คาเคาเร เซนุสเรตที่ 3 (หรือเขียนได้อีกว่า เซนวอสเรตที่ 3 หรือในรูปแบบที่แปรมาเป็นภาษากรีก เซโซสทริสที่ 3 ) เป็นฟาโรห์ แห่งอียิปต์โบราณ ที่ปกครองในช่วงเวลาแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งจาก 1878 ถึง 1839 ปีก่อนคริสตกาล[ 1] และเป็นฟาโรห์พระองค์ที่ห้าของราชวงศ์ที่สิบสอง แห่งราชอาณาจักรกลาง พระองค์เป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์สิบสองและถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีอำนาจมากที่สุดในราชวงศ์ ดังนั้นพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของตำนานเซโซสทริส (Sesostris) การดำเนินการทางทหารของพระองค์ก่อให้เกิดยุคแห่งสันติภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ลดอำนาจของผู้ปกครองในระดับท้องถิ่นและนำไปสู่การฟื้นฟูในงานหัตถกรรมการค้าและการพัฒนาเมือง[ 2] ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์เพียงไม่กี่พระองค์ที่ถูกยกเป็นเทพเจ้าและได้รับการยกย่องโดยลัทธิบูชาในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์[ 3]
พระราชวงศ์
ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 กับพระนางเคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 1 หรือที่เรียกว่า เคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 1 เวเรต (ผู้อาวุโส) พระมเหสีที่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัดทั้งสามของพระองค์ คือ พระนางอิตาคายต์, พระนางเคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 2 และพระนางเนเฟิร์ตเฮนุท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ทราบจากสถานที่ฝังพระศพที่อยู่ถัดจากพีระมิดของพระสวามี ที่ดาห์ชูร์ มีพระราชธิดาหลายพระองค์ที่เป็นที่ทราบ แม้ว่าจะได้มียืนยันเพียงแค่การฝังพระศพไว้รอบพีระมิดของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เท่านั้นและความสัมพันธ์ที่แน่ชัดระหว่างเหล่าเจ้าหญิงกับฟาโรห์ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน นอกจากนี้รวมถึง เจ้าหญิงซิตฮาธอร์ , เจ้าหญิงเมเนต , เจ้าหญิงเซเนตเซเนบติซิ และเจ้าหญิงเมเรต ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นพระราชโอรสของพระองค์ ส่วนพระราชโอรสพระองค์อื่นยังไม่เป็นที่ทราบ[ 4]
พระราชกรณียกิจ
ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ทรงโปรดให้ตัดคลองเดินเรือผ่านแก่งน้ำตกแรกของแม่น้ำไนล์ [ 5] (ซึ่งแตกต่างจากคลองของฟาโรห์พระองค์อื่น ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ก็ทรงพยายามสร้างเช่นกัน) นอกจากนี้ พระองค์ยังผลักดันการขยายพระราชอาณาจักรของเขาไปสู่นิวเบีย อย่างไม่ลดละ (ช่วงตั้งแต่ 2409 ถึง 2406 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างป้อมปราการแม่น้ำขนาดใหญ่รวมถึงในบูเฮน , เซมนา , ชาลแฟก และทอชกา ที่อูโรนาร์ติ
พระองค์ทรงดำเนินการทางทหารสำคัญอย่างน้อยสี่ครั้งในนิวเบีย ในปีที่ 8, 10, 16 และ 19 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[ 6] ในปีที่ 8 ของพระองค์ จารึกที่เซมนาได้บันทึกการมีชัยของพระองค์เหนือชาวนิวเบีย ซึ่งสันนิษฐานว่าพระองค์จะทำให้ชายแดนทางใต้นั้นปลอดภัยและป้องกันการบุกรุกเข้าไปในดินแดนอียิปต์ต่อไป[ 7] และจารึกอีกชิ้นจากเซมนาเช่นกันได้บันทึกไว้ว่า ในเดือนที่ 3 ของปีที่ 16 ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีดำเนินการทางทหาร ของพระองค์ต่อนิวเบีย และคานาอัน ในนั้นพระองค์ทรงได้ตักเตือนผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ในอนาคตให้รักษาพรมแดนใหม่ที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้น:
