รณชัย รังสิโย (ชื่อเล่น:แซม) เกิดวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เป็นนักฟุตบอลชาวไทย ในตำแหน่งกองหน้า ปัจจุบันเล่นให้กับโตโก คัสตอม ยูไนเต็ด ในไทยลีก 3
รณชัยเคยเป็นนักเตะในอะคาเดมีของสโมสรเอฟเวอร์ตัน และได้ลงแข่งขันในลีกระดับเยาวชน ที่อังกฤษ ในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549 หลังกลับมาจากอังกฤษ รณชัย ค้าแข้งให้กับหลายสโมสร ทั้งราชประชา ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ,ตำรวจ,เมืองทองฯ ยูไนเต็ด,บีอีซี เทโรศาสน
โดยรณชัย รังสิโย เป็นหนึ่งในนักเตะของสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ชุดคว้าแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ได้เป็นสมัยแรกของสโมสร และสามารถคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก ได้อีกครั้งกับสโมสรเมืองทองฯ ยูไนเต็ด อีกทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่ยิงประตูเร็วที่สุดในการแข่งขันโตโยต้า ลีกคัพ ที่ 14 วินาที และยิงประตูได้มากที่สุดใน 1 นัดของการแข่งขันไทยคม เอฟเอคัพ ที่ 5 ประตู
ประวัติ
รณชัย รังสิโย เกิดที่จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของไพรัตน์ รังสิโย และ เชียงเดือน ยงสวัสดิ์ เข้ารับการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา และย้ายมาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ รณชัยเป็นหนึ่งในสามเยาวชนไทยผู้ผ่านการคัดเลือก ให้เข้าไปฝึกในอะคาเดมีของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548
รณชัย อยู่ในอะคาเดมีของเอฟเวอร์ตันนาน 9 เดือน ระหว่างนั้นเคยกลับมาแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 23 คว้าแชมป์ให้โรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วนที่อังกฤษ รณชัยลงแข่งขันในฟุตบอลลีกระดับ U-18 ให้สโมสรเอฟเวอร์ตัน จากนั้นจึงกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2549 และเล่นฟุตบอลระดับนักเรียนให้โรงเรียนอัสสัมชัญ ในรายการฟุตบอลนักเรียน สพก. รุ่นอายุ 18 ปี ก.
การเล่นฟุตบอลระดับสโมสร
หลังกลับมาจากอะคาเดมี ของเอฟเวอร์ตัน รณชัย ที่กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้มีโอกาสเซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2549 และได้ลงสนามให้สโมสรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ในการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก นัดที่การไฟฟ้าฯ แพ้ในบ้านต่อสโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 0-1 โดยถูกส่งลงมาเป็นตัวสำรอง
ราชประชา
ต่อมารณชัย ได้ลงเล่นในฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภท ข. ครั้งที่ 73 ในปี 2549 ให้กับสโมสรกีฬาราชประชา โดยย้ายมาเล่นพร้อมกับธีรศิลป์ แดงดา ,แซมมวล ป.คันนิ่งแฮม,นฤพล อารมณ์สวะ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี และวิสูตร บุญเป็ง จากมหาวิทยาลัยมหิดล
โดยรณชัย ในวัย 18 ปี ติดทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก รอบคัดเลือก ภายใต้การคุมทีมของประพล พงษ์พาณิช ในต้นปี พ.ศ. 2550
ตำรวจ (ยืมตัว)
ฤดูกาล 2550 รณชัย รังสิโย ถูกส่งไปให้สโมสรฟุตบอลตำรวจที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกยืมตัวไปใช้งาน ในเลกที่ 2
