เมนูไคเซกิ ประกอบด้วยอาหารหลายอย่าง ซึ่งจะบริการทีละอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีปริมาณน้อย และจัดเรียงสวยงามอย่างมีศิลปะ
ไคเซกิ (ญี่ปุ่น : 懐石 ; โรมาจิ : kaiseki ) หรือ ไคเซกิเรียวริ (ญี่ปุ่น : 懐石料理 ; โรมาจิ : kaiseki-ryōri ) เป็นชุดอาหารที่บริการทีละคอร์ส (อย่าง) อย่างเป็นลำดับตามธรรมเนียมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงความพิถีพิถันในคัดเลือกวัตถุดิบตามฤดูกาล การปรุงแต่ง และกรรมวิธีที่ใช้ในการปรุง จนกระทั่งการนำเสนออาหาร ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับอาหารยุโรปชั้นสูง หรือ "โอตกุยซีน" (Haute cuisine) ของชาติตะวันตก[ 1]
ชุดอาหารไคเซกิประกอบไปด้วยสองความหมาย โดย ไคเซกิ (会席) และ ไคเซกิเรียวริ (会席料理) นั้นหมายถึงอาหารชุดที่คัดเลือกรายการอาหารไว้แล้ว และให้บริการทีละอย่าง (คนละ 1 จานจนครบทุกคอร์ส) ลงบนถาดส่วนตัว[ 2]
[ 2] อีกหนึ่งความหมายนั้นเขียนตามภาษาญี่ปุ่นว่า 懐石 หรือ 懐石料理 หมายถึงอาหารอย่างง่ายที่เจ้าภาพของพิธีชงชา จัดให้บริการแขกก่อนพิธีการชงชาจะเริ่มขึ้น[ 2] ซึ่งมักจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชาไกเซกิ (ญี่ปุ่น : 茶懐石 ; โรมาจิ : cha-kaiseki ) [ 3] อาหารฝรั่งเศสแบบนูแวลกุยซีน (Nouvelle cuisine) นั้นเป็นไปได้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักการของไคเซกิ[ 4] [ 5]
ที่มา
อักษรคันจิ 懐石 ของคำว่าไคเซกินั้น ความหมายโดยตรงของอักษรหมายถึง "หินในกระเป๋าเสื้อ" คันจิคำนี้คาดกันว่าได้รับการบัญญัติโดย เซน โนะ ริคีว (ญี่ปุ่น : 千利休 ; โรมาจิ : Sen no Rikyū , ค.ศ. 1522–1591) เพื่อบ่งบอกถึงอาหารเรียบง่ายที่เสิร์ฟในสไตล์เคร่งครัดของชาโนะยุ (พิธีชงชาญี่ปุ่น) แนวคิดนี้มาจากการฝึกฝนที่พระสงฆ์นิกายเซน จะขับไล่ความหิวโดยใส่หินอุ่น ๆ ลงในกระเป๋าผ้าในเสื้อคลุมใกล้กับท้องของเขา ก่อนที่อักษรคันจิคำนี้จะเริ่มถูกใช้ในความหมายนี้ คำเดิมที่ใช้เป็นเพียงคำบ่งชี้ว่าอาหารนั้นเป็นการรวมตัวกัน (ไคเซกิเรียวริ 会席料理)[ 6] คันจิทั้งสองคำยังคงนำมาใช้เขียนได้ในปัจจุบัน พจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นโคจิเอน ได้ให้คำอธิบายว่า "会席料理" เป็นอาหารสำหรับงานเลี้ยงที่มีเครื่องดื่มหลักคือเหล้าสาเก (ไวน์ข้าวญี่ปุ่น) และอาหาร "懐石" เป็นอาหารง่าย ๆ เสิร์ฟในพิธีชาโนะยุ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสองคำในการพูดและในการเขียนถ้าจำเป็น อาหารสำหรับพิธีชาโนะยุ อาจจะเรียกว่า ชะ-ไคเซกิหรือ 茶懐石[ 7] [ 8]
ปัจจุบันไคเซกิ ได้มีการนำเสนออาหารแบบดั้งเดิมของชนชั้นสูงในญี่ปุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสี่ธรรมเนียมคือ อาหารของราชสำนัก (ญี่ปุ่น : 有職料理 ; โรมาจิ : yūsoku ryōri ) ในยุคเฮอัง จากคริสต์ศตวรรษที่ 9; อาหารแบบของวัดพุทธศาสนา (ญี่ปุ่น : 精進料理 ; โรมาจิ : shōjin ryōri ) ในยุคคามากูระ จากคริสต์ศตวรรษที่ 12; อาหารของสำนักซามูไร (ญี่ปุ่น : 本膳料理 ; โรมาจิ : honzen ryōri ) ในยุคมูโรมาจิ จากคริสต์ศตวรรษที่ 14; และพิธีชงชา (ญี่ปุ่น : 茶懐石 ; โรมาจิ : cha kaiseki ) จากคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในสมัยฮิงาชิยามะ ในยุคมุโรมาจิ อาหารแต่ละชนิดเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไป ได้รับการพัฒนาและมีรูปแบบที่เป็นทางการ และยังคงอยู่ในบางรูปแบบจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ถูกนำมารวมอยู่ในชุดอาหารไคเซกิ พ่อครัวแต่ละคนจะให้น้ำหนักของรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ที่แตกต่างกัน - อาหารของราชสำนักและซามูไรมีความหรูหรามากขึ้น ในขณะที่อาหารของวัดและพิธีชงชานั้นก็จะเรียบง่ายขึ้นเป็นต้น
รูปแบบ
อาหารในแต่ละจานจะมีปริมาณน้อย โดยบรรจังแต่งอย่างสวยงามและสมดุล
ในปัจจุบัน "ไคเซกิ" ถือเป็นศิลปะที่ผสมผสานกันในรสชาติ รูปลักษณ์ ผิวสัมผัส และสีสันได้อย่างลงตัว[ 7] จึงใช้สร้างสรรค์จากวัตถุดิบชั้นเยี่ยม ที่มีความสดใหม่ ซึ่งหาได้เฉพาะในฤดูกาลเพื่อใช้ปรุงแต่งขึ้นเป็นอาหารรสชาติอร่อยอย่างลงตัว[ 9] การจัดวางและนำเสนอมักจะทำอย่างระมัดระวัง และคำนึงถึงสีสันและน้ำหนัก เพื่อให้เกิดความสมดุลในการนำเสนอให้เป็นศิลปะอย่างสอดรับกับไคเซกิที่ประกอบขึ้นในฤดูกาลนั้น ๆ ซึ่งจะตกแต่งอย่างพิถีพิถัน โดยจะใช้แม้กระทั่งใบไม้และดอกไม้สดเพื่อตกแต่ง จนถึงผักผลไม้ที่แกะสลักอย่างสวยงามเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ประกอบในอาหารด้วย
ลำดับ
ตามธรรมเนียมดั้งเดิมแล้ว ไคเซกิประกอบด้วยซุปมิโซะและอาหารเคียงสามอย่าง[ 10] ซึ่งได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการบริการอาหารญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งโดยจะเรียกเป็น "อาหารชุด" (セット ) จากนั้นได้มีการพัฒนาขึ้นมาโดยรวมถึงอาหารเรียกน้ำย่อย, ปลาดิบ (ซาชิมิ ), ของต้ม, ของย่าง, และของนึ่ง[ 10] นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงอาหารพิเศษอื่น ๆ ที่เชฟจัดสรรให้[ 11] โดยปกติมักจะเรียงลำดับตามนี้
ซากิซูเกะ (先附 ) อาหารเรียกน้ำย่อยขนาดเล็ก ซึ่งคล้ายกับ "อามูซ-บุช" ในอาหารฝรั่งเศส
ฮัซซุง (八寸 ) คอร์สที่สอง ซึ่งมักจะเลือกวัตถุดิบตามฤดูกาล มักจะรวมซูชิหรือข้าวปั้น กับเครื่องเคียงขนาดเล็กหลาย ๆ อย่าง