ปีที่ 16 เดือนที่ 3 แห่งเหมันตฤดู พระองค์ทรงสร้างเขตแดนใต้ที่เฮห์ ข้าได้ขยายเขตแดนของข้าไว้ไกลกว่าผู้ปกครองก่อนหน้าของข้า ข้าได้เพิ่มสิ่งที่ได้รับพินัยกรรมข้า (...) ส่วนบุตรชายคนใด (เช่น ผู้สืบตำแหน่ง) ของจ้าที่จะรักษาเขตแดนนี้ซึ่งข้าได้สร้างไว้ เขาเป็นบุตรของข้าที่เกิดในร่มพระมหาเศวตฉัตร บุตรที่แท้จริงคือผู้ที่ปกป้องบิดาของตน ผู้พิทักษ์ชายแดนของผู้ให้กำเนิด แต่เขา [ผู้] ละทิ้งมัน ผู้ล้มเหลวในการต่อสู้เพื่อมัน มันผู้นั้นไม่ใช่บุตรของข้า มันไม่ได้เกิดมาเพื่อข้า ข้าได้สร้างรูปเคารพของข้า ณ พรมแดนซึ่งข้าได้สร้างไว้ เพื่อรักษาไว้ เพื่อจะต่อสู้เพื่อมัน[ 8]
จารึกแห่งโซเบค-คู ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 (ช่วงระหว่าง 1878 - 1839 ปีก่อนคริสตกาล) ได้บันทึกการดำเนินการทางทหารที่เก่าแก่ที่สุดของอียิปต์ในบริเวณเลวานไทน์ โดยบันทึกข้อความว่า "ทรงเสด็จขึ้นเหนือเพื่อโค่นล้มพวกเอเซีย เสด็จถึงแคว้นต่างแดนนามว่าเสกเมม (...) แล้วเสกเมมก็ล้มพังพินาศพร้อมกับ เรเตนู ผู้น่าสงสาร" ซึ่งคาดว่าเมืองเซกเมม (s-k-m-m) น่าจะเป็นเมืองเชเคม ในปัจจุบัน และ "เรเตนู" หรือ "เรทเจนู " มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรซีเรีย โบราณ[ 9]
การดำเนินการทางทหารครั้งสุดท้ายของพระองค์ ซึ่งอยู่ในปีที่ 19 ของพระองค์ แต่กลับปราชัย เนื่องจากกองกำลังของพระองค์ถูกจับ โดยที่แม่น้ำไนล์ ลดต่ำกว่าปกติและจำเป็นต้องล่าถอยและละทิ้งการดำเนินการทางทหารเพื่อหลีกเลี่ยงการติดอยู่ในดินแดนนิวเบีย ที่เป็นศัตรู[ 10]
นั่นคือลักษณะที่มีความทรงพลังและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ที่พระองค์ได้รับการบูชาเป็นเทพเจ้าในเซมนา โดยประชาชนรุ่นหลัง ๆ[ 11] แฌ็ค มอร์แกงในปี ค.ศ. 1894 ได้ค้นพบจารึกหินใกล้เกาะเซเฮล ซึ่งได้บันทึกการขุดคลองของพระองค์ และฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ได้ทรงโปรดให้สร้างวิหารและเมืองในอไบดอส และวิหารอีกแห่งในเมดามุด [ 12]
ราชสำนักของพระองค์ประกอบไปด้วย ราชมนตรีเนบิต คนุมโฮเทป และอิเคอร์โนเฟรต มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลพระคลังมหาสมบัติของฟาโรห์ที่อไบดอส และโซเบคเคมฮัต ก็ยังเป็นผู้ดูแลพระคลังด้วยเช่นกันและถูกฝังที่ดาห์ชูร์ เซนอังค์ เป็นผู้ดูแลการตัดคลองที่เซเฮล และฮอร์เคอร์ติ เป็นพระสหายของพระองค์
ระยะเวลาการครองราชย์
ศิลาจารึกชายแดนปีที่ 16 ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 (พิพิธภัณฑ์อัลเตส), เบอร์ลิน
รูปสลักหินแกรนิตของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 - พระองค์ทรงสวมผ้าโพกพระศีรษะนีมพร้อมรูปงูเห่าวัดเจตที่ด้านหน้า กระโปรงเซนดิตจีบและหางของวัว มองเห็นได้ระหว่างพระเพลาของพระองค์ ใต้พระบาทของพระองค์มีคันธนูเก้าคัน เป็นสัญลักษณ์ของศัตรูดั้งเดิมของอียิปต์ภายใต้อำนาจของพระองค์ พระองค์มีดวงพระเนตรที่ปิดสนิท พระปรางค์ที่เรียงรายและซีดเผือดไม่เหมือนกับผู้ปกครองก่อนหน้าหลายพระองค์ ซึ่งมีพระพักตร์ที่สิริโฉมงดงาม และมีริมฝีพระโอษฐ์ที่คล้ำ ไม่ทราบสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสำนวนนี้ แต่การเลียนแบบคุณลักษณะของพระองค์โดยฟาโรห์ในภายหลังและบุคคลส่วนตัวแนะนำว่าคุณลักษณะของฟาโรห์เซนวอสเรตมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดคุณสมบัติที่มีคุณธรรมของพระองค์ พิพิธภัณฑ์บรูคลิน
บันทึกปาปิรัสสองช่วงรัชสมัยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินได้แสดงปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ ถัดจากปีที่ 1 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 พระราชโอรส ซึ่งโดยทั่วไปสันนิษฐานว่านี่เป็นการยืนยันถึงการสำเร็จราขการร่วมกับพระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในปีนี้ ตามข้อมูลของโยเซฟ ดับเบิลยู. เวกเนอร์ บันทึกอักษรเฮียราติกที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ซึ่งบันทึกขึ้นในปีที่ 39 และถูกค้นพบบนบล็อกหินปูนสีขาวจาก:
