นกอัลบาทรอส (อังกฤษ: Albatrosses) เป็นนกทะเลขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ Diomedeidae กระจายพันธุ์อยู่เป็นฝูงตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ ในเขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก (ดูในแผนที่)
นกอัลบาทรอสจัดว่าเป็นนกที่บินได้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[2] เมื่อกางปีกออก โดยอาจกว้างได้ถึง 3.5 เมตร ในกลุ่มนกอัลบาทรอสใหญ่ แม้แต่ขนาดเล็กที่สุดก็ยังกว้างได้ถึง 2 เมตร นกอัลบาทรอสจะบินอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถบินได้ไกลถึงวันละ 1,000 กิโลเมตร เพียงเพื่อหาอาหารกลับมาเลี้ยงลูกเท่านั้น แต่เมื่อนกอัลบาทรอสอยู่บนพื้นดินแล้วกลับมีพฤติกรรมที่งุ่มง่าม เนื่องจากไม่ถนัดในการเดิน เพราะมีฝ่าตีนที่แผ่แบนเป็นพังผืดเหมือนตีนเป็ด[3]
นกอัลบาทรอสสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 60 ปีแต่ขยายพันธุ์ช้ามากจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ภายในศตวรรษหน้า ภัยคุกคามสำคัญของมันคือการทำประมงเบ็ดราวในแต่ละปี มีนกอัลบาทรอสกว่า 100,000 ตัวที่ตายเพราะติดสายเบ็ดที่วางไว้เป็นล้านๆ เพื่อจับปลาทูน่า[4]
อนุกรมวิธาน
นกอัลบาทรอสจัดอยู่ในอันดับนกจมูกหลอด (Procellariiformes) โดยมีความหมายว่า "จมูกที่เป็นท่อ" เพราะนกอัลบาทรอสมีท่อที่ยาวจากจะงอยปากขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้มันสามารถตรวจจับอาหารและค้นหาพื้นที่สำหรับสร้างรัง[5]
ศัพทมูลวิทยา
ชื่อของนก "อัลบาทรอส" แผลงมาจากคำว่า "อัลคาทราซ" ในภาษาโปรตุเกส มีความหมายว่า นกกระทุงขนาดใหญ่ เพราะกะลาสีเรือชาวโปรตุเกสในสมัยโบราณเรียกชื่อมันผิด ส่วนนักเดินเรือชาวดัตช์ เรียกมันว่า "มอลลีม้อก" ซึ่งมีความหมายว่า "นกนางนวลเซ่อซ่า" เพราะนกชนิดนี้นักเดินเรือชาวดัตช์เห็นว่ามันเซ่อซ่า เพราะมันยอมให้นักเดินเรือใช้เบ็ดสอยมันร่วงจากท้องฟ้า[6]
ประวัติ
การสังเกตการณ์
นกอัลบาทรอสปรากฏอยู่ในศิลปะ บทกวี และวรรณกรรมหลายเรื่องในสมัยก่อน โดยส่วนมากนกอัลบาทรอสจะถูกสังเกตโดยกะลาสีเรือ โดยในปี ค.ศ. 1593 ริชาร์ด ฮอว์กินส์ ได้อธิบายการเห็นนกทะเลชนิดหนึ่งในการเดินทางของเขาว่า เขาได้เห็นหงส์หลายตัว มีรูปร่างใหญ่ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า และบินไปไกลประมาณ 2 ฟาทอม ต่อมาในปี ค.ศ. 1672 จอห์น ไฟรเออร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับนกอัลบาทรอสที่มีชื่อบันทึกว่า "albetrosses" ในระหว่างการเดินทางไปยังประเทศอินเดียว่า "เราได้พบกับประกาศกแห่งคาบสมุทรผู้ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยขน...พวกอัลบาทรอส สัตว์เหล่านี้มีร่างกายอันใหญ่โต แต่ก็ยังไม่เท่าปีกของพวกมันซึ่งเมื่อกางแล้วจักทวีความยาวขึ้นเป็นสองเท่า" และต่อมาในปี ค.ศ. 1747 จอร์จ เอ็ดเวิร์ด นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนก ได้วาดภาพนกอัลบาทรอสที่ถูกต้องตามลักษณะ[7]
ตำนาน