มูโกซูกะ (向付 ) ปลาดิบหรือซาชิมิตามฤดูกาล
ทากิอาวาเซะ (煮合 ) ผักและเนื้อสัตว์ ปลา หรือ เต้าหู้ ซึ่งนำแต่ละอย่างไปตุ๋นไฟอ่อน ๆ เป็นเวลานานแยกกัน
ฟูตาโมโนะ (蓋物 ) อาหารที่เสิร์ฟในถ้วยมีฝา มักจะเป็นซุปต่าง ๆ
ยากิโมโนะ (焼物 ) อาหารจานย่าง (ไฟ) อาทิ ปลาต่าง ๆ
ซูซากานะ (酢肴 ) อาหารจานเล็กสำหรับล้างปาก ซึ่งมักจะปรุงเด่นด้วยรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู เช่น ผักดองน้ำส้มแบบญี่ปุ่น
ฮิยาชิบาชิ (冷し鉢 ) ผักที่ปรุงสุกไม่มากเสิร์ฟแบบเย็น ซึ่งนิยมให้บริการในฤดูร้อนเท่านั้น
นากาโชโกะ (中猪口 ) อาหารจานเล็กสำหรับล้างปากอีกจานหนึ่ง มักจะมีรสเปรี้ยวเช่นกัน เช่น ซุปใสรสเปรี้ยวนิดหน่อย
ชีซากานะ (強肴 ) อาหารจานหลัก เช่น หม้อไฟ (hot pot) เป็นต้น
โกฮัง (御飯 ) ข้าวสวยญี่ปุ่น
โคโนโมโนะ (香の物 ) ผักดองแบบญี่ปุ่นตามฤดูกาล
โทเมวัง (止椀 ) ซุปมิโซะ หรือซุปผัก
มิซูโมโนะ (水物 ) ของหวานตามฤดูกาล อาจรวมถึง ผลไม้ ขนมหวาน ไอศกรีม และเค้ก
สถานที่ให้บริการ
ไคเซกินั้นมักจะให้บริการในเรียวกัง ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีให้บริการในร้านอาหารเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า เรียวเต (ญี่ปุ่น : 料亭 ; โรมาจิ : ryōtei ) ในเมืองเกียวโต นั้นเป็นสถานที่เลื่องชื่อด้านไคเซกิเนื่องจากถือกันว่าเป็นที่ตั้งของราชสำนักมาแต่โบราณนับพัน ๆ ปี โดยในเกียวโตจะเรียกการประกอบอาหารแบบไคเซกินี้ว่า การปรุงอาหารแบบเกียวโต (ญี่ปุ่น : 京料理 ; โรมาจิ : kyō-ryōri ) เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงต้นกำเนิดและที่มาของไคเซกิ
ราคา
ไคเซกิมักจะมีราคาค่อนข้างแพง โดยในภัตตาคารมีชื่อนั้นมักจะราคาตั้งแต่ 15,000 เยน จนถึง 40,000 เยนต่อคน[ 12] (เทียบเท่าประมาณ 6,000 บาท ถึง 15,000 ต่อคน) โดยคิดแบบไม่รวมเครื่องดื่ม ในปกติไคเซกิมื้อเที่ยงมักจะมีราคาถูกกว่า โดยมีราคาตั้งแต่ 4,000 เยนจนถึง 8,000 เยนต่อคน (1,500 บาท ถึง 3,000 บาท) และนอกจากนี้ยังมีในรูปของเบ็นโต อีกด้วย โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000–4,000 เยนต่อคน (ประมาณ 750–1,500 บาท)
ในเรียวกัง ส่วนใหญ่มักจะรวมอาหารซึ่งเป็นแบบไคเซกิอยู่กับค่าห้องแล้ว โดยในบางที่จะให้บริการเฉพาะแขกในเรียวกังเท่านั้น แต่ในหลาย ๆ ที่ก็ยังสามารถรับแขกนอกได้ โดยในปัจจุบันมีเรียวกังหลาย ๆ แห่งที่กลายเป็นภัตตาคารขึ้นชื่อ โดยไคเซกิมักจะแบ่งราคาเป็นสามระดับ โดยเรียกอย่างดั้งเดิมว่า ชุดสน ชุดไผ่ และชุดบ๊วย โดยชุดสนมักจะแพงที่สุด และชุดบ๊วยมักจะมีราคาถูกที่สุด การตั้งชื่อแบบนี้ยังพบได้อีกในประเทศญี่ปุ่น
