แมวป่า , เสือกระต่าย หรือ เสือบอง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Felis chaus ) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำพวกเสือขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Felidae มีรูปร่างคล้ายแมวบ้าน มีลักษณะเด่นคือ มีหูแหลมยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีกระจุกขนยื่นออกมาจากปลายใบหูแลดูคล้ายกระต่าย จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญ ว่า "เสือกระต่าย"
มีขายาว หางสั้นมีลายสีเข้มสลับเป็นปล้อง ๆ ขนปลายหางมีสีดำ ตามลำตัวมีสีน้ำตาลเหลือง บริเวณหลังมีสีน้ำตาลเข้ม สีขนบริเวณท้องจะอ่อนกว่าลำตัว แมวป่านับเป็นเสือในสกุล Felis ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวและหัว 50–56 เซนติเมตร ความยาวหาง 26–31 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 4–6 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา จรดเอเชียตะวันออก พบในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย , คูเวต , อิรัก , อิหร่าน , จอร์แดน , ภาคตะวันออกของตุรกี , อิสราเอล , ปากีสถาน , อัฟกานิสถาน , เนปาล , ภูฏาน , บังกลาเทศ , ภาคใต้ของจีน , อินเดีย , พม่า , ไทย , ลาว , กัมพูชา และเวียดนาม
มักอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรังที่ไม่รกชัฏนัก จับสัตว์ขนาดเล็กที่อาศัยบนพื้นดินกินเป็นอาหาร เช่น กระต่ายป่า , กบ , หนู , กิ้งก่า หรือนก ที่อาศัยอยู่บนพื้นดินกินเป็นอาหารหลัก ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มักพบบ่อยในช่วงเช้า และช่วงเย็น จากกายภาพที่มีขายาว แต่หางสั้นไม่สมดุลกันเช่นนี้ ทำให้แมวป่ามีการทรงตัวที่ไม่ดีเมื่ออยู่บนต้นไม้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยปีนขึ้นไปบนต้นไม้นัก
แมวป่า จัดแสดง ณ สวนสัตว์นครราชสีมา ในปี พ.ศ.2562
ในประเทศไทย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักนิยมไพรและนักเขียนได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2519 ว่าแมวป่าพบกระจายในป่าผลัดใบตั้งแต่พื้นที่ภาคกลางจนถึงภาคเหนือ และไม่พบปรากฏในประเทศอีกเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2560 มีการบันทึกภาพไว้ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยพบทั้งตัวผู้และตัวเมียที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีการจับกุมผู้ค้าสัตว์ป่าหลายชนิดผ่านทางเฟซบุกได้ หนึ่งในนั้นเป็นแมวป่า ผู้ค้าอ้างว่าเป็นแมวป่ามาจากจังหวัดนราธิวาส ทางภาคใต้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง[ 2]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Felis chaus ที่วิกิสปีชีส์
สปีชีส์ในวงศ์เสือและแมวในปัจจุบัน