ธรรมเนียมพระยศของ เอลีซาเบ็ทแห่งวีท ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูล Her Majesty(ใต้ฝ่าละอองพระบาท) การแทนตน ข้าพระพุทธเจ้า การขานรับ Your Majesty (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)
เอลีซาเบ็ทแห่งวีท (29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1916) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย พระองค์แรก ในฐานะพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย พระนางทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในด้านวรรณกรรมโดยทรงมีนามปากกาว่า "คาร์เมน ซิลวา"(Carmen Sylva ) ทรงก่อตั้งองค์กรการกุศลขึ้นมากมาย ชาวโรมาเนียจึงให้พระสมัญญาว่า "Mama răniților " และชาวโรมาเนียมักจะเรียกพระนางว่า "พระราชินีคาร์เมน ซิลวา" ตามนามปากกาของพระนางมากกว่าเรียกพระนามจริง
ช่วงต้นพระชนม์ชีพและพระราชวงศ์
เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแห่งวีทประสูติที่ปราสาทมอนเรโพส เมืองน็อยวีท ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 เป็นพระธิดาองค์โตในเจ้าชายแฮร์มัน เจ้าชายแห่งวีท กับเจ้าหญิงมารีแห่งนัสเซา พระธิดาในวิลเฮ็ล์ม ดยุกแห่งนัสเซา กับเจ้าหญิงลูอีเซอแห่งซัคเซิน-ฮีลท์บวร์คเฮาเซิน เจ้าหญิงมารีทรงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาในแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์ก และเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงสนพระทัยในการศึกษาด้านศิลปะ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงมีพระอุปนิสัยที่สุภาพเรียบร้อยและเสด็จเยี่ยมสถานสงเคราะห์คนวิกลจริตในท้องถิ่นบ่อย ๆ
อภิเษกสมรสและสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย
สมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 ,พระนางเอลีซาเบ็ทและเจ้าหญิงมารีอา พระธิดา ในปีพ.ศ. 2416
เมื่อมีพระชนมายุ 16 ชันษา เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงถูกพิจารณาให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต (เบอร์ตี้) เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งในเวลาต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชมารดาของเจ้าชายคือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระนางได้พยายามสนับสนุนให้เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทเป็นพระสุณิสาและทรงเร่งให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี ทรงดูแลเจ้าหญิง [ 1] เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทถูกเรียกมาประทับที่ราชสำนักเบอร์ลิน ที่ซึ่งพระบิดามารดาของเจ้าหญิงทรงหวังให้เจ้าหญิงถูกอบรมด้านมารยาทต่าง ๆ ในราชสำนักเบอร์ลินเพื่อเตรียมการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงตอบกับข้าราชสำนักว่า "ฉันไม่คิดว่าเธอจะมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและนั่นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับรสนิยมของเบอร์ตี้อย่างแน่นอน" ในขณะที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก มีพระวรกายสูงโปร่งและผอมเพรียวซึ่งลักษณะเหล่านี้"เป็นลักษณะที่เบอร์ตี้ชื่นชอบมาก"[ 1] เจ้าชายเบอร์ตี้ทรงถูกทำให้พบเห็นพระรูปของเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแต่พระองค์ได้ถือพระรูปเฉยๆและวางลงโดยทรงชำเลืองมองเพียงสองครั้ง[ 2] ในที่สุดเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์กจึงถูกเลือกให้เป็นพระชายาของเจ้าชายเบอร์ตี้
เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงพบกับเจ้าชายคาร์ล ไอเทิล ฟรีดริช เซฟือร์อีนูส ลูทวิชแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงิน ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ณ กรุงเบอร์ลิน ในปี 1861 และได้อภิเษกสมรสกับพระองค์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 ที่เมืองน็อยวีท การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นหนึ่งในการอภิเษกสมรสที่ไม่เหมาะสมที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยที่เจ้าชายคาร์ลมีพระบุคลิกที่สุขุม เยือกเย็นและรอบคอบ ในขณะที่เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทมีพระบุคลิกช่างฝันและทรงแสดงออกอย่างเปิดเผย มีพระราชธิดาร่วมกันหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงมารีอาแห่งโรมาเนีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง 3 ชันษาด้วยโรคไข้ดำแดง เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทเสียพระทัยอย่างหนักในการสูญเสียพระธิดา ส่งผลให้เกิดแผลในจิตใจตลอดพระชนม์ชีพ พระนางทรงกันแสงทุกคืนและส่งผลให้ทั้งสองพระองค์ทรงห่างเหินกันมากขึ้นเนื่องจากต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าการอลทรงได้รับการกล่าวถึงพระอุปนิสัยที่เยือกเย็น พระองค์ทรงยึดมั่นอย่างถาวรในเกียรติยศของพระราชวงศ์ที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้น พระนางเอลีซาเบ็ททรงปรารภว่า "พระองค์ทรงสวมมงกุฎแม้กระทั่งทรงพระบรรทม"
ในสงครามรัสเซีย-ตุรกี (1877 - 1878) พระนางเอลีซาเบ็ททรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอลีซาเบ็ท (ไม้กางเขนสีทองบนริบบิ้นสีน้ำเงิน) เพื่อเป็นรางวัลและเกียรติแก่การบริการด้านต่าง ๆ พระนางทรงอุปถัมภ์การให้การศึกษาในระดับที่สูงแก่สตรีชาวโรมาเนีย และทรงก่อตั้งสมาคมการกุศลต่าง ๆ
อัจฉริยภาพของพระนางที่โดดเด่นในช่วงแรกคือการที่ทรงเป็นนักเปียโน,นักออร์แกนและนักร้อง พระนางได้แสดงความสามารถในด้านการวาดภาพและการลงสี แต่การที่ทรงมีจินตนาการสูงเป็นการนำทางให้พระนางสนพระทัยด้านกวีนิพนธ์และโดยเฉพาะการประพันธ์บทกวี, นิทานพื้นบ้านและลำนำนิทาน นอกจากการทรงงานด้านต้นฉบับมากมายพระนางทรงเพิ่มเติมวรรณกรรมมากมายในตำนานต่าง ๆ ของชาวโรมาเนีย
ผลงานด้านการประพันธ์
พระนางเอลีซาเบ็ทขณะทรงพระนิพนธ์งานการประพันธ์
พระนางทรงใช้นามปากกา "คาร์เมน ซิลวา" พระนางทรงพระนิพนธ์โดยใช้ภาษาเยอรมัน ,ภาษาโรมาเนีย ,ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งของงานพระราชนิพนธ์ของพระนางซึ่งมีมากมายที่ซึ่งรวมทั้งบทกลอน, บทละคร, นวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ, คติพจน์ต่าง ๆ เป็นต้น ได้ถูกคัดเลือกและได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นพิเศษได้แก่
