บทความนี้เกี่ยวกับภาพยนตร์ สำหรับความเชื่อ ดูที่
ยักษ์
ยักษ์ (อังกฤษ: Yak: The Giant King) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติไทยผลงานร่วมทุนสร้างระหว่าง บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด, บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด และดำเนินงานสร้างโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส จำกัด ผลงานกำกับของนาย ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมกับ เอ็กซ์- ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ได้แรงบันดาลใจมาจาก วรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ มานำเสนอในรูปแบบของแอนิเมชันหุ่นยนต์
ประวัติ
รามเกียรต์ หรือ รามายณะ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาวรรณกรรมเอเชีย ภาพการขับเคี่ยวที่พิสดารอลังการของฝ่ายพลับพลากับฝ่ายกรุงลงกา เส้นขนานของธรรมะและอธรรมรามและทศกัณฐ์ จึงเป็นขั้วที่ไม่เพียงยืนหยัด อยู่คนฝ่าย แต่ยังเป็น ศัตรูคู่อาฆาตที่ต้องฟาดฟันกันให้แหลกลาญ “คนที่เป็นศัตรูกันต้องต่อสู้กันตลอดไปจริงหรือ?” กี่พันปีมาแล้วที่ทศกัณฐ์และพระรามเป็นศัตรูกัน กี่พันปีมาแล้วที่ทหารเอกของพระรามอย่างหนุมานต้องทำหน้าท่าปราบอธรรมให้สิ้นซาก คำถามนี้คือ จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์” โดย “ประภาส ชลศรานนท์” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2549 แล้วเสร็จและฉายในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2555 รวมระยะเวลาสร้าง 6 ปี[2]
เรื่องย่อ
หลังสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างหุ่นกระป๋อง ฝ่ายราม กับ หุ่นยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์จบลงแบบล้างเผ่าพันธุ์ปล่อยทิ้งให้สนามรบกลายเป็นเพียงสุสานซาก เศษโลหะและเป็นขุมทรัพย์ให้กับบรรดาหุ่นค้าของเก่า และแล้วเรื่องราวมิตรภาพและการเดินทางผจญภัยของเจ้าหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูๆ ไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกันสักนิดเดียวก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอีกหลายล้าน วันต่อมา เจ้าหุ่นตัวหนึ่งใหญ่ยักษ์สมร่างชื่อ “น้าเขียว” บ่งบอกตามลักษณะสีอันเป็นเอกลักษณ์ ดูน่าเกรงขาม กับ “เจ้าเผือก” หุ่นกระป๋องมินิตัวเล็กประเมินจากสภาพจากพวกค้าหุ่นยนต์เก่าบอกได้คำเดียว ว่าไร้ราคา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหุ่น2ตัวต่างตื่นขึ้นมาจากการถูกขุดขึ้นพร้อมกับ สภาวะหน่วยความจำเสื่อม ไม่จำอดีตไม่รู้อนาคต แถมยังมีโซ่พิเศษที่ตัดเท่าใดก็ตัดไม่ขาดผูกล่ามติดกัน หนำซ้ำงานนี้พอทั้งคู่ตื่นขึ้นมาก็ อาละวาดจนเมืองขายของเก่ากระเจิดกระเจิงราบเป็นหน้ากลอง ทำให้ทั้งคู่ต้องหนีและกลายเป็นร่วมผจญภัยไปด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก ทีแรกดูเผินๆต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนเกินของกันและกัน แต่ตลอดการเดินทางกลับมีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นทำให้ทั้งคู่กลายเป็น ฮีโร่โดยไม่รู้ตัว สร้างความผูกผันให้กับทั้งน้าเขียวและเจ้าเผือกก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทำให้ ส่วนเกินกลายแปรเปลี่ยนเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ และจนวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจ กลับเป็นวันที่ต้องรู้ว่า แท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขาคือใคร หน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินต่อไป ทำให้ต้องเลือกระหว่าง มิตรภาพกับหน้าที่ ว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน[3]
แก่นของเรื่อง