โดยรณชัย รังสิโย ลงเล่น ให้กับสโมสรตำรวจ ภายใต้การคุมทีมของวิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ ได้รับเบอร์เสื้อหมายเลข 29 แต่ผลงานของทีมไม่ดีนักโดยได้อันดับสุดท้ายของตารางคะแนนเมื่อจบฤดูกาล และตกชั้นไปเล่นไทยลีก ดิวิชัน 1 โดยรณชัย รังสิโย ยิงในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกให้สโมสรตำรวจไป 2 ประตู หนึ่งในนั้นเป็นการยิงประตูต่อหน้าแฟนบอลในสนามเหย้าของสโมสร นัดที่แพ้สโมสรฟุตบอลทีโอที 1-2 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550 [1]
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ฤดูกาล 2551 รณชัย รังสิโย กลับมาเล่นให้กับสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้นสังกัดที่แท้จริง ภายใต้การคุมทีมของประพล พงษ์พานิช ได้เบอร์เสื้อหมายเลข 14 และได้รับโอกาสลงสนามให้การไฟฟ้าฯนัดแรกของฤดูกาลนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ในการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ที่พบกับสโมสรโค้ก-เทศบาลตำบลบางพระ ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาในครึ่งหลัง และสามารถยิงประตูชัยให้ทีมเอาชนะไปได้ 2-1
หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม รณชัย รังสิโย ก็ค่อยๆฉายแววดาวยิงให้เห็นทีละน้อยเมื่อยิง 3 ประตูจาก 4 นัดในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก เริ่มจากการยิงประตูใส่บีอีซี เทโรศาสน แม้ว่าทีมจะแพ้ไป 1-2[2] จากนั้นก็เป็นคนยิงประตูชัยในนัดที่บุกไปชนะสโมสรศุลกากร 1-0 ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมายิงอีก 1 ลูกในชัยชนะเหนือสโมสรจุฬาฯ-สินธนา 2-0 ทำให้รณชัย ในวัย 19 ปี ขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวจริงของสโมสรอย่างรวดเร็ว
วันที่ 2 เมษายน รณชัย ที่ฟอร์มกำลังยอดเยี่ยม ยิงคนเดียว 2 ประตู ในนัดที่เปิดบ้านเอาชนะสโมสรธนาคารกรุงเทพ ไปได้ 2-0 ในลีก [3] และต่อมาวันที่ 26 เมษายน เขาโหม่งประตูชัยให้ต้นสังกัดบุกมาชนะสโมสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1-0 ถึงสนามกีฬามหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต และมายิงในลีกเพิ่มได้อีก 1 ลูก ในนัดที่เปิดบ้านชนะสโมสรทหารบก 2-0 เมื่อวันที่ 30 เมษายน
หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ฟอร์มการเล่นของรณชัยแผ่วลงไป โดยเขายิงประตูให้ทีมไม่ได้ถึงเกือบสามเดือน อย่างไรก็ตามในการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก เลกที่ 2 เขากลับมายิงประตูได้อีกครั้ง โดยวันที่ 26 กรกฎาคม นัดที่เล่นในบ้านพบกับสโมสรสมุทรสงคราม เอฟซี เขาเป็นคนยิงให้ทีมเฉือนชนะไป 1-0
ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ รณชัย ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เขายิงประตูที่ 10 ในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ของเขาได้ในนัดที่เปิดบ้านชนะสโมสรธนาคารกรุงไทย 2-1 และยังเป็นผู้ยิงประตูชัยให้ทีมบุกมาคว้าชัยชนะเหนือสโมสรทหารบก 1-0 โดยช่วงท้ายฤดูกาลเขายังคงโชว์ฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่องด้วยการยิงคนเดียวอีก 2 ประตู ใส่สโมสรฟุตบอลการท่าเรือไทย ในนัดที่บุกไปคว้าชัยชนะได้ 2-0 ถึงสนามแพตสเตเดียม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม [4] และพาสโมสรรั้งตำแหน่งจ่าฝูง จากนั้นเขายิงอีก 2 ประตูในนัดที่ถล่มสโมสรนครปฐม เอฟซี 4-0 ในบ้าน และยิงปิดท้ายในนัดสุดท้ายของฤดูกาลในชัยชนะเหนือโค้ก-บางพระ 1-4
จบฤดูกาลสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถคว้าแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเป็นสมัยแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรได้สำเร็จ พร้อมได้รับสิทธิแข่งขันในรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกรอบเพลย์ออฟ โดยรณชัย รังสิโยที่เป็นดาวยิงประจำทีมสามารถคว้าตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยม รวมถึงตำแหน่งรองดาวซัลโวสูงสุดในการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2551 ไปครองที่ 16 ประตู
จากผลงานที่ยอดเยี่ยมในระดับสโมสรทำให้รณชัย ถูกปีเตอร์ รีด เรียกตัวติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ในกาแข่งขัน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2008
ในฤดูกาล 2552 รณชัยเริ่มต้นกับสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ด้วยการลงแข่งขันในเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบเพลย์ออฟ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยพบกับสโมสรสิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ แชมป์ลีกจากประเทศสิงคโปร์ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แพ้ในช่วงต่อเวลาพิเศษไป 1-4 ตกรอบเพลย์ออฟ และต้องลงมาแข่งขันในรายการเอเอฟซีคัพ รอบแบ่งกลุ่มแทน จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม รณชัยลงเล่นในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก. ครั้งที่ 74 และคว้าตำแหน่งรองแชมป์ โดยแพ้ให้กับชลบุรี เอฟซี
ต่อมารณชัย ได้ลงสนามในเอเอฟซี คัพ นัดแรกในวันที่ 17 มีนาคม ในนัดที่ชนะสโมสรโฮม ยูไนเต็ด จากประเทศสิงคโปร์ 2-1 ที่สนามศุภชลาศัย โดยถูกส่งมาเล่นแทน ริชาร์ด ฟัลเกา กองหน้าชาวบราซิล ในช่วง 30 นาทีสุดท้าย [5]
รณชัย ยิงประตูแรกในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ได้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ในนัดที่เสมอกับสโมสรทีโอที 1-1 ที่สนามกลีบบัว จ.กาญจนบุรี [6] จากนั้นเขายิงให้ทีมบุกมาแบ่งแต้มกับสโมสรนครปฐม เอฟซี 1-1 ได้ที่สนามกีฬา ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
วันที่ 5 พฤษภาคม รณชัย ยิงประตูในการแข่งขันระดับทวีปได้เป็นครั้งแรกในเอเอฟซีคัพ นัดที่ชนะสโมสรคลับ วาเลนเซีย แชมป์ลีกจากประเทศมัลดีฟส์ 4-1
แต่ด้วยผลงานในลีกของทีมโดยรวม ที่ชนะเพียงแค่ 2 นัดจากการแข่งขันใน 9 นัด ทำให้สโมสรเปลี่ยนแปลงผู้ฝึกสอนเป็นทองสุข สัมปหังสิต ในเดือนพฤษภาคม และอีก 2 เดือนต่อมา ในช่วงเลกที่ 2 ของฤดูกาล สโมสรก็ตัดสินใจขายรณชัยให้กับเมืองทอง ยูไนเต็ด
เมืองทองฯ ยูไนเต็ด
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 รณชัย รังสิโย ย้ายมาร่วมทีมเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในไทยพรีเมียร์ลีกเป็นปีแรก ด้วยค่าตัว 300,000 บาท บวกกับสุริยา ดอมไธสง [7] โดยรณชัยได้รับเบอร์เสื้อหมายเลข 9
วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 รณชัย เปิดตัวต่อหน้าแฟนบอลในสนามธันเดอร์โดม ในการแข่งขันอุ่นเครื่องนัดพิเศษระหว่างทีมชาติไทยชุดใหญ่ กับสโมสรเมืองทองฯ ยูไนเต็ด โดยรณชัย โหม่งให้สโมสรขึ้นนำทีมชาติไทย 1-0 แต่ในช่วงท้ายครึ่งแรกเขากลับได้รับบาดเจ็บหนักจากการปะทะกับณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์กองหลังทีมชาติไทย จนหัวเข่าขวาบิดอย่างแรง ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลพญาไท ก่อนที่จบการแข่งขันทีมชาติไทยจะบุกมาชนะ 3-2