ผลงานสิ่งพิมพ์ช่วงต้น ๆ ของพระนางได้แก่เรื่อง "Sappho" และ "Hammerstein" สองบทกลอนนี้ได้รับการเผยแพร่ที่เมืองไลพ์ซิจ ในปีพ.ศ. 2423
ในปีพ.ศ. 2431 พระนางทรงได้รับรางวัลพริกซ์ บ็อตตา ซึ่งเป็นรางวัลที่มีการมอบรางวัลทุกๆสามปีโดยราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส พระนางทรงได้รับจากผลงานความเรียงคติพจน์ของพระนางชื่อว่า "Les Pensees d'une reine"(ในความคิดของพระราชินี) ซึ่งตีพิมพ์ที่กรุงปารีส ในปีพ.ศ. 2425 ตีพิมพ์ในภาษาเยอรมันในชื่อว่า "Vom Amboss"(จากทั่งตีเหล็ก) ซึ่งตีพิมพ์ที่กรุงบอนน์ ในปีพ.ศ. 2433
เรื่อง "Cuvinte Sufletesci"(คำมโนมัย) เกี่ยวกับการทำสมาธิทางศาสนาในโรมาเนีย ตีพิมพ์ที่กรุงบูคาเรสต์ ในปีพ.ศ. 2431 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมันตีพิมพ์ที่กรุงบอนน์ พ.ศ. 2433 โดยมีชื่อว่า "Seelen-Gespräche"(ชีวิตเจรจา)
หลากหลายงานประพันธ์ของ "คาร์เมน ซิลวา" ได้ประพันธ์ร่วมกับไมที เครมนิทส์ ชาวเยอรมันซึ่งเป็นหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ระหว่างปีพ.ศ. 2424 และพ.ศ. 2431 ซึ่งบางครั้งใช้นามปากการ่วมกันในชื่อ "ดิโต เอท อิเดม"(Dito et Idem) ที่ซึ่งได้แก่
Aus zwei Welten (แห่งสองโลก) ตีพิมพ์ที่ไลพ์ซิจ ในปีพ.ศ. 2427 เป็นนวนิยาย
Anna Boleyn (พระนางแอนน์ โบลีน ) ตีพิมพ์ที่บอนน์ ในปีพ.ศ. 2429 เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม
In der Irre (ในการหลงทาง) ตีพิมพ์ที่บอนน์ ในปีพ.ศ. 2431 เป็นเรื่องสั้น
Edleen Vaughan, or Paths of Peril (เอ็ดลีน ว็อกฮาน หรือเส้นทางแห่งภัย) ตีพิมพ์ที่ลอนดอน ในปีพ.ศ. 2437 เป็นนวนิยาย
Sweet Hours (ชั่วโมงที่แสนหวาน) ตีพิมพ์ที่ลอนดอน ในปีพ.ศ. 2447 เป็นบทกวีในภาษาอังกฤษ
รวมทั้งผลงานการแปลของ"คาร์เมน ซิลวา" ได้แก่
นิยายรักโรแมนติกของปิแยร์ โลติ เรื่อง Pecheur d'Islande (ชาวประมงแห่งไอซ์แลนด์) ในฉบับภาษาเยอรมัน
บทวิจารณ์ละครของปอล เดอ แซงต์ วิกเตอร์ เรื่อง Les Deux Masques (สองหน้ากาก) ในฉบับภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ที่กรุงปารีส พ.ศ. 2424 - 2427
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง The Bard of the Dimbovitza (กวีแห่งดิมบอวิตซา) งานประพันธ์บทเพลงพื้นบ้านโรมาเนียของ อีลีนา วาคาเรสคู แปลเป็นภาษาเยอรมันในชื่อ Lieder aus dem Dimbovitzathal (บทเพลงแห่งดิมบอวิตซา) ตีพิมพ์ที่บอนน์ ในปีพ.ศ. 2436 แปลโดย "คาร์เมน ซิลวา" และอัลมา สเตรเตล เรื่องกวีแห่งดิมบอวิตซาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2439 และได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง โดยเป็นภาษาอังกฤษและอาร์เมเนียน
กรณีอื้อฉาววาคาเรสคู
สมเด็จพระราชินีเอลีซาเบ็ทแห่งโรมาเนียและเจ้าหญิงมารีอา พระธิดาเพียงพระองค์เดียว
