สถานที่ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ฮีบรู
ถิ่นทุรกันดารปาราน (อังกฤษ: Desert of Paran หรือ Wilderness of Paran บางครั้งสะกดว่า Pharan หรือ Faran; ฮีบรู: מִדְבַּר פָּארָן, Midbar Pa'ran) เป็นสถานที่ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ฮีบรู เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ชาวอิสราเอลใช้เวลาส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 40 ปีในการเร่ร่อนภายหลังการอพยพ และยังเป็นบ้านของอิชมาเอลและสถานที่ลี้ภัยของดาวิด
ในธรรมเนียมศาสนาอิสลาม มักถือว่าถิ่นทุรกันดารปารานเทียบได้กับพื้นที่ของแคว้นฮิญาซ
ถิ่นทุรกันดารปารานในคัมภีร์ไบเบิล
ถิ่นทุรกันดารปารานถูกกล่าวถึงว่าเป็นสถานที่ที่ฮาการ์ (หญิงคนใช้ชาวอียิปต์ของซาราห์/ซารายภรรยาของอับราฮัม ได้กลายมาเป็นภรรยาของอับราฮัมตามคำแนะนำของซาราห์แล้วมีบุตรชายด้วยกันกับอับราฮัมคืออิชมาเอล) ถูกอัปเปหิออกจากที่อยู่ของอับราฮัมในเบเออร์เชบา (ปฐมกาล 16:1 ) ฮาการ์ "ก็ไปและพเนจรไปในถิ่นทุรกันดารแห่งเบเออร์เชบา" (ปฐมกาล 21:14 ):
แล้วพระเจ้าทรงเปิดตาของนาง[ฮาการ์] นางก็เห็นบ่อน้ำแห่งหนึ่ง จึงไปเติมน้ำเต็มถุงหนัง และให้เด็กนั้นดื่ม พระเจ้าทรงอยู่กับเด็กนั้น เขาเติบโตขึ้น อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร และเป็นนักธนู เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารแห่งปาราน มารดาก็หาภรรยาคนหนึ่งจากแผ่นดินอียิปต์ให้เขา (ปฐมกาล 21:19 -22)
ภายหลังถิ่นทุรกันดารปารานถูกกล่าวถึงในหนังสือกันดารวิถีว่าเป็นสถานที่ที่ชาวอิสราเอลมาตั้งถิ่นอาศัยชั่วคราวระหว่างการอพยพ:
คนอิสราเอลก็ยกออกเดินทางเป็นระยะๆ จากถิ่นทุรกันดารซีนาย และเมฆนั้นมาหยุดอยู่ที่ถิ่นทุรกันดารปาราน (กันดารวิถี 10:12 ; ดูเพิ่มที่ กันดารวิถี 12:16 )
ถิ่นทุรกันดารปารานถูกกล่าวถึงอีกครั้งในความเปิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ:
ข้อความต่อไปนี้เป็นคำที่โมเสสกล่าวกับคนอิสราเอลทั้งสิ้นในถิ่นทุรกันดารฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ณ ที่ราบข้างหน้าสูฟระหว่างปารานและโทเฟล ลาบาน ฮาเซโรทและดีซาหับ (เฉลยธรรมบัญญัติ 1:1 )
ท่านกล่าวว่า พระยาห์เวห์เสด็จจากซีนาย และทรงลุกขึ้นจากเสอีร์เสด็จมายังเขาทั้งหลาย พระองค์ทรงทอแสงจากภูเขาปาราน พระองค์เสด็จมากับผู้บริสุทธิ์นับหมื่น ที่พระหัตถ์เบื้องขวามีไฟเป็นพระธรรมแก่เขา (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:2 )
กษัตริย์ดาวิดเคยทรงใช้เวลาช่วงหนึ่งในถิ่นทุรกันดารปารานหลังซามูเอลเสียชีวิต (1 ซามูเอล 25:1)
1 พงศ์กษัตริย์ 11:17-18 ระบุว่าเมื่อฮาดัดคนเอโดมหนีจากเอโดมไปยังอียิปต์ ได้ผ่านมีเดียนและปารานตามทางไปอียิปต์
ยังไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดของถิ่นทุรกันดารปาราน
โดยถิ่นทุรกันดารปารานมักถูกนำมาเชื่อมโยงกับภูเขาซีนายในอียิปต์ และมีบางหลักฐานที่บ่งบอกว่าเดิมถิ่นทุรกันดารปารานอาจหมายถึงบริเวณทางตอนใต้ของคาบสมุทรซีนาย[1] แต่จากความในเฉลยธรรมบัญญัติ 1:1 บ่งบอกว่าอาจอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
ผู้เผยพระวจนะน้อยฮาบากุกระบุว่า "พระเจ้าเสด็จจากเทมาน องค์บริสุทธิ์เสด็จจากภูเขาปาราน" ในฮาบากุก 3:3
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น