โรลันท์ ไฟรส์เลอร์

โรลันท์ ไฟรส์เลอร์

โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ (เยอรมัน: Roland Freisler; 30 ตุลาคม ค.ศ. 1893 – 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945) เป็นนักนิติศาสตร์และตุลาการแห่งนาซีเยอรมนี เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมของนาซี เป็นประธานศาลประชาชน และเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมที่วันเซเมื่อ ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการฆ่าล้างชาวยิว

ต้นชีวิต

ไฟรส์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ณ เซ็ลเลอ รัฐนีเดอร์ซัคเซิน บิดาของเขา คือ ยูลีอุส ไฟรส์เลอร์ (เกิด 20 สิงหาคม ค.ศ. 1862 ณ คลันเทินดอร์ฟ มอเรเวีย) ซึ่งเป็นวิศวกรและครู มารดาของเขา คือ ชาร์ล็อทเทอ เอากุสเทอ โฟลเร็นทีเนอ ชแวร์ทเฟเกอร์ (เกิด 30 เมษายน ค.ศ. 1863 ณ เซ็ลเลอ และเสียชีวิต 20 มีนาคม ค.ศ. 1932 ณ คัสเซิล)[1] เขามีน้องชายหนึ่งคน คือ อ็อสวัลท์ ไฟรส์เลอร์

เขารับบัพติศมาเข้าเป็นโปรเตสแตนต์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1893[2]

ต่อมา เขาเข้าเรียนนิติศาสตร์ แต่ต้องหยุดเรียนเมื่อเกิดสงครามขึ้นใน ค.ศ. 1914[3]

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ใน ค.ศ. 1914 นั้นเอง เขาถูกเกณฑ์เป็นนายร้อย ณ กรมทหารราบโอเบอร์-เอ็ลเซ็สซิชเชิส (อาลซัสบน) ที่ 167 ในคัสเซิล[4]

ภายใน ค.ศ. 1915 เขาได้เลื่อนเป็นร้อยโท[1] และขณะประจำอยู่แนวหน้าในสังกัดกองที่ 22 ของกองทัพจักรวรรดิเยอรมันนั้น เขาได้รับอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็ก (Iron Cross) ชั้น 2 และชั้น 1 ตามลำดับ เพราะความกล้าหาญในการรบ[4]

ครั้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1915 เขาบาดเจ็บจากการรบที่แนวรบด้านตะวันออก และถูกจักรวรรดิรัสเซียจับเป็นเชลย[5] ขณะเป็นเชลยนั้น เขาได้เรียนภาษารัสเซีย และเริ่มสนใจในลัทธิมากซ์หลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้นแล้ว รัฐบาลชั่วคราวของฝ่ายบอลเชวิคซึ่งเข้าควบคุมค่ายเชลยของไฟรส์เลอร์นั้นนำไฟรส์เลอร์มาใช้ประโยชน์ โดยตั้งเขาเป็นคอมมิสซาร์ (Commissar) ตามที่เอกสารรัสเซียพรรณนาไว้เมื่อ ค.ศ. 1918 เขามีหน้าที่จัดเสบียงอาหารในค่ายช่วง ค.ศ. 1917–1918[6] ต่อมา รัสเซียกับเยอรมนีสงบศึกกัน และโอนเชลยที่ค่ายนี้ไปยังเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1918 ทำให้ค่ายว่างลง เป็นไปได้ว่า ในช่วงนั้น ไฟรส์เลอร์ไปสังกัดหน่วยองครักษ์แดง (Red Guards) อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานใด ๆ ยืนยันข้อนี้[7]

การเสียชีวิต

เช้าวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ขณะที่ไฟรส์เลอร์นั่งพิจารณาคดีอยู่ที่ศาลประชาชน กองทัพอากาศสหรัฐที่มีผู้นำ คือ กองกำลังบี-17 ของนาวาโท รอเบิร์ต รอเซนทัล (Robert Rosenthal) ทิ้งระเบิดโจมตีเบอร์ลิน[8] อาคารของราชการและพรรคนาซีถูกถล่ม ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานหัวหน้าพรรคนาซี กองบัญชาการเกสตาโป และศาลประชาชน เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัย ไฟรส์เลอร์สั่งเลื่อนพิจารณาคดีอย่างรีบด่วน และให้นำนักโทษที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นไปยังที่หลบภัย แต่ตนเองยังอยู่ในศาลเพื่อเก็บแฟ้มสำนวนก่อน ในบรรดาแฟ้มเหล่านี้มีแฟ้มคดีของ Fabian von Schlabrendorff สมาชิกผู้ร่วมวางแผน 20 กรกฎาฯ ซึ่งถูกพิจารณาและพิพากษาประหารในวันนั้น อยู่ด้วย[9]

จนเวลา 11:08 นาฬิกา ระเบิดลูกหนึ่งทิ้งตรงลงมายังศาล[10] ทำให้ภายในอาคารพังลงบางส่วน ไฟรส์เลอร์ซึ่งยังอยู่ในห้องพิจารณานั้นถูกเสาปูนถล่มลงมาทับขาดใจตายคาที่[11] ศพของเขาถูกพบใต้ซากปรักหักพัง โดยยังกอดแฟ้มคดีแฟ้มหนึ่งที่เขาก้มลงหยิบเอาไว้แน่น[6]

แต่บ้างก็เล่าว่า ไฟรส์เลอร์ "โดนระเบิดลูกหลงตายขณะพยายามหนีออกจากศาลยุติธรรมไปยังที่หลบภัยทางอากาศ" และ "เลือดออกจนตายอยู่บนทางเดินนอกศาลประชาชน เลขที่ 15 ถนนเบ็ลวือในเบอร์ลิน" ส่วน Fabian von Schlabrendorff นั้น "ยืนอยู่ข้างไฟรส์เลอร์ตอนที่ไฟรส์เลอร์พบจุดจบ"[6] ไฟรส์เลอร์จึงเหมือนบัง Schlabrendorff ไว้จากวิถีระเบิด และภายหลังสงครามแล้ว Schlabrendorff ก็ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[12]

อนึ่ง มีอีกเรื่องเล่าว่า ไฟรส์เลอร์ตายเพราะระเบิดจากฝ่ายบริติชที่ร่วงลงสู่เพดานห้องพิจารณาขณะที่เขาพิจารณาคดีหญิงสองคนอยู่ และหญิงทั้งสองนั้นรอดชีวิตจากระเบิด[13]

ผู้สื่อข่าวต่างชาติรายงานว่า "เห็นชัดว่า ไม่มีใครเสียใจที่เขาตาย"[11] กว่า 25 ปีให้หลัง ลูอีเซอ โยเดิล ภริยาของพลเอก อัลเฟรท โยเดิล ให้สัมภาษณ์ว่า เธอทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลลึทโซตอนที่ศพของไฟรส์เลอร์ส่งมาถึง และมีคนงานคนหนึ่งออกความเห็นว่า "พระเจ้าพิพากษาแล้ว" นางโยเดิลยังเล่าว่า "ไม่มีใครพูดอะไรต่อ (ความเห็นนั้น) เลย"[14]

ศพของไฟรส์เลอร์ฝังไว้ในหลุมศพของตระกูลฝ่ายภริยา ณ สุสานวัลท์ฟรีทโฮฟดาเล็มในเบอร์ลิน แต่ป้ายหน้าหลุมศพไม่จารึกชื่อเขาไว้[15] สุสานนั้นยังไว้ศพของอุลริช วิลเฮ็ล์ม กราฟ ชเวรีน ฟ็อน ชวาเนินเฟ็ลท์ หนึ่งในผู้ร่วมวางแผน 20 กรกฎาคม ซึ่งถูกประหารชีวิตตามคำสั่งศาลประชาชนไม่กี่เดือนหลังเกิดการพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ""Freisler, Karl Roland", in: Hessische Biografie". 2012-09-07. สืบค้นเมื่อ 2013-09-29.
  2. Koch, H. W. (15 November 1997). In the Name of the Volk: Political Justice in Hitler's Germany. p. 28. ISBN 1860641741. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  3. 'Hitler's Hilfer - Roland Freisler' ('Hitler's Henchmen') television documentary series, by Guido Knopp, ZDF Enterprizes (1998).
  4. 4.0 4.1 'Hitler's Helfer' by Guido Knopp (Pub. Goldmann, 1998).
  5. 'Richter in Roter Robe - Freisler, Prasident des Volkgerichtshofes' (Judge in a Red Robe - Freisler, President of the People's Court) by Gert Buchheit (Pub. Paul List, 1968).
  6. 6.0 6.1 6.2 Knopp, Guido. Hitler's Hitmen, Sutton Publishing, 2000, pp. 216, 220-222, 228, 250.
  7. Wesel, Uwe. "Drei Todesurteile pro Tag" (Three death sentences per day), Die Zeit, 3 February 2005. Text in German Uwe Wesel is professor emeritus of Legal History in Berlin's Free University.
  8. "100th Bomb Group Foundation - Personnel - LT COL Robert ROSENTHAL". 100thbg.com. 100th Bomb Group Foundation. สืบค้นเมื่อ December 5, 2016. Dec 1, 1944-Feb 3, 1945 - 418th BS, 100th BG (H) ETOUSAAF (8AF) Squadron Commander, 55 hours, B-17 Air Leader 5 c/m (combat missions) 45 c/hrs (combat hours) 1 Division Lead (Berlin Feb 3, 1945, shot down, picked up by Russians and returned to England) Acting Command 4 Wing Leads, Pilot Feb 3, 1945 - BERLIN - MACR #12046, - A/C#44 8379
  9. Will, George F. , "Plot failed, but the spirit lived," reprinted in The Anniston Star, 19 July 1974, p. 4.
  10. 'Hitler's Helfer - Roland Freisler' (Hitler's Henchmen - Roland Freisler) television documentary, by Guido Knopp, (ZDF Enterprizes, 1998)
  11. 11.0 11.1 Granberg, Jerje. AP dispatch from Stockholm, reprinted as "Berlin, Nerves Racked By Air Raids, Fears Russian Army Most," Oakland Tribune, 23 February 1945, p. 1.
  12. Davies, Norman. Europe at War 1939–1945: No Simple Victory (New York: Viking Penguin, 2007), p. 308.
  13. Davies, Norman. Europe at War 1939–1945: No Simple Victory (New York: Viking Penguin, 2007), p. 308.
  14. Buchanan, William, "Nazi War Criminal's Widow Recalls Nuremberg," Boston Globe report reprinted in The Daily Times-News (Burlington, N.C.), 20 December 1972, p. 1.
  15. 'Hitlers Helfer - Roland Freisler', television documentary by Guido Knopp (1998).

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!