มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. (อังกฤษ: The Promotion of Academic Olympiad and Development of Science Education Foundation under the patronage of Her Royal Highness Princess Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra, POSN) เป็นองค์กรอิสระ[1] มีหน้าที่หลักในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนเพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ผ่านการเข้าค่ายฝึกอบรมที่มักเรียกกันว่า "ค่าย สอวน."[2]
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน. และจรัส สุวรรณเวลา เป็นรองประธาน[3]
ประวัติ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยและทรงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนในระดับโรงเรียน ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประเทศไทยเริ่มส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 ณ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2532 แต่การดำเนินการการคัดเลือกนักเรียน และส่งไปแข่งขันครั้งนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นการแข่งขันครั้งแรก สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานได้ขอความสนับสนุนจากภาคเอกชน เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงทราบจึงประทานเงินส่วนพระองค์ และรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการจัดส่งเยาวชนไทย ไปแข่งขัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการแข่งขันระดับนานาชาติจะช่วยพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว[4]
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงทราบถึงปัญหาของการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ ในระดับโรงเรียนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับระดับนานาประเทศมาโดยตลอดจากคณาจารย์ที่นำคณะนักเรียนไปแข่งขัน และจากนักเรียนที่เป็นผู้แทนประเทศไทย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและทรงเห็นว่าการจะพัฒนาความรู้ ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของนักเรียนทั่วประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากลนั้น กระทำได้ยากมากในระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่สามารถจะทำได้ก่อน คือ การพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพสูงและองค์กรอิสระ ซึ่งมีความคล่องตัวมากกว่า และไม่ยึดติดกับระบบราชการจะสามารถช่วยรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น
ในปี พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ศักดา ศิริพันธุ์ (นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในขณะนั้น) ไปดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิ สอวน. ขึ้น และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ด้วย เพื่อสนับสนุนการพัฒนากาศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งประเทศให้ได้มาตรฐานสากล และประเทศไทยจะได้นักเรียนที่มีความรู้ระดับมาตรฐานสากลมาเข้าร่วมแข่งขันคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันทางวิชาการกับนานาชาติมากขึ้น
ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ด้วยพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภีนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของพระองค์ โดยทรงรับเป็นประธานมูลนิธิ สอวน. ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[5]
จุดประสงค์
- ส่งเสริมให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีโอกาส ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ตามความถนัดทั้งในด้านทฤษฎีและทักษะด้านปฏิบัติให้สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อนได้ และมีความพร้อมที่จะเข้ารับการคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ
- เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ระดับโรงเรียนให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล การดำเนินงานของมูลนิธิ สอวน. ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ 20 แห่ง และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในส่วนของงบประมาณได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยตั้งผ่านสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐบาล และเอกชน
ลำดับของค่าย
- ค่าย สอวน. ค่าย 1 โดยนักเรียนที่จะได้รับการอบรมนั้น ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าค่ายฯ โดยจำนวนนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกนั้น จะแล้วแต่ตามที่แต่ละศูนย์สอบกำหนด
- ค่าย สอวน. ค่าย 2 โดยนักเรียนที่จะได้รับการอบรมนั้น ต้องผ่านการเข้าค่ายสอวน. ค่าย 1 และสอบประเมินผลผ่านเกณฑ์
- ค่าย สสวท. โดยนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 2 จะได้เป็นผู้แทนศูนย์สอวน. นั้น ๆ เพื่อไปแข่งกับผู้แทนจากศูนย์อื่น ๆ ทั่วประเทศ เรียกการแข่งขันนี้ว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เมื่อผ่านการคัดเลือก ก็จะได้เข้าไปอบรมในค่าย สสวท.[2]
- ตัวแทนประเทศไทย โดยจะคัดนักเรียนจากค่าย สสวท. ให้เหลือเพียง 4 คน เพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่าง ๆ[6]
ศูนย์สอบคัดเลือกเข้าค่ายสอวน.
รายวิชาที่มูลนิธิ สอวน. จัดสอบนั้น มี 8 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี วิชาชีววิทยา วิชาคอมพิวเตอร์ วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ วิชาดาราศาสตร์ และวิชาภูมิศาสตร์ โดยมีศูนย์สอบดังนี้
อ้างอิง