ในปี 1901 จากวิกฤตการขาดรัชทายาทสืบราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 จึงทรงรับอุปการะพระราชภาติยะคือ เจ้าชายแฟร์ดีนันท์แห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงิน เป็นพระราชโอรสบุญธรรม เจ้าชายแฟร์ดีนันท์ซึ่งย้ายมายังดินแดนแห่งใหม่ทรงเริ่มสนิทสนมกับหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินีเอลีซาเบ็ทคือ อีลีนา วาคาเรสคู พระนางเอลีซาเบ็ททรงสนิทกับวาคาเรสคูด้วยเช่นกันและพระองค์ได้พยายามให้ทั้งคู่ชอบพอกันถึงแม้ว่าพระนางจะทราบว่าการอภิเษกสมรสของทั้งคู่จะเป็นข้อห้ามในรัฐธรรมนูญโรมาเนีย (ในรัฐธรรมนูญโรมาเนียฉบับปี ค.ศ. 1866 บัญญัติไว้ว่าองค์รัชทายาทห้ามอภิเษกสมรสกับชาวโรมาเนีย)
จากกรณีอื้อฉาวนี้ทำให้เกิดการต่อต้านจากสภาและส่งผลให้พระนางเอลีซาเบ็ทจำต้องเสด็จลี้ภัยไปยังน็อยวีท ส่วนอีลีนา วาคาเรสคูต้องลี้ภัยไปยังปารีส ตลอดจนการเสด็จประพาสประเทศต่างๆทั่งยุโรปของเจ้าชายแฟร์ดีนันท์เพื่อแสวงหาพระชายาในอนาคต และพระองค์ก็ได้พบกับเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร หลังจากการอภิเษกสมรสพระนางเอลีซาเบ็ทจึงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับโรมาเนีย จากกรณีครั้งนี้ส่งผลช่วยให้บุคคลทั่วไปบรรยายถึงพระนางเอลีซาเบ็ทว่ามีพระบุคลิกช่างฝันและชอบฝ่าฝืนกฎเกณฑ์
สมเด็จพระราชินีผู้นิยมสาธารณรัฐ
ค่อนข้างที่จะไม่ปกติสำหรับผู้ดำรงเป็นสมเด็จพระราชินี พระนางเอลีซาเบ็ทมีพระบุคลิกและทั้ศนคติโน้มไปทางสาธารณรัฐนิยมมากกว่าระบอบกษัตริย์ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ทรงบันทึกอย่างตรงไปตรงมาในพระอนุทินหรือบันทึกส่วนพระองค์ อย่างไรก็ตามพระนางก็มิได้เผยแพร่ทัศนคตินี้สู่สาธารณะ โดยทรงบันทึกว่า
“
ฉันต้องเห็นใจพวกสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความเฉื่อยชาและการฉ้อราษฎร์บังหลวงของพวกขุนนางและบุคคลชั้นสูง "ผู้คนน้อย ๆ"เหล่านี้ ท้ายที่สุดต้องการเพียงอะไรที่ธรรมชาติประทานให้คือ ความเสมอภาค รูปแบบการปกครองในระบอบสาธารณรัฐเป็นทางหนึ่งซึ่งมีเหตุผล ฉันไม่เข้าใจพสกนิกรที่โง่งมงาย แต่ในความเป็นจริงแล้วพสกนิกรต่างหากที่ยอมอดทนรับพวกเราราชวงศ์ไว้[ 3]
”
สมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 และพระราชินีเอลีซาเบ็ทในบั้นปลายพระชนม์ชีพ
ความคิดอ่านของพระนางแสดงเห็นว่าทรงมีทัศนคติที่แตกต่างจากพระสวามีโดยสิ้นเชิง ซึ่งพระสวามีของพระนางนั้นทรงนิยมระบอบกษัตริย์ ทรงพยายามอย่างยิ่งในการรักษาพระราชอำนาจเต็มของพระมหากษัตริย์
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
พระราชินีเอลีซาเบ็ททรงฉายภาพกับเด็กสาวตาบอดซึ่งอยู่ในพระราชินูปถัมภ์ในโครงการสงเคราะห์คนตาบอดของพระนาง
ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเจ้าการอลและพระราชินีเอลีซาเบ็ทได้พยายามปรับความสัมพันธ์กันโดยทรงเข้าพระทัยและให้อภัยซึ่งกันและกัน ทั้งสองพระองค์กลายเป็นมิตรที่ดีต่อกันในบั้นปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าการอลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 (27 กันยายน ตามปฏิทินฉบับเก่า) พระราชภาติยะได้สืบราชสมบัติต่อโดยมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย พระนางทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการกุศลอย่างมากมายได้แก่ ทรงก่อตั้งองค์การสงเคราะห์คนตาบอดในพระราชินูปถัมภ์ของพระนางและทรงอุปถัมภ์ศิลปะ การดนตรีและวรรณคดีของโรมาเนีย
