นักศึกษาวิชาทหาร (ย่อ: นศท.) เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด[1] ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทย[2] ภายใต้การควบคุมของโรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ย่อ: นรด.)
ประวัติ
พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเริ่มมีการฝึกยุวชนทหารเพื่อผลิตทหารกองหนุน สนับสนุนการรบของกองทัพไทย กล่าวได้ว่าการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) มีต้นกำเนิดและแนวคิดมาจากยุวชนทหาร
พ.ศ. 2491 กิจการการศึกษาวิชาทหารได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีการสถาปนากรมการรักษาดินแดน ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491[3] เพื่อดำเนินกิจการดังกล่าว ลงคำสั่งทหารที่ 54/2477 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 โดยแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (ต่อมาแก้ไขโดย พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500)[4]
การสงครามในอนาคตนั้น พลเมืองทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย ย่อมจะต้องมีส่วนร่วมในสงครามด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายโครงสร้างของกองทัพ พร้อมกับพัฒนาระบบกำลังสำรองควบคู่กันไป
พ.ศ. 2492 ได้เริ่มรับสมัครนักเรียนซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาตั้งแต่ชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 1 ของโรงเรียนอาชีพ หรือเป็นนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1[5] และทำการฝึกนศท.เป็นปีแรก โดยเริ่มในกรุงเทพมหานคร แล้วจึงกระจายไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด โดยดำเนินการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปี ในปี 2496
พ.ศ. 2497 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497[6] และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497[7] ส่งผลให้นักศึกษาหรือนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494[8] ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ต้องเข้ารับราชการทหารในฐานะนายทหารสัญญาบัตรต่อไปอีกไม่เกิน 2 ปี จากนั้นให้ปลดเป็น นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน[9] หรือรับราชการในฐานะนายทหารสัญญาบัตรประจำการต่อก็ได้[10] (ต่อมาได้มีการแก้ไขข้อบังคับฯ เพิ่มเติมส่งผลให้ปลดเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน)[11] และได้มีพิธีประดับยศเป็น ว่าที่ร้อยตรี สำหรับผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2497[12]
พ.ศ. 2503 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503[13] ส่งผลให้ถอนทะเบียนกองประจำการนักศึกษาหรือนิสิต เฉพาะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 สำหรับนักศึกษาหรือนิสิตซึ่งรับราชการทหารตามมาตรา 7 และมาตรา 7 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 นั้นให้ปลดเป็นกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร[14]
พ.ศ. 2528 ได้เริ่มมีการฝึกนศท.หญิงเป็นครั้งแรก พร้อมกับการฝึกนศท.ชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือ
พ.ศ. 2544 สถาปนา หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.) โดยการรวมกิจการของกรมการรักษาดินแดน และกรมการกำลังสำรองทหารบกเข้าด้วยกัน[15] ลงคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ 63/44 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2544
พ.ศ. 2552 เปลี่ยนนามหน่วยเป็น หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) แทนชื่อเดิม หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.)[16] โดย นรด. มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับการและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการกำลังสำรองทั้งปวง กิจการสัสดี รวมทั้งปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ[17] การฝึก นศท.จึงได้รับการอำนวยการจากหน่วยงานดังกล่าว โดยขึ้นตรงกับ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน รวมทั้ง ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกต่าง ๆ
พ.ศ. 2560 มีการแปรสภาพ ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศสร.) เป็น ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศศท.) ณ ที่ตั้งสุทธิสาร และแปรสภาพ โรงเรียนกำลังสำรอง เป็น ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศสร.) ณ ที่ตั้งปราณบุรี ทำให้ปัจจุบัน นักศึกษาวิชาทหารได้รับการอำนวยการฝึกจาก โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน[18]
ปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน นักศึกษาวิชาทหาร หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหารเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของ ทหารประจำการ ตำรวจ ยุวชนทหาร และราษฏรอาสาสมัครที่ได้ร่วมมือต่อต้านข้าศึกในสงครามมหาเอเชียบูรพา
การคัดเลือก
ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีการคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้[19]
- สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.00
- กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร
- เป็นบุคคลชายหรือหญิงและมีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 22 ปี นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องได้รับคำยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง (กรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) (ดูการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านล่างประกอบ สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปี)
- เป็นบุคคลที่ไม่พิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค [20]ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- เป็นบุคคลผู้มีน้ำหนัก ขนาดรอบตัว ขนาดส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนด[21]
- มีใบรับรองของสถานศึกษาว่ามีความประพฤติเรียบร้อย สมควรเข้ารับการฝึกวิชาทหาร
- ไม่เป็นทหารประจำการ, ทหารกองประจำการ, ผู้ที่ปลดประจำการ ภายหลังจากรับราชการในกองประจำการครบกำหนด แล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แล้ว หรือถูกกำหนดตัวให้เข้ากองประจำการแล้ว
- เป็นบุคคลผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body Mass Index) อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องไม่อยู่ในภาวะ โรคอ้วน ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป (BMI = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง² (ม.²) )
การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ผู้เข้ารับการทดสอบ จะต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบสมรรถภาพการคัดเลือกนักศึกษาในปี พ.ศ. 2553 โดยแต่ละอย่างจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน หากสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ (วิ่งครบระยะทาง/ดันพื้นและลุกนั่งครบจำนวนครั้ง ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด) จะได้รับคะแนนเต็มในส่วนนั้น ๆ นอกจากนี้หากได้คะแนนเต็มทั้ง 3 ส่วน จะสามารถรายงานตัวเข้ารับการฝึกได้ทันที
ชาย
- วิ่ง 800 เมตร ใน 3 นาที 15 วินาที
- ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 34 ครั้ง ใน 2 นาที
- ดันพื้น (วิดพื้น) 22 ครั้ง ใน 2 นาที
หญิง
- วิ่ง 800 เมตร ใน 4 นาที
- ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 25 ครั้ง ใน 2 นาที
- ดันพื้น (วิดพื้น) 15 ครั้ง ใน 2 นาที (เข่าติดพื้น)
หลักสูตรและการเรียนการสอน
เป้าหมายของการฝึกนักศึกษาวิชาทหารในแต่ละชั้นปี
- ชั้นปีที่ 1 และ 2 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารเบื้องต้น เพื่อให้บังเกิดระเบียบวินัย ลักษณะทหาร การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด สามารถใช้อาวุธประจำกาย และทำการยิงปืนอย่างได้ผล
- ชั้นปีที่ 3 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ได้
- ชั้นปีที่ 4 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บังคับหมวดได้
- ชั้นปีที่ 5 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดได้
การฝึกวิชาทหารดังกล่าว ถ้ามีการละเว้นการเรียน 1 ปีโดยไม่แจ้งลาพักเข้ารับการฝึก จะถือว่าสิ้นสุดสภาพความเป็นนักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถเข้ารับการฝึกในชั้นปีต่อไปได้[22]
นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพบกสามารถแบ่งออกได้ 5 เหล่าคือ
- เหล่าทหารราบ
- เหล่าทหารม้า
- เหล่าทหารปืนใหญ่
- เหล่าทหารช่าง
- เหล่าทหารสื่อสาร
การเรียนการสอนนักศึกษาวิชาทหารแบ่งออกเป็นภาคที่ตั้งและภาคสนาม
สำหรับเหล่าทหารช่างและทหารเหล่าสื่อสารเริ่มการฝึกให้กับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 เมื่อปีการศึกษา 2549
ศูนย์ฝึกและหน่วยฝึก
- กองทัพภาคที่ 1
- ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร (ศศท.)
- ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร กรมการสัตว์ทหารบก (ศฝ.นศท.กส.ทบ.)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 12 (ศฝ.นศท.มทบ.12)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 13 (ศฝ.นศท.มทบ.13)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 14 (ศฝ.นศท.มทบ.14)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 15 (นฝ.นศท.มทบ.15)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 16 (นฝ.นศท.มทบ.16)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 17 (นฝ.นศท.มทบ.17)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 18 (นฝ.นศท.มทบ.18)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 19 (นฝ.นศท.มทบ.19)
- กองทัพภาคที่ 2
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 21 (ศฝ.นศท.มทบ.21)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 22 (ศฝ.นศท.มทบ.22)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 (ศฝ.นศท.มทบ.23)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 24 (ศฝ.นศท.มทบ.24)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 25 (นฝ.นศท.มทบ.25)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 26 (นฝ.นศท.มทบ.26)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 27 (นฝ.นศท.มทบ.27)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 28 (นฝ.นศท.มทบ.28)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 29 (นฝ.นศท.มทบ.29)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 210 (นฝ.นศท.มทบ.210)
|
- กองทัพภาคที่ 3
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 31 (ศฝ.นศท.มทบ.31)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 32 (ศฝ.นศท.มทบ.32)
- ศุนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 (ศฝ.นศท.มทบ.33)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 34 (นฝ.นศท.มทบ.34)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 35 (นฝ.นศท.มทบ.35)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 36 (นฝ.นศท.มทบ.36)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 37 (นฝ.นศท.มทบ.37)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 38 (นฝ.นศท.มทบ.38)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 39 (นฝ.นศท.มทบ.39)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 310 (นฝ.นศท.มทบ.310)
- กองทัพภาคที่ 4
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 41 (ศฝ.นศท.มทบ.41)
- ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 42 (ศฝ.นศท.มทบ.42)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 43 (นฝ.นศท.มทบ.43)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 44 (นฝ.นศท.มทบ.44)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 45 (นฝ.นศท.มทบ.45)
- หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 46 (นฝ.นศท.มทบ.46)
|
ภาคที่ตั้ง
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กำหนดให้หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารทำการฝึกทั้งหมด ทั้งหมด 80 ชม. โดยอาจฝึกแบบ 1 (20 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง) หรือแบบ 4 (10 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมง) ในชั้นปีที่ 4 และ 5 นั้นจะมีการฝึกศึกษาวิชาเหล่าใน 40 ชม.หลัง
สำหรับส่วนภูมิภาค (มทบ. และ จทบ.) จะทำการฝึกภาคที่ตั้งในช่วงปิดภาคต้นของสถานศึกษาปกติ
การฝึกยุทธวิธี
นอกจากการฝึกทฤษฎีและวินัยแล้ว จะมีการฝึกยุทธวิธีด้วย เช่น ยิงปืน ลงทางดิ่ง และโดดหอสูง โดยเมื่อผ่านการฝึกแล้ว จะสามารถติดเครื่องหมายของแต่ละการฝึกได้
นักศึกษาวิชาทหารชายชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่สังกัดกรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง จะถูกแยกฝึกตามเหล่า โดยการแยกฝึกนี้จะถูกกำหนดจากศูนย์ฝึกฯ ผ่านลงมาตามสถานศึกษา
การสอบ
ให้ดำเนินการสอบภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1–5 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในสัปดาห์ที่ 21 ของการฝึกวิชาทหาร ในภาคปกติ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป ให้งดการสอบภาคทฤษฎีสำหรับ นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 แต่ให้ดำเนินการสอบภาคทฤษฎีสำหรับ นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 - 5 เท่านั้น
ภาคสนาม
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ทั้งชายและหญิง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้งดทำการฝึก
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2-5 ที่สังกัดภายในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดข้างเคียง ให้ทำการฝึกที่ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2-5 ที่สังกัดส่วนภูมิภาค ให้ทำการฝึก ณ ที่ตั้งส่วนภูมิภาค
นักศึกษาวิชาทหารชาย
- ชั้นปีที่ 2 ทำการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
- ชั้นปีที่ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
- ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทุกภาคส่วน ให้ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 7 วัน 6 คืน
