ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต

ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต
ทางรถไฟใกล้สะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหด ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย–กัมพูชา
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย
การรถไฟกัมพูชา
ที่ตั้งจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย
จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา
ปลายทาง
จำนวนสถานี4
ประวัติ
เปิดเมื่อ22 เมษายน 2498
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง6.7 กม. (4.16 ไมล์)
รางกว้าง1,000 mm (3 ft 3 38 in) มีเตอร์เกจ
แผนที่เส้นทาง

ทางรถไฟสายกรุงเทพ–อรัญประเทศ
254.50
อรัญประเทศ
259.00
คลองลึก
260.23
ไทย
260.28
ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก
260.45
สะพานคลองลึก–ปอยเปต, คลองพรหมโหด
261.20
ปอยเปต
ประเทศกัมพูชา: ทางรถไฟสายพนมเปญ–ปอยเปต

ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต หรือเดิมคือ ทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี[1] เป็นทางรถไฟระหว่างประเทศที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ผ่านสะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหดจนถึงสถานีปลายทางคือสถานีรถไฟปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย ในอดีตสามารถเชื่อมต่อการเดินรถในเส้นทางไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง จังหวัดพระตะบอง[2] อันเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายพนมเปญ–ปอยเปต[3] หรือทางรถไฟสายตะวันตกของกัมพูชาในปัจจุบัน

เส้นทางรถไฟสายนี้ หยุดการเดินรถและเส้นทางถูกรื้อถอนออกหลายครั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองของกัมพูชา[2][4][5] รถไฟสายตะวันออกของไทยจึงเดินรถเพียงสถานีรถไฟอรัญประเทศมากว่า 40 ปี[6][7] ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้บูรณะเส้นทางรถไฟนี้ใหม่เพื่อประโยชน์ด้านการค้า[8][9][10][11]

ประวัติ

แรกเริ่ม

ในปี พ.ศ. 2448 กรมรถไฟหลวงได้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากมณฑลกรุงเทพสู่มณฑลปราจิณบุรี กระทั่งในปี พ.ศ. 2462 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างรถไฟหลวงจากจังหวัดฉะเชิงเทราถึงอารัญประเทศ จังหวัดกระบินทร์บุรี[12] และสามารถเปิดการเดินรถจากสถานีรถไฟกระบินทร์บุรีถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469[2]

ในช่วงปี พ.ศ. 2484–2489 ไทยได้ดินแดนเขมรส่วนในจากสนธิสัญญาโตเกียวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ส่งผลให้ไทยได้เมืองพระตะบอง, ศรีโสภณ, มงคลบุรี และเสียมราฐ (ยกเว้นนครวัดและนครธม) กลับมาอีกครั้ง และได้ทำการเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟอรัญประเทศกับสถานีรถไฟมงคลบุรีโดยมีทหารญี่ปุ่นบุกเบิกเส้นทางให้ เรียกว่าทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ไทยได้ทำการเวนคืนที่ดินในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเภอมงคลบุรี อำเภอเมืองพระตะบอง และอำเภออธึกเทวเดช จังหวัดพระตะบอง[13] และประกาศเวนคืนอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2487 ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเภอมงคลบุรี อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอรณนภากาศ จังหวัดพระตะบอง[14] เส้นทางรถไฟสายนี้จะสิ้นสุดบริเวณแม่น้ำสังแกตามข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศสในขณะนั้น รวมระยะทางตั้งแต่สถานีอรัญประเทศถึงปลายทางเป็นระยะทาง 117 กิโลเมตร[5] แต่หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยจึงต้องคืนดินแดน รวมทั้งเส้นทางรถไฟที่เคยสร้างไว้ด้วย[15]

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2491 กรมรถไฟส่งหัวรถจักรที่พ่วงรถบรรทุกหินและตู้โดยสาร นำคนงานไปขนหินที่หลักกิโลเมตร 259.16 ระหว่างสถานีรถไฟอรัญประเทศกับคลองลึก ระหว่างที่คนงานกำลังเก็บหินอยู่นั้น สงัด พันธุรัตน์ พนักงานขับรถ ได้ถอดหัวรถจักรกับรถตู้ใหญ่ เพื่อไปอัดจารบีแล้วเผลอหลับไป หัวรถจักรและตู้ใหญ่จึงไหลออกจากฝั่งไทยข้ามไปยังฝั่งอินโดจีนของฝรั่งเศส แล้วชนรถไฟฝรั่งเศสตกรางไปหกตู้ จากความเสียหายดังกล่าวฝรั่งเศสคิดค่าใช้จ่าย 224,000 เปียสตร์ แต่ลดให้ทางการไทย 200,000 เปียสตร์ หรือคิดเป็นเงินไทยคือ 90,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าแพงมากอยู่ดี หลังชำระเงินเรียบร้อยแล้วทางการไทยจึงรื้อรางออกตั้งแต่สถานีรถไฟอรัญประเทศจนถึงชายแดนเสีย เพื่อมิให้เกิดซ้ำสอง[5]