พระนางเอลีซาเบ็ทสวรรคตในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 (2 มีนาคม ตามปฏิทินฉบับเก่า) ที่ เคอเทีย เดอ อาร์เกส กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย สิริพระชนมายุ 72 พรรษา ทรงสวรรคตก่อนที่ประเทศโรมาเนียจะประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียงไม่กี่วัน
พระธิดา
พระนาม
ประสูติ
สิ้นพระชนม์
คู่สมรสและพระโอรส-ธิดา
เจ้าหญิงมาเรียแห่งโรมาเนีย
8 กันยายน ค.ศ. 1810
9 เมษายน ค.ศ. 1814
ไม่ได้อภิเษกสมรส สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
พระอิสริยยศ
29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 - 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 : เจ้าหญิงเพาลีเนอ เอลีซาเบ็ทแห่งวีท
15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 - 26 มีนาคม ค.ศ. 1881 : เจ้าหญิงพระชายาแห่งสหราชรัฐ
26 มีนาคม ค.ศ. 1881 - 27 กันยายน ค.ศ. 1914 : สมเด็จพระราชินีแห่งชาวโรมาเนีย
27 กันยายน ค.ศ. 1914 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1916 : สมเด็จพระราชินีเอลีซาเบ็ทแห่งโรมาเนีย
พระราชตระกูล
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 Pakula, p. 144.
↑ Hibbert, pp. 40-41.
↑ Eugen Wolbe, Carmen Sylva , Leipzig, 1933, p. 137, here quoted from Brigitte Hamann, Elisabeth: Kaiserin wider Willen , Munich, 1982, translated to English as The Reluctant Empress , New York, 1986 (a biography of Empress Elisabeth of Austria , who was Elisabeth of Wied's friend).
http://en.wikipedia.org/wiki/Elisabeth_of_Wied
Eugen Wolbe, "Carmen Sylva", Leipzig, 1933
Gabriel Badea-Päun, Carmen Sylva - Uimitoarea Regină Elisabeta a României, 1843-1916 , Bucharest, Humanitas, 2003, second edition in 2007, third edition in 2008. ISBN 978-973-50-1101-7 .
Gabriel Badea-Päun, Jean-Jules-Antoine Lecomte du Nouÿ (1842-1923) à la cour royale de Roumanie , dans Bulletin de la Société de l'Historie de l'Art Français, Année 2005, Paris, 2006, p. 257-281.
Hibbert, Christopher (2007). Edward VII: The Last Victorian King . New York: Palgrave Macmillan.
Pakula, Hannah (1995). An Uncommon Woman: The Empress Frederick, Daughter of Queen Victoria, Wife of the Crown Prince of Prussia, Mother of Kaiser Wilhelm . New York: Simon and Schuster. ISBN 0684842165 .
Rada, Silvia Irina [Zimmermann]: Der Zauber des fernen Königreichs. Carmen Sylvas „Pelesch-Märchen“ , Magisterarbeit Universität Marburg 1996.
Zimmermann, Silvia Irina [n. Rada]: Die dichtende Königin. Elisabeth, Prinzessin zu Wied, Königin von Rumänien, Carmen Sylva (1843–1916). Selbstmythisierung und prodynastische Öffentlichkeitsarbeit durch Literatur , Doctoral thesis University of Marburg 2001/2003.