หมายเหตุ เรื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปลายปี พ.ศ. 2554 จึงทำให้งบประมาณที่จะใช้ในการฝึกภาคสนามไม่เพียงพอ ดังนั้น การฝึกภาคสนามประจำปีการศึกษา 2554 จึงดำเนินการฝึกให้สำหรับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ถึง ชั้นปีที่ 5 เท่านั้น แต่เพิ่มวันฝึกภาคสนามให้สำหรับชั้นปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2554 เดิมจาก 5 วัน 4 คืน เพิ่มเป็น 6 วัน 5 คืน
นักศึกษาวิชาทหารหญิง
- ชั้นปีที่ 2 และ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
- ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทุกภาคส่วน ให้ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
หลักสูตรพิเศษ
ปัจจุบัน มีการฝึกหลักสูตรพิเศษ เช่น การกระโดดร่มแบบพาราเซล โดยมีการฝึกภาคที่ตั้งและภาคสนามเพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติ
หลักสูตรพาราเซล
หลักสูตรพาราเซลสำหรับนักศึกษาวิชาทหาร จะเปิดรับสมัครให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 กับชั้นปีที่ 4 เท่านั้นโดยแต่ละปีจะเปิดรับนักศึกษาชาย 100 คน หญิง 100 คนทั่วประเทศ โดยเกณฑ์การทดสอบร่างกายมีดังต่อไปนี้
ชาย:
- ดึงข้อ 15 ครั้ง ไม่จำกัดเวลา
- ลุกนั่ง 65 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
- ดันพื้น 47 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
- วิ่ง 1600 เมตร ในเวลา 8 นาที
หญิง:
- โหนบาร์ 1 นาที 15 วินาที
- ลุกนั่ง 55 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
- ดันพื้น 33 ครั้ง ในเวลา 2 นาที (เข่าติดพื้น)
- วิ่ง 1600 เมตร ในเวลา 9.30 นาที
การฝึกพาราเซล จะใช้เวลาตรงกับการฝึกภาคสนามของนักศึกษาวิชาทหารผลัดใดผลัดหนึ่ง ตามที่แผนกวิชารบพิเศษ ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหารกำหนด โดยจะกินเวลา 7 วัน และเลื่อนการฝึกภาคสนามผลัดนั้นและผลัดต่อไปออก ผู้เข้ารับการฝึกจะพักแรมในบริเวณของกองพันฝึกปกครองที่ 41 รวมกันทั้งหมด
นักศึกษาวิชาทหารผู้ผ่านการฝึก จะได้รับสิทธิในการติดเครื่องหมายปีกพาราเซลสีฟ้าเหนือป้ายชื่อ (หน้าอกด้านขวา)
สังกัดกองการกำลังพลสำรอง กรมกำลังพลทหารเรือ โดย กพส.กพ.ทร.ได้ประสานกับ นรด.เพื่อจัดหานักศึกษาวิชาทหารที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือหรือเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในส่วนของกองทัพเรือ (สมุดประจำตัวทหารกองหนุน หรือ สด.8 เป็นเล่มสีน้ำตาล) เข้ารับการศึกษาวิชาทหารในชั้นปีที่ 4 โดยแต่ละปีการศึกษาจะรับนึกศึกษาวิชาทหารประมาณ 90 นาย
พ.ศ. 2552 การฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ในส่วนของกองทัพเรือเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก[23] ซึ่งจะขยายการฝึกจนครบทั้ง 5 ชั้นปีเช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพบก แต่ยังเปิดรับนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบกที่ประสงค์โอนย้ายมาฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือไปจนถึงปีการศึกษา 2554
พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป การรับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 จะรับสมัครนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จากกองทัพเรือเป็นเกณฑ์หลัก
- ภาคทฤษฎี
- ชั้นปีที่ 1 – 2 จะทำการฝึก ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นเวลาทั้งหมด 80 ชั่วโมง คิดเป็น 20 วันในช่วงเดือนกรกฎาคม
- ชั้นปีที่ 3 จะมีการแบ่งหน่วย ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 หน่วย คือ
- พรรคนาวิน สังกัด กองเรือยุทธการ (กร.)
- พรรคนาวิกโยธิน สังกัด หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.)
- พรรคนาวิน สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.)
เมื่อทำการแยกหน่วยเสร็จสิ้น นักศึกษาวิชาทหารต้องเดินทางไปทำการฝึกที่หน่วยของตนในวันต่อไป
- ชั้นปีที่ 4 – 5 จะทำการเรียนภาควิชาทหารเรือ ณ กองการฝึก กองเรือยุทธการ
(หมายเหตุ : ข้อมูล นศท.ทร.ชั้นปีที่ 1 – 2 เป็นข้อมูลเดิม ก่อนการยุบหน่วย ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) เมื่อ 1 เมษายน 2562)
การรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4
- เป็นผู้ที่สำเร็จวิชาทหารชั้นปีที่ 3 และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (สมุด สด.8 สีน้ำตาล)
- ถ้าผู้เข้าศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 ไม่ครบตามจำนวน จะพิจารณาจากนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบก (สมุด สด.8 สีเขียว) ในเขตพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- เมื่อปฏิบัติตามข้อที่ 2 ไม่ครบตามจำนวน จะพิจารณานักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบก (สมุด สด.8 สีเขียว) นอกเขตพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพเรือสามารถแบ่งออกได้ 2 พรรค 3 หน่วย คือ
- พรรคนาวิน สังกัด กองเรือยุทธการ (กร.) เปิดรับทุก ๆ ปี ปีละประมาณ 45 นาย
- พรรคนาวิกโยธิน สังกัด หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) เปิดรับปีเว้นปี ปีละประมาณ 45 นาย
- พรรคนาวิน สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) เปิดรับปีเว้นปี (สลับกับ นย.) ปีละประมาณ 45 นาย
การฝึกภาคสนาม/ทะเล
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2 จะทำการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จะทำการฝึกภาคสนาม ณ หน่วยของตนเป็นเวลา 7 วัน (กร., นย. หรือ สอ.รฝ.)