หลังกัมพูชาได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2493 กรมรถไฟของไทยได้เจรจากับคณะผู้แทนรถไฟกรุงกัมพูชาเรื่องการเชื่อมทางรถไฟกัมพูชากับรถไฟไทยเมื่อปี พ.ศ. 2496 และเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2498 ขบวนรถอรัญประเทศ–ปอยเปต–พระตะบอง โดยช่วงแรกได้ใช้รถดีเซลรางของกัมพูชาเดินรถทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลาเช้า-เย็น ภายหลังได้เพิ่มรถจักรไอน้ำของไทย อันประกอบไปด้วยรถชั้นสองและสาม มีพ่วงตู้สินค้า เดินรถทุกเช้าวันอังคารและเสาร์[2]

หลังเดินรถได้ 4 ปี กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์กับไทย และยุติการเดินรถเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 ต่อมาได้เปิดพรมแดนชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จึงเดินรถตามตารางเดิมที่เคยใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคมปีเดียวกัน[2]

ต่อมากัมพูชาตัดความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2504 จึงงดการเดินรถข้ามประเทศ[2] ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มเดินรถข้ามประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 แต่ลดจำนวนเที่ยวเพียงวันอังคารและพฤหัสบดี[2]

ในช่วงเหตุการณ์พนมเปญแตก การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยุติการเดินรถข้ามพรมแดนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517[2] หลังยุติการเดินรถทางฝั่งกัมพูชาได้มีการรื้อถอนรางออกไป[11][15] โดยมากรางจะถูกงัดไปขาย[2] และย่านสถานีรวมทั้งเส้นทางรถไฟในปอยเปตได้แปรสภาพเป็นบ่อนกาสิโน โรงแรม และร้านค้า[2][16] คงเหลือเพียงสะพานข้ามคลองพรหมโหดที่ติดกับพรมแดนไทยเท่านั้น[6][7] ส่วนเส้นทางรถไฟฝั่งไทยก็ถูกกลบหายไปจากการสร้างตลาดโรงเกลือ[16]

การบูรณะ

สถานีรถไฟปอยเปตก่อนการบูรณะ พ.ศ. 2555
สะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหด พ.ศ. 2559 หลังการบูรณะ เมื่อมองจากฝั่งปอยเปต

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้กัมพูชากู้ยืมเงินสำหรับบูรณะเส้นทางรถไฟช่วงศรีโสภณปอยเปตเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกับประเทศไทยที่อรัญประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยเสนอของงบประมาณในปี พ.ศ. 2555 แต่ถูกตัดงบประมาณ ต่อมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการปรับปรุงรางและอื่น ๆ ในเส้นทางชุมทางคลองสิบเก้าอรัญประเทศ และอรัญประเทศ–คลองลึก รวมถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556[2] เพราะเบื้องต้นเส้นทางดังกล่าวมีปัญหาคือเส้นทางเดิมขาด และมีน้ำท่วมขัง[17] ใช้งบประมาณ 2,808 ล้านบาท โดยบริษัทอิตาเลียนไทยชนะประมูลการก่อสร้าง[6][7] พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเยือนประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งเจรจากับฮุน เซนเกี่ยวกับโครงการระบบรางและร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ[18]

พ.ศ. 2559 รัฐบาลกัมพูชาเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นกาสิโนจำนวนสามแห่งรวมทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกเพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างอรัญประเทศ–ปอยเปต[19] ทว่ามีตึกกาสิโนและโรงแรมกีดขวางทางรถไฟ กัมพูชาจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางรถไฟผ่านใต้ตึก โดยฝังรางรถไฟไว้ใต้คอนกรีต ทางรถไฟจะผ่านตึกทะลุไปถึงสถานีรถไฟปอยเปตที่ถูกบูรณะใหม่[16]