ในปี ค.ศ. 1798 แซมมวล เทย์เลอร์ คอเลริดจ์ ได้ประพันธ์และตีพิมพ์ บทกวีของกะลาสีชรา แต่โคเลอริดจ์เองก็ไม่เคยเห็นนกอัลบาทรอสมาก่อน ในบทกวีกล่าวถึงนกอัลบาทรอสใจอารีที่ช่วยโบกลมให้เรือแล่น แต่เมื่อกะลาสีคนหนึ่งฆ่านกตายโดยไม่ทันคิด กะลาสีคนอื่น ๆ ก็หวาดกลัวได้ลงโทษกะลาสีคนนั้นด้วยการเอาซากนกแขวนไว้รอบคอเขา จากบทกวีนี้ได้สร้างความเชื่อที่ว่า การฆ่านกอัลบาทรอสจะนำความโชคร้ายมาให้ แต่ในความเป็นจริงกะลาสีเรือชาวอังกฤษฆ่าและกินเนื้อนกอัลบาทรอสอยู่เป็นประจำ รวมทั้งไข่นกด้วย ที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ห่าน น้ำหนักได้ถึงครึ่งกิโลกรัม กล่าวกันว่ามีรสชาติอร่อย แถมยังเอากระดูกมาทำกล้องยาสูบและเอาเท้ามาทำกระเป๋าเงินอีกด้วย[3][7]
ลักษณะ
นกอัลบาทรอสเป็นนกทะเลขนาดใหญ่ โดยแบ่งลักษณะได้ตามขนาดของมัน คือ นกอัลบาทรอสขนาดเล็ก เช่น นกอัลบาทรอสชูตี้ อาจมีขนาดเท่ากับนกนางนวล เมื่อกางปีกออกจะกว้างได้ถึง 2 เมตร ส่วนนกอัลบาทรอสขนาดกลาง เช่น นกอัลบาทรอสคิ้วดำ มีส่วนหัวเท่าหรือใหญ่กว่าลูกเบสบอลเล็กน้อย จะงอยปากยาวประมาณ 10 เซนติเมตร[3] นกขนาดโตเต็มที่มีความยาวลำตัว 80-100 เซนติเมตร และนกอัลบาทรอสขนาดใหญ่ เช่น นกอัลบาทรอสวอนเดอริ่ง มีขนาดจากปีกข้างหนึ่งไปถึงอีกปีกข้างหนึ่งอาจกว้างได้ถึง 3.5 เมตร[8][9] โดยส่วนมากนกอัลบาทรอสจะลำตัวมีสีขาว ปีกสีเทา แต่บางชนิดลำตัวสีน้ำตาล, สีเทา และสีดำ และแต่ละชนิดจะมีลักษณะเด่น เช่น นกอัลบาทรอสจมูกเหลืองแอตแลนติก และนกอัลบาทรอสจมูกเหลืองอินเดีย มีสีเหลืองตรงกลางจะงอยปากสีดำ
นิเวศวิทยา
การบิน
นกอัลบาทรอสต่างจากนกทะเลจำพวกอื่น ๆ คือ จะบินอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถบินได้ไกลถึงวันละ 15,000 กิโลเมตร เพียงเพื่อหาอาหารกลับมาเลี้ยงลูกเท่านั้น เป็นนกที่ออกบินตั้งแต่เช้า และจะกลับเข้ามาหาฝั่งต่อเมื่อผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกเท่านั้น การติดตามโดยใช้ดาวเทียมเผยให้เห็นว่า นกอัลบาทรอสบางตัวใช้เวลาบินรอบโลกไม่ถึง 2 เดือน และสามารถลอยตัวอยู่บนอากาศได้นานถึง 6 วัน โดยไม่ต้องกระพือปีกเลย[10] แม้กระทั่งในกระแสลมแรง โดยการบินนั้นไม่ได้ใช้การกระพือปีกเหมือนนกจำพวกอื่น ๆ แต่กลับบินอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยใช้ลมจากคลื่นมาช่วยในการพยุงการบินเหมือนการร่อนมากกว่า ช่วงเวลาที่นกอัลบาทรอสต้องใช้พลังงานในการบินมากที่สุดคือ ตอนที่จะทะยานขึ้นท้องฟ้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวที่ต้องกระพือปีกอย่างสุดกำลัง นกที่มีอายุมาก เช่น 50 ปี อาจมีระยะทางในการบินแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000,000 กิโลเมตร
