โคซากะ (ญี่ปุ่น: 小坂町; โรมาจิ: Kosaka-machi) เป็นเมืองในจังหวัดอากิตะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ประมาณ 4,501 คน มีความหนาแน่นของประชากร 22.3 คนต่อตารางกิโลเมตร[1] โคซากะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น[2]
ภูมิศาสตร์
โคซากะตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอ่งคาซูโนะในเทือกเขาโออุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอากิตะ ทิศเหนือติดกับจังหวัดอาโอโมริ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทะเลสาบโทวาดะ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติโทวาดะ-ฮาจิมันไต พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองปกคลุมด้วยป่า ด้วยความที่ตั้งอยู่ห่างจากทะเล ลึกเข้าไปทางตอนในของแผ่นดิน ทำให้เมืองนี้ขึ้นชื่อว่ามีหิมะตกหนักในฤดูหนาว
เทศบาลข้างเคียง
- จังหวัดอากิตะ
- จังหวัดอาโอโมริ
ภูมิอากาศ
โคซากะมีภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีป โดยมีฤดูร้อนที่มีระยะเวลาสั้นและเย็นสบาย และฤดูหนาวที่หนาวเย็นยาวนานร่วมกับมีหิมะตกหนัก (การแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน Dfa) อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีในโคซากะอยู่ที่ 8.4 °C ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,466 มิลลิเมตร โดยเดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝนตกชุกที่สุด อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยจะอยู่ในเดือนสิงหาคมที่ประมาณ 22.2 °C และต่ำสุดในเดือนมกราคมที่ประมาณ -4.3 °C[3]
ประชากร
ตามข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของญี่ปุ่น[4] จำนวนประชากรของโคซากะลดลงมากกว่าสองในสามตั้งแต่ ค.ศ. 1960
ประวัติจำนวนประชากรปี | ประชากร | ±% |
---|
1960 | 15,676 | — |
---|
1970 | 13,768 | −12.2% |
---|
1980 | 10,526 | −23.5% |
---|
1990 | 8,035 | −23.7% |
---|
2000 | 7,171 | −10.8% |
---|
2010 | 6,054 | −15.6% |
---|
2020 | 4,780 | −21.0% |
---|
ประวัติ
หลังจากเริ่มต้นยุคเมจิ พื้นที่ที่เป็นโคซากะในปัจจุบัน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นริกูจูเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะโอนไปขึ้นกับจังหวัดอากิตะใน ค.ศ. 1871 ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1878 พื้นที่แห่งนี้ถูกจัดให้อยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอคาซูโนะ จังหวัดอากิตะ เมื่อมีการประกาศใช้ระบบเทศบาลเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 ก็ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านโคซากะขึ้น และได้รับการยกฐานะเป็นเมืองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1914
เศรษฐกิจ
เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในฐานะศูนย์กลางการทำเหมืองทอง เงิน ทองแดง และสังกะสีในยุคเมจิ และมีการสร้างอาคารสมัยใหม่หลายแห่ง เช่น สำนักงานเหมืองแร่โคซากะ เมื่อหมดยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทรัพยากรแร่หมดลง ทำให้เศรษฐกิจเมืองถดถอยลง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางเมืองได้หาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองโดยใช้สถาปัตยกรรมในยุคเมจิและทรัพยากรของทะเลสาบโทวาดะเป็นจุดดึงดูดในการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทางบริษัทโดวะโฮลดิงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองโคซากะ ยังคงดำเนินกิจการต่อในอุตสาหกรรมรีไซเคิลโลหะ นอกจากนี้ยังมีในด้านของอุตสาหกรรมเบา โดยเมืองโคซากะเป็นที่ตั้งของบริษัทโทวาดะออดิโอ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดวิทยุคลื่นสั้น เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และอะแดปเตอร์ AC ในกลุ่มบริษัทโซนี่
การขนส่ง
รถไฟ
ในอดีตมีทางรถไฟสายโรงถลุงแร่โคซากะให้บริการขนส่งผู้โดยสารจนถึง ค.ศ. 1994 แต่ในปัจจุบันไม่มีเส้นทางรถไฟโดยสารใด ๆ ให้บริการ
ทางหลวง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
นานาชาติ | |
---|
ประจำชาติ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|