ปอล ฟร็องซัว ฌ็อง นีกอลา ไวเคานต์แห่งบารัส (ฝรั่งเศส: Paul François Jean Nicolas, Vicomte de Barras) หรือรู้จักกันในชื่อ ปอล บารัส เป็นนักการเมืองในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในสมาชิกในคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสในช่วงค.ศ. 1795 ถึง 1799
ปอล บารัส เกิดในตระกูลขุนนางในพรอว็องส์ เมื่อมีอายุได้ 16 ก็เข้าเรียนวิทยาลัยนายร้อย และต่อมาเข้ารับราชการทหารในกองทัพหลวงฝรั่งเศส โดยไปประจำการที่นิคมไมซอร์ทางตอนใต้ของอินเดีย[1][2] ต่อมาเมื่อไมซอร์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่สองในปี 1784 บารัสก็เดินทางกลับฝรั่งเศส[2] เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นในปี 1789 เขาก็เลือกอยู่กับฝ่ายฌากอแบ็ง หลังระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้มแล้ว ในปี 1792 เขาก็ได้เป็นผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ เมื่อสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น เขาก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาให้เป็นผู้ตรวจการประจำกองทหารฝรั่งเศสซึ่งเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านจากซาร์ดิเนียในคาบสมุทรอิตาลี ต่อมาเขาได้เป็นผู้แทนจากจังหวัดวาร์ในสภา
ในเดือนมกราคม 1793 เขาเป็นหนึ่งในผู้ลงมติให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะเป็นสมาชิกที่ประชุมใหญ่แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมบ่อยนักเนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจการกองทัพในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ในช่วงนี้เองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับนายพลนโปเลียนระหว่างการปิดล้อมที่ตูลง
ในเดือนกรกฎาคม 1794 บารัสเข้าร่วมกับฝ่ายโค่นล้มอำนาจของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ และในปีต่อมา เมื่อที่ประชุมใหญ่แห่งชาติไม่ค่อยไว้ใจกองคุ้มกันแห่งชาติ (National Guard) ประจำกรุงปารีส ที่ประชุมใหญ่จึงมอบกองทหารให้เขาดูแลเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองที่ประชุมใหญ่ เขาได้แต่งตั้งให้นโปเลียนกุมกองกำลังนี้ ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมของฝ่ายเรียกร้องระบอบกษัตริย์ที่ถนนหน้าพระราชวังตุยเลอรีอันเป็นสถานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติในวันที่ 5 ตุลาคม 1705
ในเดือนพฤศจิกายน 1795 บารัสได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ และเนื่องด้วยบารัสมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน เขาคอยเป็นพ่อสื่อให้กับโฌเซฟีนและนโปเลียนจนแต่งงานกันในปี 1796 หลังจากนั้น เขาแต่งตั้งให้นโปเลียนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารประจำอิตาลี[3] เมื่อนโปเลียนก่อรัฐประหารเดือนบรูว์แมร์ในปี 1799 บารัสเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ที่ยอมลาออก และดูเหมือนว่าเขาจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้บารัสจะหมดอำนาจแต่ด้วยการที่เขามีทรัพย์สมบัติมหาศาลได้ทำให้บารัสสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหราไปได้หลายปีภายใต้การถูกสั่งกักบริเวณไว้ในปราสาทกรอบัวซึ่งเป็นทรัพย์สินของเขา ก่อนที่ต่อมาจะถูกเนรเทศไปยังบรัสเซลส์, โรม และมงเปอลีเย เขาเป็นอิสระเมื่อนโปเลียนสิ้นอำนาจในปี 1814
อ้างอิง