เอ็มวี จอร์จิก (ค.ศ. 1931)

เอ็มวี จอร์จิก ราวปี ค.ศ. 1933
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อจอร์จิก (Georgic)
เจ้าของ
ผู้ให้บริการ
เส้นทางเดินเรือลิเวอร์พูล–นิวยอร์ก
อู่เรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ, เบลฟาสต์, ประเทศไอร์แลนด์[1]
Yard number896[1]
เดินเรือแรก12 พฤศจิกายน 1931
สร้างเสร็จ10 มิถุนายน 1932[1]
Maiden voyage25 มิถุนายน 1932
บริการ1932–1941, 1945–1956
หยุดให้บริการ1956
ความเป็นไปถูกโจมตีด้วยระเบิดและจมลงบางส่วนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941, ได้รับการกู้ขึ้นมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 โดยบริษัท ชิปเบรกกิง อินดัสตรีส์ จำกัด, ถูกทำให้ลอยขึ้นมาใหม่และได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงในช่วงปี ค.ศ. 1941–44, กลับเข้าประจำการเป็นเรือขนส่งกำลังพลในปี ค.ศ. 1945, กลับมาให้บริการพลเรือนในปี ค.ศ. 1948, ปลดระวางและแยกชิ้นส่วนในปี ค.ศ. 1956
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 27,759 ตันกรอส
ความยาว: 711 ฟุต (216.7 เมตร)
ระบบขับเคลื่อน:
  • เครื่องยนต์ดีเซล 10 สูบ สี่จังหวะแบบสองทาง Burmeister & Wain จำนวน 2 เครื่อง
  • ใบจักร 2 เพลา เพลาละ 3 พวง
ความเร็ว: 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 21 ไมล์ต่อชั่วโมง)
ความจุ: ผู้โดยสาร 1,542 คน

เอ็มวี จอร์จิก ([MV Georgic] ข้อผิดพลาด: {{Langx}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ)) เป็นเรือลำสุดท้ายที่สร้างขึ้นสำหรับบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ก่อนการควบรวมกิจการกับบริษัทคูนาร์ดไลน์ สร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ในเมืองเบลฟาสต์ และเป็นเรือคู่วิ่งและแฝดน้องของเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) เช่นเดียวกับเรือบริแทนนิก เรือจอร์จิกเป็นเรือยนต์ (motor vessel) ไม่ใช่เรือกลไฟ โดยติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลเป็นแหล่งพลังงานหลัก ณ เวลาที่เปิดตัวเรือในปี ค.ศ. 1931 เรือลำนี้ถือเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร

หลังจากประสบความสำเร็จในการให้บริการเป็นเรือโดยสารในทศวรรษที่ 1930 เรือจอร์จิกได้ถูกเรียกใช้เป็นเรือขนส่งกำลังพลในปี 1940 เรือลำนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักและจมลงบางส่วนในปี ค.ศ. 1941 จากการโจมตีทางอากาศของเยอรมันขณะจอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือเทวฟิก ประเทศอียิปต์ ภายหลังจากการกู้เรือและการปรับปรุงซ่อมแซมอย่างครอบคลุมแล้ว เรือลำนี้ก็ได้กลับมาประจำการในฐานะเรือขนส่งกำลังพลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1944 และยังคงให้บริการทั้งในภารกิจทางทหารและพลเรือนมาจนถึงปี ค.ศ. 1956 ก่อนจะถูกปลดระวางและนำไปแยกชิ้นส่วน

ภูมิหลัง

เรือจอร์จิกได้สืบทอดองค์ประกอบการออกแบบหลายประการมาจากเรือโอเชียนิก การก่อสร้างเรือจอร์จิกได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการยกเลิกก่อสร้างเรือโอเชียนิก