ผลจากการบาดเจ็บอย่างหนักทำให้รณชัยต้องพักฟื้นยาว และไม่สามารถลงสนามให้ทีมได้ตลอดทั้งฤดูกาลที่เหลือ โดยจบฤดูกาลเมืองทองฯ ยูไนเต็ด สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดไปครองได้สำเร็จ แต่รณชัยที่ประสบปัญหาบาดเจ็บไม่มีส่วนร่วมกับทีมและยังคงต้องรอการลงสนามนัดแรกของเขาต่อไป
หลังจากที่ต้องรักษาอาการบาดเจ็บหัวเข่าและพักฟื้นเป็นเวลานานถึง 11 เดือน รณชัย รังสิโย กลับมาลงสนามได้อีกครั้งในฤดูกาล 2553 โดยเขาได้ลงสนามให้สโมสรเมืองทองฯ ยูไนเต็ด อย่างเป็นทางการนัดแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ในไทยพรีเมียร์ลีก นัดที่เปิดบ้านชนะสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด 1-0 โดยเขาเป็นตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาเล่นแทนโคเน โมฮาเหม็ด ในช่วง 20 นาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลา [8]
รณชัย เป็นที่จดจำของแฟนบอลเมืองทองฯ จากการแข่งขันไทยคม เอฟเอคัพ 2553 รอบที่ 3 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน โดยเมืองทองฯ เปิดบ้านรับการมาเยือนของสโมสรบ้านบึง-นวนคร นครนายก จากถ้วย ค. และเป็นรณชัย ที่ยิงคนเดียวถึง 5 ประตู ก่อนจะจบลงด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายถึง 11-0 โดยนับเป็นการทำแฮตทริกเป็นครั้งแรกในการเล่นฟุตบอลอาชีพของเขา และยังเป็นนักเตะคนแรกของสโมสรเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ที่สามารถทำแฮตทริกได้นับแต่ก่อตั้งสโมสรมา พร้อมกันนี้ยังทำให้เขาได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ที่ยิงประตูได้มากที่สุดใน 1 นัดสำหรับการแข่งขันในถ้วยไทยคม เอฟเอ คัพ ที่จำนวน 5 ประตู
ต่อมารณช้ย ยิงประตูแรกในไทยพรีเมียร์ลีกให้ต้นสังกัดได้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ในการออกไปเยือนสโมสรทหารบก ที่สนามกีฬากองทัพบก โดยรณชัยได้บอลทางฝั่งขวา และเลี้ยงบอลไปจนสุดเส้นหลังแทบจะไม่มีมุมยิง จากนั้นเขาตัดสินใจชิพบอลในมุมแคบ และบอลย้อยใต้คานเข้าประตูไปอย่างสวยงามอย่างไม่มีใครคาดคิด ทำให้ทีมบุกมาขึ้นนำ 2-1 ก่อนจะเสมอกันไป 2-2
ในช่วงท้ายฤดูกาล รณชัย สร้างสถิติใหม่อีกครั้ง ในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยโตโยต้า ลีกคัพ 2553 รอบ 32 ทีมสุดท้าย นัดที่เปิดบ้านชนะสโมสรฟุตบอลแอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด 4-1 โดยได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ที่ยิงประตูได้เร็วที่สุด เมื่อใช้เวลาเพียง 14 วินาที[9]
เมื่อจบฤดูกาลสโมสรสามารถคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แต่จากปัญหาอาการบาดเจ็บที่รุมเร้า ทำให้เขาไม่สามารถแจ้งเกิดกับสโมสรได้อย่างเต็มตัว โดยในฤดูกาล 2553 นี้ เขาได้ลงเล่นไป 16 นัด (เป็นการลงเล่นในไทยพรีเมียร์ลีกเพียง 7 นัด และลงเล่นฟุตบอลถ้วย ไป 9 นัด) ยิงในลีกไปเพียงแค่ 1 ลูก และยิงในฟุตบอลถ้วย 6 ลูก
อย่างไรก็ตาม รณชัย รังสิโย ยังมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ไปแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2010 ที่ประเทศจีน ต่อมาในเดือนธันวาคม เขาถูกปล่อยตัวให้บีอีซี เทโรศาสนในฐานะส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่สโมสรขอซื้อตัวอานนท์ สังข์สระน้อย