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 จะเข้ารับการฝึกเป็นเวลา 7 วัน ที่กองการฝึก กองเรือยุทธการ (กฝร.)[24]
- นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5 จะแยกฝึกตามสังกัดของตน (กร., นย. หรือ สอ.รฝ.) โดยใช้เวลาฝึก 17 วัน[24]
- หลักสูตรก่อนการแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่เรือตรี ณ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ศฝ.นย.) เป็นเวลา 15 วัน [25]
ปีการศึกษา 2549 กรมกำลังพลทหารอากาศได้รับอนุมัติจากกองทัพอากาศ เปิดการฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และจะเปิดการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปี ในปีการศึกษา 2553 โดยกองทัพอากาศต้องการเน้นเฉพาะการฝึกนักศึกษาวิชาทหารเพื่อเป็นกำลังพลสำรองในส่วนช่างเทคนิค เพื่อชดเชยกำลังหลักในส่วนดังกล่าวที่ขาดแคลน โดยจะคัดเลือกเฉพาะนักศึกษาวิชาทหารที่สถานศึกษามีที่ตั้งใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพอากาศกรุงเทพมหานคร และเปิดสอนในด้านช่างเทคนิค ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี โรงเรียนเซนต์จอห์นโปลิเทคนิค วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา
การฝึกภาคทฤษฎี
การเรียนภาคทฤษฎีเริ่มทำการฝึกประมาณเดือนกรกฎาคม จนถึง เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ที่โรงเรียนจ่าอากาศ
การฝึกภาคสนาม
- นศท.ชั้นปีที่ 1 ฝึกภาคสนามที่โรงเรียนการบิน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- นศท.ชั้นปีที่ 2 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี
- นศท.ชั้นปีที่ 3 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
- นศท.ชั้นปีที่ 4 และ นศท. ชั้นปีที่ 5 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 5 อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคิรีขันธ์
การฝึกอบรมก่อนพิธีประดับยศ
การอบรมใช้เวลา 5 วัน ดำเนินการโดยกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ
วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554 ได้มีพิธีประดับยศเป็น ว่าที่เรืออากาศตรี ให้กับ นศท. ชั้นปีที่ 5 ในส่วนของกองทัพอากาศ รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2553[26]
สิทธิที่นักศึกษาวิชาทหารจะได้รับ
การแต่งกาย
นักศึกษาวิชาทหารมีสิทธิแต่งเครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหารได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหารและเครื่องแบบผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร พ.ศ. 2521
นักเรียนผู้บังคับบัญชา
เนื่องด้วยมีนักเรียนจำนวนมากเข้ารับการศึกษาวิชาทหารในแต่ละปี ทำให้เป็นการยากต่อครูผู้ฝึกที่จะควบคุมดูแลตามลำพัง จึงมีการคัดเลือกและแต่งตั้งนักเรียนผู้บังคับบัญชา (หรือนักเรียนบังคับบัญชา) เพื่อช่วยเหลือครูผู้ทำการฝึก โดยนักเรียนบังคับบัญชาจะได้รับสิทธิในการติดป้ายชั้นปีปรับสีเพื่อแสดงชั้นยศ และอาจได้รับปลอกแขน โดยในหลักสูตรจะมีชั้นยศอย่างเป็นทางการ 3 ระดับ ได้แก่
- หัวหน้านักเรียน(มีสถานะเทียบเท่าหัวหน้ากองพัน) สีน้ำเงิน
- หัวหน้ากองร้อย สีฟ้า
- หัวหน้าหมวด สีแดง
- หัวหน้าหมู่ สีเขียวอ่อน * ตำแหน่งนี้มักไม่มีการแต่งตั้ง, เรียกใช้ หรือฝึกฝนเป็นพิเศษ*
นอกจากนี้ อาจมีการแต่งตั้งยศที่ไม่ได้มีการบรรจุในระเบียบอย่างเป็นทางการเพื่อการฝึก คือนักเรียนบังคับบัญชาระดับสูงหรือรองนักเรียนบังคับบัญชา โดยใช้ปลอกแขนคู่กับเลขชั้นปี สีประจำชั้นยศของยศพิเศษหรือแม้แต่ยศปกติข้างต้นอาจแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน
- หัวหน้ากรม (มีเฉพาะส่วนภูมิภาค)
- หัวหน้ากองพัน (สีน้ำเงิน; สำหรับภาคสนามของส่วนกลาง)
การยกเว้นตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
นักศึกษาวิชาทหารซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 มีสิทธิได้รับการยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497[27]
การเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
บุคคลชายผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน[28]
- นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน หรือร้องขอสมัครใจเป็น 1 ปี
- นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 2 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี หรือร้องขอสมัครใจเป็น 6 เดือน
- นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 4 และ 5 มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการและปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1[29] (ได้รับยกเว้นการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ)[30]
หมายเหตุ- นักศึกษาวิชาทหารที่จบชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่จะลดหย่อนระยะเวลาในการรับราชการทหารกองประจำการนั้น ต้องยื่นหลักฐานการจบ รด. ปีที่ 1 และ 2 แสดงต่อหน้าคณะกรรมการตรวจเลือกทหาร ภายในวันตรวจเลือกทหารเท่านั้น
- นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝีกชั้นปีที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นในการรับราชการทหารกองประจำการนั้น จะต้องส่งหลักฐานเพื่อขอสิทธิในการขึ้นทะเบียนกองประจำการและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในขณะที่กำลังศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 และก่อนที่จะเข้ารับการฝึกภาคสนาม เท่านั้น
การเพิ่มคะแนนพิเศษ
นักศึกษาวิชาทหารมีสิทธิได้รับการเพิ่มคะแนนพิเศษ เมื่อสอบเข้าโรงเรียนทหาร ตามข้อบังคับ กห.ว่าด้วยโรงเรียนทหาร พ.ศ. 2492 คือ
- สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 1 เพิ่มให้ร้อยละ 3
- สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 2 เพิ่มให้ร้อยละ 4
- สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 เพิ่มให้ร้อยละ 5
- สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 4 เพิ่มให้ร้อยละ 6
- สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5 เพิ่มให้ร้อยละ 7
การแต่งตั้งยศทหาร
การแต่งตั้งยศทหารของนักศึกษาวิชาทหารผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศทหาร พ.ศ. 2507 ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2524 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2537 ดังต่อไปนี้[31]
ระดับการศึกษา วิชาทหารหลักสูตรของ กห. |
ระดับการศึกษา วิทยฐานะ ศธ.รับรอง |
ยศทหาร ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ |
อักษรย่อ ทบ. ทร. ทอ. |
เงื่อนไข
|
ชั้นปีที่ 1 |
มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) |
สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี |
ส.ต., จ.ต., จ.ต. |
เข้ารับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้ว
|
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี |
สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท |
ส.ท., จ.ท., จ.ท. |
รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
ชั้นปีที่ 2 |
- |
สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี |
ส.ต., จ.ต., จ.ต. |
เข้ารับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้ว
|
มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) |
สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท |
ส.ท., จ.ท., จ.ท. |
รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี |
สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก |
ส.อ., จ.อ., จ.อ. |
รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
ชั้นปีที่ 3 |
- |
สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท |
ส.ท., จ.ท., จ.ท. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) |
สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก |
ส.อ., จ.อ., จ.อ. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี |
จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี |
จ.ส.ต., พ.จ.ต., พ.อ.ต. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
ชั้นปีที่ 4 |
ศึกษาอนุปริญญา (เทียบเท่า) แต่ไม่สำเร็จการศึกษา |
จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี |
จ.ส.ต., พ.จ.ต., พ.อ.ต. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
อนุปริญญา (เทียบเท่า) |
จ่าสิบโท พันจ่าโท พันจ่าอากาศโท |
จ.ส.ท., พ.จ.ท., พ.อ.ท. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
ปริญญาตรี |
จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก |
จ.ส.อ., พ.จ.อ., พ.อ.อ. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
ชั้นปีที่ 5 |
ศึกษาอนุปริญญา (เทียบเท่า) แต่ไม่สำเร็จการศึกษา |
จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก |
จ.ส.อ., พ.จ.อ., พ.อ.อ. |
ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
|
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี |
(ว่าที่) ร้อยตรี, (ว่าที่) เรือตรี, (ว่าที่) เรืออากาศตรี |
