พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (Prince Bira)ฟอร์มูลาวันชิงแชมป์โลก |
---|
สัญชาติ | ไทย |
---|
ช่วงปี | 1935-1939 1950-1954 |
---|
Teams | คอกหนูขาว (1935-1939) Enrico Platé (1950) Gordini (1952) Connaught (1953) Maserati (1954) |
---|
แข่ง | 92 (1935-1939) 41 (1950-1954) |
---|
ชนะ | 16 |
---|
โพเดียม | 45 |
---|
แข่งครั้งแรก | ค.ศ. 1935 |
---|
ชนะครั้งแรก | ค.ศ. 1936 |
---|
ชั้นยศ | ร้อยเอก |
---|
ร้อยเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช มีพระนามลำลองว่า พระองค์ชายพีระ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 – 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528) เป็นนักแข่งรถชาวไทย และเป็นผู้เข้าแข่งขันกีฬาเรือใบในโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. 1956, 1960, 1964 และ 1972[1]
พระประวัติ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เป็นพระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ยงใจยุทธ; ป้า (พี่สาวของพ่อ) ของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยอีตัน, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ก่อนเปลี่ยนไปทรงศึกษาด้านประติมากรรม ที่ โรงเรียนศิลปะบายัม ชอว์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงเริ่มแข่งขันขับรถ โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทั้งสองพระองค์เป็นที่รู้จักในหมู่นักแข่งรถในชื่อ Prince Bira และ Prince Chula ทรงขับรถยี่ห้อ อี.อาร์.เอ. (English Racing Automobiles - E.R.A.) ทาสีฟ้าสดใส รถที่ใช้ในการแข่งขัน ชื่อ อี.อาร์.เอ. รอมิวลุส (Romulus) อี.อาร์.เอ. รีมุส (Remus) และ อี.อาร์.เอ. หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)
ทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรก ในรายการ Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก (ปัจจุบันคือ โมนาโกกรังด์ปรีซ์) ได้รับถ้วยเจ้าชายแรนีเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2479 โดยทรงขับรถรอมิวลุส
ทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1936, 1937 และ 1938 จนได้รางวัล ดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน[2] ทรงได้รับการบรรจุพระนามในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ
ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2480 และทรงนำรถรอมิวลุสมาทรงขับโชว์ และทรงจัดประลองความเร็วที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2480 โดยราชยานยนต์สมาคมแห่งสยาม และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่วังจักรพงษ์ ขณะนั้นอยู่ในช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีผู้คนเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก[3]
ในปี พ.ศ. 2482 ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการเตรียมการจัดการแข่งขันกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ (Bangkok Grand Prix) โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 2 ไมล์ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 แต่การแข่งขันนี้ต้องยกเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน[3]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษ ได้ยศเรืออากาศโท ตำแหน่งครูฝึกเครื่องร่อน เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงกลับมาขับรถสูตรหนึ่ง แข่งขันกรังด์ปรีซ์ในช่วง ค.ศ. 1950 – 1954
การแข่งขันครั้งที่ดีที่สุดของพระองค์ คือ เฟรนช์กรังด์ปรีซ์ ในปี ค.ศ. 1954 ทรงขับรถ Maserati 250F ในรอบสุดท้ายทรงอยู่ในอันดับที่ 3 ซึ่งจะได้ขึ้นโพเดียม แต่น้ำมันหมดถังก่อนจะเข้าเส้นชัยเพียงเล็กน้อย จึงทรงได้อันดับที่ 4 และเป็นสถิติที่ดีที่สุดในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งของพระองค์[4]