บีอีซี เทโรศาสน
ฤดูกาล 2554 รณชัย รังสิโย ย้ายมาเล่นให้กับบีอีซี เทโรศาสน ภายใต้การคุมทีมของปีเตอร์ บัตเลอร์ โค้ชชาวอังกฤษ ได้รับเบอร์เสื้อหมายเลข 9 และลงสนามให้สโมสรเป็นนัดแรก ในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นัดที่เปิดบ้านแพ้สโมสรบุรีรัมย์-พีอีเอ ไป 1-2 ที่สนามเทพหัสดิน โดยเป็นตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาในครึ่งหลัง
และมายิงประตูแรกให้บีอีซี เทโรศาสน ได้ในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นัดที่บุกมาชนะสโมสรทีทีเอ็ม เอฟซี-พิจิตร 2-1 ที่สนามพิจิตร สเตเดี้ยม [10]
ในเดือนมีนาคม รณชัย ยิงคนเดียว 2 ประตู ให้ทีมชนะราชนาวีสโมสร 2-0 ที่สนามเทพหัสดิน[11] ก่อนที่จะมายิงประตูชัยให้ทีมเฉือนชนะศรีราชา ซูซูกิ เอฟซี 1-0 ในไทยพรีเมียร์ลีก
ต่อมาวันที่ 6 เมษายน เขายิง 1 ประตูในนัดที่เปิดบ้านชนะสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด 3-1 และยิงอีก 1 ประตู เมื่อวันที่ 23 เมษายน ในนัดที่ชนะสโมสรขอนแก่น เอฟซี 3-1 [12] ในเดือนมิถุนายน รณชัย ยิงประตูได้ในนัดที่แพ้คาบ้านต่อสโมสรโอสถสภา เอ็ม-150 สระบุรี 1-3
แม้ฤดูกาลนี้เขาจะได้ลงเล่นเป็นตัวจริงและกลับมายิงประตูอย่างต่อเนื่อง แต่ผลงานของทีมไม่เป็นที่น่าพอใจนัก โดยสโมสรพบกับความพ่ายแพ้ถึง 8 นัด จากการลงแข่งขัน 16 นัดในลีกและเป็นการแพ้ถึง 4 นัดรวด ทำให้ปีเตอร์ บัตเลอร์ กุนซือของทีมถูกปลด และแทนที่ด้วยพยงค์ ขุนเณร ในช่วงเดือนมิถุนายน
หลังจากเปลี่ยนแปลงกุนซือใหญ่ สโมสรก็เริ่มมีผลงานดีขึ้น โดยเมื่อวันที่12 มิถุนายน รณชัย ยิง 2 ประตูใส่สโมสรทีโอที เอสซี และพาทีมบุกไปคว้าชัยชนะมาได้ 3-1 [13] จากนั้นสัปดาห์ต่อมา ในการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ลีกคัพ 2554 รอบ 64 ทีมสุดท้าย รณชัย ยิงคนเดียวอีก 2 ประตู พาทีมบุกมาชนะจามจุรี ยูไนเต็ด ถึงสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2-0 [14]และปิดฉากเลกแรกของฤดูกาล ด้วยการยิงประตูให้สโมสรไป 11 ประตู โดยเป็นการยิงในไทยพรีเมียร์ลีกถึง 9 ประตู
ในเลกที่ 2 ของฤดูกาล 2554 รณชัยยิงประตูช่วยให้ทีมเอาชนะสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี 2-0 ในการแข่งขันโตโยต้า ลีกคัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม และพาทีมผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้สำเร็จ โดยในรอบก่อนรองชนะเลิศบีอีซี เทโรศาสน ต้องพบกับสโมสรบุรีรัมย์-พีอีเอ ในการแข่งขันนัดแรกที่สนามไอโมบาย สเตเดี้ยม รณชัย ยิงให้ทีมขึ้นนำ 1-0 แต่กลับแพ้ไป 1-2 เมื่อหมดเวลา ส่วนในนัดที่ 2 แม้รณชัยจะยิงได้แต่ทีมก็แพ้คาบ้านไปอีก 2-6 ทำให้รวมสองนัดต้องตกรอบไปในที่สุด
ต่อมาเขายิงประตูที่ 10 ในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ได้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ในนัดที่บุกมาชนะสโมสรศรีราชา เอฟซี ถึงสนามซูซูกิ สเตเดี้ยม 1-0 [15]
รณชัย รังสิโย สามารถทำแฮตทริกได้เป็นครั้งที่ 2 ในอาชีพนักฟุตบอล โดยเป็นการทำแฮตทริกครั้งแรกในระดับไทยพรีเมียร์ลีก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ในนัดที่เปิดบ้านถล่มสโมสรทีทีเอ็ม เอฟซี-พิจิตรไป 3-0 [16]