...ซากอาคารที่สร้างขึ้นจากอาคารของวิหารฝังพระศพของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เศษชิ้นส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เหลืออยู่ของการก่อสร้างวิหาร ซากอาคารนี้เป็นหลักฐานสำหรับฃ่วงเวลาสร้างวิหารฝังพระศพของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 ที่อไบดอส[ 13]
เวกเนอร์ได้เน้นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสและผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของพระองค์ จะยังคงสร้างในวิหารของพระราชบิดาในเวลาเกือบสี่ทศวรรษในรัชกาลของพระองค์เอง เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำอธิบายที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวสำหรับการมีอยู่ของบล็อกในแผนการก่อสร้าง คือ ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 มีระยะเวลาแห่งปกครองเป็นเวลา 39 ปี โดย 20 ปีสุดท้ายได้สำเร็จราชการร่วมกับพระราชโอรส เนื่องจากแผนการก่อสร้างนี้เกี่ยวข้องกับแผนฯ ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 รัชสมัยแห่งการครองราชย์ของพระองค์จึงถูกใช้เพื่อให้ระบุเวลาของบล็อกหินแทนที่จะเป็นปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 และเวกเนอร์ได้ตีความสิ่งนี้เป็นนัยว่าฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ยังมีทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงสองทศวรรษแรกของการครองราชย์ของพระราชโอรสของพระองค์
ข้อสมมติฐานของเวกเนอร์ได้ถูกปฏิเสธโดยนักวิชาการบางคน เช่น ปิแอร์ ทัลเลต์ และอาร์โก วิลเลมส์ ซึ่งโต้แย้งว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่การสำเร็จราชการร่วมดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น และบันทึกการควบคุมปีที่ 39 ยังอาจหมายถึง ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ซึ่งอาจทรงสั่งให้เพิ่มอนุสาวรีย์ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 บางส่วน[ 14] [ 15]
พีระมิดและสถานที่ฝังพระศพ
แผนผังพีระมิดที่ดาห์ชูร์
พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 ได้ถูกสร้างขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพีระมิดแดง แห่งดาห์ชูร์ [ 16] ซึ่งมันมีความล้ำหน้ากว่าพีระมิดในช่วงราชวงศ์ที่สิบสอง ตอนต้นในด้านขนาด ความยิ่งใหญ่ และแนวความคิดทางศาสนาที่เป็นรากฐาน
มีการคาดเดากันว่า ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ไม่ได้ถูกฝังอยู่ที่นั่น แต่พระองค์ถูกฝังในสถานที่ฝังพระศพอันซับซ้อนของพระองค์ในอไบดอส และพีระมิดของพระองค์น่าจะเป็นเพียงอนุสาวรีย์[ 2]
พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 มีพื้นที่ขนาด 105 ตารางเมตร และมีความสูง 78 เมตร ปริมาตรรวมประมาณ 288,000 ลูกบาศก์เมตร พีระมิดถูสร้างจากแกนอิฐโคลน พวกเขาไม่ได้ทำขนาดที่สอดคล้องกัน ซึ่งบ่งบอกว่าไม่ได้ใช้แม่พิมพ์มาตรฐาน ห้องฝังพระศพปูด้วยหินแกรนิต เหนือห้องฝังพระศพที่มีหลังคาโค้งมีห้องบันทึกจารึกห้องที่สองซึ่งมุงด้วยคานหินปูน ห้าคู่ซึ่งแต่ละห้องมีน้ำหนัก 30 ตัน ด้านบนนี้เป็นห้องเก็บของอิฐโคลนที่สาม
พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 ประกอบด้วยวิหารฝังพระศพขนาดเล็กและพีระมิดขนาดเล็กเจ็ดหลังสำหรับพระมเหสีของพระองค๋ นอกจากนี้ยังมีห้องใต้ดินที่มีการฝังพระศพเพิ่มเติมสำหรับเจ้านายสตรีในราชวงศ์ พบสมบัติของเจ้าหญิงซิตฮาธอร์ และพระราชินีเมเรเรต ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีวิหารทางใต้พีระมิดด้วย อย่างไรก็ตาม วิหารแห่งนี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว[ 17]
