แฟตเฟสติวัล เป็นเทศกาลดนตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย สถานีวิทยุ 104.5 แฟตเรดิโอ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ 1 - 2 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่โรงงานยาสูบเก่า เป็นจัดเป็นประจำเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน เดิมมีสปอนเซอร์หลักเป็นเบียร์ไฮเนเก้น ทำให้ใช้ชื่องานเทศกาลว่า "ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล" แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงสปอนเซอร์ ทำให้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ "แฟตเฟสติวัล" ในปัจจุบัน
ลักษณะของงาน จะเป็นเทศกาลที่มุ่งเน้นกิจกรรมทางดนตรีเป็นหลัก จัดขึ้นปีละครั้ง แต่ละครั้งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันเสาร์และอาทิตย์แรกหรือที่สองของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงเที่ยงคืน โดยเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดไปเรื่อยๆ ทุกปี
เทศกาลดนตรีแฟตเฟสติวัล
ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 1
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 -2 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ โกดังเก็บใบยาสูบ โรงงานยาสูบเก่า ปากซอยถนนเจริญกรุง 74 โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน มีคนเข้าร่วมงานประมาณ 20,000 คน ภายในงาน มีการแสดงดนตรีของศิลปินกลุ่มต่างๆ, แผงขายหนังสือทำมือ และแผงขายเทป-ซีดีของศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 1 เป็นที่เปิดตัวครั้งแรกของนิตยสารอะเดย์, เป็นที่เปิดตัวศิลปินที่มีชื่อเสียงในเวลาถัดมาอย่าง อาร์มแชร์, ดาจิม และ กรู๊ฟไรเดอร์ส
ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 2
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 -3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ณ ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว บนพื้นที่ชั้น 6 ของห้างซึ่งเคยเป็นลานสเกตน้ำแข็ง โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน มีผู้เข้างานกว่า 40,000 คน เป็นเวทีแจ้งเกิดของวง สครับ, ไทยเทเนี่ยม และฟลัวร์
ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 3
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ณ สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน ภายในงานแบ่งออกเป็น 7 โซนและตั้งชื่อเป็นสีต่างๆ ดังนี้
- แผงหนังสือ ม่วง - แผงขายหนังสือทำมือจำนวนกว่าร้อยแผงจากนักเขียนกลุ่มต่างๆ และนิตยสารชื่อดังต่างๆ
- เวที ครามหมดจด - เวทีคอนเสิร์ตที่เป็นเพลงป๊อป และเพลงฟังสบายๆ
- เวที น้ำเงินเข้ม - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับเพลง ฮิปฮอป, เร้กเก้, อิเล็กโทรนิก้า
- เวที เขียวดูโดดเด่น หรือ ร็อก อาเขตต์ - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับวงดนตรีร็อก รวมทั้งเป็นเวทีที่อุทิศให้กับการจากไปของ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นักเขียนเพลงชื่อดัง
- โรงภาพยนตร์ เหลืองบรรเจิด - โรงภาพยนตร์กลางแปลงริมน้ำ ฉายหนังเงียบประกอบการบรรเลงดนตรีสด
- เวที ใกล้เคียงสีแสด - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับวงดนตรีหน้าใหม่ที่ไม่มีโอกาสในการนำเสนอตัวเอง