ในช่วงท้ายฤดูกาล เมื่อวันที่ 25 กันยายน รณชัยโหม่งประตูชัยให้ทีมเฉือนชนะสโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด ไปได้ 1-0 ที่สนามเทพหัสดิน [17] จากนั้นรณชัย ยิงได้อีก 1 ประตูในการแข่งขันไทยคม เอฟเอคัพ 2554 รอบ 16 ทีมสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยเอาชนะศรีสะเกษ เอฟซีไปได้ 2-0
รณชัย ยิงประตูที่ 15 ในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ได้ในนัดที่บุกมาชนะขอนแก่น เอฟซี 3-0 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม[18]
จบฤดูกาล 2554 รณชัยลงสนาม 37 นัด (ในไทยพรีเมียร์ลีก 31 นัด ลีกคัพ 5 นัด เอฟเอคัพ 1 นัด) และยิงไป 21 ประตู (ในไทยพรีเมียร์ลีก 15 ประตู ลีกคัพ 5 ประตู เอฟเอคัพ 1 ประตู) เป็นดาวซัลโวสูงสุดของทีม และติดทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2011 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียโดยรณชัย เป็นกัปตันทีมชาติในชุดนั้น แต่กลับตกรอบแรก
ฤดูกาล 2555 สโมสรเปลี่ยนแปลงผู้ฝึกสอนอีกครั้งเป็น แอนดรูว์ ออร์ด และหันมาใช้ระบบกองหน้าคนเดียว โดยรณชัย ที่เป็นดาวยิงของทีมในฤดูกาลที่แล้ว ต้องตกเป็นตัวสำรองของ คลีตัน ซิลวา กองหน้าคนใหม่ชาวบราซิลที่ย้ายมาจากสโมสรโอสถสภา เอ็ม–150 และมักจะได้ลงสนามในช่วงท้ายของการแข่งขัน ซึ่งกว่าที่เขาจะยิงประตูได้ต้องรอจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน ในการแข่งขันโตโยต้า ลีกคัพ 2555 รอบ 64 ทีมสุดท้าย นัดที่ต้องออกไปเยือนสโมสรลำปาง เอฟซี ที่สนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง โดยรณชัยยิง 1 ประตูจากจุดโทษ และช่วยให้ทีมบุกไปชนะถึง 5-0 และมายิงประตูแรกในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ได้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ในนัดที่บุกไปชนะสโมสรวัวชน ยูไนเต็ด 2-1 ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ โดยเขาถูกส่งลงมาเป็นตัวสำรองและโหม่งประตูชัย ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ[19] และในนัดต่อมาที่เปิดบ้านพบสโมสรชลบุรี เอฟซีเขาได้รับโอกาสลงเล่นเป็นตัวจริง เนื่องจากปัญหาอาการบาดเจ็บของคลีตัน ซิลวา กองหน้าตัวจริงของทีม และสามารถโหม่งให้ทีมขึ้นนำได้ 1-0 ก่อนที่จะกลายเป็นฝ่ายแพ้ไป 1-2 เมื่อหมดเวลา หลังจากคลีตัน ซิลวา หายจากอาการบาดเจ็บ รณชัยตกเป็นตัวสำรองอีกครั้ง โดยยิงในลีกได้อีก 1 ประตู ในนัดที่เสมอกับสโมสรตำรวจ 2-2 ที่สนามเทพหัสดิน เมื่อวันที่ 1 กันยายน และจบฤดูกาลด้วยการยิงประตูในไทยพรีเมียร์ลีกไปเพียงแค่ 3 ประตู ก่อนจะหมดสัญญากับทีมในเดือนธันวาคม
แบงค็อก ยูไนเต็ด
หลังหมดสัญญากับบีอีซี เทโรศาสน รณชัย รังสิโย ย้ายมาร่วมทีมแบงค็อก ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในไทยพรีเมียร์ลีก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 โดยได้รับเสื้อหมายเลข 11 และลงเล่นภายใต้การคุมทีมของสะสม พบประเสริฐ [20]
รณชัย รังสิโย ลงสนามให้แบงค็อก ยูไนเต็ด นัดแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก ที่ออกไปแพ้ให้กับสโมสรเพื่อนตำรวจ 0-1 ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต[21] โดยในช่วงแรกที่ย้ายเข้ามา รณชัย รับบทเป็นกองหน้าตัวสำรองของทีม ที่มักจะถูกส่งลงสนามในช่วงท้ายของการแข่งขัน