เหตุที่นกอัลบาทรอสสามารถบินได้ไกลก็ด้วย มีสมองที่ควบคุมทิศทางการบินได้อย่างยอดเยี่ยม โดยมีสรีระที่แข็งแกร่ง มีปีกทั้งคู่ที่เมื่อกางออกแล้วเต็มไปด้วยเอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างไหล่กับศอก มัดกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงแต่มีขนาดเล็กกว่าลำตัวมากเมื่อเทียบกับนกอื่น ๆ และเช่นเดียวกับนกทั่วไป คือ นกอัลบาทรอสไม่รับลมเข้าสู่ปอดโดยตรงแต่มีถุงลม ทำหน้าที่คอยเติมและปล่อยลม เพื่อควบคุมให้อากาศไหลผ่านปอดและเพิ่มการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งศักยภาพของปีกนกอัลบาทรอสช่วยให้ทุกครั้งที่ร่อนอยู่ในอากาศเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ถึง 6 เมตร ทุกครั้งที่ปล่อยตัวตามแรงโน้มถ่วงของโลก จึงไม่อาจจะโบกปีกได้ตลอดเวลา
นกอัลบาทรอสมีวิธีการร่อนลม 2 แบบ คือ การร่อนระดับสูง เป็นการร่อนที่เลี้ยวเพื่อรับลมเพื่อไต่ระดับความสูงจากนั้นจึงทิ้งตัวดิ่งลงเบื้องล่าง เพื่อเร่งความเร็ว และการบินร่อนระดับต่ำ โดยใช้กระแสลมที่พัดผ่านเหนือคลื่นทำให้เกิดแรงยกตัว ซึ่งการร่อนทั้ง 2 แบบนี้ จะทำให้มีความเร็วถึง 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่ความสูงขณะบินสูงได้ถึง 18.3 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดยลมที่ลดความเร็วลงจากแรงเสียดทานบริเวณผิวน้ำเริ่มเร็วขึ้นอีกที่ระดับความสูง 4.5 เมตร ความเร็วที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นช่วยยกตัวให้นกอัลบาทรอสบินได้สูงขึ้นเมื่อลมพัดผ่านเหนือปีกได้เร็วกว่าใต้ปีก[3]
ถิ่นที่อยู่อาศัยและพฤติกรรม
นกอัลบาทรอสจะทำรังบนหน้าผาหรือตามชายหาด ชายฝั่งทะเลต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างกันตามแต่ละชนิด โดยเฉพาะในทะเลซีกโลกใต้ ในเขตละติจูดที่มีกระแสลมรุนแรงที่สุดในโลก เป็นถิ่นอาศัยของนกอัลบาทรอสทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าจะบินไปไกลแค่ไหน ก็จะกลับมาทำรังยังถิ่นเกิด และนกอัลบาทรอส 4 ชนิด อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือและกลาง มีพฤติกรรมผลัดกันกกไข่และออกหาอาหารในทะเล จากการศึกษาพบว่าใช้เวลานานถึง 10-30 วัน [3]
นกอัลบาทรอสอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงหรือนิคมขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนคู่นกได้มากถึงหลักแสนคู่ นกวัยรุ่นจะเริ่มมีพฤติกรรมจับคู่กัน เมื่อจับคู่ได้แล้วจะใช้เวลานานบางทีอาจถึง 2 ปี เพื่อทำความรู้จักกัน ช่วยกันสร้างรัง ก่อนถึงการผสมพันธุ์จริง ๆ ซึ่งบางชนิดอาจใช้เวลานานถึง 3-9 ปี และเมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันซึ่งอาจจะถึง 20 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งกิริยาที่นกแสดงออกว่าชอบพอกัน คือ การไซ้ขนให้กัน สลับกันทำหน้าที่ให้กัน เป็นต้น นกอัลบาทรอสวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ไข่มีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ขนาดเท่ากับไข่ห่าน โดยวางไว้บนรังที่ทำจากโคลนที่ก่อขึ้นมาจากพื้นดิน เมื่อลูกนกฟักออกมาก็จะรอพ่อแม่อยู่ในรังนี้
นอกจากนี้แล้ว นกอัลบาทรอสยังเชื่อว่าน่าจะเป็นนกที่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ทั้งที่อายุมากที่สุดในโลกอีกด้วย เนื่องจากในปี ค.ศ. 2016 ที่แหล่งพักพิงสัตว์ป่าแห่งชาติเกาะปะการังมิดเวย์ บนเกาะมิดเวย์ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก นักวิจัยพบนกอัลบาทรอสเลย์สัน (Phoebastria immutabilis) เพศเมียตัวหนึ่ง ชื่อ "วิสดอม" อายุ 66 ปี สามารถแพร่ขยายพันธุ์วางไข่ได้ โดยวิสดอมได้ห่างหายจากเกาะมิดเวย์นานถึง 60 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากวิสดอมมีปลอกคอที่ถูกสวมไว้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956[11]
เมื่อพ่อแม่นกกลับมายังรัง จะบดอาหารที่หามาได้เป็นของเหลวข้นลักษณะคล้ายน้ำมันที่เต็มไปด้วยแคลอรี เมื่อจะป้อนลูกจะเอาจะงอยปากไปขัดกับจะงอยปากของลูก จากนั้นจึงจะปล่อยของเหลวข้นนั้นเข้าปากลูก ซึ่งพ่อแม่นกอัลบาทรอสบางครั้งต้องใช้เวลานานถึง 15 นาทีเพื่อป้อนอาหารให้แก่ลูกนกซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวลูกนก ก่อนที่จะบินออกไปหาอาหารอีกนานหลายสัปดาห์หรือหลายพันกิโลเมตร ซึ่งในระหว่างมื้ออาหารนี้ ลูกนกจะเติบโตขึ้นทุกครั้ง ซึ่งพ่อแม่นกจะจดจำลูกของตัวเองไม่ได้จากลักษณะภายนอก ต้องอาศัยการสังเกตจากเสียงร้องหรือกลิ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะ
เมื่อลูกนกอัลบาทรอสหัดบินมักจะตกน้ำทำให้ขนเปียกปอน ในช่วงนี้มีลูกนกจำนวนมากที่ต้องตายไปถึงร้อยละ 40 เพราะไม่มีพ่อแม่นกคอยช่วย เนื่องจากนกอัลบาทรอสไม่มีพฤติกรรมที่สอนลูกให้หัดบินหรือเดินทางหาอาหาร ลูกนกจึงต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ด้วยตัวเอง [3]
ชนิด
การศึกษาวิจัย
ทีมนักวิจัยจาก National Centre for Scientific Research (CNRS-CEBC) ของฝรั่งเศส และ Helmholtz-Centre for Environmental Research (UFZ) ของเยอรมนี ได้นำข้อมูลการหาอาหารและสืบพันธุ์ของนกอัลบาทรอสที่สะสมไว้ยาวนานถึงกว่า 20 และ 40 ปี มาวิเคราะห์ ผลปรากฏว่านกอัลบาทรอสใช้เวลาในการบินออกหาอาหารน้อยลง จากที่ใช้เวลาประมาณ 12.4 วันต่อหนึ่งเที่ยวในปี ค.ศ. 1970 ลดลงเหลือแค่ 9.7 วันในปี 2008 เมื่อเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการติดเครื่องส่งสัญญาณบนตัวนก ระยะทางการหาอาหารของนกไม่ได้เพิ่มหรือลดลงมากนัก คืออยู่ที่ประมาณ 3,500 กม. เหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนเส้นทางไปบ้าง นกอัลบาทรอสมุ่งลงไปหาอาหารแถวขั้วโลกใต้ซึ่งมีลมแรงมากขึ้น นั่นแปลได้ว่านกอัลบาทรอสบินได้เร็วขึ้น และสาเหตุที่นกบินได้เร็วขึ้นก็เนื่องมาจากอุณหภูมิของมหาสมุทรซีกโลกใต้ที่เพิ่มขึ้น[12] เป็นประโยชน์ให้นกอัลบาทรอสได้อาศัยลมที่แรงขึ้นในการพยุงตัวร่อนไปตามลม การที่นกบินได้เร็วกว่าเดิม ทำให้แม่นกกลับมาป้อนอาหารให้ลูกนกได้ถี่ขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรนกอย่างอ้อม ๆ