- ตลาด สีแดงเชิด - ร้านขายเทป-ซีดี ของค่ายเพลง และศิลปินต่างๆ
ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 4
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ณ สนามม้านางเลิ้ง โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน ภายในเทศกาลมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ คอนเสิร์ต หนังสือทำมือ การจัดฉายภาพยนตร์ การออกร้านของค่ายเทปต่างๆ เวทีคอนเสิร์ตถูกแบ่งออกเป็น 9 โซน ซึ่งตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานี่จัดซึ่งเป็นสนามม้า ได้แก่
- ลานพักตร์อาชา หรือ เวทีหน้าม้า - เวทีคอนเสิร์ตจากวงน้องใหม่ที่ผ่านการคัดเลือก
- เรือนฟ้าม้าหานิยม - เวทีคอนเสิร์ตของศิลปินที่เป็นที่นิยม
- วงกลมฮี้-ฮอบ พลาซ่า - เวทีคอนเสิร์ตของศิลปินฮิปฮอป
- อรนภา - เวทีคอนเสิร์ตใหญ่สุดในงาน ตั้งอยู่คู่กับเวทีกฤษฎี
- กฤษฎี - เวทีคอนเสิร์ตใหญ่สุดในงาน ตั้งอยู่คู่กับเวทีอรนภา
- แสงระวีราม้า - โซนฉายภาพยนตร์สั้นจากประเทศต่างๆ ใช้พื้นที่ของสนามแบดมินตัน
- ศูนย์การค้าโบ๊เบ๊ - โซนขายหนังสือทำมือ และนิตยสารต่างๆ, สินค้าเกี่ยวกับภาพยนตร์ และสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ
- สเตเดี้ยมพาชี - แสดงโชว์พิเศษต่างๆ
- ซีดีแวร์ฮอส - โซนจำหน่ายสินค้าซีดีเพลงจากศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ จัดบนชั้น 1- 5 ของสนามม้า
แฟตเฟสติวัลครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เกิดปัญหาความรุนแรง ทำให้ต้องใช้กำลังตำรวจเข้าจัดการ ขณะที่บริเวณที่จัดงานอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้การจัดงานเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และจำเป็นต้องเลิกงานก่อนกำหนดเวลา
- ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 4 มีศิลปินต่างประเทศเข้ามาร่วมแสดง อาทิ Nitt (ญี่ปุ่น) , Cafa (ญี่ปุ่น) , Fantastic Plastic Machine (ญี่ปุ่น) และ Serenaid (สิงคโปร์)
ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 5
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ณ แดนเนรมิตเก่า เลื่อนเวลางานมาเป็น 11.00-23.00 น. เป็นครั้งสุดท้ายที่มีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์ จำหน่ายบัตรเข้างานในราคา 200 บาท เข้างานได้ทั้ง 2 วันและแลกรับซีดี Fat Code#2 ในงาน สำหรับเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 เวที ได้แก่
- เวทีไวกิ้ง
- เวทีรถไฟเหาะ เวทีใหญ่ที่สุด
- เวทีปราสาท ตั้งอยู่หน้าปราสาทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแดนเนรมิต
นอกเหนือไปจากเวทีคอนเสิร์ตแล้ว ยังมีกิจกรรมในส่วนอื่นๆ คือ เธคม้าหมุน เธคเงียบที่มีดีเจเปิดแผ่น แล้วให้ผู้เข้างานฟังเพลงจากหูฟังและเต้นตาม, บูธขายสินค้าของค่ายเพลงและศิลปิน, บูธขายหนังสือทำมือ
แฟตแฟสติวัลครั้งนี้ ประสบกับอุปสรรคอีกครั้ง ฝนตกหนักในบางช่วงของงาน ทำให้บางเวทีต้องหยุดเล่นชั่วคราวจนกว่าฝนจะหยุด ขณะที่บางเวทีซึ่งมีหลังคา ยังคงทำการแสดงคอนเสิร์ตได้ต่อ
- ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน
สำหรับศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ Kiiiiii (ญี่ปุ่น) , Fried Pride, The Travellers (ญี่ปุ่น) , Higashida Tomohiro (ญี่ปุ่น) , YMCK (ญี่ปุ่น)