แก่นเรื่องของภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์” ที่ผู้กำกับแฝงแง่คิดไว้ภายใต้ความสนุกสนาน รอให้ค้นหาความหมาย อาจเป็นประตูสู่ความหมายเร้นลับที่โลกซ่อนไว้ว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์ เกิดมาเพื่อสิ่งใด ซึ่งสิ่งนั้นอาจเป็นกลไกขับเคลื่อนโลกสู่วิวัฒนาการต่างๆมากมายมานับล้านปี อาจเป็นพลังยักษ์ในตัว อาจเป็นการควบคุมพลังยักษ์ให้อยู่ในทางที่ดี หรือ อาจเป็นหน้าที่ เฉกเช่นดวงอาทิตย์ทำหน้าที่ให้พลังงานแสงและความร้อนอย่างซื่อสัตย์ หรือ ที่จริงอาจเป็นเพียงแค่เปิดใจเพื่อเรียนรู้สื่งใหม่ เพื่อต้อนรับมิตรภาพและความรักที่สร้างสันติภาพสู่โลก[2]
ตัวละคร
- ตัวละครนำ
- น้าเขียว - หุ่นสงครามยักษ์ใจดี ใสซื่อ มองเห็นโลกมีแต่ความสวยงาม แตกต่างจากรูปลักษณ์ในอีกร่างที่ซ่อนอยู่ข้างใน ซึ่งเมื่อกลับเป็นทศกัณฐ์จะเป็นผู้ที่มีความดุร้าย
- เผือก – หุ่นกระป๋อง ฉลาดแกมโกง แท้จริงแล้วคือหนุมาน ทหารเอกแห่งราม แม้จะตัวเล็ก แต่หุ่นยักษ์ทุกตัวในสงครามต่างหวั่นเกรง
- ตัวละครสมทบ
- กุม - เป็นหุ่นยักษ์ผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้ทศกัณฐ์ หัวหน้าคณะโชว์ปาหี่ขายของ กุมเป็นหุ่นไม่สมประกอบทั้งร่างกายและความคิด ออกหาเงินเพื่อซื้ออาวุธสงครามสะสมไว้เรื่อย ๆ มีความใฝ่ฝันจะเข้าร่วมรบกับกองทัพทศกัณฐ์ แม้จะไม่เคยเห็นทศกัณฐ์ตัวจริงเลยก็ตาม
- สนิมน้อย - หุ่นกระป๋องเด็กผู้หญิงผู้เป็นลูกมือในคณะโชว์ของกุม สนิมนั้นขี้อายและคล้าย ๆ จะเป็นภูมิแพ้ มักมีน้ำสนิมไหลออกจากจมูกตลอดเวลา จนกลายเป็นปมด้อยที่ไม่มีใครอยากเล่นด้วยเพราะกลัวติดสนิม เป็นตัวละครที่ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของคำว่ามิตรภาพ ซึ่งในเรื่องนี้เธอเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เป็นตัวละครดั้งเดิมจากรามเกียรติ์
- สดายุ - คุณป้าหุ่นยนต์นกขี้ประชด เครื่องบินรบสมัยสงครามที่แม้จะพร้อมบินให้ใครก็ได้ที่เป็นคนไขลาน ขยับปีก และใบพัดให้เธอ แต่ขณะเดียวกันเธอก็พร้อมที่จะเหน็บแนมคนที่มาขี่เธอตลอดเวลาตามนิสัย
- ก๊อก - เป็นหุ่นยนต์ประเภทจั๊งค์ มีอาชีพหาเศษเหล็กมาเร่ขายที่เซียงกง เป็นหุ่นยนต์เจ้าอารมณ์ งก มีเล่ห์เหลี่ยม เห็นแก่ตัว ก๊อกเป็นคนขุดเจอน้าเขียวกับเผือก และทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา
- บรูคส์ - หุ่นยนต์นักไต่เขา มีหน้าที่คือไต่เขาโดยไม่ต้องถามว่าไต่ทำไม มีความฝันสูงสุดคือไต่เสาร์ดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันซึ่งเป็นเสาที่สูงที่สุดทำให้ไต่ได้ยากลำบากที่สุด
- ลุงช่าง - เป็นช่างซ่อมหุ่นยนต์ประจำเมือง ด้วยความที่อยู่มานานจึงรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต รวมไปถึงเรื่องของทศกัณฐ์และหนุมาน
- ราม หรือ Ram - เป็นดาวเทียมลอยอยู่นอกโลก เป็นเสมือนสมองกลของคอมพิวเตอร์ (Ram) คอยควบคุมออกคำสั่ง สามารถสร้างและทำลายล้างทุกอย่าง เหมือนกับพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นผู้ทรงอิทธิ์ฤทธิ์ มีคำสั่งศักดิ์สิทธ์ เป็นหัวหน้าของหนุมานและศัตรูของทศกัณฐ์
- หุ่นดวงอาทิตย์ - เป็นหุ่นยนต์ดวงอาทิตย์เทียมขนาดมหึมา มีลักษณะเป็นบอลโลหะยักษ์ ใบหน้ามีไฟลุกไหม้ตะลอดเวลา ผิวส่วนอื่นเป็นสีดำถ่าน มีความร้อนสูง มีรัศมีเป็นใบมีดโลหะหมุนรอบตัว ส่วนล่างมีการติดตั้งล้อช่วยให้วิ่งไปตามรางที่ส่วนหยอดของเสาบอกเวลา ทำหน้าที่่สร้างแสงสว่างให้แก่โลก (เป็นตัวแทนของพระอาทิตย์) ภายนอกดูเป็นคนหยิ่งผยอง เที่ยงตรง และจะไม่ยอมหยุดให้ใครง่ายๆ แต่เขาเพียงทำตามหน้าที่ที่ตนถูกสร้างมาเท่านั้น
- อรุณ (ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ) - มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ แต่ดวงเล็กกว่า ราว 1 ใน 4 พื้นผิวบุด้วยแผ่นโลหะสีเหลืองทองสะท้อนแสงทั้งดวง จะวิ่งนำหน้าห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะหนึ่งเพื่อจัดการกับสิ่งขีดขวาง (เป็นตัวแทนของพระอรุณ สารถีของพระอาทิตย์) ในภาพยนตร์ปรากฏตัวเพียงครั้งเดียวช่วงท้ายของเรื่อง โดยถูกน้าเขียวหยุดเอาไว้เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นดวงอาทิตย์ ก่อนจะถูกดวงอาทิตย์ที่ตามมาพุ่งเข้าชนจนร่วงตกรางไป