ในปี ค.ศ. 1970 มีลูกนกเพียงร้อยละ 66 เท่านั้นที่ฟักเป็นตัว นอกนั้นตายตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากไข่ แต่ในปี ค.ศ. 2008 มีลูกนกร้อยละ 77 รอดออกมาดูโลกได้ ไม่ใช่แค่ลูกนกจะรอดเพิ่มขึ้นเท่านั้น นกอัลบาทรอสตัวเต็มวัยก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-12 ด้วย (ประมาณ 1 กิโลกรัม) คาดว่าคงเป็นการปรับตัวเพื่อให้บินในสภาวะลมแรงได้ดีขึ้น เมื่อกางปีกออกจนสุด นกอัลบาทรอสเป็นนกทะเลที่มีวงปีกกว้างที่สุดในโลก ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรนกที่สืบพันธุ์ได้ประมาณ 8,000 คู่ ประชากรนกอัลบาทรอสมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการประมงที่ไปแย่งอาหารของนกอัลบาทรอส (ปลาและหมึกทะเล)[13][14][15][16]
สถานภาพในปัจจุบัน
นกอัลบาทรอสในปัจจุบันเป็นนกทะเลที่มีสถานะความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered) ยอมรับจากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ประกาศในปี ค.ศ. 2004[7] โดยมีสามชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ นกอัลบาทรอสอัมสเตอร์ดัม, นกอัลบาทรอสทริสตัน และนกอัลบาทรอสวอนเดอริ่ง และอีก 16 ชนิดที่กำลังถูกคุกคามและอาจสูญพันธุ์ในอนาคต[17] เนื่องจากกรณีในปี ค.ศ. 2009 นกอัลบาทรอส ได้รับผลกระทบจากแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งขยะพวกนี้ทิ้งมาจากผืนดิน เช่น พลาสติก ทำให้นกอัลบาทรอสกินขยะพลาสติกจากแพขยะทะเลเหล่านี้เข้าไป เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันอยู่ในกระเพาะอาหารสะสมไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถกินอะไรเข้าไปได้และตายในที่สุด[18][19] นอกจากสาเหตุนี้แล้วนกอัลบาทรอสยังติดสายเบ็ดจากการทำประมงเบ็ดราวและการแย่งอาหารของนกอัลบาทรอสจากการประมง ทำให้นกอัลบาทรอสมีจำนวนประชากรน้อยลง[4]
ในต้นปี ค.ศ. 2016 ในพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ในประเทศไทย พบนกอัลบาทรอสตัวหนึ่งบินพลัดหลงตกลงไปในบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรผู้หนึ่ง ตัวนกมีน้ำหนักประมาณ 1.9 กิโลกรัม ปีกแต่ละข้างเมื่อกลางออกมีความยาวประมาณ 1.30 เมตร โดยได้รับบาดเจ็บที่ปีกข้างซ้าย[20]
นกอัลบาทรอสในศิลปกรรม
นกอัลบาทรอสได้ปรากฏในศิลปกรรมรูปหล่อทองแดง "Innocent Victims" ในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ โดยในรูปหล่อทองแดงมีโดดี ฟาเยดที่กำลังเต้นรำกับไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์บนชายหาดภายใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ใต้ฐานของรูปหล่อมีป้ายจารึกไว้ว่า "Innocent Victim" (เหยื่อผู้บริสุทธิ์)[21]
ความเชื่อ
ในสมัยก่อนกะลาสีเรือมีความเชื่อว่าเมื่อมีลูกเรือตายจะกลับชาติไปเกิดเป็นนกอัลบาทรอส และเวลาใดที่กะลาสีเรือเห็นนกอัลบาทรอสขณะเรืออยู่กลางทะเลลึก เชื่อว่าพายุกำลังจะมา หรือถ้าใครฆ่านกอัลบาทรอส คนนั้นก็จะมีแต่เรื่องไม่ดีตลอดชีวิต ซึ่งต้องเอาซากนกอัลบาทรอสกรอบคอเพื่อลบล้างอาถรรพ์ กะลาสีเรือจึงถือว่านกอัลบาทรอสเป็นนกอัปมงคล จนกระทั่งในปัจจุบัน ความเชื่อในการเป็นนกอัลบาทรอสยังมีอยู่ ดังเช่นกรณีในปี ค.ศ. 1959 เรือสินค้า Calpen Star ได้ขนนกอัลบาทรอสจากทวีปแอนตาร์กติกไปเลี้ยงที่สวนสัตว์ในประเทศเยอรมนี ขณะเรือแวะจอดที่ลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษ เหล่ากะลาสีได้ทิ้งเรือ เพราะเชื่อว่าอัลบาทรอสเป็นนกอัปมงคลที่ได้สร้างปัญหาตลอดทาง ทำให้กัปตันเรือต้องหาลูกเรือใหม่ เพื่อนำเรือออกจากท่าเดินทางต่อ[22]