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 บริษัทไวต์สตาร์ไลน์ได้วางแผนที่จะสร้างเรือโดยสารลำใหม่ 2 ลำเพื่อทดแทนเรือโดยสารรุ่นเก่าของบริษัท โดยทั้งสองลำจะเป็นเรือยนต์ ไม่ใช่เรือกลไฟแบบดั้งเดิม เรือลำแรกมีขนาด 1,000 ฟุต (300 เมตร) ชื่อว่าโอเชียนิก (Oceanic) และเรือลำที่สองมีขนาดที่เล็กกว่าและประหยัดกว่า แต่มีการออกแบบที่คล้ายกันชื่อว่าบริแทนนิก (Britannic) การก่อสร้างเรือบริแทนนิกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1927 และปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ. 1929 ส่วนเรือโอเชียนิกนั้นเริ่มการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1928 และได้วางกระดูกงูแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเงินได้ทำให้การก่อสร้างเรือโอเชียนิกล่าช้าลงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1929 และในที่สุดโครงการดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปในปีถัดมา แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ไวต์สตาร์จึงตัดสินใจให้ความสำคัญกับการสร้างเรือลำที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเพื่อเป็นเรือคู่แฝดกับเรือบริแทนนิก เดิมทีไวต์สตาร์ไลน์พิจารณาจะตั้งชื่อเรือลำนี้ว่าเจอร์แมนิก (Germanic) แต่ภายหลังได้มีการตัดสินใจเลือกใช้ชื่อจอร์จิกแทน เรือลำนี้จะเป็นเรือลำที่สองของไวต์สตาร์ที่ใช้ชื่อจอร์จิก ซึ่งเรือเอสเอส จอร์จิก (SS Georgic) ลำก่อนหน้านั้นเคยให้บริการแก่บริษัทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 ถึง 1916[2]

การออกแบบและการสร้าง

ในแง่ของการออกแบบ เรือจอร์จิกถือเป็นเรือแฝดของเรือบริแทนนิกที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยมีขนาดระวางบรรทุกรวม 27,759 ตัน เมื่อเทียบกับเรือบริแทนนิกที่มีขนาด 26,943 ตัน เรือจอร์จิกมีความแตกต่างทางรูปลักษณ์จากเรือบริแทนนิกตรงที่ส่วนโครงสร้างบนและสะพานเดินเรือมีรูปทรงโค้งมนแทนที่จะเป็นแบบตรง และส่วนหน้าของดาดฟ้าสำหรับเดินเล่นถูกปิดทับ เช่นเดียวกับเรือบริแทนนิก เรือจอร์จิกมีปล่องไฟสั้นเตี้ยสองปล่อง โดยปล่องไฟด้านหน้าเป็นปล่องไฟปลอมที่ใช้เป็นที่ของตั้งห้องวิทยุและห้องสูบบุหรี่ของวิศวกร[2]

ภาพเรือจอร์จิกปรากฏอยู่บนการ์ดจดหมายในช่วงต้นทศวรรษ 1930

ระบบขับเคลื่อนของเรือจอร์จิกนั้นเหมือนกับเรือแฝดของมัน โดยประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 10 สูบเรียง 4 จังหวะ ทำงานสองทาง จำนวน 2 เครื่อง ออกแบบโดยบริษัท เบอร์ไมส์เตอร์แอนด์เวน จำกัด (Burmeister & Wain) ในสมัยนั้น เครื่องยนต์เหล่านี้ถือเป็นเครื่องยนต์ประเภทเดียวกันที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยสร้างขึ้น เครื่องยนต์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเพลาใบจักรสองเพลา และสามารถผลิตกำลังขับได้ 20,000 แรงม้า ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเรือด้วยความเร็วตามการออกแบบที่ 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 21 ไมล์ต่อชั่วโมง) แม้ในทางปฏิบัติเรือจะแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 18.5 นอตก็ตาม[2]

ภายในของเรือจอร์จิกได้รับการตกแต่งในสไตล์อลังการศิลป์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น ต่างจากเรือบริแทนนิกที่ได้รับการตกแต่งหลากหลายสไตล์ที่เป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษที่ 1920 ความจุผู้โดยสารของเรือจอร์จิกถูกระบุไว้ดังนี้ ชั้นแคบิน 479 คน ชั้นท่องเที่ยว 557 คน และชั้นสาม 506 คน นอกจากพื้นที่สำหรับผู้โดยสารแล้ว เรือจอร์จิกยังมีพื้นที่เก็บสินค้าแช่เย็นในห้องเก็บสินค้าสองแห่ง ตัวเรือลำนี้ถูกแบ่งออกเป็นห้องเก็บสินค้า 8 ห้องโดยผนังกั้นห้อง 12 แนว[2]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1929 ทำพิธีปล่อยเรือในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931 หลังจากนั้นจึงติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักร และทำการทดสอบเดินเรือในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1932 จากนั้นจึงพร้อมให้บริการ[2]

ช่วงต้น

เรือจอร์จิกมาถึงแม่น้ำเมอร์ซีย์ในการเดินทางครั้งแรก เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1932
เรือจอร์จิกในโปสการ์ดของคูนาร์ด-ไวต์สตาร์

เรือจอร์จิกเริ่มต้นการเดินทางครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932 เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเส้นทางเดินเรือระหว่างลิเวอร์พูลกับนิวยอร์กและวิ่งควบคู่กับเรือบริแทนนิก ในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1933 เรือลำนี้ได้ทำหน้าแทนที่เรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงใหญ่บนเส้นทางเซาแทมป์ตัน–นิวยอร์กเป็นการชั่วคราว[2]

แม้เรือจอร์จิกและบริแทนนิกจะไม่ใช่เรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดหรือเร็วที่สุดในยุคของตน แต่ก็ได้รับความนิยมและเป็นสองเรือที่ทำกำไรได้มากที่สุดในกองเรือของไวต์สตาร์ไลน์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเดินเรือที่ต่ำกว่าและราคาตั๋วที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับเรือกลไฟแบบดั้งเดิม เรือสองลำได้ช่วยให้บริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่[2]

วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 ไวต์สตาร์ไลน์ได้ควบรวมกิจการกับคูนาร์ดไลน์ซึ่งเป็นคู่แข่งรายเก่า ส่งผลให้เรือลำนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือของบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์ (Cunard-White Star Line) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม เรือทั้งสองลำยังคงใช้สีและธงเดินเรือของไวต์สตาร์ตามเดิม แต่ได้เพิ่มธงเดินเรือของคูนาร์ดเข้าไปด้วย ในปีถัดมา เรือจอร์จิกและบริแทนนิกได้ถูกย้ายไปให้บริการบนเส้นทางลอนดอน–เลออาฟวร์–เซาแทมป์ตัน–นิวยอร์ก และเรือจอร์จิกได้เริ่มให้บริการบนเส้นทางนี้ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 ทำให้เรือจอร์จิกกลายเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่แล่นเข้าแม่น้ำเทมส์และใช้ท่าเรือลอนดอน เรือลำนี้ให้บริการบนเส้นทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1939 เมื่อสงครามปะทุขึ้น เรือจอร์จิกไม่ได้ถูกเรียกใช้ในทันที แต่กลับถูกส่งกลับไปยังเส้นทางลิเวอร์พูล–นิวยอร์กในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และได้ทำการเดินทางไปกลับ 5 เที่ยวก่อนจะถูกเรียกใช้เพื่อภารกิจขนส่งกำลังพลในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1940[2][3]

สงครามโลก

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เรือจอร์จิกได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นเรือขนส่งกำลังพลอย่างเร่งด่วน โดยมีกำลังการบรรทุกทหาร 3,000 นาย ในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น เรือได้ช่วยอพยพทหารอังกฤษจากการทัพนอร์เวย์ที่ล้มเหลวจากท่าเรือนาร์วิก และในเดือนมิถุนายนได้ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการแอเรียล โดยการอพยพทหารจากท่าเรือแบร็สต์และแซ็ง-นาแซร์ของฝรั่งเศส ซึ่งหลังจากนั้นเรือขนส่งกำลังพลเอชเอ็มที แลงคาสเตรีย (HMT Lancastria) ก็ได้ถูกทิ้งระเบิดและอับปางลงในวันที่ 17 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,888 คน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ค.ศ. 1940 เรือลำนี้ได้เดินทางไปยังประเทศไอซ์แลนด์ และจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังเมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย เพื่อขนส่งทหารแคนาดา ต่อมาเรือจอร์จิกได้ทำการเดินทางหลายครั้งจากลิเวอร์พูลและกลาสโกว์ไปยังตะวันออกกลางผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป รวมไปถึงการเดินทางระหว่างลิเวอร์พูล นิวยอร์ก และแคนาดาระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 เรือจอร์จิกได้ทำการขนส่งกำลังพลประมาณ 25,000 นายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่[2]