พระบรมราชานุสาวรีย์
ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นที่ทราบกันดีในเรื่องรูปสลักที่โดดเด่นของพระองค์ ซึ่งแทบจะทราบได้ทันทีว่าเป็นรูปสลักของพระองค์ ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 มีรูปสลักในวัยต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้สูงอายุ พระองค์ทรงแสดงสีหน้าเคร่งขรึมอย่างน่าทึ่ง: ดวงตายื่นออกมาจากเบ้าตากลวงที่มีถุงและเส้นใต้ตา ปากและริมฝีปากมีหน้าตาบูดบึ้งของความขมขื่น และหูมีขนาดใหญ่และยื่นออกมาข้างหน้า ตรงกันข้ามกับความสมจริงของศีรษะที่เกินจริง และไม่ว่าพระชนมายุของพระองค์จะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหลือของร่างกายก็ถูกทำให้เป็นอุดมคติที่อ่อนเยาว์และมีกล้ามเนื้อตลอดไปในแบบฟาโรห์นิยมมากกว่า[ 18] [ 19]
นักวิชาการทำได้เพียงตั้งข้อสมมติฐานเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่าทำไมฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ถึงเลือกที่จะแสดงภาพลักษณ์ตัวพระองค์เองในลักษณะที่ไม่เหมือนใคร และแยกขั้วในสองความคิดเห็นที่แตกต่างกัน[ 18] บางคนโต้แย้งว่า พระองค์ต้องการเป็นตัวแทนของผู้ปกครองที่โดดเดี่ยวและไม่แยแส มนุษย์มีอยู่ก่อนพระเจ้า ถูกครอบงำด้วยความกังวลและความรับผิดชอบของพระองค์[ 20] [ 21] [ 22] ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการคนอื่น ๆ เสนอความเห็นว่าเดิมทีรูปสลักจะสื่อถึงความคิดที่ว่าทรราชผู้น่าสะพรึงกลัวที่สามารถมองเห็นและได้ยินทุกอย่างภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของพระองค์[ 23]
ไม่นานมานี้ มีข้อเสนอความเห็นที่ว่า จุดประสงค์ของสลักรูปอันแปลกประหลาดเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อแสดงถึงความสมจริง แต่เป็นการเผยให้เห็นถึงลักษณะการรับรู้ของอำนาจภายในราชสำนักในรัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3[ 24]
รูปสลักของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ที่พิพิธภัณฑ์บริติช แสดงลักษณะเฉพาะของฟาโรห์พระองค์นี้
ชุดภาพ
เพิ่มเติม
ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นตัวละครหลักในนิยายอิงประวัติศาสตร์ของคริสเตียน แจ็ค ในเรื่อง The Mysteries of Osiris [ 25]
นักวิชาการพระคัมภีร์หัวโบราณหลายคนมองว่า ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นฟาโรห์ที่กล่าวถึงในปฐมกาล 39-47 ผู้ซึ่งยกโยเซฟ ขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง[ 26]
อ้างอิง
↑ Kim S. B. Ryholt, The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c.1800-1550 B.C. , Museum Tusculanum Press, Carsten Niebuhr Institute Publications 20, 1997. p.185
↑ 2.0 2.1 "The Pyramids: Their Archeology and History ", Miroslav Verner , Translated by Steven Rendall,p386-387 & p416-421, Atlantic, ISBN 1-84354-171-8
↑ "The Oxford Guide: Essential Guide to Egyptian Mythology" , Edited by Donald B. Redford , p. 85, Berkley, 2003, ISBN 0-425-19096-X
↑ Pierre Tallet: Sesostris III et la fin de la XIIe dynastie , Paris 2005, ISBN 2-85704-851-3 , p. 14-30
↑ J. H. Breasted, Ancient Records of Egypt , Part One, Chicago 1906, §§642-648
↑ J. H. Breasted, Ancient Records of Egypt , Part One, Chicago 1906, §§640-673
↑ J.H. Breasted, §652
↑ Miriam Lichtheim, Ancient Egyptian literature: a Book of Readings, Berkeley CA, University of California Press, 1973. pp.119–120
↑ Pritchard, James B. (2016). Ancient Near Eastern Texts Relating to the Old Testament with Supplement (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 230. ISBN 978-1-4008-8276-2 .