อ้างอิง
- ↑ Brands, Sheila (14 August 2008). "Systema Naturae 2000 / Classification - Family Diomedeidae". Project: The Taxonomicon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-16. สืบค้นเมื่อ 17 February 2009.
- ↑ นก, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 1. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[ลิงก์เสีย]
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 หน้า 131-151, เหินร่อนหวงหาวกับเจ้าเวหา อัลบาทรอส โดย คาร์ล ซาฟินา, National Geographic ฉบับภาษาไทย: ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2550 ISSN 1513-9840
- ↑ 4.0 4.1 นกอัลบาทรอส : Albatross ในเว็บไซต์สำรวจโลก จาก NextStep
- ↑ Albatross. ENCYCLOPÆDIA Britannica Facts matter
- ↑ คอลัมน์: สิงสาราสัตว์: นกอัลบาทรอส, วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553. อาร์วายทีไนน์
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "ALBATROSS NATURAL HISTORY. Cosee-west" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-27. สืบค้นเมื่อ 2013-01-20.
- ↑ Albatross. องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
- ↑ Wandering albatross. BBC
- ↑ นกอัลบาทรอส (Albatross), พฤศจิกายน พ.ศ. 2555. Explore2013.blogspot.com (บล็อกสำรวจโลก)
- ↑ หน้า 7, นกทะเลแก่ที่สุดในโลกออกไข่. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21511: วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 1 ปีวอก
- ↑ "นกอัลบาทรอสส์กับลม, gaga01, 23 มกราคม พ.ศ. 2555. Funny.hunsa.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-20.
- ↑ Science DOI: 10.1126/science.1210270
- ↑ "Discovery News". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2012-07-08.
- ↑ PhysOrg
- ↑ sciencenow
- ↑ Albatrosses. เว็บไซต์บีบีซี
- ↑ แพขยะแห่งแปซิฟิก กับ นกอัลบาทรอส หนึ่งในสิ่งบ่งชี้ผลกระทบต่อธรรมชาติ ในเว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
- ↑ Chris Jordan– Midway ในเว็บไซต์ Photography for a Greener Planet
- ↑ "ช่วยด่วน 'นกอัลบาทรอส' บินหลงฟ้า! บาดเจ็บตกบ่อกุ้งที่จันทบุรี". ไทยรัฐ. 8 January 2016. สืบค้นเมื่อ 10 January 2016.
- ↑ "Harrods unveils Diana, Dodi statue". CNN. 1 September 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
- ↑ "นกอัลบาทรอส (Albatross ) เขียนโดย ณัฐฎา แสงคำ ในเว็บไซต์ ก้าวทุกวินาทีกับสหวิชา.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-18. สืบค้นเมื่อ 2013-03-31.
แหล่งข้อมูลอื่น