ท่าแขก

ท่าแขก

ທ່າແຂກ

บ้านท่าแขก
เมืองและเทศบาล
ใจกลางท่าแขก
ใจกลางท่าแขก
ท่าแขกตั้งอยู่ในประเทศลาว
ท่าแขก
ท่าแขก
ที่ตั้งในประเทศลาว
พิกัด: 17°24′N 104°48′E / 17.400°N 104.800°E / 17.400; 104.800
ประเทศลาว
แขวงคำม่วน
เมืองท่าแขก
ประชากร
 (2563)[1]
 • ทั้งหมด85,000 คน
เขตเวลาUTC+7 (เวลามาตรฐานลาว)

ท่าแขก (ลาว: ທ່າແຂກ) เป็นเมืองเอกในแขวงคำม่วน ประเทศลาว ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม[2]

ประวัติ

เมืองท่าแขก เป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลาวมายาวนาน ในอดีตราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน (พนม) และ อาณาจักรเจนละ โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า ศรีโคตรบูร หรือ ศรีโคตรบอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองบริเวณปากห้วยศรีมังค์ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุสีโคดตะบูน และปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้าไดโนเสาร์บ้านนาไก่เขี่ย ตลอดจนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยศรีโคตรบูร (ทวารวดีลาว) และสมัยขอม อาทิ พระธาตุศรีโคตรบอง ใบเสมาโบราณ ชิ้นส่วนแกะสลักของประติมากรรมขอม แนวกำแพงหินยักษ์บ้านนาไก่เขี่ย ตลอดจนซากปรักหักพังของเจดีย์โบราณ และซากพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นซากเมืองโบราณ อาทิ เมืองอรันรัตจานา และเมืองเวียงสุรินทร์ ทางตอนเหนือของเมืองท่าแขกด้วย หลังยุคขอมเสื่อมอำนาจแล้วเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง จากนั้นได้รกร้างไปแล้วพัฒนากลายมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ขึ้นกับอาณาเขตของเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง (นครพนม)

นักวิชาการบางกลุ่มสันนิษฐานว่า นามของท่าแขกมาจากในอดีตเมืองแห่งนี้เคยเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง เป็นสถานที่ค้าขายของชาวต่างชาติ หลายชาติหลายภาษาปะปนกันทั้งลาว ไทย จีน ญวณ แขก ฝรั่ง จึงเรียกนามว่า เมืองท่าแขก โดยมีชื่อเต็มว่า เมืองท่าของแขกคน หมายถึงเมืองท่าน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) ซึ่งมีผู้คนเดินทางไปมาขวักไขว่ นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าเมืองท่าแขกมีชื่อเดิมว่า หอผ้าท่าแขกพราหมณ์ และมีพัฒนาการยาวนานมาตั้งแต่สมัยก่อนสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงมาที่นครเวียงจันทน์ หรือก่อนสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชจะสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง โดยอ้างเหตุการณ์สมัยเมืองมรุกขนครและเมืองเวียงจันทน์ภายใต้การปกครองของชนพื้นเมือง ก่อนการอพยพมาของชาวลาว ซึ่งปรากฏในคัมภีร์อุรังคธาตุนิทาน (ตำนานพระธาตุพนมหรือตำนานธาตุหัวอก) ความว่า