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำการรื้อถอนสะพานข้ามคลองพรหมโหดเดิมที่มีอายุ 120 ปี เพื่อสร้างใหม่ เพื่อเชื่อมเส้นทางไปยังพรมแดนกัมพูชา[6][7] โดยทางรัฐบาลไทยได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากอรัญประเทศจนถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561[20] และกำลังก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่บริเวณบ้านดงงู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[9] ในปีเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนจะมอบรถดีเซลรางฮิตาชิรีโนเวตจำนวน 4 คันแก่กิจการรถไฟกัมพูชา พร้อมกับอบรมพนักงานขับรถของกัมพูชา[21][22] เป็นของขวัญแก่กัมพูชา[9] เบื้องต้นจะมีการเดินรถระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นขนส่งประชาชนเป็นหลัก[23]

28 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ทางการไทยสร้างสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึกใกล้ตลาดโรงเกลือใกล้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ คาดว่าจะมีการเดินรถสปรินเตอร์ในต้นปี พ.ศ. 2562 ส่วนการเดินรถระหว่างประเทศนั้น ยังติดขัดปัญหาบางประการของทางการกัมพูชา จึงยังไม่มีการเดินรถข้ามพรมแดนระหว่างกัน[24] ซึ่งถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง[9][25]

22 เมษายน พ.ศ. 2562 มีการเปิดการเดินรถและส่งมอบหัวรถจักรและตู้รถไฟสี่คันแก่กัมพูชา การนี้ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย[26][27] วรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางรถไฟสายนี้ใช้ความเร็วได้เพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องพัฒนาระบบการดูแลเส้นทาง ระบบสัญญาณ และทางร่วมแยกที่ถูกปิดมากว่า 40 ปี[28] มีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟปอยเปตถึงสถานีรถไฟศรีโสภณระยะทาง 48 กิโลเมตร ในอนาคตยังมีแผนที่จะฟื้นฟูเส้นทางไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง และก่อสร้างเส้นทางเชื่อมยังสถานีรถไฟพนมเปญใหม่[17]

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีการเดินรถกรุงเทพ–ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ซึ่งมีรถวิ่งวันละสี่ขบวน แบ่งเป็นขาขึ้นและขาล่องอย่างละสองขบวน[29]

อ้างอิง

  1. "พระราชกฤษฎีกา กำหนดป่าสองข้างทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี หรือป่าปอยเปตในท้องที่ตำบลมรกฏ ตำบลบ้านจังหัน ตำบลศรีโสภณ ตำบลสวายจิก และตำบลทัพไทย อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม ให้เป็นป่าคุ้มครอง พุทธศักราช 2488" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 62 (38 ก): 448. 17 กรกฎาคม 1945.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน". สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  3. "บันทึกประวัติศาสตร์.. เขมรเปิดหวูดเดินรถไฟชายแดนไทย-ศรีโสภณครั้งแรกในรอบ 30 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 5 เมษายน 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  4. ยุทธนา พึ่งน้อย, บ.ก. (22 เมษายน 2019). "ชื่นมื่น นายกไทยฯ -กัมพูชา ร่วมพิธีเปิด สถานีรถไฟ บ้านคลองลึก - สถานีปอยเปต". Thainews Online. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2021.
  5. 5.0 5.1 5.2 อาทิตย์ ทรงกลด. เรื่องลับเขมร ที่คนไทยควรรู้. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 140–143 ISBN 9786117180033.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "รื้อสร้างใหม่! สะพานรถไฟประวัติศาสตร์ 120 ปีคลองลึก รับเออีซี". ไทยรัฐออนไลน์. 20 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "รื้อสะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์เชื่อมไทย-เขมร". ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์. 23 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  8. Amornrat Mahitthirook (2 เมษายน 2013). "Bids called on Cambodia rail link". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "รถไฟสายไทย-เขมร! พร้อมเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ มิ.ย.นี้ ได้ใช้กันแน่". ไทยรัฐออนไลน์. 20 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  10. "เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-พนมเปญใกล้เสร็จ ฝั่งกัมพูชาเหลืออีก 1 กิโลเมตร". ข่าวสด. 13 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  11. 11.0 11.1 "เปิดหวูดจากปอยเปต เม.ย.นี้ เตรียมตัวขึ้นรถไฟฟรีไปเล่นสงกรานต์พระตะบอง". MGR Online. 24 มีนาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  12. "พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากฉะเชิงเทรา ถึง อารัญประเทศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36 (0 ก): 18. 8 พฤษภาคม 2462.
  13. "พระราชกริสดีกา กำหนดเขตที่ดินไนบริเวนที่ที่จะเวนคืน ไนท้องที่อำเพออรัญประเทส จังหวัดปราจีนบุรี อำเพอสรีโสภน จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเพอมงคลบุรี อำเพอเมืองพระตะบอง อำเพออธึกเทวเดช จังหวัดพระตะบอง พุทธสักราช 2485" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (73 ก): 2251. 24 พฤศจิกายน 1942.
  14. "พระราชกริสดีกา กำหนดเขตที่ดินไนบริเวนที่ที่จะเวนคืน ไนท้องที่อำเพออรัญประเทส จังหวัดปราจีนบุรี อำเพอสรีโสภน จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเพอมงคลบุรี อำเพอเมืองพระตะบอง อำเพอรนนภากาส จังหวัดพระตะบอง พุทธสักราช 2487" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 61 (72 ก): 1146. 24 พฤศจิกายน 1944.
  15. 15.0 15.1 อภิญญ ตะวันออก (6 กันยายน 2017). "แด่หนุ่มสาว (12) / กาลครั้งหนึ่ง ณ ทางรถไฟไทย-กัมพูชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  16. 16.0 16.1 16.2 วันวิสข์ เนียมปาน, บ.ก. (22 เมษายน 2019). "Train to Cambodia ไทย-กัมพูชากลับมาเชื่อมทางรถไฟอีกครั้ง สานฝันทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์". The Cloud.
  17. 17.0 17.1 "45 ปีที่รอคอย "บิ๊กตู่-ฮุนเซน" ฟื้นรถไฟอรัญฯ-ปอยเปต". ประชาชาติธุรกิจ. 17 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2019.
  18. "นายกไทยและนายกกัมพูชา ประสบความสำเร็จในการเจรจา". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน. 31 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2021.[ลิงก์เสีย]
  19. "เส้นทางรถไฟ ′ปอยเปต-พนมเปญ′ สร้างเสร็จสิ้นปีนี้ หวังกระตุ้นท่องเที่ยว". ประชาชาติธุรกิจ. 5 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  20. "ไทยสร้างรางรถไฟถึงชายแดนรอกัมพูชามาเชื่อมต่อ". โพสต์ทูเดย์. 20 มกราคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  21. "รฟท. เร่งอบรม พนง. ขับรถไฟกัมพูชาก่อนเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์รถไฟไทย-กัมพูชาอย่างเป็นทางการ". ฐานเศรษฐกิจ. 22 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  22. นภสร แก้วคำ (20 พฤศจิกายน 2017). "การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งจัดอบรมพนักงานขับรถไฟของกัมพูชา ก่อนเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์รถไฟไทย – กัมพูชา อย่างเป็นทางการ". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  23. "เตรียมเฮ นั่งรถไฟเที่ยวเขมร เปิดวาร์ปคิวต่อไปเวียดนาม". โฮม. 28 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  24. "สระแก้วเฮ! คาดเดือนหน้าเตรียมเปิดสถานีรถไฟด่านอรัญฯหน้าตลาดโรงเกลือ". แนวหน้า. 28 ตุลาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2018.
  25. "ก.ค. ลุ้นเปิดเดินรถไฟ เชื่อม ไทย-กัมพูชา เส้นทาง อรัญฯ-พนมเปญ". ข่าวสด. 17 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2018.
  26. "ร.ฟ.ท.ทดลองเดินรถไฟสายประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชาเที่ยวปฐมฤกษ์ เสมือนจริง". ผู้จัดการออนไลน์. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2019.
  27. "'ประยุทธ์ - ฮุน เซน' เตรียมฉลองสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา นั่งรถไฟขบวนพิเศษ". วอยซ์ทีวี. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2019.
  28. "45 ปี! ทดลองรถไฟไทย-กัมพูชา เที่ยวปฐมฤกษ์รับ "ประยุทธ์-ฮุนเซน"". ไทยพีบีเอส. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2019.
  29. "ประเดิมเที่ยวปฐมฤกษ์ รถไฟสายตลาดโรงเกลือ-กทม. เชื่อประชาชนสะดวกขึ้น". ไทยรัฐออนไลน์. 1 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2019.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!