ผู้ให้เสียงพากย์
การสร้าง
ภาพยนตร์ชุดนี้ได้มีการเตรียมการสร้างกว่า 5 ปี โดยสตูดิโอบ้านอิทธิฤทธิ์ โดยมีทีมสร้าง 28 คน[5] ซึ่งได้มีการเสก็ตช์ภาพ และสร้างหุ่นขึ้น โดยกำหนดเนื้อเรื่องหนุมาน และทศกัณฐ์ ที่เกิดใหม่ในปางที่สิบล้านเอ็ดในรูปแบบของหุ่นยนต์[6]
การเปิดตัว
ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับได้เปิดเผยว่าต้องการสื่อให้ทราบว่าเป็นการ์ตูนไทย จึงมีการใส่ธงชาติไทยให้ปรากฏอยู่ในตัวอย่างชุดแรกของภาพยนตร์ จากนั้นจึงมีตัวอย่างภาพยนตร์ชุดใหญ่ตามมาในภายหลัง และภาพยนตร์ชุดนี้ได้รับการเปิดตัวที่เมืองคานส์ และมีหลายประเทศให้ความสนใจ ส่วนในประเทศไทยได้มีการจัดฉายในเดือนตุลาคม เนื่องด้วยตรงกับช่วงปิดเทอม[6]
การตอบรับ
ยักษ์ ได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ โดยกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า แม้ธีมภายนอกจะมีลักษณะที่คล้ายกับภาพยนตร์เรื่องโรบอทส์ หากแต่เนื้อเรื่องมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีส่วนที่น่าทึ่งอยู่ในภาพยนตร์ชุดนี้อยู่หลายส่วน เช่น เสาเที่ยงวัน ชื่อพระรามที่เรียกว่า RAM สดายุ รวมไปจนถึงส่วนหัวของทศกัณฐ์ ตลอดจนการออกแบบตัวละครที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และการแสดงกราฟิกส์พื้นผิวของหุ่นยนต์ที่มีความละเอียดละออ[5] นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากเดลินิวส์ ยกย่องในการนำเสนอเรื่องราวที่แม้ผู้ที่ไม่รู้จักเรื่องรามเกียรติ์มาก่อนก็สามารถทำความเข้าใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก รวมถึงความละเอียดของฉากที่สมจริง เพลงประกอบภาพยนตร์ที่ไพเราะ และหุ่นยนต์ที่มีลักษณะที่คล้ายกับผู้ให้เสียงพากย์ ซึ่งภาพยนตร์ชุดนี้ยังได้รับการจัดฉายที่ประเทศรัสเซีย และเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน[7] และนักวิจารณ์จากสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ยังได้ยกย่องการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวในฐานะภาพยนตร์ที่มีความเทียบเท่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยเช่นกัน[1]
เพลงประกอบภาพยนตร์
ภาพยนตร์ "ยักษ์" มีจุดเด่นอีกอย่างคือ ดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์ โดย จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน เป็นผู้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์ คือเพลง "เกิดมาเป็นเพื่อนเธอ" นั้นได้ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข เป็นผู้แต่ง และขับร้องโดย กลุ่มศิลปิน รูมเธอร์ตีไนน์[6]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 การะเกด. เจาะเฟรม. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ปีที่ 60 ฉบับที่ 4. วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555. ISSN 0125-0787. หน้า 82
- ↑ 2.0 2.1 [หนังสือ Yak The Giant King โดย ประภาส ชลศรานนท์]
- ↑ เรื่องย่อ - Yakmovie
- ↑ ใครเป็นยักษ์
- ↑ 5.0 5.1 พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์. รู้แล้ว! แอนิเมชันไทย...ปัญหาใหญ่อยู่ที่การเคลื่อนไหว?. คมชัดลึก. ปีที่ 11 ฉบับที่ 4007. วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555. ISSN 16851390. หน้า 20
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Interview. เซนชู อะนิเมแมกกาซีน. Vol. 58. September 2012. TS Interprint. หน้า 86-88
- ↑ วิภา...วดี. บันเทิงฟรีสไตล์. เดลินิวส์. ฉบับที่ 23,010. วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555. ISSN 16860004. หน้า 32
แหล่งข้องมูลอื่น