คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว[1][2] หรือ คุ้มเจดีย์กิ่ว[3] หรือ คุ้มเจดีย์งาม[4] หรือ วังท่าเจดีย์กิ่ว[5] เดิมตั้งอยู่บริเวณถนนวิชยานนท์ เป็นหนึ่งในคุ้มหลวงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ภายหลังได้ตกเป็นมรดกของเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ พระธิดา[6] ซึ่งน้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่เป็นการถาวร[1][4] และยังเป็นที่ประดิษฐานพระศพเจ้าดารารัศมี เมื่อคราบำเพ็ญพระราชกุศล[5]
ที่เรียกว่า "คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว" ก็เพราะตัวคุ้มตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์กิ่ว (หรือ เจดีย์ขาว)[2] ประกอบกับตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีชื่อดังกล่าว
ข้อมูลจากมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ[7]
คุ้มเจดีย์งาม (เจดีย์กิ่วหรือเจดีย์ขาว) ตั้งอยู่ที่ถนนวิชยานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณริม แม่น้ำปิง แต่เดิมคุ้มเป็นเรือนไม้สักหลังใหญ่ ซึ่งเป็นคุ้มเรือนหอของเจ้าแก้วนวรัฐกับแม่เจ้าจามรี ณ เชียงใหม่ ต่อมาได้สร้างเป็นตึกทรงยุโรป อาคารหลักเป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐทั้งหลังทรงยุโรปสองชั้น หลังคามุงกระเบี้องซีเมนต์ หันหน้าออกสู่แม่น้ำปิง มีเตาผิงและซุ้มทางเข้าหน้าอาคารสำหรับเทียบรถยนต์ หลังคาด้านหน้าซุ้ม เป็นดาดฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับชมบริเวณสวนโดยรอบ สร้างเสร็จราว พ.ศ. 2471 อาคารรองเป็นศาลาขนาดใหญ่แบบเก๋งจีน ใช้สำหรับเป็นที่รับรองแขกหรือจัดงานพิธีสำคัญต่างๆ ท้ายสุดเคยใช้เป็นที่ตั้งพระศพของนายพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ซึ่งถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2482 ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสถานกงสุลใหญ่อเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่
เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โปรดให้สร้างเป็นตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับมาประทับเมืองเชียงใหม่เป็นการถาวร ซึ่งชาวเชียงใหม่จะเรียกว่าคุ้มพระราชชายาหรือวังเจดีย์กิ่ว หรือวังเจดีย์งาม และขานพระนามพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ว่า “เสด็จเจ้าในวัง”
คุ้มเจดีย์งาม แห่งนี้ ยังเป็นสถานที่รับเสด็จฯ เจ้านายสำคัญในราชวงศ์จักรี อาทิ รับเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รับเสด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พร้อมด้วย เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดา
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับแรมอยู่ที่นครเชียงใหม่ คราวเมื่อเสด็จเลียบมณฑลพายัพ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น พระราชชายาฯ ได้ทรงจัดพระกระยาหารถวายล้นเกล้าทั้ง ๒ พระองค์พร้อมด้วยเจ้านายสำคัญหลายพระองค์ ที่วังท่าเจดีย์กิ่ว เมื่อค่ำวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๖๙ และเมื่อค่ำวันที่ ๒7 มกราคม ๒๔๖๙ พระราชชายาฯ ยังได้ทรงจัดระบำร่วมสนองพระเดชพระคุณในการสมโภชช้างพลายสำคัญที่บริษัทบอร์เนียว จำกัด น้อมเกล้าฯ ถวาย
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงใช้คุ้มท่าเจดีย์กิ่วแห่งนี้ เป็นแหล่งฟื้นฟู และส่งเสริมทางด้านศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ทรงตั้งโรงกี่ทอผ้า เพื่อทรงฟื้นฟูการทอผ้ายกดอก “การทอซิ่นยกดอก ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญในการทอซิ่นตีนจกจากหมู่บ้านวัดดวงดีมาทอที่โรงกี่ในวัง และฝึกผู่ที่สนใจการทอผ้าด้วย จะเป็นคนในวังหรือนอกวังก็ได้ทั้งนั้น เจ้านายลำพูนชอบการฝีมือในด้านนี้มาก่อนแล้วและชอบทอซิ่นใช้เองป็นงานอดิเรกเสมอ ได้มาศึกษาการทอซิ่นยกดอกจากที่โรงกี่ในวัง และนำไปทอในคุ้มหลวงลำพูน ภายหลังจึงได้แพร่หลายที่จังหวัดลำพูน”
ในส่วนการฟ้อนพื้นเมืองทางเหนือนั้น ได้ทรงหัดลูกหลานของเจ้านายฝ่ายเหนือที่เข้ามาอยู่ในวังกับพระองค์ท่านให้เป็นช่างฟ้อนประจำวังและถึงแม้จะอยู่คุ้มเจ้านายอื่นหรือเป็นลูกหลานของมหาดเล็กและข้าหลวง หากทรงเห็นว่ามีแววก็จะรับสั่งให้เข้ามาซ้อมในวังด้วยและออกแสดงในเวลาที่มีงานเฉลิมฉลองต่างๆ ระบำและฟ้อนที่โปรดให้ฝึก มีหลายประเภท เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนมอญหรือผีมด ระบำจีนรำพัด ระบำงู ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา และฝึกนักร้องหรือช่างซอให้ร้องเพลงพื้นเมืองประกอบ
อ้างอิง
คุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือ |
---|
คุ้มในจังหวัดเชียงใหม่ | |
---|
คุ้มในจังหวัดลำพูน | |
---|
คุ้มในจังหวัดลำปาง | |
---|
คุ้มในจังหวัดแพร่ | |
---|
คุ้มในจังหวัดน่าน | |
---|