กลุ่มรัฐข่า

เรวแกว
ตะบองขะมุม
รามรักโองการ
นครกาลจำบากนาคบุรีศรี
ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์
พุทธศตวรรษที่ 20 – พ.ศ. 2256
ประวัติศาสตร์ 
• กฎมนเทียรบาลกล่าวถึงเมืองเรวแกว
พุทธศตวรรษที่ 20
• พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เองกล่าวถึงเมืองตะบองคะมุม
พุทธศตวรรษที่ 20-21
• พงศาวดารล้านช้างกล่าวถึงเมืองรามรักโองการ
พ.ศ. 2114
• สร้างนครกาลจำบากนาคบุรีศรีตามตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์
ก่อน พ.ศ. 2186
พ.ศ. 2256
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรพระนคร
อาณาจักรล้านช้าง
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
เมืองประทายสมันต์
เมืองสังฆะ
เมืองรัตนบุรี
เมืองขุขันธ์

กลุ่มรัฐข่า เป็นข้อสันนิษฐาน[1][2][3]ถึงกลุ่มอำนาจในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล, ลุ่มน้ำโขง และที่ราบสูงโบลาเวน จรดเทือกเขาอันนัมและที่สูงตอนกลางทางตะวันออก ซึ่งพบการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเทิงหรือเขมรสูง [en] เช่น กำมุ [en]และกูย ศูนย์กลางอำนาจขนาดใหญ่โดยรอบมักเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้รวมกันว่า ข่า[4][5] ต่อมาอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และหัวเมืองเขมรป่าดงเข้าแทนที่กลุ่มอำนาจดั้งเดิมในพื้นที่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23

เมืองเรวแกว

กฎมนเทียรบาลของอาณาจักรอยุธยาซึ่งตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุถึงเมืองเรวแกวในฐานะ เมืองถวายดอกไม้ทองเงิน เมืองเรวแกวถูกสันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองในบริเวณใกล้กับจำปาศักดิ์ และชื่อเมืองอาจตรงกับคำว่า เรอแดว ซึ่งหมายถึงชาวระแด [en][1][3]

เมืองตะบองขะมุม

เจ้าพญาธรรมราชาหนีไปอยู่บ้านทำเลอม เหนือเขาพนมรุ้ง เกลี้ยกล่อมชาวบ้านชาวเมืองตะวันออกได้พร้อมมูล ยกกองทัพกลับมารบได้เมือง พระศรีโสไทยหนีมาอยู่ตำบลปรำบีโฉม เมืองลแวก จึงให้เจ้าใชยมนตรี ขุนนาง ยกกองทัพไปตั้งอยู่ตำบลตรวยลังว้า ฝ่ายพระธรรมราชา ขณะเมื่อหนีไปอยู่ทำเลอมนั้น ได้เปนมิตรสันถวะกันกับเจ้ากวย ครั้นได้พระนครหลวงแล้ว จึงให้มีหนังสือกำหนดไปขอกองทัพเจ้ากวยณเมืองตบงขมุมให้ยกมาช่วยรบพระศรีโสไทยณเมืองลแวก ครั้นได้กำหนด กองทัพเจ้าพญาธรรมราชากับกองทัพกวยก็ยกไปรบพระศรีโสไทย พระศรีโสไทยทานมิได้ก็ทิ้งครัวเสียหนีไป

— พงษาวดารเมืองลแวก, ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔

พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เองระบุว่า เจ้ากวยแห่งเมืองตะบองขะมุมได้ให้ความช่วยเหลือแก่พระธรรมราชาธิราชรามาธิบดีที่ 1 ในการทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติกับพระศรีสุริโยไทยราชา[6] เจ้ากวยถูกสันนิษฐานว่าอาจหมายถึงกษัตริย์ชาวกูย และเมืองตะบองขะมุมอาจเป็นรัฐอิสระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20[2]

เมืองรามรักโองการ

๏ พระไชยเชษฐาธิราชเจ้า ก็เลยสร้างบ้านแปงเมืองรุ่งเรืองดีดังเก่าอยู่แล ส่วนพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแต่ได้เสวยศิริสมบัติทั้งมวญนานประมาณได้ ๒๔ วรรษา ถ้าจักกล่าวแต่ชาติมา อายุทั้งมวญได้ ๓๙ ปี ก็ไปกระทำยุทธกรรมสงครามในเมืองรามรักองการ กาลวิปริตผิดกองเลยถึงแก่พระองค์ ก็หลงเสียในเมืององการนั้น ในปีระวายเม็ดเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชได้ ๙๓๓ ตัวนั้นแล

— พงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ ๒, ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑

พงศาวดารล้านช้างระบุถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จไปทำสงครามที่เมืองรามรักโองการ แล้วสูญหายไปในศึกนั้น เมืองรามรักโองการถูกสันนิษฐานว่าอยู่ในพื้นที่แขวงอัตตะปือ[7] อย่างไรก็ตาม ได้มีการโต้แย้งว่า หากพิจารณาจากหลักฐานฝ่ายกัมพูชาร่วมด้วยแล้ว เมืองรามรักโองการอาจหมายถึงเมืองพระนคร[8]

นครกาลจำบากนาคบุรีศรี

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์[9]ได้ให้เงื่อนงำถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวจาม[3]ในพุทธศตวรรษที่ 22 โดยระบุว่า กษัตริย์ขอมได้นำไพร่พลชาวจามและชาวลาวปนกูยสร้างเมืองขึ้นริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ก่อนที่วงศ์ผู้ปกครองจะถูกแทนที่ด้วยตระกูลเจ้าเมืองจากชาวพื้นเมือง จนกระทั่งอาณาจักรล้านช้างเกิดความแตกแยกภายในในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เจ้าหน่อกษัตริย์ เจ้าชายจากเวียงจันทน์ได้รับอำนาจปกครองเหนือนครกาลจำบากนาคบุรีศรีและสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

รายพระนามและรายนามผู้ปกครองในตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์[10]

ลำดับ รายพระนาม/รายนาม เริ่มต้น (พ.ศ.) สิ้นสุด (พ.ศ.) หมายเหตุ
1 ไม่ปรากฏพระนาม ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ กษัตริย์ขอมผู้สร้างเมือง
2 เจ้าสุทัศราชา ไม่ปรากฏ 2168/2169 พระโอรสของกษัตริย์พระองค์ก่อน
ว่างตำแหน่ง 2168/2169 (จ.ศ. 987) – 2181/2182 (จ.ศ. 1000)
3 ไม่ปรากฏนาม 2181/2182 ไม่ปรากฏ ราษฎรยกให้เป็นเจ้าเมือง
4 นางเภา ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ ธิดาของเจ้าเมืองคนก่อน
5 นางแพง ไม่ปรากฏ 2251 ธิดาของนางแพงและเจ้าปางคำ
6 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก 2251 2256 อดีตพระครูเมืองเวียงจันทน์

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 พงศ์ศรีเพียร, วินัย, บ.ก. (2005), กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, p. 63, สืบค้นเมื่อ 2024-10-25
  2. 2.0 2.1 สาลี, บัญญัติ (2015). "กูย : ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน" [Kui : The Study on Ethnic Group, Language and Myth]. วารสารมนุษย์กับสังคม. 1 (1): 35–38. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25 – โดยทาง Thai Journal Online.
  3. 3.0 3.1 3.2 วงษ์เทศ, สุจิตต์ (23 May 2021). "สุจิตต์ วงษ์เทศ : 'จาม' เมืองเรอแดว อยู่โขง, ชี, มูล แหล่งทรัพยากรรัฐอยุธยา". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-09. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25.
  4. "กำมุ". กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. 12 June 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-30. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25.
  5. "กูย". กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. 24 January 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-16. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25.
  6. โบราณคดีสโมสร (ผู้รวบรวม) (1916), "พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๕๘" [Phongsawadan Mueang Lawaek Chunlasakkarat Phan Nueng Roi Hasip Paet], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ [A Collection of Chronicles] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, p. 28, สืบค้นเมื่อ 2024-10-26
  7. เลิศรวมโชค, อริย์ธัช (2017), ศึกษารูปแบบการปกครองของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กับการสร้างความมั่นคงสองฝังโขง [A study Model of The role of King chaichetthathirat with The stability both sides of the Mekong] (PDF), สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, p. 43, สืบค้นเมื่อ 2024-10-26
  8. ภูศรี, บุญชู (18 November 2017). "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในประวัติศาสตร์เขมร". บุญชู ภูศรี : ค้น คิด เขียน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2024-10-26.
  9. กรมศิลปากร (ผู้รวบรวม) (1941), "ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์" [Tamnan Mueang Nakhon Champasak], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, pp. 1–4, 11–12, สืบค้นเมื่อ 2024-10-26
  10. วิภาคย์พจนกิจ, เติม (2003), ประวัติศาสตร์อีสาน (PDF) (4th ed.), กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, pp. 32–33, 40–41, ISBN 974-571-854-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-06-09, สืบค้นเมื่อ 2024-10-26

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!