พระองค์ทรงเลิกแข่งรถสูตรหนึ่งในปลายปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสายพระเนตรสั้น ต้องทรงฉลองพระเนตรแบบพิเศษ และทรงมีปัญหาในการขับเวลาฝนตก
ชีวิตส่วนพระองค์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เสกสมรสกับซิริล แมรี จอร์จีนา เฮย์คอค[5] ชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ด้วยความที่พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชเป็นที่รู้จัก บุคลิกดี สามารถตรัสได้คล่องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส และดำรงพระองค์อย่างเศรษฐี ทำให้มีผู้หญิงเข้าหาพระองค์ หม่อมซิริลทำใจไม่ได้ที่พระองค์มีหญิงอื่น แม้จะไม่ทรงจริงจังด้วยนัก แต่ก็เป็นความเดือดร้อนของภรรยา ทั้งสองจึงแยกกันอยู่พักหนึ่งเพื่อระงับจิตใจ
ในระหว่างที่พระองค์ทรงแข่งขับรถที่ประเทศอาร์เจนตินา ก็ทรงพบกับเซเลีย โฮวาร์ด และเมื่อพระองค์ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งรถ ก็มีเซเลียคอยปรนนิบัติ จนที่สุดพระองค์ก็ทรงพาเซเลียกลับอังกฤษด้วยกัน และประทับอยู่กับเธอ ไม่ได้เสด็จไปหาหม่อมซิริล หม่อมซิริลจึงตัดสินใจหย่าขาดจากพระองค์ตามกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2492 และเสกสมรสกับเซเลีย ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2494[6] มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เสด็จร่วมงานด้วย จากนั้นเซเลียใช้ชื่อว่า “หม่อมชลิตา ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา”
ปลายปี พ.ศ. 2497 พระองค์ทรงเห็นว่าพ้นยุคที่จะทรงแข่งรถแล้ว ประกอบกับหม่อมชลิตาได้ให้กำเนิดพระโอรสคนแรก พระองค์จึงตัดสินพระทัยอำลาชีวิตนักแข่ง แล้วทรงพาครอบครัวกลับมาประทับที่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2499 อีก 7 เดือนต่อมาพระองค์ทรงหย่ากับหม่อมชลิตา โดยตกลงกันว่า พระโอรสคนเดียวให้อยู่ภายใต้การดูแลของหม่อมชลิตาจนอายุครบ 21 ปี เนื่องจากก่อนหน้าที่กลับมาประเทศไทยพระองค์ได้ทรงพบปะกับสาลิกา กะลันตานนท์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวไทย ซึ่งทำให้หม่อมชลิตาหึงหวง พระองค์เสกสมรสกับสาลิกาในปี พ.ศ. 2500[6] และหย่าขาดกันในปี พ.ศ. 2506
นอกจากนั้นยังมีหม่อมอีกคน คืออรุณี จุลทะโกศล[6] และหย่าขาดกันในปี พ.ศ. 2507
ในปี พ.ศ. 2510 พระองค์เสกสมรสกับชวนชม ไชยนันท์[6] ก่อนหย่าขาดกันในปี พ.ศ. 2523
ในปี พ.ศ. 2526 พระองค์ได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้ง เพื่อแวะหาอดีตหม่อมซิริล กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2528
พระองค์มีพระโอรสธิดาทั้งหมด 3 คน ได้แก่
สิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน โดยทรงล้มลงที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต ที่ลอนดอน ขณะที่ผู้คนกำลังซื้อข้าวของต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ไม่มีใครทราบว่าพระองค์เป็นใคร ไม่มีหลักฐานอะไรในพระองค์ นอกจากจดหมายภาษาไทยที่ตำรวจลอนดอนอ่านไม่ออก จึงส่งจดหมายไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนจะทราบว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์เสียแล้ว สิริพระชันษา 71 ปี ข่าวสิ้นพระชนม์ถือเป็นข่าวใหญ่ เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก ลงข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับ รวมทั้งต่างประเทศที่พระองค์ทรงทำชื่อเสียงไว้ สถานทูตจัดพิธีสวดพระอภิธรรมถวายอย่างสมพระเกียรติ พระราชวงศ์ไทยที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษได้รับแจ้งข่าวนี้ทั้งหมด
เมื่อพระศพถูกเคลื่อนย้ายไปที่สุสานเพื่อพระราชทานเพลิง นักแข่งรถดัง ๆ สมัยเดียวกันรวมตัวกันทั่วยุโรป เดินทางมาร่วมแสดงความคารวะ โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นผู้อัญเชิญธูปเทียนพระราชทานมาร่วมงาน ข้าราชการไทยในสถานทูตไปร่วมงานกันหมด
ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธุ์ ผู้รวบรวมประวัติของพระองค์ ส่งท้ายไว้ว่า "ดวงพระวิญญาณลอยละล่องขึ้นสู่สรวงสวรรค์ พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยว เพียงแค่จดหมายภาษาไทยหนึ่งฉบับที่ทรงทิ้งไว้เพื่อส่งท้ายให้ได้ทราบว่าพระองค์คือใคร เทพส่งพระองค์ท่านลงมาจุติอย่างงามสง่า พระนามขจรขจายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปทั่วโลก และเทพได้นำพระองค์ท่าน "เจ้าดาราทอง" เสด็จกลับขึ้นไปอย่างเดียวดาย เหมือนสวรรค์แกล้งให้โลกลืม"
พระเกียรติยศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พระยศ
- 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480: นายร้อยตรี[9]
- 9 ตุลาคม พ.ศ. 2491: ร้อยเอก[10]
สถิติการแข่งขัน
สรุปผลการแข่งขัน
ฤดูกาล
|
แข่งขัน
|
ชนะเลิศ
|
โพเดียม
|
ตำแหน่งโพล
|
Championship
|
คะแนน
|
1935
|
21
|
0
|
5
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1936
|
21
|
4
|
10
|
|
|
|
|
|
|
|
|
73
|
1937
|
26
|
5
|
14
|
|
|
|
|
|
|
|
|
73
|
1938
|
24
|
7
|
16
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
รวม
|
92
|
16
|
45
|
|
|
1950
|
7
|
0
|
0
|
|
|
|
|
|
|
|
|
5
|
1951
|
8
|
0
|
0
|
|
|
|
|
|
|
|
|
0
|
1952
|
8
|
0
|
0
|
|
|
|
|
|
|
|
|
0
|
1953
|
9
|
0
|
0
|
|
|
|
|
|
|
|
|
0
|
1954
|
9
|
0
|
0
|
|
|
|
|
|
|
|
|
3
|
รวม
|
41
|
0
|
0
|
|
8
|
พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935)
พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)
พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)
พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938)
ฟอร์มูลาวัน (พ.ศ. 2493 - 2497)
-
พระองค์พีระ ทรงขับ Romulus เข้าเส้นชัยที่ ลอนดอนกรังปรีซ์ สนามคริสตัลพาเลซเซอร์กิต
-
พระองค์พีระ และ Romulus ทรงรับถ้วยรางวัลจากเจ้าชายหลุยส์แห่งโมนาโก ชายที่ยืนอยู่ขวามือสุดในภาพ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
-
พระองค์พีระ ทรงขับรถ Maserati 250F แข่งขันรถสูตรหนึ่ง เฟรนช์กรังด์ปรีซ์ ปี 1954 เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 4
-
รถ Maserati A6GCM สีฟ้าพีระ
-
รถ ERA B "Remus"
พงศาวลี
พงศาวลีของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
|
|
อ้างอิง
- ↑ สื่อเอฟวันยก 'พระองค์เจ้าพีระ' ติดท็อปทรีตำนานนักแข่งเอเชีย - ข่าวไทยรัฐ
- ↑ BRDC Awards, The Gold Star
- ↑ 3.0 3.1 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์ สมัยประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2494, พิมพ์ครั้งที่สิบ พ.ศ. 2532. 360 หน้า. ISBN 974-86938-5-6 ภาคผนวกโดย สรรพสิริ วิริยศิริ
- ↑ http://8w.forix.com/bira.html
- ↑ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 342
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๓, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๒๑, ๕ ธันวาคม ๒๔๘๑
- ↑ ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-30. สืบค้นเมื่อ 2008-06-17.
- หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธุ์. ต้นกำเนิดที่เกิดเหตุ... เจ้าชายดาราทอง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. 376 หน้า. ISBN 974-322-980-9
- คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตเหมือนฝัน เล่ม 1
แหล่งข้อมูลอื่น
หนังสือและบทความ
- ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. “ล้อหมุนเร็ว: การแข่งรถ วรรณกรรมการแข่งรถ และชาตินิยมไทย.” แปลโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์. อ่าน (สิงหาคม 2558): 134-55.
เว็บไซต์