วันที่ 29 พฤษภาคม รณชัย ได้รับโอกาสลงเล่นเป็นตัวจริง ในนัดที่พบกับสโมสรชัยนาท เอฟซี ที่สนามกีฬาศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยเขาสามารถยิงแฮตทริกได้อีกครั้ง และพาทีมเฉือนชนะไปได้ 3-2 จากนั้นในวันที่ 9 มิถุนายน รณชัย ได้รับบาดเจ็บที่เอ็นเข่าขวา ในระหว่างการแข่งขันกับสโมสรสงขลา ยูไนเต็ด ทำให้ต้องพักรักษาอาการบาดเจ็บถึง 3 เดือน และกลับมาลงสนามได้อีกครั้งในเดือนกันยายน ในช่วงท้ายของฤดูกาล โดยไม่สามารถยิงประตูเพิ่มได้ จบฤดูกาล 2556 รณชัย ลงสนามไป 17 นัด (ในไทยพรีเมียร์ลีก 16 นัด ลีกคัพ 1 นัด) ยิงในไทยพรีเมียร์ลีกไป 3 ประตู
ฤดูกาลต่อมา ในไทยพรีเมียร์ลีก 2557 สโมสรเปลี่ยนแปลงผู้ฝึกสอนเป็น รุย เบนโต โค้ชชาวโปรตุเกส โดยรณชัย ได้เปลี่ยนมาใส่เสื้อหมายเลข 9 และลงสนามนัดแรกในฤดูกาลนี้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในไทยพรีเมียร์ลีก นัดที่ออกไปแพ้สโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด 2-1 ที่สนามกีฬากองทัพบก โดยเป็นตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาเล่นในช่วง 10 นาทีสุดท้าย[22]
ในเดือนเมษายน สโมสรได้เปลี่ยนผู้ฝึกสอนอีกครั้งเป็นธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล อดีตกองกลางทีมชาติไทย เนื่องจากผลงานของสโมสรในขณะนั้นไม่ค่อยดีนัก และต่อมารณชัย ก็สามารถยิงประตูแรกในฤดูกาลนี้ได้ ในการคุมทีมนัดแรกของธวัชชัย เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่สโมสรเปิดบ้านเฉือนชนะสโมสรราชบุรี-มิตรผล เอฟซี 1-0 [23] และได้รับโอกาสเป็นตัวจริงมากขึ้น แต่กลับไม่สามารถยิงประตูในไทยพรีเมียร์ลีกเพิ่มได้ ในตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ธวัชชัย คุมทีม
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล กุนซือของทีมย้ายไปคุมทีมให้สโมสรเพื่อนตำรวจ โดยทีมได้แต่งตั้งให้อเล็กซานเดอร์ มาโน โพลกิ้ง โค้ชชาวเยอรมัน-บราซิล เข้ามาคุมทีมแทน ในยุคของมาโน โพลกิ้ง รณชัย ตกเป็นกองหน้าตัวสำรองอีกครั้ง และยิงได้อีก 1 ประตู โดยถูกส่งลงมาเป็นตัวสำรองและยิงปิดท้ายให้ทีมบุกมาชนะสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี 1-3 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน [24] และไม่สามารถยิงประตูเพิ่มได้จบฤดูกาล โดยสโมสรรอดพ้นจากการตกชั้นและฤดูกาลนี้เขายิงในลีกไปเพียงแค่ 2 ประตู จากการลงสนามในลีก 23 นัด
ฤดูกาล 2558 รณชัย ยิงประตูแรกได้ในการแข่งขันโตโยต้า ลีกคัพ 2558 รอบ 64 ทีมสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่พบกับสโมสรราชประชา ที่สนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง โดยยิงปิดท้ายให้ต้นสังกัดบุกมาชนะไป 2-0 และยิงประตูแรกในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ได้เมื่อวันที่ 29 เมษายน ในนัดที่เปิดบ้านเอาชนะสโมสรกัลฟ์-สระบุรี 4-2
เกียรติประวัติ
แฮตทริก
- เมืองทองฯ ยูไนเต็ด 11-0 บ้านบึง-นวนคร นครนายก (ยิง 5 ประตู) :16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ,ธันเดอร์โดม
- บีอีซี เทโรศาสน 3-0 ทีทีเอ็ม : 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ,สนามเทพหัสดิน
- แบงค็อก ยูไนเต็ด 3-2 ชัยนาท : 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ,ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น
- แบงค็อก ยูไนเต็ด 6-0 ทีโอที : 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ,ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น
ทำประตูในนามทีมชาติ
อ้างอิง