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6: มหกรรมดนตรีที่มันที่สุดใน 3 โลก โลก/สวรรค์/นรก
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี โดยมีบัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์ส เป็นสปอนเซอร์หลัก ร่วมกับอีก 7 สปอนเซอร์ร่วม โดยใช้คอนเซ็ปต์ของงานว่า มหกรรมดนตรีที่มันที่สุดใน 3 โลก “โลก – สวรรค์ – นรก” เป็นอีกครั้งที่การเข้างานต้องซื้อบัตร ในราคา 300 บาทเข้าได้ 2 วันและแลกรับซีดี Fat Code#3 ในงาน รูปแบบการจัดงาน ด้านในของฮอลล์จะแบ่งเป็น
- ตลาดเขาวงกต - พื้นที่สำหรับบูธจำหน่ายซีดีของศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ บูธหนังสือทำมือ รวมทั้งบูธของสปอนเซอร์และพันธมิตรรายต่างๆ โดยจัดวางพื้นที่ในลักษณะของเขาวงกต
- เธคเงียบเขาพระสุเมรุ - เธคเงียบที่เพิ่ม Visual Graphic เข้าไป
- โรงหนังกินนร - โรงหนังที่ฉายภาพยนตร์สั้นจากทั่วโลก
- เวทีสารพัดนึก - เวทีที่เปิดให้แสดงออกอะไรก็ได้เป็นเวลา 3 นาที
เวทีต่างๆ ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 เวที ตั้งชื่อตามคอนเซ็ปต์ของงาน คือ
- เวทีสวรรค์
- เวทีโลก
- เวทีนรก
- เวทีอเวจี
- ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 มีศิลปินต่างประเทศเข้ามาร่วมงานมากมาย ได่แก่ Shitdisco (สก็อตแลนด์) , Divas (เยอรมัน) , Y2K (มาเลเซีย) , Couple (มาเลเซีย) , Rivermaya (ฟิลิปปินส์) , 21 Scott, Windy City, Phonebooth (เกาหลีใต้) , YMCK, Loves, Doc Holiday and Apache Train, The Travellers, Euphoria และ Velvet Peach 7 (ญี่ปุ่น)
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7: ตอนขอบคุณป้าเอ
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2550 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 เมืองทองธานี โดยมีเครื่องดื่มบี-อิ้ง และดีแทค เป็นผู้สนับสนุนหลัก ค่าบัตรผ่านประตู 300 บาท เข้าได้ทั้ง 2 วัน และแลกรับซีดี FatCode#4 ในงาน โดยงานครั้งนี้มีแนวความคิดหลักเพื่อแสดงความขอบคุณ "ป้าเอ" ผู้หญิงดัดฟันวัยทอง สตรีไทยตัวเล็กๆ ที่เหล่าชาวแฟตและบรรดาดีเจทั้งหลาย ต่างยกให้เป็นปูชนียบุคคล จากคำพูดเพียงประโยคเดียวที่ว่า “เราน่าจะมีงานที่เล่นดนตรีแล้วขายเทปนะ” เป็นการจุดประกายให้เกิดเทศกาลดนตรีนี้ขึ้นมา[1] ภายในงานแบ่งการแสดงดนตรีออกเป็น 5 เวที ได้แก่
- เวที A1 เวทีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ภายในฮอลล์
- เวที A2 เวทีขนาดกลาง จัดอยู่ด้านนอกฮอลล์
- เวที A3 Nokia IAC stage by Nokia Xpress Music เป็นเวทีสำหรับวงดนตรีสมัครเล่นที่ผ่านการออดิชัน สนับสนุนโดย โนเกีย
- เวที A4 เวทีขนาดเล็ก อยู่ภายในฮอลล์ โดยจัดหันหลังชนกับเวที A5
- เวที A5 เวทีขนาดเล็ก อยู่ภายในฮอลล์ โดยจัดหันหลังชนกับเวที A4
นอกจากนี้ยังมีการออกร้านของค่ายเพลง บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ผลิตนิตยสาร ผู้จัดทำเว็บไซต์ รวมถึงซุ้มหนังสือทำมือ การฉายภาพยนตร์สั้น และยังมีงานศิลปะเพื่อแรงบันดาลใจ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจ 11 คน ได้แก่
- "แฟต เฟสติวัล" แรงสั่นสะเทือนจากนอกสารบบ ประวัติและที่มาของงานแฟต เฟสติวัล ที่ริเริ่มโดย ป้าเอ
- จงเติมตัวเองลงในช่องว่างที่ถูกต้อง: "จุดยืน" ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร จัดแสดงงานแอนิเมชันของการ์ตูน Hesheit
- Myspace: โครงการแยกขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ งานศิลปะจากขยะของอุดม แต้พานิช
- เสียงกู่ตะโกนของวสันต์ สิทธิเขตต์ โดยการให้เด็กรุ่นใหม่ได้รังสรรค์งานศิลปะใหม่ๆ ในพื้นที่ผนังขนาดใหญ่อย่างอิสระ
- งานศิลปะชุด Navin Party (นาวิน ปาร์ตี้) ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นงานศิลปะในธีมของการตามหาคนชื่อนาวินเพื่อรวมตัวกันเป็น พรรคนาวิน
- "เชื่อฉัน" ของ คธา พรหมสุภา
- Kiiiiiii: หูสองใบ ก็ไม่พอ ผลงานการแสดงศิลปะของนักดนตรีชาวญี่ปุ่นวง Kiiiiiii ที่เพิ่งแสดงไปที่ Graf Media GM, Osaka
- Overhead Night Club: คลับตัดหัว
- Exjample: เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ จัดแสดงงานกราฟิคดีไซน์ขนาดใหญ่กว่า 60 ภาพ
- SMS มนุษย์ - ดีเลย์-ดีเลย ปรับมาจาก ยักษ์วัดแจ้ง ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 โดยให้คนส่ง SMS เข้ามา และทีมงานจะแสดงข้อความนั้นบนนั่งร้านขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งงาน โดยลูกค้าดีแทคส่งข้อความได้ฟรี หากเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ดีแทคจะเสียค่าบริการส่งข้อความ 3 บาทเช่นเคย
- ซุ้มขายของอัตโนมัติจากน้ำมือมนุษย์ โดย พรทวีศักดิ์ ริมสกุล และเพื่อน
- ลานถ่ายภาพทางอากาศกรุงเทพมหานคร (Google Earth) โดยนำภาพถ่ายทางอากาศของกรุงเทพมหานครจากกูเกิล เอิร์ธ มาขยายขนาดและแปะลงบนพื้น เพื่อให้คนได้นำสติ๊กเกอร์เขียนแสดงความเป็นเจ้าของลงไปได้
- เพลงประจำงาน
- เทศกาลคนอ้วน Fat Festival - Playground
แฟตเฟสติวัล โชว์เหนือ
เป็นการจัดงานแฟตเฟสติวัลในต่างจังหวัดครั้งแรก กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 ณ ลานม่วนใจ๋ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต[2] โดยมีผู้สนับสนุนหลักคือ โนเกีย และเครื่องดื่มโค้ก ภายใต้แนวคิดหลัก "กรุงเทพมีหยั๋งใด เชียงใหม่มีหยั๋งอั้น" ค่าบัตรผ่านประตูสำหรับผู้ชาย 50 บาท ผู้หญิงไม่เสียค่าบัตรผ่านประตูเพราะงานจัดในวันสตรีสากล โดยในงานจัดการแสดงดนตรีออกเป็น 2 เวที มีการออกร้านของค่ายเพลง บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ผลิตนิตยสาร รวมถึงซุ้มหนังสือทำมือ ฉายภาพยนตร์สั้น และ Overhead Night Club เหมือนเช่นเคย
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8: แฟตเฟสติวัล พลาซ่า หรือ โค้ก Fat Fest 8 พลาซ่า: มันทุกชั้นทุกแผนก”
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8 จัดขึ้นในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 6 และ ครั้งที่ 7 โดยมีเครื่องดื่มโค้กเป็นผู้สนับสนุนหลักและถือเป็นครั้งแรกของ “เครื่องดื่มโค้ก” ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของงานนี้[3] ร่วมกับอีก 10 สปอนเซอร์ร่วม รวมทั้ง iStudio ตัวแทนจำหน่าย คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์มือถือ ของบริษัทแอปเปิล ในประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
- เวทีการแสดง
- Black Market: ตลาดมืด เป็นตลาดที่เน้นที่การพิจารณาเฉพาะตัวสินค้า ไม่ใช่หน้าตาคนขายจริงๆ
- ลานน้ำแข็ง ดีแทค on Ice ซึ่งเป็นบูทที่เถื่อนที่สุดในงาน เพราะมีดีเจพูดด้วยในบางครั้ง