ไคเซกิแบบลำลอง
ชุดอาหารไคเซกิแบบลำลอง
อาหารไคเซกิแบบลำลอง จัดวางอาหารในชุดจานซึ่งเลือกใช้การผสมผสานเครื่องปั้นดินเผาที่มีพื้นผิวกับชามหรือจานที่มีลวดลาย กล่องเบนโตะเป็นอีกรูปแบบที่นิยมทั่วไปของไคเซกิแบบลำลอง
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ Bourdain, Anthony (2001). A Cook's Tour: Global Adventures in Extreme Cuisines . New York, NY: Ecco. ISBN 0-06-001278-1 .
↑ 2.0 2.1 2.2 Kenkyusha's New Japanese-English Dictionary , ISBN 4-7674-2015-6
↑ Japanese Kōjien dictionary
↑ McCarron, Meghan (7 September 2017). "The Japanese Origins of Modern Fine Dining" . Eater . Vox Media. สืบค้นเมื่อ 11 September 2017 .
↑ Rosner, Helen (11 March 2019). "The Female Chef Making Japan's Most Elaborate Cuisine Her Own" . The New Yorker . Conde Nast. สืบค้นเมื่อ 10 March 2019 .
↑ "From kaiseki 会席 to kaiseki 懐石: The Development of Formal Tea Cuisine" in Chanoyu Quarterly 50
↑ 7.0 7.1 Furiya, Linda (2000-05-17). "The Art of Kaiseki" . The San Francisco Chronicle . สืบค้นเมื่อ 2007-07-17 .
↑ "Welcome to Kyoto - Kaiseki Ryori -" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-08-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-17 .
↑ Baker, Aryn (2007-06-14). "Kaiseki: Perfection On a Plate" . Time . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-06-17. สืบค้นเมื่อ 2007-07-17 .
↑ 10.0 10.1 Brenner, Leslie; Michalene Busico (2007-05-16). "The fine art of kaiseki" . Los Angeles Times . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ February 17, 2009. สืบค้นเมื่อ 2007-07-17 .
↑ Murata, Yoshihiro; Kuma, Masashi; Adrià, Ferran (2006). Kaiseki: the exquisite cuisine of Kyoto's Kikunoi Restaurant . Kodansha International. p. 13. ISBN 4-7700-3022-3 .
↑ Kyoto-ryori , Kansai Food Page
บรรณานุกรม
Murata, Yoshihiro. Kaiseki: The Exquisite Cuisine of Kyoto's Kikunoi Restaurant. New York: Kodansha International, 2006. IBN 4770030223.
Tsutsui, Hiroichi. "From kaiseki 会席 to kaiseki 懐石: The Development of Formal Tea Cuisine" in Chanoyu Quarterly no. 50 (Urasenke Foundation, 1987).
Tsuji, Kaichi. Kaiseki: Zen Tastes in Japanese Cooking. Kodansha International, 1972; second printing, 1981.
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิพจนานุกรม