เหตุแฟนบอลสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครปฐมทำร้ายผู้ตัดสิน พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์ที่แฟนบอลสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครปฐมทำร้ายผู้ตัดสิน ในการแข่งขันฟุตบอลในนัดที่รับการมาเยือนของสโมสรฟุตบอลจังหวัดศรีสะเกษระหว่างการแข่งขันเพลย์ออฟขึ้นไทยพรีเมียร์ลีก ผลปรากฏว่าเสมอกัน 0-0 ประตู เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทางสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครปฐมถูกลงโทษปรับ 160,000 บาท และห้ามเข้าร่วมการแข่งขันของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี[1]
เบื้องหลัง
ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมีมติให้เพิ่มจำนวนทีมในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2554 จาก 16 ทีม เป็น 18 ทีม จึงมีการจัดการแข่งขันจาก 6 ทีม ดังนี้
- สามทีมอันดับสุดท้ายของไทยพรีเมียร์ลีก
- ทีมอันดับที่ 4-6 จากไทยลีกดิวิชัน 1
โดยจัดการแข่งขันเป็นสองกลุ่ม แข่งขันแบบเหย้า-เยือนและพบกันหมด หากทีมใดเป็นผู้นำของกลุ่มก็จะได้สิทธิ์แข่งขันในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้า กลุ่ม เอ ประกอบด้วยแอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด, ศรีสะเกษ และนครปฐม ในขณะที่กลุ่ม บี ประกอบด้วยแบงค็อก ยูไนเต็ด, ทหารบก และสงขลา โดยทีมแรกที่ได้รับสิทธิ์คือสโมสรฟุตบอลทหารบกจากกลุ่ม บี[2] ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นอาร์มี่ ยูไนเต็ดในฤดูกาลถัดมา ในขณะที่ในกลุ่ม เอ ทีมนครปฐม แข่งแล้ว 3 นัด มี 6 แต้ม และศรีสะเกษ แข่ง 2 นัด มี 4 แต้ม[3]
ตารางคะแนนกลุ่ม เอ ก่อนการแข่งขันเป็นดังนี้
ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ไชยา สะสมทรัพย์ ประธานสโมสรนครปฐม ประกาศอัดฉีด 1 ล้านบาท[3]
การแข่งขัน
การแข่งขันนัดดังกล่าว จัดขึ้นที่สนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครปฐมรับการมาเยือนของสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ มีผู้เข้าชมการแข่งขันจำนวนหลายพันคน[2]
นัดดังกล่าวเป็นนัดที่มีการให้ถึง 3 ใบแดง ได้แก่ เอ็นจี้ ดีวาย จากทีมศรีสะเกษ โดนใบเหลืองที่สองในนาทีที่ 55, เฉลิมศักดิ์ แก้วสุขแท้ โดนใบเหลืองที่สองในนาทีที่ 58, และธนสิทธิ์ ทองอินทร์ โดนใบเหลืองที่สองในนาทีที่ 80[4] สุดท้ายผลเสมอกัน 0-0 ประตู
ตารางคะแนน นครปฐมแข่ง 4 นัด มี 7 คะแนนนำเป็นจ่าฝูง ส่วนศรีสะเกษแข่ง 3 นัด มี 5 คะแนน โดยแข่งกับแอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ดนัดต่อไปในวันที่ 31 ธันวาคม[4] ซึ่งทางศรีสะเกษสามารถเอาชนะแอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ดไป 2-1 ประตู เลื่อนชั้นเข้าไปเล่นในไทยพรีเมียร์ลีก 2554 ต่อไป[5]
ตารางคะแนนกลุ่ม เอ หลังแข่งขันครบทุกนัด
เหตุความวุ่นวาย
หลังจบการแข่งขัน กองเชียร์นครปฐมนับร้อยคนได้เข้าไปรุมทำร้ายผู้ตัดสินอภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ รวมทั้งผู้ช่วยผู้ตัดสินและผู้ประเมินการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นสารวัตรทหาร 10 นาย และตำรวจอีก 10 นายเท่านั้น เจ้าหน้าที่ต้องนำผู้ตัดสินหนีออกจากสนามทางฝั่งกองเชียร์ทีมศรีสะเกษ ผู้ตัดสินรายดังกล่าวได้รับบาดเจ็บตาขวาแตก ตาซ้ายบวม ใบหน้าช้ำ ได้นำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ให้เย็บประมาณ 10 เข็ม[3] แฟนบอลและเจ้าหน้าที่ทีมนครปฐมที่ไม่พอใจผลการตัดสินได้ไล่ทำร้ายร่างกายผู้ตัดสินและผู้เล่นทีมศรีสะเกษ ตลอดจนเข้าไปตะลุมบอนกับกองเชียร์ศรีสะเกษนานถึง 20 นาที[3] ทำให้แฟนบอลทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บรวมกว่า 50 คน[4] กองเชียร์ศรีสะเกษติดค้างอยู่ในสนามกีฬากว่าชั่วโมง[3] นอกจากนี้ยังมีชายคนหนึ่งชักปืนออกมากลางสนามอีกด้วย[6]
ด้านผู้ตัดสินได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรกำแพงแสน โดยอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "หนนี้ถือว่ารอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะคิดว่าตายแน่ ต้องขอบคุณกองเชียร์ศรีสะเกษที่เข้ามาช่วยไว้"[3] ยืนยันว่าตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว
ปฏิกิริยา
กระบวนการยุติธรรม
วันที่ 26 ธันวาคม สาธิต ปิตุเตชะ ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายความนิยมในวงการฟุตบอล และแสดงความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พบเห็นเหตุการณ์จะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ทำความผิดโดยไม่ต้องรอแจ้งความ ส่วนประเด็นที่ว่ากรรมการตัดสินด้วยความยุติธรรมหรือไม่ให้สมาคมฟุตบอลจัดการ[7]
“
|
ผมหวังว่าจะเห็นพนักงานสอบสวน จะได้ชื่อผู้ทำกระทำความผิดทั้งหมด พร้อมกับต้องแจ้งความดำเนินคดีด้วย และหากต้องการให้มีการกล่าวโทษก่อน ผมก็จะขอกล่าวโทษในตอนนี้เลยเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด และผมตนจะเดินทางไปตรวจสอบในสถานีตำรวจที่รับผิดชอบสนามกีฬามหาวิทยาเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตนครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่แข่งขันด้วย[7]
|
”
|
ส่วนในกรณีที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไปตบกรรมการผู้ตัดสิน สาธิตให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบความจริงกันต่อไป[7]
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พันจ่าเอกนพพร ศิริรังษี ผู้ที่ถือปืนในสนามระหว่างเกิดเหตุ ได้เข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรกำแพงแสนแล้ว โดยไชยา สะสมทรัพย์ยอมรับว่ารู้จักกับชายคนดังกล่าว แต่ที่ชักปืนออกมาเป็นเพราะต้องการระงับเหตุการณ์เท่านั้น[8] ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรกำแพงแสนเปิดเผยว่า เตรียมออกหมายเรียกอีก 5 คนจากหลักฐานภาพถ่าย[6] พร้อมกันนั้น ได้ตั้งทีมสอบสวนขึ้น 4 ชุด ติดตามจับกุมแฟนบอลที่มีส่วนในเหตุการณ์ และรวบรวมหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ก่อเหตุ[9] ด้านรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรกำแพงแสน ระบุว่าทราบชื่อผู้ก่อเหตุแล้ว 4 คน ได้แก่ จิ๊บ, "เอก" พีระ วิจิตร, เปิ้ล สมอร์รูม และ "จุ๋ม" ภาคิน"[10]
ต่อมา ได้มีแฟนบอลนครปฐมที่มีส่วนในเหตุการณ์จำนวน 6 คนเข้าให้ปากคำกับทางตำรวจ ประกอบด้วย ฐานุพงษ์ รังสิไตรพงษ์, ชัยศิริ สกลพันธุ์, กิตติศักดิ์ ศรีมนทก, ยุมมาคาร คเกเคล, นิคม ทองหอม และวิศาล ลักษณ์ในธรรม เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยยังไม่ได้รับหมายเรียกจากตำรวจ และพร้อมให้การในชั้นศาล[11] ซึ่งทั้งหกคนให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายกรรมการอย่างที่ถูกกล่าหา โดยถูกตั้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ[12] ทำให้จนถึงขณะนี้มีผู้เข้ามาพบตำรวจแล้ว 7 ราย คงเหลือผู้ที่ถูกออกหมายเรียกอีก 3 ราย[11]
ส่วนทางฝ่ายผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำไปแล้ว 8 ราย ได้แก่ ผู้ตัดสินทั้งห้าคน ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ อันรักษ์, สุเมธ สายแวว, พรไพรัช โพยกระโทก, สุรพล สว่างจิตต์ และโสภณ มหาบุญ และกองเชียร์อีกสามคน ประกอบด้วย อภิรักษ์ โนนทอง, นันทพนธ์ ศริเตชะวรากูล และสมศักดิ์ ศรีสะอาด[11]
การลงโทษสโมสรนครปฐม
วันที่ 28 ธันวาคม วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริหารไทยพรีเมียร์ลีก กล่าวถึงการพิจารณาบทลงโทษทีมนครปฐมว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณามารยาทและวินัย โดยจะมีการประชุมสรุปหลักฐาน[13] วิชิตได้เปิดเผยถึงข้อสรุปที่จะเสนอแก่คณะกรรมการ โดยพบว่ามีการทำผิดหลายกรณี ได้แก่ นักฟุตบอลใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับผู้ตัดสิน และทำร้ายผู้ตัดสิน บทลงโทษเบื้องต้นคือ ปรับเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายผู้ตัดสิน 100,000 บาท และกองเชียร์ที่ก่อเหตุอีก 50,000 บาท[14]
“
|
นอกจากนี้ ในส่วนบทลงโทษขั้นรุนแรงนั้น เราได้ข้อสรุปที่จะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 29 ธ.ค. เวลา 15.00 น.ได้แก่ การงดใช้สนามเหย้า ไม่น้อยกว่า 10 นัด หรือจะให้ถอนทีมจากการแข่งขัน หรือ นครปฐมจะถูกลดชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 หรืออีกกรณีคือ การพักสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันดิวิชั่น 1 เป็นเวลา 1 ปี[14]
|
”
|
วิชิตระบุว่าบทลงโทษสูงสุด คือ การถอนสมาชิกภาพของสโมสร ซึ่งได้ส่งเป็นข้อเสนอให้สภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้พิจารณา พร้อมยืนยันว่าในฤดูกาลหน้า จะมีการแก้ไขระเบียบบทลงโทษให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยจะมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนำเสนอต่อสาธารณชนในช่วงงานฟุตบอล เอ็กซ์โป ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 มกราคมปีหน้า[14] ในภายหลังมีกลุ่มแฟนบอลศรีสะเกษมายื่นหนังสือและซีดีบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว[14]
วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553 คณะพิจารณามารยาทและข้อประท้วง ที่มีพลตำรวจโทวรพงษ์ ชิวปรีชาเป็นประธาน ได้มีมติลงโทษสโมสรนครปฐม ตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจัดขึ้นทุกรายการเป็นเวลา 2 ปี ปรับรวมเป็นเงิน 160,000 บาท พร้อมทั้งห้ามธนากร ขำโขมะ กองหลังทีมนครปฐม ลงเล่น 1 นัด จากพฤติกรรมด่าทอผู้ตัดสินอย่างหยาบคาย[1] ด้านพรีเมียร์ลีกพร้อมในกรณีที่ต้องจัดโปรแกรมแข่งขันโดยมี 17 ทีม หากนครปฐมผ่านเข้าเล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้า และหากพ้นกำหนดโทษแล้ว ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้อีก อาจลงโทษยุบทีมเพราะกระทำความผิดซ้ำซากได้[1]
ไชยา สะสมทรัพย์ ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่าจะยุบทีม และหันไปทำทีมฟุตซอลลีกแทน และอาจให้ความสนใจกับฟุตบอล "ลาวลีก"[15] ส่วนทางวิชิต แย้มบุญเรือง ออกมาระบุว่า ทีมที่มีชื่อ "นครปฐม" ในชื่อสโมสร ไม่สามารถส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตซอลได้ เพราะเป็นการแข่งขันที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยรับรอง[15] ผลจากบทลงโทษดังกล่าวทำให้ลีกดิวิชั่น 1 เหลือเพียง 17 ทีม[15]
นอกจากนั้น วิชิต แย้มบุญเรือง ยังได้ออกกฎใหม่เพื่อความปลอดภัย คือ หากเกิดเหตุการณ์ที่แฟนบอลทำร้ายผู้ตัดสินหรือผู้เล่นคนใด จะโดนตัดสิทธิ์ถอนทีมทันที โดยไม่ต้องรอการประชุม[15]
สโมสรนครปฐม
วันที่ 26 ธันวาคม แฟนคลับสโมสรนครปฐมได้ออกแถลงการณ์ขอโทษแฟนบอลทีมศรีสะเกษผ่านเว็บไซต์ของสโมสร มีใจความว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ขอให้แฟนบอลทีมศรีสะเกษและทุกทีมเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกเสียใจและอยากกล่าวคำว่า "ขอโทษจากใจ ให้แฟนบอลศรีสะเกษ ทุกท่าน"[16] วันที่ 27 ธันวาคม แฟนสโมสรนครปฐมได้ออกรายการเจาะข่าวเด่นทางช่อง 3 กล่าวขอโทษถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[6] พร้อมยืนยันว่าผู้ที่ก่อเรื่องเป็นแฟนบอลพลัดถิ่น ไม่ใช่แฟนบอลนครปฐม ส่วนทางด้านไชยา สะสมทรัพย์และการ์ดไม่มีเจตนาอื่นนอกจากต้องการเข้าไปยุติเหตุการณ์เท่านั้น[10]
ด้านไชยา สะสมทรัพย์ ที่เตรียมแถลงข่าวที่บ้านพักในช่วงบ่ายของวันที่ 27 ธันวาคม ได้ตัดสินใจเลื่อนแถลงข่าว โดยส่งตัวแทนออกมาให้เหตุผลว่า ยังทำใจไม่ได้ และยังไม่พร้อมที่จะให้ข่าว[6] ต่อมา ได้มีการแถลงข่าว ยืนยันจะไม่ขอโทษผู้ตัดสินในเหตุการณ์ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และผู้ตัดสินรายดังกล่าวตัดสินผิดพลาด อันนำไปสู่เหตุการณ์[12] โดยยืนยันว่าบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกและสมาคมผู้ตัดสินไม่เคยพัฒนาตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้เคยแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในนัดที่นครปฐมเยือนศรีสะเกษแก่สมาคมผู้ตัดสินแล้ว ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด[17]
“
|
ผมเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เดินลงไปเพื่อห้ามปราม แต่คนมากเอาไม่อยู่จริง ๆ แฟนบอลมากจนทะลักลงมาที่ริมสนาม แปลกใจมากเล่นมาสองเลก และเพลย์ออฟ ไม่เคยมีสารวัตรทหารมาเป็นการส่วนตัว ยังถามว่าต้องจ่ายเงินหรือไม่ กรรมการบอกไม่ต้องจ่าย จ่ายมาแล้วเป็นการส่วนตัว หมายความว่าอย่างไร มีการวางแผนกันจะมาให้ผมขอโทษ ชาติหน้าบ่าย ๆ เถอะ ผมไม่ขอโทษเด็ดขาด ทำไมผมต้องขอโทษ เราทำหนังสือไปเขายังไม่มีคำตอบมาให้ชัดเจน จะต้องไปขอโทษทำไมไม่มีทาง[17]
|
”
|
ส่วนเฉลิมศักดิ์ แก้วสุขแท้ กองหลังทีมนครปฐม ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แสดงความสะใจจากเหตุทำร้ายอภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ ทั้งนี้ได้ประกาศว่า ตนและเพื่อนร่วมทีมไม่ผิด และผู้ตัดสินตัดสินไม่เป็นธรรม ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา[18] โดยมีข้อความบางตอนว่า "สะใจสุด ๆ สมควรโดนมานานและ อุตส่าออกสื่อไปนานแล้วนะ ว่านครปฐมมือปืนเยอะ …… ยังไม่ฟังอีก สะจัยสาตตตต" และ "ไม่รู้สึกต่อเหตุการณ์แต่อย่างใด และถ้าหากว่าถูกลงโทษ ก็จะย้ายทีม"[8]
หลังจากที่มีบทลงโทษสโมสรฟุตบอลนครปฐมออกมาแล้ว ทำให้ผู้เล่นทีมนครปฐมหาทีมใหม่ต่อไป โดยธนากร ขำโขมะ ที่ได้รับบทลงโทษไปด้วยนั้น ได้เซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลชัยนาท ร่วมกับภูวดล สุวรรณชาติด้วยแล้ว ส่วนผู้เล่นคนอื่นในทีม หลายคนยังตกงานอยู่[15] ส่วน วิมล จันทร์คำ โค้ชของทีมนครปฐม กล่าวว่าตนจะหยุดงานโค้ชไปเรียนต่อบี และเอ ไลเซนส์ เพื่อกลับมาทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[15]
ต่อมา ใน พ.ศ. 2554 สโมสรฟุตบอลนครปฐมได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์โทษจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี ซึ่งจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ทางสโมสรได้ยื่นหนังสือไปยังสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นครั้งที่สองแล้ว[19]
ผู้ตัดสิน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานคณะกรรมการฝ่ายผู้ตัดสิน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมคณะกรรมการด่วน โดยเชิญผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน และผู้ควบคุมการแข่งขัน มารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ ผู้ตัดสิน ได้ยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม หากมีการเอนเอียงหรือรับสินบน ยินดีจะยุติการทำหน้าที่ตลอดชีวิต[16] ซึ่งอภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ เป็นผู้ตัดสินฟีฟ่าเบอร์ 2 ของไทย[16]
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ตัดสินกว่า 300 คนตามทะเบียนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ตัดสินทุกนัด โดยหากเห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยจะไม่เดินทางไปทำหน้าที่[16]
อื่น ๆ
- สโมสรศรีสะเกษ
- จากข้อครหาว่าทีมศรีสะเกษซื้อตัวผู้ตัดสินฟุตบอลนัดดังกล่าว สมบัติ เกียรติสุรนนท์ ผู้จัดการทั่วไปของสโมสรศรีสะเกษ ได้ออกมายืนยันและกล้าสาบานว่าไม่มีการซื้อตัวผู้ตัดสินแต่อย่างใด และไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว แต่ได้แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรกำแพงแสนจากกรณีที่มีแฟนบอลได้รับบาดเจ็บ รถ และอุปกรณ์เชียร์ได้รับความเสียหาย[20]
- พรชัย โควสุรัตน์ อดีตประธานสโมสรฟุตบอลอุบลยูไนเต็ด
- ไม่อยากโทษให้เป็นความผิดของใคร แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในการบริหารงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จึงไม่ยอมร้องเรียนการกระทำของผู้ตัดสินตามกระบวนการ เรียกร้องให้แฟนบอลไม่ซื้อสินค้าของบริษัทที่ให้การสนับสนุนสมาคม เพื่อให้ทบทวนบทบาทของตนเอง หรือแสดงความรับผิดชอบต่อความตกต่ำของฟุตบอลไทย[21]
อ้างอิง