- ดอยย้ง ปรับมาจาก ยักษ์วัดแจ้ง ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 และ SMS มนุษย์ ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7 เป็นโซนที่คุณสามารถ sms ข้อความขึ้นไปโชว์บนดอยจำลองขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งงานได้ โดยลูกค้าดีแทคส่งข้อความได้ฟรี หากเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ดีแทคจะเสียค่าบริการส่งข้อความ 3 บาทเช่นเคย
- บูทสสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้นำโต๊ะปิงปอง และ นินเทนโด วี มาให้ผู้ที่มาในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8 ได้เล่น และสามารถให้คุณถ่ายคลิปวีดีโอ เพื่อทำขาเทียมพระราชทานมอบให้แก่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้อีกด้วย
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 9: อีนี่ fat fest นะจ๊ะ 9 จ๋า
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 6-8 ในแนวคิดโลกสไตล์อินเดีย โดยมีโครงการโมโซไซตี้ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นผู้สนับสนุนหลัก มีกิจกรรมสำคัญดังนี้
- เวทีการแสดง
- เวที dhoom dhoom ตั้งชื่อตามเพลงประกอบภาพยนตร์ dhoom ของทาทา ยัง เป็นเวทีขนาดใหญ่ที่สุด ความจุ 6,000 คน
- เวทีมะจาเร่ เวทีขนาดเล็ก ความจุ 500 คน
- เวทีฮัดช้า เวทีขนาดกลาง ความจุ 1,000 คน สำหรับศิลปินเพลงแนวฟังสบาย (เพลงช้า)
- เวทีรามซิงค์ ตั้งชื่อเพื่อให้พ้องกับคำว่า ลำซิ่ง ในภาษาไทย ความจุ 1,000 คน เน้นเพลงเร็ว สมามรถเต้นตามได้อย่างสนุก
- เวทีฮาเร็ม พื้นที่สำหรับศิลปินอิสระที่สร้างสรรค์งานนอกสตูดิโอค่ายเพลง (Bedroom Studio)
- ตลาดฮังเลวังก้า แผงขายซีดีจากศิลปินและค่ายเพลง
- ทัชมาฮา ตั้งชื่อให้พ้องกับทัชมาฮาล เป็นโซนเกมที่ผู้เล่นต้องทายว่าเสียงหัวเราะที่ได้ยินหลังกดปุ่มเป็นของศิลปินคนใด
- มหาสมุดอินตรดี้ ตั้งชื่อให้พ้องกับมหาสมุทรอินเดีย เป็นมุมรวมรวมหนังสือในดวงใจคนดังให้อ่าน
- โรงหนังบอลลีวู๊ด ตั้งชื่อตามฉายาของมุมไบ มหานครแห่งภาพยนตร์ของอินเดีย ตั้งอยู่ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 1 เป็นโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์อินเดียที่เคยได้รับความนิยม เช่น ช้างเพื่อนแก้ว สามพี่น้อง สวรรค์เบี่ยง เปลี่ยนทางรัก เป็นต้น
- โมโรโซมราเกต ตลาดแนวใหม่ใช้ซีดีเพลง 1 แผ่น ซีดีภาพยนตร์ 1 แผ่น หรือหนังสือ 1 เล่ม แลกคูปองโมโซ 1 ใบ เพื่อนำไปแลกหนังสือหรือซีดีที่ผู้อื่นนำมาแลกคูปองเช่นกัน
- มะตะบะโซน ตั้งชื่อตามมะตะบะ อาหารของอินเดีย เป็นโซนอาหาร
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 10: 10 (หึ่ม...)ปี แห่งความหลัง
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี มีเครื่องดื่มกระทิงแดงเป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยเป็นการกลับมาจัดกลางแจ้งอีกครั้งหลังจากครั้งที่ 5 ณ แดนเนรมิตเก่า แฟตเฟสติวัลครั้งนี้มีแนวคิดในการย้อนอดีตของงานในครั้งที่ผ่านมา เพื่อฉลองครบ 1 ทศวรรษของงาน โดยมีเวทีการแสดง 6 เวที การจำหน่ายเสื้อยืดลายเก่าจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับเลือกจากการลงคะแนนทางเว็บไซต์ ตลาดนัดเพลง หนังสือทำมือ และโรงภาพยนตร์ Feel Goose
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 11: กระทิงแดง แฟตเฟส กรุงเทพ หรือ แฟตเฟส ไตรภาค