ถูกทิ้งระเบิด

เรือจอร์จิกถูกเพลิงไหม้และเกยตื้นที่ท่าเรือเทวฟิก ประเทศอียิปต์
เรือจอร์จิกหลังถูกเพลิงไหม้จนเสียหาย

วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากกลาสโกว์ภายใต้การบัญชาการของกัปตัน เอ.จี. เกร็ก (A.G. Greig) พร้อมด้วยกองพลทหารราบที่ 50 (นอร์ทัมเบรียน) มุ่งหน้าสู่ท่าเรือเทวฟวิก ในอ่าวสุเอซผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป เรือลำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเรือที่จำเป็นต้องปล่อยให้ปราศจากการคุ้มกันเกือบทั้งหมด เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับการตามล่าเรือประจัญบานบิสมาร์คของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เรือลำดังกล่าวสามารถเดินทางถึงอย่างปลอดภัยในวันที่ 7 กรกฎาคม และได้ทำการส่งกำลังพลบนเรือลงสู่ฝั่งเป็นที่เรียบร้อย หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ขณะที่เรือลำนี้ทอดสมออยู่ที่นอกท่าเรือเทวฟิกเพื่อรอรับนักโทษชาวอิตาลีจำนวน 800 คน เครื่องบินของเยอรมันที่กำลังกวาดล้างเป้าหมายในเส้นทางน้ำได้พบเห็นเรือลำนี้และได้ดำเนินการโจมตี หลังจากถูกโจมตีหลายครั้ง เรือลำนี้ก็ถูกระเบิดสองลูก ลูกแรกชนข้างเรือและระเบิดลงในน้ำ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อตัวเรือใกล้กับห้องเก็บสินค้าหมายเลข 4 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ลูกที่สองระเบิดที่ด้านท้ายของดาดฟ้าเรือบด ทะลุผ่านดาดฟ้าห้าชั้นและระเบิดในลิฟต์ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อห้องเก็บสินค้าหมายเลข 5 นำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ที่ลุกลามไปยังน้ำมันเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาจากถังน้ำมันที่แตก เพลิงดังกล่าวได้จุดชนวนกระสุนที่เก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าด้านท้ายเรือ ส่งผลให้เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไปทั่วบริเวณท้ายเรือ[2]

แม้จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่เหล่าวิศวกรบนเรือก็ยังคงสามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ได้ และกัปตันเกร็กสามารถควบคุมเรือที่กำลังลุกไหม้ให้ไปยังแนวปะการังกลางอ่าวสุเอซเพื่อให้เรือเกยตื้น ไม่กีดขวางช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่าน ขณะเดียวกันเรือก็ได้ชนกับเรือลำอื่นคือ เอชเอ็มเอส เกลเนิร์น (HMS Glenearn) ทำให้ทวนหัวเรือจอร์จิกบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง ณ จุดนี้ เพลิงได้ลุกลามไปยังดาดฟ้าชั้นบนแล้ว เมื่อเรือเริ่มจมลง ได้มีคำสั่งให้ทุกคนสละเรือโดยด่วน และทุกคนบนเรือสามารถหนีรอดออกมาได้โดยเรือชูชีพ เรือจอร์จิกค่อย ๆ จมลงที่ท้ายเรือจนกระทั่งเกยตื้นบนแนวปะการังตื้น และถูกเพลิงไหม้จนหมดสิ้นภายในสองวัน เมื่อถึงเวลานั้นเรือได้จมลงไปครึ่งลำ ห้องเครื่องถูกน้ำท่วม และโครงสร้างส่วนบนของเรือถูกเพลิงไหม้จนภายนอกดำคล้ำบิดเบี้ยวไปจากสภาพเดิม[2]

การกู้และสร้างใหม่

ซากเรือจอร์จิกก่อนการสร้างใหม่ โครงสร้างส่วนบนได้ถูกรื้อออกไปแล้ว

วันที่ 14 กันยายน ได้มีการประเมินความเสียหายของเรือจอร์จิก และมีมติว่าเรือลำดังกล่าวยังสามารถกู้ได้ เนื่องจากโครงสร้างตัวเรือและเครื่องจักรส่วนใหญ่ยังคงสภาพสมบูรณ์ จากนั้นเรือจอร์จิกได้เข้าสู่กระบวนการกู้และซ่อมแซมที่กินเวลานานถึงสามปี ซึ่งริชาร์ด เดอ เคอร์เบรก นักประวัติศาสตร์ ได้อธิบายว่าเป็น "หนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การกู้เรือ" ระหว่างเดือนตุลาคม เรือได้ถูกอุดรอยรั่วและช่องเปิดชั่วคราว จากนั้นจึงทำการสูบน้ำออกเพื่อให้เรือลอยน้ำได้อีกครั้ง ในเดือนธันวาคม เรือจอร์จิกซึ่งขณะนั้นลอยลำอยู่และจอดเทียบท่า ได้มีการเปลี่ยนท่ออุดชั่วคราวออกและแทนที่ด้วยกล่องซีเมนต์ถาวรเพื่อทำเรือให้พร้อมสำหรับการออกทะเล แต่เนื่องจากเรือจอร์จิกไม่มีพลังงาน ไฟฟ้ส หรือที่พัก จึงจำเป็นต้องลากจูงเรือลำดังกล่าวในสภาพซากเรือที่ถูกทิ้ง เนื่องจากไม่มีเรือลากจูงให้บริการ จึงได้มอบหมายให้เรือบรรทุกสินค้าของอังกฤษสองลำคือ เรือแคลนแคมป์เบล (Clan Campbell) และซิตีออฟซิดนีย์ (City of Sydney) มาทำหน้าที่ลากจูงเรือลำนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พวกเขาได้ทำการลากเรือจอร์จิกไปยังพอร์ตซูดานโดยใช้เวลา 13 วัน ณ ที่แห่งนี้ เรือจอร์จิกได้เข้ารับการซ่อมแซมเพิ่มเติมเป็นเวลาแปดสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทางระยะไกลไปยังการาจี[2]

วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1942 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากพอร์นซูดานภายใต้การลากจูงของเรือโดยสารชื่อเรคอร์เดอร์ (Recorder) ของบริษัทแฮร์ริสันไลน์ และเรือลากจูงเซนต์แซมป์สัน (St Sampson) ซึ่งต่อมาพิสูจน์แล้วว่ามีขนาดเล็กเกินไปสำหรับภารกิจนี้ และต้องหยุดการลากจูงหลังจากผ่านไปหนึ่งวัน ในวันที่แปด มีเรือลากจูงอีกลำชื่อพอลีน มอลเลอร์ (Pauline Moller) และเรือกลไฟสัญชาติอังกฤษชื่อ แฮร์สฟีลด์ (Haresfield) เข้าร่วมปฏิบัติการ และด้วยความร่วมมือกัน เรือทั้งสามลำจึงสามารถนำเรือจอร์จิกมาถึงการาจีได้สำเร็จในวันที่ 31 มีนาคม ณ ที่แห่งนี้ ได้มีการตัดสินใจว่าเรือจอร์จิกจะต้องได้รับการซ่อมแซมที่จำเป็นซึ่งไม่ต้องเข้าอู่แห้ง การซ่อมแซมใช้เวลาแปดเดือนโดยมีทรัพยากรจำกัด เครื่องยนต์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ทวนหัวเรือได้รับการปรับให้ตรง และที่พักสำหรับลูกเรือบางส่วนได้รับการสร้างขึ้นใหม่บนเรือ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากการาจีด้วยกำลังเครื่องของตนเองมุ่งหน้าสู่บอมเบย์ โดยสามารถทำความเร็วได้ 11 นอต (20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 13 ไมล์ต่อชั่วโมง) ที่บอมเบย์ เรือลำนี้ได้ถูกนำเข้าอู่แห้งเพื่อซ่อมแซมความเสียหายของตัวเรือ และมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากนั้นเรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากงบอมเบย์มุ่งหน้าสู่สหราชอาณาจักรในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1943 และเดินทางถึงลิเวอร์พูลในวันที่ 1 มีนาคม โดยสามารถเดินได้โดยไม่มีการคุ้มกันด้วยความเร็วเฉลี่ย 15 นอต (28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 17 ไมล์ต่อชั่วโมง)[2]

