เหตุผลเดียวกันนี้ในการไม่ควรสร้างรูปเคารพ
  • นอกจากนั้นในความคิดเห็นของลัทธิบูชารูปเคารพยังกล่าวว่า “เทวรูป” (idol) เป็นสิ่งที่ไม่มีสาระและความแท้จริง ในขณะที่ “รูปเคารพ” (icon) เป็นรูปของคนจริง กล่าวง่าย ๆ คือ “รูปทางศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาที่เราเชื่อคือ “เทวรูป” และรูปทางศาสนาที่เราเชื่อคือรูปเคารพที่ใช้ในการบูชา” ซึ่งเทียบได้กับพิธีปฏิบัติในพันธสัญญาเดิมของการเผาเครื่องบูชาแก่พระเจ้าได้เท่านั้นและปฏิบัติไม่ได้แก่เทพนอกศาสนา
  • แม้จะมีข้อเขียนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการบูชารูปรูปเคารพ ผู้ที่สนับสนุนลัทธิบูชารูปเคารพกล่าวว่ารูปเคารพเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเล่าต่อที่มิได้บันทึกไว้ในภาษาเขียน
  • ผู้สนับสนุนลัทธิบูชารูปเคารพ อ้างปาฏิหาริย์ของ “รูปเคารพจากทูตสวรรค์” (Acheiropoieta) เช่น รูปเคารพของพระแม่มารีย์ที่กล่าวกันว่าวาดโดยตัวนักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสารเอง และปาฏิหาริย์ที่เกิดเพราะรูปเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการใช้รูปเคารพควรจะเป็นที่ยอมรับ
  • นอกจากนั้นผู้ที่สนับสนุนลัทธินิยมรูปสัญลักษณ์ ยังกล่าวว่าการที่จะตัดสินว่าควรจะบูชารูปสัญลักษณ์หรือไม่นั้นควรจะเป็นการตัดสินอย่างเป็นทางการของสภาศาสนามิใช่เป็นการตัดสินโดยจักรพรรดิหรือนักการเมือง ฉะนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสถาบันศาสนาและรัฐด้วย
  • ข้อย่อยอีกข้อของผู้ที่สนับสนุนลัทธิบูชารูปเคารพคือเป็นการที่ไร้เหตุผลที่ไม่อนุญาตการบูชารูปเคารพของพระเจ้าแต่อนุญาตการบูชารูปของจักรพรรดิที่เป็นมนุษย์ธรรมดาได้

ลัทธิทำลายรูปเคารพในศาสนาอิสลาม

สิ่งสำคัญที่ควรกล่าวเกี่ยวกับประวัติศาสนาอิสลามคือการนำ “เทวรูป” ออกจากมัสยิดฮะรอมซึ่งเป็นที่ตั้งของกะอฺบะหฺสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามถือว่าเป็นเหตุการณ์สัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม

โดยทั่วไปแล้วในศาสนาอิสลามเลี่ยงการสร้างรูปเหมือนของผู้ที่หรือสิ่งที่มีชีวิตภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเช่นมัสยิด การห้ามการใช้รูปเคารพมิได้มาจากคัมภีร์อัลกุรอานโดยตรงแต่มาจากประเพณีหลายประเพณีในประวัติที่เล่าต่อกันมาเกี่ยวกับมุฮัมมัด (หะดีษ) การห้ามใช้รูปเคารพนี้มิได้ห้ามในที่อยู่อาศัยซึ่งจะเห็นได้จากศิลปะการสร้างรูปเคารพทางศิลปะอิสลาม[6]

นักเขียนทางตะวันตกมักจะกล่าวว่าการห้ามการใช้รูปเคารพในสังคมอิสลามเป็นวัฒนธรรมที่สร้างสมมาจากการทำลายรูปเคารพอย่างรุนแรงมาตลอด[7] เช่นการทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยันเมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งนักประชาสัมพันธ์ทางตะวันตกสรุปว่าเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการต่อต้านการใช้รูปเคารพ การสรุปเช่นนั้นเป็นการมองข้ามความอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธศาสนิกชนและผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีมาร่วมพันปีก่อนที่จะเกิดการทำลาย[8] และรูปปั้นที่ถูกทำลายก็มีการพยายามทำลายมาก่อนหน้านั้นสองครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ ตามความเห็นของฟลัด (Flood) เหตุผลในการการทำลายพระพุทธรูปเมื่อปี ค.ศ. 2001 เป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเหตุผลทางศาสนา[9]

การทำลายรูปสัญลักษณ์ครั้งแรกของมุสลิมเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 630 เมื่อมีการทำลายรูปปั้นเทพราว 300 องค์ ของศาสนาดั้งเดิมของชาวเมกกะ ที่ตั้งอยู่ในมัสยิดฮะรอมซึ่งเป็นที่ตั้งของกะอฺบะหฺ แต่กล่าวกันว่ามุฮัมมัดมิได้ทำลายจิตรกรรมฝาผนังของพระแม่มารีย์ การทำลายครั้งนี้เป็นการหยุดยั้งการบูชา “เทวรูป” ซึ่งตามความเห็นของศาสนาอิสลามถือว่าเป็นการแสดงออกของความไร้การศึกษา

การทำลายรูปรูปเคารพที่มักกะฮ์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อถือในศาสนาอื่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมหลังจากการขยายอำนาจของเคาะลีฟะฮ์ คริสต์ศาสนิกชนภายใต้การปกครองของมุสลิมยังคงสร้างรูปเคารพและใช้รูปเคารพตกแต่งวิหารอย่างที่เคยเป็นมา ยกเว้นเพียงครั้งเดียวระหว่างการใช้ “กฤษฎีกายาซิด” (Edict of Yazīd) ของเคาะลีฟะฮ์ยาซิดที่สอง ระหว่างปี ค.ศ. 722 ถึงปี ค.ศ. 723 [10] ซึ่งสั่งให้ทำลายกางเขนและรูปเคารพทางคริสต์ศาสนาภายใต้รัฐเคาะลีฟะฮ์

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นการทำลายรูปเคารพโดยลอกรูปออกจากพื้นโมเสกพบที่ประเทศจอร์แดน แต่การทำลายครั้งนี้ก็มิได้เกิดขึ้นทุกวิหาร และ “กฤษฎีกายาซิด” ก็มิได้มีการปฏิบัติต่อมาโดยผู้สืบการปกครองต่อจากเคาะลีฟะฮ์ยาซิดที่สอง ฉะนั้นการสร้างรูปสัญลักษณ์ของบริเวณตะวันออกกลางก็เป็นการหยุดยั้งเพียงชั่วคราวก่อนที่จะทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9[11]

การทำลายรูปเคารพระหว่างการปฏิรูปศาสนาในยุโรป

ภาพแสดงให้เห็นการทำลายรูปเคารพโดยกลุ่มคาลวินเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1566
รูปภาพจากค.ศ. 1563 ในหนังสือ “หนังสือว่าด้วยเหล่ามรณสักขีของฟ็อกซ์” ที่แสดงให้เห็น “วิหารที่ถูกล้าง” “การทำลายรูปเคารพ” และ “พวกนิยมสันตะปาปาเก็บของหนี”

นักปฏิรูปศาสนาโปรเตสแตนต์โดยเฉพาะอันเดรียส คาร์ลชตัท (Andreas Karlstadt), ฮุลดริช ซวิงลี และฌ็อง กาลแว็งสนับสนุนการทำลายรูปเคารพโดยอ้างว่าบัญญัติ 10 ประการ บ่งว่าห้ามการมีรูปเคารพและการสร้างรูปพระเจ้า ซึ่งเป็นผลที่ทำให้มีการทำลายรูปเคารพทางศาสนา การโจมตีผู้นิยมรูปเคารพ และการก่อความไม่สงบต่าง ๆ ทั่วไปในยุโรป แต่การทำลายรูปเคารพทางศาสนาทั่ว ๆ ไปเป็นไปอย่างไม่มีการก่อความไม่สงบ

การจลาจลที่เกิดจากการทำลายรูปเคารพเกิดขึ้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1523, ที่เมืองโคเปนเฮเกน เมื่อปี ค.ศ. 1530, เมืองมึนสเตอร์เมื่อปี ค.ศ. 1534, เจนีวา เมื่อปี ค.ศ. 1535, เอาคส์บวร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1537 และ และ สกอตแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1559 สิบเจ็ดมณฑลในประเทศเนเธอแลนด์และเบลเยียม และบางส่วนทางตอนเหนือของฝรั่งเศสได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์จากผู้สนับสนุนการทำลายรูปเคารพทางศาสนาเมื่อฤดูร้อนปี ค.ศ. 1566 การโจมตีครั้งนี้เรียกว่า “เบลเดนสตรอม” (Beeldenstorm) ซึ่งทำลายรูปปั้นภายในอารามเซนต์ลอเรนซ์ที่สตีนวูรด์ (Steenvoorde) หลังจากการเทศนากลางแปลงโดยเซบาสเตียน แม็ท (Sebastiaan Matte) และการปล้นอารามเซนต์แอนโทนีหลังจากการเทศนาโดยเจคอป เดอ บุยเซีย (Jacob de Buysere) “Beeldenstorm” เป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามแปดสิบปี” เพื่อต่อต้านกองกำลังสเปนและคริสตจักรคาทอลิก

ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ บิชอปโจเซฟ ฮอลแห่งนอริช (Bishop Joseph Hall of Norwich) บรรยายเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. 1643 เมื่อกองทหารและประชาชนที่ถูกยุยงโดยรัฐสภาให้ต่อต้านความเชื่องมงายและรูปเคารพเข้ามาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในโบสถ์ไม่ว่าจะเป็นกระจกหน้าต่าง ผนัง รูปอนุสรณ์ หรือเก้าอี้อิง ทิ้งเหล็กและทองเหลืองออกจากหน้าต่าง ทำลายรูปปั้น, ออร์แกน ห้องแต่งตัวของนักบวช เลื่อยไม้กางเขนจากแท่นเทศน์ เผาหนังสือสวดมนต์ และอื่น ๆ การบันทึกการทำลายเช่นนี้ทำให้เราเห็นภาพพจน์ของความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้อย่างชัดเจน

วิลเลียม เดาซิง (William Dowsing) ผู้เป็นนักปฏิรูปศาสนาคนสำคัญถูกจ้างโดยรัฐบาลให้ไปดูงานการทำลายรูปเคารพตามโบสถ์ต่าง

ๆ ในหมู่บ้านและเมืองในบริเวณอีสท์อังเกลีย เดาซิงบันทึกการทำลายไว้ที่ยังคงอยู่คือการทำลายในบริเวณซัพฟิคและเคมบริดเชอร์[12]

ไม่ใช่ชาวโปรเตสแตนต์ทุกคนจะเห็นด้วยกับลัทธิทำลายรูปเคารพของศาสนาหรือการใช้รูปเคารพในการสักการบูชา มาร์ติน ลูเทอร์ผู้เป็นผู้นำในการแยกตัวจากนิกายโรมันคาทอลิกเองกล่าวว่าผู้นับถือศาสนาคริสต์ควรจะมีเสรีภาพในการบูชารูปทางศาสนาใด ๆ ก็ได้ตราบที่ไม่เป็นการบูชารูปแทนพระเป็นเจ้า แต่ฮุลดริช ซวิงลีผู้พยายามอนุรักษ์คำสอนของพระเจ้าเป็นปฏิปักษ์ต่อรูปสัญลักษณ์ทุกชนิด มาร์ติน ลูเทอร์ผู้ต้องการอนุรักษ์คำสอนเช่นกันเห็นว่างานศิลปะทุกอย่างเป็นงานที่ทำเพื่อพระวรสาร มาร์ติน ลูเทอร์นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการทำลายศิลปะเช่นที่ผู้มีความคิดเห็นรุนแรงต้องการจะทำแล้วยังสนับสนุนการสร้างศิลปะเพื่อศาสนาด้วย โดยเฉพาะดนตรีซึ่งลูเทอร์เห็นว่าเป็นที่สร้างขึ้นเพื่อพระเจ้าและประทานให้โดยพระเจ้า ลูเทอร์ยกตัวอย่างจากภาพของพระเจ้า ทูตสวรรค์ มนุษย์ และสัตว์ในคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะงานของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร หรือหนังสือโมเสส และหนังสือโยชูวา และยังเสนอให้มีภาพเขียนเหล่านี้บนผนังโบสถ์เช่นเดียวกับคัมภีร์เพื่อเป็นความเพิ่มความเข้าใจในศาสนามากขึ้น

อ้างอิง

  1. "The birth and growth of Utrecht (ที่มาและความเจริญเติบโตของอูเทรชท์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-30. สืบค้นเมื่อ 2008-02-06.
  2. Robin Cormack, Writing in Gold, Byzantine Society and its Icons, 1985, George Philip, London, ISBN 054001085-5
  3. C Mango, "Historical Introduction," in Bryer & Herrin, eds., Iconoclasm, pp. 2-3., 1977, Centre for Byzantine Studies, University of Birmingham, ISBN 0704402262
  4. see Theophanes, Chronographia
  5. Epitome, Iconoclast Council at Hieria, 754
  6. F.B. Flood, "Between cult and culture: Bamiyan, Islamic iconoclasm, and the museum," The Art Bulletin 84 (2002), 643-44.
  7. F.B. Flood, "Between cult and culture: Bamiyan, Islamic iconoclasm, and the museum," The Art Bulletin 84 (2002), 641.
  8. F.B. Flood, "Between cult and culture: Bamiyan, Islamic iconoclasm, and the museum," The Art Bulletin 84 (2002), 654.
  9. F.B. Flood, "Between cult and culture: Bamiyan, Islamic iconoclasm, and the museum," The Art Bulletin 84 (2002), 651-55.
  10. A. Grabar, L'iconoclasme byzantin: le dossier archéologique (Paris, 1984), 155-56.
  11. G.R.D. King, "Islam, iconoclasm, and the declaration of doctrine," Bulletin of the School of Oriental and African Studies 48 (1985), 276-7.
  12. 1885 edition of the diaries of the English puritan iconoclast William Dowsing on-line from Canadian libraries

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!