(ว่าที่) ร.ต., (ว่าที่) ร.ต.(ชื่อ)ร.น., (ว่าที่) ร.ต. |
ได้รับการฝึกอบรมตามระเบียบการแต่งตั้งยศของเหล่าทัพแล้ว นำขึ้นทะเบียนและนำปลด
|
หลักสูตรฝึกเลื่อนยศ(สูงสุด) |
|
(ว่าที่) พันเอก,(ว่าที่) นาวาเอก, (ว่าที่) นาวาอากาศเอก |
(ว่าที่) พ.อ., (ว่าที่) น.อ.(ชื่อ)ร.น., (ว่าที่) น.อ. |
เข้ารับการฝึกเลื่อนยศ ตามประกาศของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
โดยจะเปิดรับสัมครทหารกองหนุนเข้ารับการฝึกเป็นประจำทุกปี โดยต้องเป็นนายทหารกองหนุนชั้นยศ และเหล่า ตามที่กำหนด
|
หมายเหตุ 1 : ยศทหารชั้นสัญญาบัตรที่มิได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหาร ให้มีคำว่า "ว่าที่" นำหน้ายศนั้น ๆ
หมายเหตุ 2 : เมื่อทหารกองเกินสำเร็จการฝึกวิชาทหารแล้วปลดจากกองประจำการจะได้รับการแต่งตั้งยศทหาร[32]เป็นนายทหารสัญญาบัตรแล้วปลดเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน (ไม่มีเบี้ยหวัด)[33] หรือได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารประทวน แล้วปลดเป็นนายทหารประทวนกองหนุน (ไม่มีเบี้ยหวัด)แล้วแต่กรณีตามชั้นปีที่สำเร็จการศึกษาและเขื่อนไขดังกล่าวตามตารางข้างต้น
หมายเหตุ 3 : เมื่อสมัครสอบคัดเลือกและได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร การแต่งตั้ง การเลื่อนหรือลดตำแหน่ง การย้าย การโอน การเลื่อนชั้นเงินเดือน...ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารและการให้ได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2555[34] ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521[35] (แก้ไขเพิ่มเติม ฉับบที่ 7 พ.ศ. 2551[36]) ส่วนการแต่งตั้งยศทหารให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2479 [37] (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2494[38] และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2505[39])
หมายเหตุ 4 : ปัจจุบันไม่มีการเปิดการฝึกหลักสูตร ชั้นนายพัน (ยศ ว่าที่พันตรี, ว่าที่นาวาตรี, ว่าที่นาวาอากาศตรี) มาเป็นระยะเวลานานแล้ว และภายหลังต่อมา ได้กลับมาเปิดการฝึกหลักสูตร ชั้นนายพัน ในปี 2567 หลังจากที่ไม่ได้เปิดการฝึกมาเป็นระยะเวลานาน
หมายเหตุ 5 : ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลื่อนยศและการเลื่อนฐานะกำลังพลสำรองที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรอง เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพล พ.ศ. 2565 (หมวด 1 ข้อ 5) สามารถเลื่อนยศได้สูงสุดไม่เกิน ว่าที่พันเอก, ว่าที่นาวาเอก, ว่าที่นาวาอากาศเอก
แนวคิดที่จะแก้ไขกฎระเบียบ
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จะไม่รับผู้มีอายุ 15 ปี (ซึ่งเป็นอายุที่กำลังศึกษาในระดับ ม.3-4) และจะเลือกรับผู้มีอายุ 17 ปีขึ้นไปก่อน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่มิให้ฝึกใช้อาวุธแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี[40] แต่สุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้ในกฎระเบียบแต่อย่างใด ยังคงรับสมัคร นศท ที่จบ ม.3 ตามปกติ ที่กำลังศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามเดิม
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ต้องมีการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ และ ต้องให้ทันต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และได้กล่าวถึงปัญหาในปัจจุบันที่มีผู้ที่เข้ามารับสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และได้แสดงความเป็นห่วงว่า ต่อไปถ้ามีผู้ที่เข้ามารับสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ และในปัจจุบันอัตราส่วนอยูที่ 2.3 คน ต่อการเป็นทหารเกณฑ์ 1 คน ซึ่งจำนวนนี้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้ามีผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ท่านจึงได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขระเบียบให้นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารประจำปีตามปกติ เหมือนชายไทยทั่วไปที่ไม่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหาร หรือ เรียนแต่ไม่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3[41]
พลโทวิชิต ศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของ ผบ.ทบ. ที่มีแนวคิดให้ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ต้องเข้ามาเกณฑ์ทหารว่า แนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และกองทัพมีแนวคิดในเรื่องนี้มานานแล้วว่า ทุกคนที่เรียนจบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ควรเข้ามารับการฝึกประมาณ 3–6 เดือน เพื่อเพิ่มพูนจิตวิญญาณในการรักชาติ ซึ่งเป็นเพียงแค่การขยายแนวความคิดเท่านั้น ต้องศึกษาวิธีการต่อไป ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มยอดนักศึกษาวิชาทหาร เพราะผู้ที่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหารส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ได้เข้าเรียนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในระดับชั้น ม.4–6 แต่ชายไทยที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด ซึ่งมันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ และ จากการหารือในรายละเอียด ก็ได้มีแนวทางว่า ต่อไปนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป อาจจะต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ แต่จะได้สิทธิลดหย่อนระยะเวลาในการรับราชการทหารแทน โดยอาจจะต้องเข้ามาประจำการเป็นทหารเกณฑ์ประมาณ 3–6 เดือน[42]
พลตรีทวีชัย กฤษิชีวิน ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหารว่า ณ ปัจจุบัน นักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่อนุสัญญาเจนีวา ที่ห้ามฝึกอาวุธให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงทำให้นักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถฝึกอาวุธได้เข้มข้นเทียบเท่ากับทหารเกณฑ์ ดังนั้นจึงได้เสนอแนวคิดมาว่า ถ้านักศึกษาวิชาทหารเรียนจบชั้นปีที่ 3 ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามปกติ แต่ลดระยะเวลาการรับราชการทหารกองประจำการลงเหลือ 6 เดือน มิฉะนั้น ยังไม่ทันยิงปืนเป็นเรียนจบแล้ว แต่ถ้านักศึกษาวิชาทหารเรียนจบชั้นปีที่ 5 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยไม่ต้องรับราชการในกองประจำการ ดังนั้น ถ้านักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วไม่ต้องการเป็นทหารต่อ จะต้องเรียนจนจบชั้นปีที่ 5 และหลักสูตรการการฝึกอาวุธ ได้ขยายไปอยู่ในชั้นปีที่ 4 – 5 และจะทำให้กองทัพสามารถผลิตทหารกองหนุนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ[43]
ปัจจุบัน ทุก ๆ อย่างที่ผู้บัญชาการทั้ง 3 ท่านได้กล่าวมานั้น ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ยังคงใช้กฎระเบียบเดิมคือ ผู้ที่เรียนจบนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยไม่ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นทหารกองประจำการอีกต่อไป
ข้อผูกพันต่อทางราชการ
นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3, ชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ และถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพแล้ว ทางราชการมีสิทธิ์เรียกพลเพื่อตรวจสอบสภาพ, ตรวจสอบบัญชีรายชื่อ หรือเพื่อฝึกวิชาทหารได้ทุกเวลา ซึ่งถ้ามีการเรียกพล ทางอำเภอจะส่งหมายเรียกไปที่บ้านของผู้นั้น เพื่อนัดวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งผู้ถูกเรียกพล ต้องมารายงานตัวตาม วัน เวลา และ สถานที่ที่กำหนดไว้ โดยมีกำหนดการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร 10 ปี ตามเงื่อนไขของระบบการกำลังพลสำรอง ซึ่งการเรียกพลจะกระทำจนถึงอายุ 29 ปีบริบูรณ์ ถ้าหากทหารกองหนุนท่านใดหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษ ตาม พ.ร.บ. การรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
ทหารกองหนุนท่านใดที่กำลังเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารต่อในชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 สามารถขอผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารได้ โดยต้องนำ สด.8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) และเอกสารขอผ่อนผันมายื่นที่อำเภอให้เรียบร้อยอย่างถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามวิธีการผ่อนผันที่ถูกต้อง จะถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้สำเร็จนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ไม่ได้ผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกพลเช่นกัน
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
หน่วยงาน
กฎหมายและคำสั่งของทางราชการที่เกี่ยวข้อง
|
---|
ผู้บัญชาการ | | |
---|
เหล่าทัพ | |
---|
หน่วยทหาร | |
---|
วิทยาลัย/โรงเรียน | |
---|
หน่วยงานอื่น | |
---|
กำลังกึ่งทหาร | |
---|
กำลังพลสำรอง | |
---|
ประเด็นที่เกี่ยวข้อง | |
---|