พระวิสุทธิกษัตรีย์[1] หรือคำให้การชาวกรุงเก่าออกพระนามว่าพระบรมเทวี[2] มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดา[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ประสูติแต่พระสุริโยทัย ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และเป็นพระราชชนนีในพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระราชประวัติ
พระชนม์ชีพช่วงต้น
พระวิสุทธิกษัตรีย์ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดา[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ประสูติแต่พระสุริโยทัย มีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐาร่วมพระราชชนกชนนีคือ พระราเมศวร สมเด็จพระมหินทราธิราช พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรีย์
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าหลังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์จากความช่วยเหลือจากขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า จึงทรงปรึกษาพระธรรมนูญหอหลวงเพื่อพระราชทานบำเหน็จรางวัล และมีพระราชดำรัสว่าจะพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดาแก่ขุนพิเรนทรเทพ แล้วจึงถวายพระนามให้ใหม่ว่า วิสุทธิกษัตรีย์ เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพิษณุโลก พร้อมพระราชทานเครื่องราชูปโภค ศักดิฝ่ายทหารพลเรือน เรือชัยพื้นดำแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์[1]
ขณะที่ คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชามีพระนามาภิไธยเดิมว่าพระไชย เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ประสูติแต่พระมหาเทวี ต่อมาโปรดให้ไปครองเมืองพิษณุโลก มีพระอัครมเหสีชื่อ พระบรมเทวี และประสูติกาลพระราชบุตรสามพระองค์คือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ[2]
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุว่าพระองค์กับพระราชสวามีคือออกญาพิษณุโลก มิใคร่จะลงรอยกัน เคยถูกพระราชสวามีตีพระเศียรจนพระโลหิตไหล พระวิสุทธิกษัตรีย์ทรงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตใส่ถ้วยทองพร้อมหนังสือฟ้องร้องนำส่งจากพิษณุโลกไปยังพระราชบิดาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทราบความดังนั้นก็ทรงกริ้วมาก มีรับสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธขึ้นไปพิษณุโลกหวังประหารพระชามาดา ออกญาพิษณุโลกจึงหนีราชภัยไปหงสาวดี เมื่อพบพระเจ้าหงสาวดีจึงกราบทูลว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีช้างเผือกเจ็ดเชือก หลายตัวเกิดแถบชายแดนหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงมีสิทธิในช้างเผือก จึงก่อให้เกิดสงครามช้างเผือก[3]
สงครามช้างเผือก
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าหลังการเสวยราชย์ครั้งที่สองของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เวลานั้นพระวิสุทธิกษัตรีย์ยังประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระมหินทราธิราชเกรงว่าพระภคินีและพระราชนัดดาจะเป็นอันตราย[4] เพราะทรงพิจารณาแล้วว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาเอาใจออกหากเข้าฝ่ายหงสาวดี[5] สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราชจึงไปชิงตัวพระวิสุทธิกษัตรีย์และสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จลงมา ณ กรุงอโยธยา[4] ครั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงทราบข่าวจึงทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพใหญ่ไปตีกรุงอโยธยา[6] สามารถปิดล้อมกรุงอโยธยาไว้ได้ แต่ตีพระนครแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรได้ 25 วันก็เสด็จสวรรคต[7]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
พระวิสุทธิกษัตรีย์เป็นตัวละครในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ดังนี้
พงศาวลี
พงศาวลีของพระวิสุทธิกษัตรีย์
|
|
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม