เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดเหตุระเบิดสองระลอกห่างจากกัน 32 วินาที บริเวณโกดังตู้ส่งสินค้าในท่าเรือเทียนจิน เขตปินไห่ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน[4][5] โดยไม่ทราบสาเหตุของการระเบิดอย่างแน่ชัดในทันที แต่รายงานเบื้องต้นบ่งชี้ว่าอาจเป็นอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม[5] สื่อของทางการจีนกล่าวว่าการระเบิดในเบื้องต้นเกิดจากวัตถุอันตรายที่ไม่ทราบชนิดภายในตู้ส่งสินค้าทางเรือ ณ โกดังเก็บสินค้าของบริษัทขนส่งรุยไฮโลจิสติกส์เป็นอย่างน้อย[6] ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทจัดการวัตถุอันตรายที่ได้รับอนุญาตจากทางการ[4]
เบื้องหลัง
บริษัทรุยไฮโลจิสติกส์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เป็นบริษัทขนส่งเอกชนที่ดำเนินงานรับจัดการวัตถุเคมีอันตรายภายในท่าเรือเทียนจินโดยเฉพาะ เช่น อากาศอัดแรงดัน วัสดุติดไฟและมีฤทธิ์กัดกร่อน สารในปฏิกิริยารับอิเล็กตรอน และสารเคมีเป็นพิษ ซึ่งบริษัทได้รับมอบหมายจากสำนักงานความปลอดภัยทางพาณิชย์นาวีเทียนจินให้เป็นตัวแทนรับอนุญาตในการจัดการสารเคมีอันตรายเหล่านี้[7]
ตามเอกสารทางการที่บันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าในโกดังสินค้าซึ่งบริษัทขนส่งรุยไฮเป็นเจ้าของอยู่นั้น มีการเก็บรักษาสารเคมีอันตรายอยู่ภายในประกอบไปด้วย แคลเซียมคาร์ไบด์ โซเดียมไนเตรต และโพแทสเซียมไนเตรต[8] อย่างไรก็ดีทางการจีนยอมรับว่าการบันทึกข้อมูลที่ขาดตกบกพร่องและอาคารสำนักงานบริษัทที่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับการประสานงานที่ไม่ลงรอยกันกับหน่วยงานด้านศุลกากร ทำให้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าภายในโกดังสินค้าดังกล่าวบรรจุสารเคมีอะไรไว้กันแน่[9]
การระเบิด
เมื่อเวลา 22:50 น. ของวันที่ 12 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น (21:50 น. ตามเวลาในไทย) มีรายงานว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณโกดังสินค้าในเขตปินไห่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงตอบสนองต่อเหตุดังกล่าว แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงและป้องกันไม่ให้มีการลุกลามไว้ได้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 23:30 น. (22:30 น. ตามเวลาในไทย) เกิดการระเบิดขึ้นระลอกแรก ตามมาด้วยการระเบิดระลอกที่สองในอีก 32 วินาทีถัดมา[10] ซึ่งสามารถรับรู้แรงระเบิดได้หลายกิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้แรงระเบิดทั้งสองระลอกมีขนาดเทียบเท่ากับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 2.3 และ 2.9 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ ทั้งยังปรากฏประกายไฟปะทุจากการระเบิดสูงขึ้นไปในอากาศหลายร้อยเมตร[11][12] ศูนย์เครือข่ายเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของจีนรายงานว่าการระเบิดระลอกแรกและระลอกที่สองมีขนาดเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีขนาด 3 ตัน และ 21 ตัน ตามลำดับ[13]
ต่อมาเมื่อเวลา 02:45 น. (01:45 น. ตามเวลาในไทย) ของวันที่ 13 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน จากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ณ โกดังเก็บวัตถุอันตราย สำนักข่าวปักกิ่งก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 300 - 400 คน[14]
ต่อมาเวลา 14:30 น. (13:30 น. ตามเวลาในไทย) ปฏิบัติการควบคุมเพลิงถูกระงับไว้ชั่วคราวเนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดและปริมาณที่แน่ชัดของวัตถุอันตรายในโกดังสินค้าดังกล่าว และมีการส่งทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีลงพื้นที่เพื่อประเมินวัตถุอันตราย ณ จุดเกิดเหตุ ประเมินผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทั้งยังประเมินวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมเพลิง, ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ รวมไปถึงปฏิบัติการเก็บกวาดซากปรักหักพัง[15][16]
การบาดเจ็บและเสียชีวิต
รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเทียนจินระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 700 คน จากเหตุระเบิดดังกล่าว[17][18] หลายคนมีอาการบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้และสะเก็ดระเบิด ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมากกว่า 1,000 นาย ณ ที่เกิดเหตุ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 21 นาย[19][16] ในขณะที่ยังไม่สามารถติดต่อได้อีกจำนวน 36 นาย อย่างไรก็ตามในเช้าวันที่ 14 สิงหาคม ทีมกู้ภัยพบผู้รอดชีวิตหนึ่งรายเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอายุ 19 ปี นามว่า "โจว ถี่"[20][4][21][22][23][24][25]
รายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่ามีผู้บาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 71 คน และมีผู้เสียชีวติมากกว่า 50 คน[17][26] ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการอยู่ที่ 55 คน ซึ่งอ้างอิงมาจากตัวเลขที่รายงานโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน[25]
ความเสียหาย
ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าบริเวณโดยรอบโกดังสินค้าได้รับความเสียหายอย่างมาก[27] โดยเหตุระเบิดดังกล่าวมีความรุนแรงมากเสียจนดาวเทียมฮิมะวะริของญี่ปุ่นสามารถจับภาพเหตุการณ์นี้ไว้ได้จากอวกาศ[28]
แรงระเบิดยังได้ทำลายอาคารของบริษัทขนส่งจำนวนเจ็ดบริษัท ตลอดจนรถยนต์จำนวนหลายพันคันที่จอดอยู่ในลานจอดใกล้เคียง[29] ส่งผลให้อาคารที่พักอาศัยโดยรอบรัศมี 2 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุได้รับความเสียหาย เช่น กระจกหน้าต่างแตกกระจาย กระเบื้องหลังคาหลุดลอก และฝ้าเพดานพังถล่ม[25] เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าตงไหของรถไฟฟ้าใต้ดินเทียนจินสาย 9 (Tianjin Metro Line 9) ที่หลังคาของสถานียุบตัวลงและกีดขวางการเดินรถ ทำให้ต้องระงับการให้บริการรถไฟฟ้าทั้งสายในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558[30]
เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เทียนเหอ-หนึ่งเอ (Tianhe-1A) ถูกปิดลงหลังศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติเทียนจินได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดดังกล่าว อย่างไรก็ตามเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ[31]
มลภาวะ
มีรายงานว่าโซเดียมไซยาไนด์อย่างน้อย 700 ตัน ถูกเก็บไว้ ณ ที่เกิดเหตุ[32] และพบการรั่วไหลของสารดังกล่าวบริเวณท่อระบายน้ำ[33][34] ซึ่งในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตรวจพบก๊าซพิษอาทิเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ภายในระยะห่าง 500 เมตร รอบจุดเกิดเหตุ แต่ปริมาณของก๊าซไม่เกินระดับที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ส่วนระยะห่างรัศมี 2 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ ไม่มีการตรวจพบก๊าซอันตรายดังกล่าว[9]
การตอบสนองจากทางการ
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีรายงานว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เร่งรัด "ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อระเบิดและระงับเปลวเพลิง"[5] จากรายงานของสื่อทางการระบุว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรุยไฮโลจิสติกส์กำลังอยู่ในการควบคุมตัวของทางการ[18]
ในเช้าวันถัดมาหลังจากคืนวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มทยอยลงพื้นที่เกิดเหตุในเทียนจินและเริ่มปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ มีการขนย้ายอุปกรณ์หนักเข้ามาในพื้นที่ เช่น รถตักดิน เข้ามาเพื่อเก็บกวาดซากความเสียหาย และมีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และชีวเคมีลงพื้นที่มากกว่า 200 คน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจากการที่สารเคมีถูกเผาไหม้ฟุ้งกระจายขึ้นสู่บรรยากาศโดยรอบบริเวณ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จากทางการยังได้ตั้งสถานีติดตามและเฝ้าระวังใกล้กับจุดเกิดเหตุขึ้นจำนวน 12 สถานี มีการตรวจพบ "มลสารอันตรายในอากาศ" เหนือระดับปกติ และมีการปิดกั้นระบบระบายน้ำโดยรอบบริเวณ ในขณะที่มีการนำตัวอย่างน้ำไปทดสอบอีกด้วย[35]
ส่วนเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังอยู่ระหว่างการกำจัดสารโซเดียมไซยาไนด์ปริมาณกว่า 700 ตัน ที่ถูกเก็บอยู่ภายใน โดยใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เป็นตัวปรับสภาพความเป็นกลาง[36]
ทางการจีนยังได้ออกคำสั่งให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบมากกว่า 3,500 หลังคาเรือนต้องอพยพไปพักพิง ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว เนื่องจากกังวลว่าจะมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นตามมาอีกระลอก ทั้งนี้มีผู้อยู่อาศัยบางส่วนเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว[25]
ด้านนายกัว เชิงคุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะ ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุและเร่งรัดความพยายามช่วยชีวิตอย่างเต็มที่[37]
ปฏิกิริยาตอบรับ
มีรายงานว่าทางการจีนพยายามปิดกั้นการรายงานข่าวทั้งทางสื่อสารมวลชนและบนสื่อสังคมออนไลน์ นักข่าวและประชาชนโดยรอบถูกกันไม่ให้เข้าใกล้จุดเกิดเหตุเป็นระยะห่างประมาณ 1 หรือ 2 กิโลเมตร นอกจากนี้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายคนรายงานว่าข้อความเกี่ยวกับเหตุระเบิดดังกล่าวของตนกำลังถูกลบทิ้ง[9] ส่วนนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นถูกระงับไม่ให้ถ่ายภาพเหตุการณ์[38] ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่าแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วเป็นเวลากว่าแปดชั่วโมง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมในเทียนจินกลับยังไม่ได้รายงานเหตุระเบิดดังกล่าว แต่กำลังฉายละครโทรทัศน์แทน[38][39] ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปรากฏการรายงานข่าวในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 7 นาฬิกา[40].
นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็น วิลล์ ริปลีย์ ซึ่งถ่ายภาพบรรยากาศด้านนอกโรงพยาบาลเทียนจิน ถูกเพื่อนและญาติของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตระงับการรายงานสดเนื่องจากอยู่ในความเศร้าเสียใจ[41]
อ้างอิง
- ↑ "Tianjin blast probe suggests action against 123 people". Xinhua. 5 February 2016. สืบค้นเมื่อ 5 February 2016.
- ↑ 2.0 2.1 "Tianjin explosion: China sets final death toll at 173, ending search for survivors". The Guardian. Associated Press. 12 September 2015. สืบค้นเมื่อ 14 September 2015.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "155位"8–12"事故遇难者身份公开" (ภาษาจีน). Sohu. 2 September 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 September 2015. สืบค้นเมื่อ 2 September 2015.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "Huge explosions in China's Tianjin port area kill 17, hurt 400". สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "Massive explosion in China's Tianjin". BBC News. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ Graham-Harrison, Emma (12 August 2015). "Explosions in Chinese city of Tianjin kill at least 17 and injure hundreds". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "天津爆炸企业"瑞海物流"是个什么公司?". The Beijing News. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ "天津爆炸:消防员未被告知不能用水灭火". Southern Weekly. 13 August 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-13. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Shanglin, Luan (14 August 2015). "Chemicals at blasted warehouse not yet determined: authorities". Xinhua (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "ระเบิดเมืองเทียนจินล่าสุดพบผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บหลายร้อย". ประชาชาติธุรกิจ. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 15 August 2015.
- ↑ "Huge explosion in Chinese port city of Tianjin". The Guardian. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "Blast Rocks Chinese City of Tianjin, Hundreds Reported Injured". NBC News. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ China blasts: Casualties as Tianjin warehouse blows up. BBC News. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "Timeline of Tianjin explosions". Shanghai Daily. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "Timeline of Tianjin explosions". Shanghai Daily. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ 16.0 16.1 "Firefighting halted at site of Tianjin warehouse blasts after 11 firefighters confirmed killed". สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ 17.0 17.1 "Update 10-Huge blasts at Chinese port kill 50, injure more than 700". Reuters. 13 August 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ 18.0 18.1 "More than a dozen killed, hundreds hospitalized after massive explosions rocks Chinese city". Fox News Channel. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "天津港爆炸已致56人死亡 其中消防员21人". Tencent News (ภาษาจีน).
- ↑ ""首名获救消防员周倜照片公布(图)". Sina Corp. August 14, 2015. สืบค้นเมื่อ August 15, 2015.
- ↑ KSPR. "URGENT – China Tianjin explosions firefighter deaths". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-15. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ Jiang, Steven; Ford, Dana (12 August 2015). "Explosion rocks Chinese city of Tianjin; 7 reported killed". CNN. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "Hundreds injured after huge explosion in Chinese port city of Tianjin". MSN News. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "Deadly Explosions Hit China's Port of Tianjin". The New York Times. 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 Ryan, Fergus; Phillips, Tom (14 August 2015). "China blasts: thousands seek refuge as Tianjin explosions death toll reaches 55". The Guardian. Guardian News and Media Limited or its affiliated companies. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "At Least 44 Dead Hundreds Injured in Warehouse Explosions". ABC News. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ Phipps, Claire; Weaver, Matthew (13 August 2015). "China blasts: fireball from Tianjin explosions injures hundreds and kills at least 44 – latest updates". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ "Tianjin explosions visible from space". The Guardian. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015..
- ↑ "At least 17 dead as huge warehouse blasts hit Chinese port". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-19. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ "China explosions: a visual guide to what happened in Tianjin". The Guardian. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "Supercomputer Tianhe-1A shut down due to Tianjin blast". 12 August 2015. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
- ↑ "爆炸现场下午将降雨 700吨氰化纳遇水生剧毒" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "爆炸物主要为硝酸类化学品,下水沟里检出氰化钠" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ ck 13465. "媒体:天津爆炸现场下水沟检出氰化钠 说明已经泄露" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "Tianjin detects harmful air pollutants, Beijing stays clear - China". China Daily. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ "China explosions: Chemical specialists sent to Tianjin". BBC News. 13 August 2015. สืบค้นเมื่อ 14 August 2015.
- ↑ huaxia. "Police chief urges all-out efforts to save lives". Xinhua.
- ↑ 38.0 38.1 Cheung, Eric (13 August 2015). "CNN, local Chinese media struggle to report on Tianjin explosion". Hong Kong Free Press.
- ↑ Hanrahan, Mark (13 August 2015). "Tianjin Explosions: National Disasters In China Prompt Wave Of Media Censorship". International Business Times. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
- ↑ "《津晨播报》 20150813". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-23. สืบค้นเมื่อ 2015-08-13.
- ↑ CNN, CNN (13 August 2015). "Emotions run high at Chinese hospital after blasts". CNN.
แหล่งข้อมูลอื่น
39°2′19″N 117°44′13″E / 39.03861°N 117.73694°E / 39.03861; 117.73694