เรือจอร์จิกหลังจากการสร้างใหม่ ได้ถูกนำกลับมาประจำการในฐานะเรือขนส่งกำลังพล

ต่อมากระทรวงทหารเรือและกระทรวงคมนาคมสงคราม (Ministry of War Transport หรือ MoWT) ได้ดำเนินการสำรวจเรือลำดังกล่าวอย่างละเอียด และได้มีมติให้ส่งเรือลำนี้กลับไปยังฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ในเบลฟาสต์ เพื่อดำเนินการสร้างใหม่ให้เป็นเรือขนส่งกำลังพลอย่างสมบูรณ์ ระหว่างการสร้างใหม่ เรือจอร์จิกได้มีการนำเหล็กที่ถูกไฟไหม้ไปกว่า 5,000 ตันออกไป และชั้นบนและส่วนโครงสร้างส่วนบนของเรือได้มีการสร้างใหม่ทั้งหมด เรือจอร์จิกได้กลับมาให้บริการอีกครั้งหลังจากการซ่อมแซมที่ใช้เวลา 19 เดือนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1944 โดยมีลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างมาก คือ ปล่องไฟด้านหน้าและเสากระโดงหลักได้ถูกนำออกไป และเสากระโดงหน้าได้ถูกตัดให้สั้นลงครึ่งหนึ่ง ภายหลังการสร้างใหม่ เรือจอร์จิกได้กลายเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล โดยการเป็นเจ้าของได้โอนไปยังกระทรวงคมนาคมสงคราม ส่วนบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการเรือในนามของกระทรวง[2]

หลังสงคราม

วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1944 เรือจอร์จิกได้กลับมาให้บริการอีกครั้งในฐานะเรือขนส่งกำลังพลระหว่างอิตาลี ตะวันออกกลาง และอินเดีย หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เรือลำนี้ได้ใช้เวลาอีกสามปีในการส่งกำลังพล พลเรือน และเชลยศึกกลับประเทศ ในปี ค.ศ. 1948 เนื่องด้วยความต้องการเรือขนส่งกำลังพลลดลง และมีความจำเป็นต้องใช้เรือเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กระทรวงคมนาคมจึงตัดสินใจปรับปรุงเรือจอร์จิกเพื่อให้บริการพลเรือน โดยมีเงื่อนไขว่าเรือลำนี้จะสามารถเปลี่ยนกลับมาใช้ในการขนส่งกำลังพลได้อีกครั้งหากมีความจำเป็น[2]

เรือจอร์จิกในออสเตรเลีย ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือขนส่งผู้อพยพ ภาพถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949

เดือนกันยายน ค.ศ. 1948 เรือจอร์จิกถูกส่งไปยังอู่ต่อเรือพาลเมอส์ บนแม่น้ำไทน์ เพื่อรับการปรับปรุงให้เป็นเป็นเรืออพยพ โดยมีการปรับปรุงที่พักให้เป็นแบบชั้นเดียว รองรับผู้โดยสารได้ 1,962 คน ภายหลังการปรับปรุง เรือจอร์จิกได้รับการคืนสู่สภาพเดิมด้วยการนำสีประจำของบริษัทไวต์สตาร์กลับมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้เรือลำนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรือที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เนื่องจากการตกแต่งภายในไม่ได้รับการฟื้นฟูกลับสู่มาตรฐานความหรูหราอย่างก่อนสงคราม ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1953 เรือจอร์จิกถูกนำไปใช้ในการให้บริการขนส่งผู้อพยพระหว่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทคูนาร์ด แต่เช่าโดยรัฐบาลออสเตรเลีย[2]

ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุดระหว่างปี ค.ศ. 1950 ถึง 1954 บริษัทคูนาร์ดได้ทำสัญญาเช่าเรือจอร์จิกจากกระทรวงคมนาคมเพื่อให้บริการเดินเรือบางเที่ยวจากลิเวอร์พูลหรือเซาแทมป์ตันไปยังนิวยอร์กร่วมกับเรือบริแทนนิกซึ่งเป็นเรือคู่แฝดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น เรือจอร์จิกได้ทำการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปกลับจำนวน 6 เที่ยวในปี ค.ศ. 1950 และเพิ่มเป็น 7 เที่ยวต่อฤดูกาลในช่วงปี ค.ศ. 1951 ถึง 1954[2]

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1953 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 เรือจอร์จิกได้ถูกนำกลับมาใช้ในภารกิจการขนส่งกำลังพลอีกครั้ง โดยได้รับมอบหมายให้ขนส่งกำลังพลของเครือจักรภพที่กำลังเดินทางกลับจากสงครามเกาหลี แม้ว่าในระหว่างนี้เรือจอร์จิกจะได้ทำการเดินเรือไปกลับระหว่างเซาแทมป์ตันและนิวยอร์กจำนวน 7 เที่ยว ภายใต้การเช่าโดยบริษัทคูนาร์ดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุดของปี ค.ศ. 1954 ก็ตาม ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1955 กระทรวงคมนาคมได้ประกาศว่าเรือจอร์จิกจะถูกถอนออกจากการให้บริการ และจะถูกนำออกประมูลขายภายในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ในระยะนี้เครื่องจักรของเรือจอร์จิกที่ได้รับความเสียหายจากสงครามได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมได้เสนอโอนกรรมสิทธิ์เรือจอร์จิกกลับไปยังบริษัทคูนาร์ด แต่บริษัทคูนาร์ดได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรือจอร์จิกได้ถูกถอนออกจากการประมูลขายเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียได้เช่าเหมาลำไปใช้ในการขนส่งผู้อพยพเป็นเวลาหนึ่งฤดูกาล เรือได้เดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนสิงหาคมของปีนั้น เรือจอร์จิกทำการเดินทางครั้งสุดท้ายจากฮ่องกงมายังลิเวอร์พูลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1955 โดยบรรทุกกำลังพล 800 นาย เมื่อเดินทางถึงลิเวอร์พูลในวันที่ 19 พฤศจิกายน เรือจอร์จิกก็ได้ถูกถอนออกจากการให้บริการ[2] ในที่สุดเรือลำนี้ก็ถูกนำไปจอดพักไว้ ณ อ่าวเคมส์ ไอล์ออฟบิวต์ เพื่อรอการกำจัด และต่อมาได้ถูกขายเพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนในเดือนมกราคม ค.ศ. 1956 ในเดือนถัดมา เรือจอร์จิกได้เดินทางไปยังฟัสเลนเพื่อทำการแยกชิ้นส่วน และกระบวนการแยกชิ้นส่วนเรือจอร์จิกได้เสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี ค.ศ. 1956[3][4][2]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 McCluskie, Tom (2013). The Rise and Fall of Harland and Wolff. Stroud: The History Press. p. 142. ISBN 9780752488615.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 Kerbrech, Richard De (2009). Ships of the White Star Line. Ian Allan Publishing. pp. 221–235. ISBN 978-0-7110-3366-5.
  3. 3.0 3.1 "Georgic - Chris' Cunard Page". สืบค้นเมื่อ 11 Dec 2014.
  4. "The Cunard White Star Liners 'Britannic ' and 'Georgic'". liverpoolships.org. สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!