↑ Ian Shaw, The Oxford History of Ancient Egypt , Oxford University Press 2003, p.155
↑ Peter Clayton, Chronicle of the Pharaohs, Thames & Hudson Ltd, (1994),p.86
↑ "Senusret (III) Khakhaure" . Petrie.ucl.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2013-12-03 .
↑ Josef Wegner, The Nature and Chronology of the Senwosret III–Amenemhat III Regnal Succession: Some Considerations based on new evidence from the Mortuary Temple of Senwosret III at Abydos , JNES 55, Vol.4, (1996), p. 251
↑ Tallet, Pierre (2005). Sésostris III et la fin de la XIIe Dynastie . Paris. pp. 28–29.
↑ Willems, Harco (2010). "The First Intermediate Period and the Middle Kingdom". ใน Lloyd, Alan B. (บ.ก.). A companion to Ancient Egypt, volume 1 . Wiley-Blackwell. p. 93.
↑ Katheryn A. Bard, Encyclopedia of the Archaeology of Ancient Egypt , Routledge 1999, p.107
↑ Lehner, Mark The Complete Pyramids, London: Thames and Hudson (1997)p.177-9 ISBN 0-500-05084-8 .
↑ 18.0 18.1 Robins, Gay (1997). The Art of Ancient Egypt . London: British Museum Press. p. 113. ISBN 0714109886 .
↑ Freed, Rita E. (2010). "Sculpture of the Middle Kingdom". ใน Lloyd, Alan B. (บ.ก.). A companion to Ancient Egypt, volume 2 . Wiley-Blackwell. pp. 900–902. ISBN 9781405155984 .
↑ Bothmer, Bernard (1974). Brief Guide to the Department of Egyptian and Classical Art . Brooklyn, NY: The Brooklyn Museum. p. 39.
↑ Morkot, Robert G. (2005). The Egyptians: An Introduction . Routledge. p. 14 .
↑ Cimmino, Franco (2003). Dizionario delle dinastie faraoniche (ภาษาอิตาลี). Milano: Bompiani. p. 158. ISBN 88-452-5531-X .
↑ Wilkinson, Toby (2010). The Rise and Fall of Ancient Egypt . London: Bloomsbury. p. 179 . ISBN 9781408810026 .
↑ Laboury, Dimitri, Senwosret III and the Issue of Portraiture in Ancient Egyptian Art , in Andreu-Lanoë, Guillemette & Morfoisse, Fleur (eds.), Sésostris III et la fin du Moyen Empire. Actes du colloque des 12-13 décembre 2014, Louvre-Lens et Palais des Beaux-Arts de Lille . CRIPEL 31 (2016-2017), pp. 71–84.
↑ "The Tree of Life (Mysteries of Osiris, book 1) by Christian Jacq" . Fantasticfiction.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2013-12-03 .
↑ Andrew E. Hill and John H. Walton, A Survey of the Old Testament (3rd edition), Grand Rapids: Zondervan, 2009, p. 187.
บรรณานุกรม
W. Grajetzki, The Middle Kingdom of Ancient Egypt: History,Archaeology and Society , Duckworth, London 2006 ISBN 0-7156-3435-6 , 51-58
Josef Wegner, The Nature and Chronology of the Senwosret III–Amenemhat III Regnal Succession: Some Considerations based on new evidence from the Mortuary Temple of Senwosret III at Abydos, JNES 55, Vol.4, (1996), pp. 249–279
Jordanes (1915). "VI chapters". The Gothic History .
แหล่งข้อมูลอื่น
ยุค
ราชวงศ์
ฟาโรห์ (ชาย หญิง ) ไม่ทราบ
ยุคปลาย (664–332 ปีก่อน ค.ศ)
เฮลเลนิสต์ (332–30 ปีก่อน ค.ศ)
ยุค
ราชวงศ์
ฟาโรห์ (ชาย หญิง ) ไม่ทราบ
โรมัน (30 ปีก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 313)
นานาชาติ ประจำชาติ ประชาชน อื่น ๆ