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 11 จัดขึ้นในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 10 โดยย้ายมาจาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี (เดิมกำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายน แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากอุทกภัย) โดยมีเครื่องดื่มกระทิงแดงเป็นผู้สนับสนุนหลัก โปสเตอร์ของแฟตเฟสติวัลครั้งนี้เป็นภาพวาดลายเส้น กรุง ศรีวิไล และเทพ โพธิ์งาม โดยเมื่อแฟตได้ผูกงานเข้ากับแฟตเฟสโชว์เหนือและแฟตเฟสมันถึงแก่นเป็นแฟตเฟสไตรภาคแล้ว ได้มีการเติมลายเส้นแรมโบ้ พร้อมที่คาดหัวมีข้อความ "May the FATFEST be with you" ที่รูปของกรุง และหมวกดาร์ธ เวเดอร์ ที่รูปของเทพ
ในการจัดงานครั้งนี้เดิมมีแนวคิดเวทีการแสดง 5 เวที ได้แก่
- เวทีลูกศิษย์ ตกแต่งโดยใช้จานดาวเทียม ('จารย์มาคุม) สำหรับวงดนตรีหน้าใหม่
- เวทีกรุง สำหรับเพลงฟังสบายเหมาะกับชีวิตคนเมือง
- เวทีเทพ สำหรับศิลปินมากความสามารถ มากประสบการณ์
- เวทีมหา เวทีแนวเซ็นเตอร์สเตจที่ศิลปินอยู่ท่ามกลางผู้ฟัง เสมือนผู้ฟัง "มาหา" ศิลปิน
- เวทีนคร เวทีสำหรับโชว์หาดูยาก
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน จึงได้เปลี่ยนแนวคิดเวทีเป็นเสมือนวางมือซ้ายบนสถานที่จัดงาน แบ่งออกเป็น 5 เวทีตามนิ้ว คือ ก้อย นาง กลาง ชี้ และโป้ง โดยศิลปินทุกวงต้องมี "มุขควาย" วงละ 1 มุข ดีเจแฟตจะเป็นผู้ตัดสินว่ามุขของศิลปินวงใดโดนใจที่สุด รางวัลคือสปอตโปรโมทวงทางคลื่นแฟต นอกจากนี้ยังมี บูธจำหน่ายผลงานเพลง งานศิลปะ อนุสาวรีย์จ่าเฉย และจุดทำหน้ากากกรุง-เทพ ที่ใช้ชื่อบูธว่า "ขายหน้า"
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 12: เดอะ ลาสต์ แฟตเฟส
แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 12 จัดขึ้นในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 10 และ ครั้งที่ 11 โดยเป็นการจัดงานครั้งสุดท้ายในชื่อแฟตเฟสติวัล สัญลักษณ์ของงานเป็นการนำสัญลักษณ์ของแฟตเฟสติวัลครั้งแรกมาใช้อีกครั้ง เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในงานครั้งนี้ คือ การกลับมาแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้งในรอบ 3 ปี ของฟลัวร์
การเปลี่ยนแปลงคลื่นแฟต เรดิโอ
คลื่นแฟต เรดิโอ ประกาศปิดคลื่นวิทยุและหันไปจัดรายการออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตแทน โดยมีกำหนดการออกอากาศตั้งแต่ 26 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป โดยเฮนรี่ จ๋อง หรือ พงศ์นรินทร์ อุลิศ หัวเรือใหญ่แห่งแฟต เรดิโอ เผยว่า สาเหตุที่มีการย้ายจากวิทยุไปไว้บนออนไลน์เนื่องจากประสบปัญหาทางธุรกิจและต้องการตัดภาระค่าเช่าสถานีออก[4]
ก่อนหน้านี้ Fat Radio ได้ปรับตัวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางธุรกิจออกเช่น การลดเงินเดือนพนักงาน การปรับลดจำนวนดีเจ การยกเลิกการจัดงาน Fat Festivalโดย Fat Radio ได้ย้ายสถานีวิทยุจากคลื่นความถี่ 104.5 มาเป็น 98.0 เมื่อต้นเดือนตุลาคมปี 2556 แต่ก็ต้องประกาศปิดการให้บริการทางวิทยุ และให้รับฟังทางอินเทอร์เน็ตแทน[5] [6]
ปัจจุบัน
แฟต เรดิโอ กลับมาในนามภายใต้ชื่อ แคท เรดิโอ (Cat Radio) และยังคงเป็นทีมงานและดีเจชุดเดิมที่ผลิตจากแฟต เรดิโออีกด้วย [7]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น