...ครั้นเถิงฤดูกาลสังกาศสังขารใหม่... ครั้งนั้น พระยาสุมิตตะธัมมะวงษา พระองค์ได้พระราชทานคนใช้แก่อามาตย์บุรีจัน มีหมื่นเจียมปางเปนต้น พร้อมกับคำหมื่นหนึ่ง แลเสื้อผ้าครบถ้วนทุกคน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้จัดหานางงามสองนางไปพระราชทานแก่บุรีจัน นางหนึ่งเปนเชื้อสายชาวจุลณีชื่อว่า มังคละกตัญญู นางหนึ่งชื่อว่า มุงคุณทปาลัง (เปนเชื้อสายชาวราชคฤห์) พร้อมด้วยบริวารนางละห้าร้อย ช้างพรายซาวโต มีควาญกำกับทุกโต คำแสนหนึ่ง แลเสื้อผ้าอาภรณ์ พร้อมทั้งเครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ 5 ประการ มอบให้แก่พราหมณ์ทั้ง 5 เปนหัวหน้านำเครื่องทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อราชาภิเษกเจ้าบุรีจัน พราหมณ์ทั้ง 5 นั้น มีชื่อดังนี้ 1 มังคละพราหมณ์ 2 จุลมังคละพราหมณ์ 3 ไชยพราหมณ์ 4 สิทธิพราหมณ์ 5 จิตตวัฒนะพราหมณ์ พราหมณ์ทั้ง 5 นี้ เฮียนฮู้จบไตรเพท ครั้นเถิงฤกษ์งามยามดี จึงสั่งให้ลงเฮือขี้นไปเมืองของบุรีจัน เมื่อพราหมณ์ทั้ง 5 พร้อมเครื่องของ มีนางทั้งสองเปนต้น ขึ้นไปฮอดแล้วจึงให้จอดเฮือที่ท่าหอแพร หมื่นกลางโฮงจึงให้คนไปบอกหมื่นนันทอาฮามแลน้าเลี้ยงพ่อนม ให้พร้อมกันสร้างแปลงราชสำนักสองห้อง พร้อมเครื่องหอขวางหลังหนึ่ง เพื่อให้นางทั้งสองอยู่ หลังหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อเก็บเครื่องเทิง แลอีกสองหลังสำหรับให้พราหมณ์ทั้ง 5 อยู่ ความเรื่องนี้จึงได้ฤๅชาปรากฏไปว่า หอผ้า ท่าแขกพราหมณ์...

อย่างไรก็ตาม ท่าแขกในสมัยนั้นน่าจะยังไม่ได้พัฒนามาจนกลายเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่เช่นในปัจจุบัน และเชื่อว่าคงมีฐานะเป็นชุมชนที่มีความเจริญไม่น้อย ต่อมา ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ พระองค์ทรงสั่งให้พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ (มัง มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองละคร) สร้างเมืองท่าแขกขึ้นฝั่งตรงข้ามกับเมืองนครพนม เพื่อกวาดต้อนผู้คนให้หนีศึกจากสยามเข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมทั้งสั่งให้เจ้านายจากเวียงจันทน์มาช่วยควบคุมการก่อสร้าง หลังจากสยามยกทัพขึ้นมาแล้วทำให้การสร้างเมืองท่าแขกหยุดชะงักลง ดังปรากฏโดยละเอียดในเอกสารเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ ความว่า

...แต่นั้น เคืองพระทัยเจ้าองค์ยั้งขม่อมหลวง พระก็จัดไพร่พร้อมดาห้างแต่งตัว เฮาจงคืนเมืองตั้งหนองบัวขนันอยู่ ภายพุ้น แต่ว่าครัวขี้ฮ้ายอย่าต้านต่อซน ท่านเอ๋ย พระก็ฮับสั่งให้เจ้าแห่งเมืองลคร เจ้าจงพาพลคืนอย่านานคาค้าง คันว่าเมือเถิงห้องอย่านานเฮ็วฮีบ จริงเทอญ จัดไพร่ข้ามของแท้อย่านาน หั้นท่อน แล้วจึงพาพลตั้งแปลงเวียงขนันอยู่ แฝงฝ่ายน้ำทางพุ้นแวดระวัง เที่ยวเทอญ ฯ แต่นั้น หัวเมืองเจ้าชาวลครไวฮีบ อ่วยหน้าช้างคืนแท้บ่นาน ทั้งวันแท้ทั้งคืนเขียวถีบ ย่านแต่เศิกลัดต้อนตันฆ่าหว่างทาง เศิกเหล่าเลยถีบม้าเต้นไล่ตามหลัง เจ้าก็อวนกำลังต่อเลวหนีแท้ ตั้งแต่ครราชเท่าเถิงเขตต์ขงละมุม เขาก็นำไปลัดที่โพนทันม้า ตันขนันต้อนครัวไทยยายอยู่ เขาก็ฮัดเฮ่งต้อนตันหน้าสู่ทาง ม้มจากหั้นเถิงท่งเชียงไต เขาก็ไหลพลนำผ่าเลวฟันฆ่า ก็จึงเถิงแห่งห้องขงเขตต์เมืองพิมาย กลายแดนไทยด่วนเมือทั้งฟ้าว วันคืนแท้บ่มีนานยามยีบ ก็จึงเถิงแห่ห้องลครแท้ที่ตน หั้นแล้ว เจ้าก็ใช้ถีบม้าไปป่าวขงลคร จัดครัวไปข้ามของอย่าช้า ไผอย่าดลคาค้างจักคนลูกอ่อน จริงเทอญ ปัดกวาดข้ามของแท้สู่คน เทียวเทอญ ย่านแต่ครัวจิ่มใกล้ลุกขึ้นเป็นเศิก บ่ฮู้ เห็นแต่ครัวเต็มเมืองสู่ภายจริงแท้ โตหากไปเทม้างเมืองเขาปัดกวาดมานั้น มันก็ดูมากล้มกลัวย่านหมู่เขา แท้แล้ว เขาหากอยู่ครราชพู้นติดต่อตามมา ไผบ่อาจมืนตาฮบต่อซนเขาแพ้ แต่ภูเขาขั้นเท่าที่ศรีคอนเตา ศีร์ษะเกษเขาก็มาอยู่เต้าเต็มแท้สู่ภาย แล้วเหล่าเอาตัวข้ามแคมของปัดขอด ลาวหมู่นั้นแทนบ้านสู่ภาย หั้นแล้ว ฯ แต่นั้น เจ้าก็จัดคนสร้างแปลงเวียงท่าแขก ลวงกว้างได้สามฮ้อยชั่ววา เวียงจันทร์เจ้าเวียงแกเป็นแก่ มาแนะให้เขาตั้งก่อเวียง ลวงสูงได้พอประมาณเจ็ดศอก ใหญ่แลน้อยเวียนอ้อมสี่กำฯ...

...เถิงเมื่อเดือนหกขึ้นสิบสองค่ำ มาเถิง เจ้าก็แปลงตราขัดฮอดละครมิช้า เจ้าให้หาเกณฑ์คนกล้าไปตีเหมราษฐ เสียเทอญ เหตุว่าเหมราฐนั้นเขาเกิดเป็นเศิกขึ้นแล้ว ให้เจ้าไปตีเสียอย่ากลายเดี๋ยวนี้ อันว่าปลูกเวียงนั้นเซาดูหยุดก่อน หั้นเทอญ จักว่าดีแลฮ้ายเมือหน้าบ่เห็น ฯ แต่นั้น นายคุมเจ้าเวียงแกแจ้งเหตุ เจ้าก็ฮัดเฮ่งขึ้นทั้งฟ้าวบ่เซา เจ้าก็กลับเมือเฝ้าบาทายั้งขม่อม เห็นแต่เฮือตั้งเต้าเต็มน้ำกึ่งกอง...แต่นั้น เมืองละครพร้อมมหาไชยฟ้าวฟั่ง ไปฮอดท่าแขกแล้วบ่เห็นแท้ที่ใด เห็นแต่ลาวเต็มเต้าเมืองลครของเก่า ภายพุ้น เขาก็คืนคอบไหว้องค์เจ้าสู่อัน หั้นแล้ว แกวก็เลยเคียดคล้อยป้อยด่าคำแข็ง สูอย่าเลิงๆ ตัวะล่ายกูฉันนี้ อันว่าของฟากนั้นบ้านอยู่เดิมเขา แท้นา สูว่าเศิกมาเต็มฝ่ายเฮาภายนี้ สูจงไปตั้งค่ายเป็นด่านหนองหลาง หั้นเทอญ กูจักเอากำลังเคลื่อนไปในหั้น หน่วยหนึ่งตั้งท่าแขกแคมของ ที่พุ้น ผุงหมู่ไทยเมืองสูอยู่ตระเวนภายหั้น คันว่าเศิกหากข้ามยามใดให้มาคอบ กูเทอญ กูก็บ่หย่อนย้านเสียมนั้นท่อใย แท้แล้ว ให้สูจัดมาเฝ้ายังกูให้มันมาก จริงเทอญ กูนี้คนเจ้าฟ้าหาญแท้อยู่กลาง หั้นแล้ว ฯ...

หลังจากสยามได้เข้าบุกเผานครเวียงจันทน์แล้ว ประชาชนในเมืองท่าแขกเชื่อว่า เจ้าอนุวงศ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านชาวเมืองนำพระพุทธรูปมีค่าสำคัญต่างๆ ไปหลบซ่อนการปล้นของฝ่ายสยาม หนึ่งในสถานที่สำคัญของการเก็บรักษาโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้คือ ถ้ำปลาฝา แขวงคำม่วน

ต่อมาบุตรชายเจ้าเมืองนครพนมและเป็นหลานชายของพระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ (มัง มังคละคีรี) ผู้สร้างเมืองท่าแขก ได้แก่ เจ้าอุปฮาต (จันทร์ทองทิพย์) ว่าที่เจ้าเมืองนครพนม และพระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ (ยศวิชัย) เจ้าเมืองนครพนม 2 พี่น้องเกิดวิวาทบาดหมางกัน ด้วยท้าวยศวิชัยผู้น้องโจทย์ฟ้องท้าวจันทร์ทองทิพย์ผู้พี่ตั้งแต่สมัยยังรักษาราชการเมืองไปยังข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสยามว่า ท้าวจันทน์ทองทิพย์สมาคมคบคิดกับเอเยนต์การค้าใหญ่ของฝ่ายฝรั่งเศส สยามสั่งให้พระยาโพนพิสัยสรเดช (คำสิงห์ สิงห์ศิริ) เจ้าเมืองโพนพิสัย มาเชิญตัวท้าวจันทน์ทองทิพย์ไปชำระความกับข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสยาม ท้าวจันทร์ทองทิพย์ไม่พอใจอย่างมากจึงชักชวนประชาชนฝั่งขวาแม่น้ำโขงข้ามไปอาศัยอยู่ฝั่งซ้ายมากกว่า 70 คน พร้อมทั้งอัญเชิญเครื่องยศพระราชทานของเจ้าเมืองนครพนมผู้เป็นพระราชบิดา ตลอดจนหอกทองคำอันเป็นสมบัติของราชตระกูลเจ้าเมืองนครพนมในอดีตซึ่งเคยใช้รบกับพวกฮ่อ แอบนำข้ามแม่น้ำโขงไปอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสพึงพอใจอย่างมากจึงปูนบำเน็จตั้งให้ท้าวจันทน์ทองทิพย์เป็นเจ้าเมืองท่าแขก พร้อมทั้งอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้านายเมืองนครพนมกับฝรั่งเศสนั้นเหตุเนื่องมาจากว่า ม. เปราต์ เอเยนต์การค้าฝรั่งเศสเมื่อครั้งเดินทางมากำกับการที่เมืองนครพนม ได้ชอบพอกับอาชญานางจันสด ธิดาท้าวพรหมสุรินทร์ ซึ่งเป็นเป็นพระราชนัดดาของเจ้าเมืองนครพนมและเป็นพระนัดดาของพระราชกิจภักดีกรมการเมืองนครพนมชั้นผู้ใหญ่ ทั้งสองจึงได้ตกลงแต่งงานทำพิธีบายศรีผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติกันต่อหน้าเจ้าเมืองนครพนม จนไม่เป็นที่พอใจแก่สยามนั่นเอง

่ในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและได้มีการปักปันเขตแดนกับสยาม ต่อมา ในวันที่ 3 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เดินเรือขึ้นไปตามแม่น้ำโขงเพื่อตรวจตราการปฏิบัติงานของคอมมิแซร์ (หรือพระยากอม) ที่อยู่ในแผ่นดินของลาว เรือของฝรั่งเศสในเวลานั้นต้องใช้ฟืนจุดจึงจะสามารถแล่นไปได้เนื่องจากเป็นระบบไอน้ำ ฝรั่งเศสจึงสั่งให้คนลาวตัดฟืนแล้ววางไว้ที่ริมแม่น้ำโขง ครั้งหนึ่งที่ฝรั่งเศสได้จอดเรือเพื่อนำฟืนไปไว้บนเรือ ก็ทำให้ได้โอกาสดูประชาชนชาวลาวทำบุญโดยเอาตะกั่วมาหลอมเป็นดอกผึ้ง ฝรั่งเศสจึงนำดอกผึ้งไปค้นคว้าและตรวจสอบ จึงพบว่าตามแม่น้ำสายนี้น่าจะมีแหล่งปูนและแหล่งตะกั่ว ฝรั่งเศสจึงจัดตั้งโรงงานอยู่ที่ปากแม่น้ำ ด้วยเหตุนี้บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่าเมืองหินปูน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนกันว่าเมืองหินบูน บางคนก็เรียกว่าเมืองศรีบุญเฮืองฟองวินห์ เพราะเดิมนั้นเมืองหินบูนเป็นหมู่บ้านชื่อบ้านศรีบุญเฮือง (บ้านศรีบุญเรือง) มาก่อน แล้วทางฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้คนเวียดนามชื่อ ฟองวิน (ฟองวินห์) มาเป็นผู้คุมงานอยู่ที่นั้นทั้งหมด ต่อมาถึง พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) ฝรั่งเศสเห็นว่าที่ตั้งเมืองหินบูนบริเวณชายฝั่งเริ่มมีการกัดเซาะพังทลายไปเรื่อยๆ จึงทำการย้ายเมืองหินบูนไปตั้งอยู่ที่เมืองท่าแขกและสร้างให้เมืองท่าแขกเป็นตัวเมืองศูนย์กลางการปกครองตั้งแต่นั้นมา

ภูมิอากาศ

ข้อมูลภูมิอากาศของท่าแขก
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 28.9
(84)
30.6
(87)
32.8
(91)
34.4
(94)
32.8
(91)
31.1
(88)
29.4
(85)
30
(86)
30
(86)
30.6
(87)
30
(86)
28.3
(83)
30.6
(87)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 13.3
(56)
16.7
(62)
19.4
(67)
22.2
(72)
23.9
(75)
24.4
(76)
23.9
(75)
23.9
(75)
23.3
(74)
20
(68)
17.8
(64)
14.4
(58)
20.6
(69)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 3
(0.1)
28
(1.1)
41
(1.6)
102
(4)
277
(10.9)
335
(13.2)
561
(22.1)
536
(21.1)
409
(16.1)
64
(2.5)
10
(0.4)
8
(0.3)
2,372
(93.4)
แหล่งที่มา: Weatherbase [3]

การเดินทาง

การเดินทางไปเมืองท่าแขกจากประเทศไทย สามารถทำได้โดยผ่านด่านพรมแดนที่สะพานมิตรภาพ 3[4] ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางในการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์ถึงปากเซ

อ้างอิง

  1. "Main Cities by Population in Laos". Worldometers. สืบค้นเมื่อ 15 April 2020.
  2. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=558448[ลิงก์เสีย]
  3. "Weatherbase: Historical Weather for Thakhek, Laos". Weatherbase. 2011. Retrieved on 24 November 2011
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-09. สืบค้นเมื่อ 2014-04-03.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!